คำ ผกา : กองหนุนยังแน่นหนา

คำ ผกา

อย่างไรเสียก็คงต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนมากเชื่อว่า การรัฐประหารคือการ “ล้างไพ่” การเมืองอันสกปรก คดโกง หรือที่เรียกกันว่าเซ็ตซีโร่

คนไทยจำนวนไม่น้อยทึกทักว่า ทหารเข้ามาเคลียร์นักการเมืองออก จากนั้นตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาทำงาน ประคับประคองประเทศ ระหว่างรอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เชื่อกันว่า จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญต้านโกง เป็นรัฐธรรมนูญที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดกับสังคมไทยเสียที

คนบางจำพวกก็เรียกกระบวนการนี้ว่าปฏิรูปประเทศ และฉันคิดว่ามีคนที่เชื่ออย่างนี้จริงๆ แล้วรอว่า พอทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ก็จะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ป

(เราจะทิ้งความประหลาดใจไว้ก่อนว่า คนที่เชื่อเรื่องเซ็ตซีโร่หรือปฏิรูปประเทศ เขาอ่านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แล้วเขายังจะเชื่อไหมว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ การลงหลักปักฐานของประชาธิปไตยที่แท้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร – แต่เอาล่ะ อย่างน้อย พวกเขาก็น่าจะรอการเลือกตั้งตามกรอบของเวลา)

แต่ผ่านไปเกือบสี่ปี ดูมีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งอาจจะต้องเลื่อนออกไปด้วยข้อขัดข้องเชิงเทคนิคทางกฎหมายต่างๆ

แรงกระเพื่อมทวงสัญญาเกี่ยวกับกรอบเวลาการเลือกตั้งตามที่กำหนดเอาไว้จึงกระเพื่อมแรงขึ้นเรื่อยๆ

ฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่เอารัฐประหารมาตั้งแต่ต้น ส่งแรงกระเพื่อมยังไม่เท่าไหร่

แต่ฝ่ายพรรคการเมืองอย่างประชาธิปปัตย์ก็ออกมาทวงถามทางเดินที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเผ็ดร้อน

และฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารอีกหลายฝ่าย ที่เชื่อจริงๆ ว่า การรัฐประหารและการปกครองด้วยรัฐบาล คสช. เป็นการดูแลประเทศชั่วคราว เพื่อรอรัฐบาลใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ก็ส่งแรงกระเพื่อมสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอ

ผนวกกับการจุดประเด็นเรื่องความโปร่งใส สองมาตรฐาน การคอร์รัปชั่น ที่คนชั้นกลางอยากปฏิรูปประเทศอ่อนไหวเป็นพิเศษ ก็ทำให้การเมืองไทยในเวลานี้มีสีสันขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับเสียงของประชาชนที่เริ่มจะเซ็งแซ่ขึ้นมาได้อย่างไม่โดดเดี่ยวนัก

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงได้ยินวาทกรรมเก่าๆ ที่มีไว้บ่อนเซาะแนวคิดประชาธิปไตยให้ง่อยเปลี้ยเสียขาในสำนึกของคนไทยปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

และจะว่าไป มันก็น่าสนใจดีหากจะมองมันในฐานะที่เป็นคู่แข่งขันทางอุมดการณ์สองชุดในสังคมไทยที่แข่งขันกันมายาวนานเกือบศตวรรษ

นั่นคือการแข่งขันกันระหว่างแนวคิดเรื่อง

ก. สังคมไทย คนไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย เพราะคนไทยยังยากจน ยังไม่สามารถรู้เท่าทันนักการเมือง ดังนั้น เราพึงอยู่กับระบบ “เชื่อผู้นำ” ให้ผู้นำที่เข้มแข็ง เด็ดขาด ปรับปรุงประเทศชาติ คุณภาพชีวิตของพลเมืองจนหายจน และมีการศึกษา ฉลาดอย่างถ้วนหน้าก่อน จากนั้นค่อยมีนะ ประชาธิปไตย พอพร้อมแล้วมีเนี่ยะ มันจะเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

ข. ประชาธิปไตยคือกระบวนการ ไม่ใช่สินค้าสำเร็จรูป ดังนั้น จึงไม่มีคำว่าพร้อม ไม่ต้องรอให้ใครพร้อม เพราะหากไม่ได้ฝึกฝนมีชีวิตในระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่มีวันเกิดขึ้น และประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมามอบให้ใครได้ ความหมายของประชาธิปไตยคือ พลเมืองเป็นเจ้าของอำนาจในการปกครองตนเอง เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และพวกเขาก็ใช้อำนาจนั้น จะล้มลุกคลุกคลานอย่างไรก็ไม่แปลก และไม่เป็นไร เพราะประชาธิปไตยไม่ได้สัญญาว่ามันจะมอบความมั่งคั่ง สุขสบาย ความใสสะอาดของการเมือง

มันสัญญากับเราข้อเดียวคือ อำนาจทางการเมืองของพลเมืองในการบริหารประเทศเท่านั้น

แนวคิดแบบ ข้อ ก.ไก่ นั้น มีความเข้มแข็งในสังคมไทยด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ว่าจะโดยผนวกกับอุดมการณ์พุทธเถรวาทในสังคมไทยที่เชื่อเรื่องคุณธรรม ความดี หรือเชื่อในเรื่องของเผด็จการโดยธรรม เข้มแข็งเพราะมันเป็นอุดมการณ์ที่ถูกส่งเสริม สนับสนุนจากฝ่ายรัฐ – แม้กระทั่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในวิถีทางประชาธิปไตยด้วย – เพราะมันคือสิ่งที่สอนกันในตำราเรียน ในโรงเรียน คือสิ่งปลูกฝังอยู่ในหนังในละคร ในภาพยนตร์โฆษณาต้านโกงแสนกิ๊บเก๋ต่างๆ นานา และความเละตุ้มเป๊ะของพรรคการเมืองไทย นักการเมืองไทย (ที่ไม่ค่อยยืนหยัดหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย) ก็ช่วยตอกย้ำให้อุดมการณ์เข้มแข็ง ดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาอีก

แนวคิดแบบ ข. ซึ่งเป็นแนวคิดแบบสากลโลก ถูกบิดเบือนให้กลายเป็นการเดินตามก้นตะวันตก เป็นการลอกฝรั่งมาทั้งดุ้นโดยไม่ดูบริบทของไทย หรือแม้กระทั่งการรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย และการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ถูกมองว่าเป็นการสร้างความปั่นป่วน วุ่นวาย แตกแยก ทำลายความสามัคคีของคนในชาติ เป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ

ในบริบทของไทย “ประชาธิปไตย” ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับความมั่นคง เป็นศัตรูต่อความสุขสงบของบ้านเมือง

แนวคิดเช่นนี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนอีกครั้งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีกระแสบอกว่า ตอนนี้สังคมไทยเป็นเผด็จการไม่พอ ต้องเผด็จการมากกว่า ไม่อย่างนั้นพวกเรียกร้องประชาธิปไตยจะฮึกเหิม แผนการที่จะกวาดเก็บบ้านให้สะอาดแล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่จะไม่สำเร็จ

หรือล่าสุดกับ 9 คำถามของนิติพงษ์ ห่อนาค ที่ถามมาถึงคนอยากเลือกตั้งว่า

แต่มีคำถามในใจตัวเอง ดังต่อไปนี้…

คำว่า “มึง” คือฉันถามตัว “กู” เองจ้ะ

1. มึงจะเป็นคนเลือก…มึงจะเลือกใครวะ มึงก็เลือกมาแล้วหลายที เลือกมาแล้ว มันก็งั้นๆ จะเลือกหรือไม่เลือก ก็ไม่เห็นแตกต่าง

2. หรือกูจะเสนอตัวเป็นคนให้เขาเลือก…กูจะได้ไปทำแบบที่กูคิดไว้ว่าดี แต่กูจะไปสมัครที่ไหน พรรคไหน เขาจะรับกูไหมถ้าเขารู้ว่ากูไม่ชอบคำว่า “มติพรรค”

3. รัฐธรรมนูญไม่ให้คนลงการเมืองเป็น ส.ส.อิสระ ต้องอยู่ในพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น ต้องทำตามมติพรรค…เออ แค่นี้ก็เผด็จการในพรรคละ ประชาธิปไตยตรงไหนวะ

4. แต่ถ้าอิสระได้หมด…ใครอยากสมัครเป็นผู้แทนฯ ก็อิสระ ก็เข้าใจได้เลยว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมีความคิดเป็นของตัวเองสูงที่จะทำงานเพื่อชาติโดยไม่คิดถึงพวกพ้อง…แต่ส่วนที่เป็นปัญหาคือ…แม่งพร้อมจะขายตัวยกมือ…คือเป็นกะหรี่การเมืองขายปลีก…วุ้ย กลุ้มใจ

5. งั้นขอตั้งพรรคใหม่ละกัน…ชาวบ้านธรรมดาที่ก็เป็นคนไทยที่อยากทำงานให้บ้านเมือง ที่ไม่ใช่สองสามพรรคใหญ่นั่น…ตั้งพรรคใหม่แล้วจะรอดไหมจ๊ะ

6. ต่อจากข้อที่ห้า…การอยากอาสาเข้าไปทำงานการเมือง ต้องมีเงินแค่ไหน…ต้องมีเงินด้วยหรือ

7. คนจน คนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน รวมเงินได้ ตั้งพรรคได้ไหม อันนี้ถามจริงๆ…หมายถึงไม่ใช่แค่ตั้งพรรคไปอย่างสิ้นหวังนะ…อันนั้นรู้ว่ามีกฎหมายว่าตั้งพรรคได้…แต่พรรคเบี้ยน้อยหอยน้อยมันเคยเกิดขึ้นไหม

8. ประชาธิปไตยย่อมเป็นญาติกับเสรีนิยม…และเสรีนิยมเป็นญาติกับทุนนิยมไหม แล้วทุนนิยมมันจะย้อนกลับไปเป็นญาติที่แท้จริงกับประชาธิปไตยเพื่อปวงชนไหม…

9. สิ่งหนึ่งที่ฉันสับสนคือ…เผด็จการในเมืองไทยวันนี้ เป็นเผด็จการที่หน่อมแน้ม รู้สึกผิดว่าตัวเองมาจากวิธีที่เขาหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย…จะเด็ดขาดก็ไม่กล้าเด็ดขาด แถมยังเฟอะฟะอีกหลายเรื่องให้อีกฝ่ายเย้ยหยันได้ตลอดเวลา…

จาก https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_749858

จากคำถาม 9 ข้อ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า นี่คือดอกผลของการกล่อมเกลาอุดมการณ์แบบข้อ ก. ที่ทำให้เรามีชนชั้นกลางที่มีการศึกษาพอสมควร มีชีวิตอยู่กับ “ทุนนิยม”

ทว่า กลับพูดจาต่อต้าน รังเกียจทุนนิยม จากนั้นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพลังต่อต้านและทำลายประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าจะลองตอบคำถามที่อาจเป็นผลึกของอุดมการณ์ที่ถืออำนาจนำอยู่ในสังคมไทยผ่านคำถามของคุณนิติพงษ์ดู

1.เลือกมาหลายทีแล้ว ไม่เห็นจะแตกต่าง

การ “เลือก” ผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่เหมือนการเลือกกระเบื้องปูพื้นห้องน้ำ ที่จะเห็นผลดี ผลเสีย ความงาม ความอัปลักษณ์ ชัดเจนทันทีทันใด

การเลือก “ผู้แทนฯ” เป็นการยืนสิทธิของเราในฐานะเจ้าของประเทศที่มีหนึ่งเสียงเท่ากับคนอื่นๆ

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการเลือก อาจเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงด้วยซ้ำ เช่น การเลือกประธานาธิบดีทรัมป์ของอเมริกา – อย่าว่าแต่มันจะไม่เปลี่ยนเลย – ทว่า คนที่เกลียดทรัมป์ ไม่มีใครบอกว่า เราไม่ควรมีประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เราสามารถเลือกใหม่ได้ทุกๆ 4 ปี เมื่อหมดวาระของมัน

ที่สำคัญ พลวัตหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการ “เลือก” เราไม่อาจใช้ตัวเราเพียงลำพังไปตัดสินได้ว่า “มันไม่เปลี่ยน” หรือ “มันไม่มีอะไรดีขึ้น” เพราะในการเลือกตั้งเมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มีคนไทยจำนวนมากเห็นพลวัต เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นการขยับเคลื่อนตัวทางชนชั้น เห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านนโยบายของพรรคการเมืองที่เขาเลือก

ที่สำคัญ ผ่านการเลือกนั้น คนจำนวนมากได้ตระหนักในคุณค่าของพวกเขาในฐานะที่เป็น “คน” คนหนึ่งเท่ากับอื่นๆ ในสังคม

เพราะฉะนั้น การที่ “คุณ” ไม่เห็นอยู่คนเดียว หรือคุณและพรรคพวกของคุณไม่เห็น มันไม่ได้แปลว่าคนอื่นๆ อีกหลายล้านคนเขาจะไม่เห็นเหมือนกับคุณ

2. ถ้าคุณอยากเสนอตัวสมัครเป็นผู้แทนฯ แต่คุณไม่อยากสังกัดพรรคการเมือง เพราะไม่ชอบ “มติพรรค” – อนึ่ง คุณน่าจะลืมไปว่า การทำงานการเมืองนั้น คือการประสานและต่อรองผลประโยชน์เพื่อคนที่เลือกคุณมาเป็นตัวแทนของเขา

ดังนั้น การเป็นอัศวินขี้ม้าขาวแบบข้ามาคนเดียว ไม่ฟังใคร ไม่ฟังมติพรรค จึงสะท้อนว่าคุณเองไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะทำงานการเมืองได้

แต่ถ้าคุณยืนยันอยากทำงานการเมืองแบบไม่แคร์พรรค หรือมติพรรค เพราะคุณคิดว่าคุณเจ๋งมาก คุณไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับใคร คุณก็ต้องลงมาลุยแบบ ลีน่า จัง หรือผู้สมัครอิสระอีกหลายคน

แต่ถ้ารัฐธรรมนูญบอกว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ คุณก็ต้องไปรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อนี้เสียก่อน และจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ คุณก็ต้องทำผ่านสภา สู้กันในระบบ ในกติกา

แต่ถ้าคุณบอกว่า “เฮ้ย ไม่เอาๆๆๆ จะเอาแบบนี้ กูว่าแบบยี้แหละดีสุด”

พฤติกรรมไม่เคารพกติกา ไม่เคารพเสียงข้างมาก ไม่เคารพการตัดสินใจและการเลือกของคนอื่นเช่นนี้

บางทีเขาเรียกว่าอันธพาล บางทีเขาก็เรียกว่าเด็กเอาแต่ใจ อยากให้โลกหมุนรอบตัวเอง

และคนแบบนี้ หากลงสมัคร ส.ส. ก็ต้องมาลุ้นว่าจะมีใครเลือกเขาไปเป็น “ผู้แทนฯ” ของตนเองบ้าง

3. มติพรรค ใช้เสียงข้างมาก จึงไม่เรียกว่าเป็นเผด็จการ

4. ผู้แทนอิสระพร้อมจะขายตัว ขายอุดมการณ์ให้พรรคใหญ่ – อันนั้นก็เป็นปัญหาของตัวคนคนนั้น ไม่ใช่ปัญหาของประชาธิปไตย

เพราะในระบอบประชาธิปไตย มันหมายถึงความโปร่งใส เสรีภาพในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ ส.ส. คนไหนขายตัวก็โดนด่าเละตุ้มเป๊ะ ไม่มีประกาศกฎหมายพิเศษมาคุ้มครองใคร

โดนด่ามากๆ ประชาชนเบื่อ ลงเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะสอบตก หรือถ้ายังสอบได้ มีคนเลือก ก็แปลว่าเขายังมีประโยชน์กับผู้ที่โหวตให้เขา

ถามว่าผิดไหม มันก็ไม่ผิด เพราะคนเลือกผู้แทนฯ ไม่ได้เลือกคนดีพระศรีอาริย์ แต่เลือกคนที่มีประโยชน์กับตน ก็เท่านั้น เว้นการขายตัวของเขามันผิดกฎหมาย ซึ่งเขาก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอยู่ดี

5. ชาวบ้านตั้งพรรคใหม่จะรอดไหม?

พรรคการเมืองคือตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องพรรคการเมืองให้เหนื่อย เพราะการตั้งพรรคการเมืองต้องใช้ทรัพยากรทั้งทุนทางการเงิน และทุนที่เป็นองค์ความรู้ ประสบการณ์

พรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกก็มีประวัติศาสตร์มายาวนาน – แต่ชาวบ้านสามารถตั้งกลุ่ม สมาคม เพื่อเป็นพลังต่อรองทางการเมืองและต่อรองกับพรรคการเมืองได้ เช่น สหภาพแรงงาน สหภาพชาวนา กลุ่มสมาคมชาวสวนยาง ไร่อ้อย หอการค้า กลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า “ภาคประชาสังคม”

ดังนั้น แทนการให้ชาวบ้านไปตั้งพรรคการเมือง เราต้องสนับสนุนให้สังคมของเราสามารถตั้งกลุ่มผลประโยชน์ของตนขึ้นมาและมีความเข้มแข็ง เป็นปึกแผ่น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองได้

เช่น คุณนิติพงษ์อาจตั้งกลุ่มสมาคมนักแต่งเพลง เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงานกลาง เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับค่าแรง ค่าตอบแทน ผลประโยชน์เชิงลิขสิทธิ์ไม่ให้พวกพ่อค้านายทุนเจ้าของค่ายเพลงเอาเปรียบมากเกินไป เป็นต้น

กลไกภาคประชาสังคมนี้แหละ จะเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจการเมืองเชิงสถาบันหรือการเมืองระบบรัฐสภา และทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น

6. อยากอาสาทำงานการเมือง ต้องมีเงินด้วยหรือ?

คำตอบคือ ก็ใช่สิคะ ในโลกนี้มีการทำอะไรที่ไม่ใช้เงินด้วยหรือ?

ขอทานยังต้องใช้เงิน หรือมีทุนไปซื้อขัน ซื้อถ้วยรองรับเศษเหรียญเลย นับประสาอะไรกับการตั้งพรรคการเมืองที่ต้องใช้เงินทำออฟฟิศ ทำงานธุรการ ดำเนินงานเกี่ยวกับข้อกฎหมาย จะซื้อกระดาษ ซื้ออากรแสตมป์ก็ต้องใช้เงิน มีออฟฟิศ มีพนักงานก็ต้องจ่ายเงินเดือน ไปเยี่ยมชาวบ้าน ลงพื้นที่ก็ต้องใช้เงิน หาเสียงก็ต้องใช้เงิน ไปงานศพ งานแต่ง ใส่ซองก็ต้องใช้เงิน

เออ คำถามนี้ไม่น่าถามนะ เว้นแต่จะถามว่า เงินนั้นสุจริตไหม? โปร่งใสไหม? และคำตอบคือ ก็ต้องสร้างกลไกการตรวจสอบ ไม่ใช่บอกว่า อี๊ ต้องใช้เงิน สกปรกจัง อย่ามีเลยประชาธิปไตย – อันนี้เรียกว่าตรรกะวายป่วงอย่างรุนแรง

7. คนจน คนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน ตั้งพรรคได้ไหม? – กลับไปอ่านข้อห้า

8. ประชาธิปไตยเป็นญาติกับทุนนิยม ไม่ใช่แค่ญาติ แต่แต่งงานกันเลยแหละ

แต่ประชาธิปไตยทุนนิยมน่าจะดีกว่าเผด็จการจับมือกับทุนนิยมผูกขาด กินรวบ กินเหมาทั้งประเทศไม่แบ่งใคร ตรวจสอบไม่ได้ ด่าไม่ได้ ติไม่ได้ ได้แต่ก้มหน้าทำตาปริบๆ

อ้อ…ถ้าไม่ชอบประชาธิปไตยที่แต่งงานกับทุนนิยม เสรีนิยม ก็มีประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมออกซ้ายนิดๆ เก็บภาษีนายทุนโหดๆ ทำสวัสดิการให้คนจนเยอะๆ พวกคุณจะรับได้ไหม?

จะออกมาโวยไหมว่า เฮ้ยยย กูทำงานแทบตาย เอาเงินไปเลี้ยงพวกขี้เกียจ พวกโง่ จน เครียด กินเหล้า – โอ๊ยย ไม่เอาๆๆ

9. เผด็จการเมืองไทยหน่อมแน้มไป – ข้อนี้คงไม่มีคำตอบให้ เพราะถือว่าคุณนิติพงษ์มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน แน่วแน่ มั่นคง ว่าชมชอบในระบบเผด็จการ ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล และฉันก็ต้องเคารพในสิทธิที่อยากอยู่ภายใต้เผด็จการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่านี้ของคุณนิติพงษ์

อย่างไรก็ตาม คำถาม 9 ข้อของคุณนิติพงษ์ ก็ถือว่ามีประโยชน์ เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เราเห็นผลึกความคิดของชนชั้นกลางไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความชัดเจนว่า ไม่ต้องการประชาธิปไตย (แม้จะมีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยน้อยมาก)

โจทย์ของฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยที่หนักมากคือ เราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยอย่างไรกันดีในท่ามกลางคนจำนวนหนึ่ง (และไม่ใช่จำนวนน้อย) ที่ไม่ต้องการประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น ยังยินดีปรีดาและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในระบบอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ที่ว่ากันว่า กองหนุนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ชักจะน้อยลงนั้นอาจจะจริง

แต่กองหนุนระบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จในประเทศนี้ไม่เคยน้อยลง

แถมยังเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วย