อนิจจาน่าเสียดาย ฝ่ายค้านวาทกรรม | คำ ผกา

คำ ผกา

คำ ผกา | อนิจจาน่าเสียดาย ฝ่ายค้านวาทกรรม

นั่งเขียนบทความนี้ในขณะที่การอภิปรายในสภาดำเนินไปแล้วครึ่งวัน และกำลังรออยู่ว่าฝ่ายค้านจะมีหมัดเด็ดอะไรมากกว่านี้ไหม

เพราะเท่าที่ฟังหัวหน้าพรรคมาจนถึง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ใช้เวลามากถึง 70 นาที ก็ยังไม่พบประเด็นที่เกี่ยวกับความบกพร่องในการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี

ดังที่ฉันเคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ในรัฐบาลนี้มีจุดอ่อนหลายเรื่องที่ฝ่ายค้านควรนำมาตั้งกระทู้ถาม อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีหลายคน

เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ที่เพิ่งมีตัวชี้วัดออกมาว่าคุณภาพการศึกษาของไทยต่ำกว่าประเทศลาวไปแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น และจุดขายของพรรคประชาชนก็เป็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาด้วยมิใช่หรือ หยิบเอาเรื่องนี้มาอภิปรายน่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และอาจสร้างแรงกระเพื่อมให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาฯ ได้

หรือจะอภิปรายกระทรวงแรงงาน เพราะพรรคซีเรียสเรื่องแรงงาน มี ส.ส.จากปีกของนักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน มีบอร์ดประกันสังคมที่เป็นคนของพรรคประชาชน เพราะเรื่องแรงงาน ค่าแรงและรัฐสวัสดิการก็เป็น “จุดขาย” ของพรรคส้ม

หรือจะอภิปราย รมต.คลังเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังได้ เพราะศิริกัญญา ตันสกุล ก็เป็นเจ้าภาพจองล้างจองผลาญเรื่องนี้มาโดยตลอด

แต่แล้วพรรคประชาชนกลับเปลี่ยนใจไม่อภิปรายนายกฯ พร้อมรัฐมนตรีอีกสิบคนอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ มาอ้างเรื่องข้อสอบรั่ว (แบบฟังไม่ขึ้น) แล้วบอกว่าจะอภิปรายนายกฯ คนเดียว

แถมยังดึงดราม่าใส่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร โดยที่รู้ทั้งรู้ว่าใส่ชื่อคนนอกไม่ได้ เพื่อสร้างกระแส ปูเรื่องเล่าว่าด้วย “นายกฯ หุ่นเชิด”

เมื่อต้องอภิปรายนายกฯ เพียงคนเดียว และเป็นนายกฯ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 จนถึงวันที่ฝ่ายค้านอภิปราย แพทองธาร ชินวัตร เพิ่งดำรงตำแหน่งเพียง 7 เดือนเท่านั้น จึงยากที่จะหาจุดผิดพลาดร้ายแรงของการทำงานในฐานะนายกฯ มาอภิปรายจนสั่งคลอนได้

แม้กระนั้น พรรคประชาชนก็โหมโรงยิ่งใหญ่เหมือนตัวเองกุมชั้นความลับอะไรไว้เยอะแยะ เช่น การอภิปรายนี้จะนำมาซึ่งการถอดถอนนายกฯ เรามีข้อมูลที่ไม่มีใครคาดคิดว่าเราจะมี เส้นเรื่องที่ปูเอาไว้ เช่น

– แพทองธารไร้ความสามารถ มีพ่อเป็นนายกฯ นอกสภา ปราศจากความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง

– ไม่สุจริตเป็นที่ประจักษ์

– ไปหลอมรวมกับเผด็จการมีส่วนการทำลายประชาธิปไตย

– เป็นนายกฯ หุ่นเชิด

ก่อนวันอภิปราย ฉันก็อยากรู้มากว่าฝ่ายค้านมีข้อมูลอะไร และรอคอยอย่างยิ่งที่จะฟัง

แต่พอเท้ง – ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ที่ได้ฉายา “ไอ้เท้งเอาตายแน่” ฟังดูน่ากลัว เหมือนเป็นนักฆ่าหน้าหยก เปิดหัวการอภิปรายนายกฯ ก็ต้องบอกว่าผิดหวังมากถึงมากที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่ได้คาดหวัง แถมยังออกอาการตัดพ้อเหมือนคนอกหัก

เอาประเด็นใหญ่ก่อน นั่นคือเรื่อง “ดีลแลกประเทศ”

สมมุติฐานของเท้งหรือพรรคประชาชนที่พยายามจะตีฟูเรื่องนี้คือ ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลคือ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่เรารับรู้ร่วมกันคือตอนนั้นเป็นรัฐบาลเผด็จการและพรรคร่วมรัฐบาลคือนั่งร้านเผด็จการ การเลือกตั้ง 2562 เป็นเพียงปาหี่ เราก็ทุกข์ทรมานกันเรื่อยมา รอคอยการเลือกตั้งปี 2566

พอเลือกตั้งปี 2566 เสร็จปุ๊บ ประชาชนแสดงเจตจำนงออกมาว่าเลือกก้าวไกล 14 ล้านคน เลือกเพื่อไทย 10.9 ล้านคน รวมกันแล้วได้ 14.9 ล้านเสียง นับเป็นจำนวน ส.ส.ได้ 151 + 141 = 292 เสียง เป็นเสียงข้างมากในสภา สองพรรคนี้ควรจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล กำจัดอีพวกนั่งร้านเผด็จการออกไป

พรรคเพื่อไทยก็อยากทำเช่นนั้น แต่พรรคก้าวไกล/ประชาชนลืมไปหลายอย่าง เช่น

ก. ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา พรรคอันดับสองมีความชอบธรรมที่จะตั้งรัฐบาลแข่ง

ข. ในรัฐธรรมนูญ 2560 เสียง 292 ไม่ใช่เสียงข้างมากในสภาสำหรับการเลือกนายกฯ เพราะต้องนับวุฒิสภาอีก 250 เสียง ด่านแรกที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้คือ นายกฯ ต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา คือต้องได้มากกว่า 375 เสียง

ค. พรรคก้าวไกล/ประชาชน ผลักไสพรรคการเมืองอื่นๆ ออกไปด้วยโมเดล “มีกรณ์ไม่มีกู” “ไล่หนูไปอยู่กับแมลงสาบ” และก๋ากั๋นกับ ส.ว. ด้วยลีลา “ส.ว.กระแด่ว” ทำให้ยากที่จะได้เสียงสนับสนุนในสภามาโหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ

สุดท้ายพรรคก้าวไกล/ประชาชนไม่เหลือใครนอกจากพรรคเพื่อไทยที่โหวตสนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ ถึงสองครั้งจนหมดโควต้าจะโหวตอีกต่อไป

พรรคเพื่อไทยจึงรับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล/ประชาชนมาจัดตั้งรัฐบาล

ภารกิจของพรรคเพื่อไทยคือการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ในขณะที่พรรคก้าวไกล/ประชาชนต้องการให้ยื้อเวลาไปอีก 10 เดือน ณ จุดนี้ที่เป็นจุดแตกหักระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล

พรรคเพื่อไทยตัดสินใจข้ามขั้วไปจับมือกับพรรคอื่นๆ ที่เหลือเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และได้รับคะแนนโหวตจากสภา โหวตให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ เราสามารถไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทย

แต่การพูดว่า ตระบัดสัตย์ ไม่ยืนอยู่บนข้อเท็จจริง เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีหน้าที่หรือภารกิจต้องแบกพรรค “ส้ม” ติดตัวตลอดเวลา

โหวตเตอร์เพื่อไทย 10.9 ล้านคนไม่ใช่ทุกคนที่อยากเห็นพรรคเพื่อไทยกอดคอกับพรรคส้มไปจนวันตาย

และโหวตเตอร์เพื่อไทยจำนวนไม่น้อยสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทย “เท” พรรคส้ม

เราสามารถวิจารณ์ว่า มูฟทางการเมืองครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยคือการ “ต่อลมหายใจให้อำนาจเก่า” ยังพูดได้แล้วฟังขึ้น ชวนให้อภิปรายต่อมากกว่า แต่การพูดว่าเป็น

หนึ่ง “ดีลแลกประเทศ” อันนี้เป็นความ “หลงตัวเอง” ของพรรคส้ม เพราะพรรคเพื่อไทยทำดีลแลกเอาพรรค “ส้ม” ออกจากสมการการตั้งรัฐบาล และพรรค “ส้ม” ไม่ใช่ประเทศไทย การดีลเอาพรรคส้มออกจากสมการ เพราะหากมีพรรคส้มอยู่ พรรคการเมืองอื่นๆ จะไม่ยอมมาร่วมรัฐบาลด้วย เพราะไม่ไว้ใจพรรคส้มในหลายเรื่อง และเรื่อง 112 อาจเป็นเพียงข้ออ้างก็ได้ ใครจะรู้

สอง การแลกเอาส้มออกเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่การทำสัญญากับปีศาจ แต่เป็นไปตามครรลองของระบบรัฐสภา ในการตั้งรัฐบาลผสมอย่างปกติสามัญที่สุด ไม่มีนายกฯ คนนอก ไม่มีแม้กระทั่ง ส.ส.ปัดเศษ และไม่มีดีลแลกให้หัวหน้าพรรคอื่นมาเป็นนายกฯ แทนพรรคเพื่อไทย

สาม พรรคเพื่อไทยไม่ได้ผสมพันธุ์กับเผด็จการ เพราะการเป็นรัฐบาลผสมมีอายุแค่ 4 ปี ครบ 4 ปีทุกพรรคก็คืนสภาพเป็นพรรคคู่แข่งที่ต้องแข่งกันอย่างดุเดือดเหมือนเดิม ดูการแข่งขันในสนาม อบจ. ที่เพื่อไทยกับภูมิใจไทยแข่งกันเดือดมาก หากผสมพันธุ์กันจริงก็ไม่เดือดขนาดนี้

สี่ พรรคประชาชนพูดตลอดว่า รัฐบาลเพื่อไทยถูกภูมิใจไทยหยุมหัว คำถามคือ ถ้าผสมพันธุ์กันจริง พรรคร่วมคงไม่หยุมหัวกันขนาดนี้ ดังนั้น พรรคส้มต้องเลือกเอาสักบท ว่าจะเอาบทแตกกัน หรือเอาบทผสมพันธุ์กัน เพราะการหยุมหัว ขัดแย้งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องปกติตามครรลองประชาธิปไตยรัฐสภาแบบนี้ ที่ชี้ให้เห็นว่าไม่มี “เผด็จการรัฐสภา” ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ทุกพรรคการเมืองต่างเป็นตัวของตัวเอง

สรุป ดีลแลกประเทศไม่มีจริง มีแต่ดีลแลกเอาพรรคส้มออกจากสมการการตั้งรัฐบาล และพรรคส้มก็ไม่ใช่ประเทศไทย อีกทั้งการเป็นรัฐบาลก็มีวาระเพียงสี่ปี ไม่ได้เป็นรัฐบาลชั่วฟ้าดินสลาย สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านควรทำมากกว่าการเล่นวาทกรรมฉาบฉวยคือ เร่งทำงานเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า

 

การที่เท้งหัวหน้าพรรคพยายามจะใส่สำบัดสำนวนแบบคนหัวใจเจ็บว่า พรรคเพื่อไทยไปหัวเราะร่วมวงกับอดีตนั่งร้านเผด็จการ ทำดีลแลกประเทศเอาครอบครัวมาเสวยสุข

สะท้อนภาวะอกหักซ้ำซาก

อกหักที่ 151 เสียงของตัวเองถูก “เท” อกหักที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

อกหักที่ไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะหากเท้งมีวุฒิภาวะสมกับเป็นหัวหน้าพรรค เท้งจะรู้ว่า ไม่มีใครเป็นรัฐบาลตลอดไป เพราะถึงเวลาก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน

และหากเท้งมีวุฒิภาวะ มีความ sophisticated สักนิด เท้งต้องรู้ว่าการเป็นรัฐบาล ไม่ใช่การเสวยสุข การเป็นรัฐบาลและการเป็นนายกฯ ในประเทศที่มีองค์กรอิสระ มีตุลาการภิวัฒน์ การเป็นรัฐบาลและนายกฯ คือการเอาขาข้างหนึ่งไปอยู่คุก

การเสวยสุขที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ในประเทศนี้คือการเป็นเจ้าสัว เป็นเศรษฐีที่ไม่ต้องเล่นการเมือง

และหากตระกูลชินวัตรอยากเสวยสุข สิ่งที่ตระกูลนี้ควรทำคือ การเลิกยุ่งการเมืองแล้วมีความสุขบนกองเงินกองทองที่เหลือจากการยึดทรัพย์ ซึ่งก็ยังเหลือหลายหมื่นล้านบาท พอจะเสวยสุขโดยไปได้อีกหลายชาติ

ที่น่าผิดหวังยิ่งกว่านั้นคือการเน้นไปที่เรื่อง “ไม่สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ทั้งๆ ที่ประกาศตัวเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ พรรคการเมืองใหม่ พรรคที่มีจุดยืนประชาธิปไตย แถมยังเป็นพรรคที่โดนยุบมาสองครั้ง

หัวหน้าพรรคอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดนพิษตุลาการภิวัฒน์จากประเด็น “จริยธรรม” พรรณิการ์ ช่อวานิช โดนตัดสิทธิตลอดชีวิตก็จากประเด็นจริยธรรม ที่การแทรกแซงอำนาจที่ควรเป็นของสภาผู้แทนราษฎร

พรรคส้มที่อยากแก้รัฐธรรมนูญอันเป็นผลพวงของการรัฐประหาร อยากแก้รัฐธรรมนูญให้สะท้อนหลักการประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่ ย่อมรู้ว่า วลี “ไม่สุจริตเป็นที่ประจักษ์” คืออาวุธที่ deep states ใช่บั่นทอนนักการเมือง บั่นทอนสถาบันพรรคการเมือง บั่นทอนอำนาจทางการเมืองของประชาชน

ดังนั้น “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ที่อยู่ในมือของเราทุกคน และสร้างได้เลยคือ เราเลือกที่จะไม่ใช้กลไกอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเหล่านี้ด้วยตัวเราเอง โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญถูกแก้ก่อน

แต่ความย้อนแย้งของพรรคส้มคือ อยากแก้ปัญหาช้างในห้อง ปัญหาโครงสร้าง ปัญหาของ “รัฐราชการ” แต่ในทางปฏิบัติกลับสมาทานเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้อย่างปราศจากความตะขิดตะขวงใจ

นั่นคือฝันอยากยืมมือ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญมาถอดถอนนายกฯ ทั้งๆ ที่ควรจะยืนยันว่าอำนาจการถอดถอนนายกฯ ต้องจบที่สภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น การนั่งฟังเท้ง นั่งฟังวิโรจน์อภิปราย ทำให้เกิดบรรยากาศเดจาวู เหมือนนั่งฟังการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบวกกับ กปปส. ทั้งเรื่องบริหารกับบริวาร ทั้งเรื่องการโยงการปรับโครงสร้างหุ้นไปสู่การกล่าวหาว่า “หนีภาษี” ไม่ต่างจากความพยายามของพันธมิตรฯ สมัยนั้นที่เกินสายปั้นแต่งเรื่องขายหุ้นเทมาเส็กเท่ากับขายชาติ ทักษิณไม่เสียภาษี ปลุกผีชาตินิยมในเวอร์ชั่น คนจนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่แพทองธารกลับหนีภาษี อันเป็นการเชื่อมโยงที่อีหยังเดสก๊ะเหมือนสลิ่มเฟสหนึ่งเปี๊ยบ

อาการของเท้งยังหนักมากที่ข้ามไปอภิปรายถึงผลงานรัฐบาลไทยรักไทยว่า ไม่ได้ประสบความสำเร็จจากความสามารถ แต่สำเร็จเพราะปัจจัยภายนอก เพราะค่าเงินบาทอ่อน เพราะโครงการมิยาซาว่า สามสิบบาทก็เป็นผลงานของหมอชนบท

 

สรุป งานนี้ฝ่ายค้านมีแต่เสียกับเสียในแง่การของการแก้ผ้าล่อนจ้อนให้เห็นเนื้อแท้ว่าเป็นอีหรอบเดียวกับสลิ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. นั่นคือมีบาดแผล อ่อนไหวกับตระกูลชินวัตรเป็นที่ตั้ง มีความกระหายอยากเป็นรัฐบาลจนทุรนทุราย ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า

พร้อมกันนั้นเนื้อหาที่อภิปรายก็ไปปลุกเร้าความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคมทำนองเดียวกันกับที่สนธิ ลิ้มทองกุล กับสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำสำเร็จมาแล้ว

เพราะคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่จำนวนมาก ก็พร้อมจะซื้อทฤษฎีว่า แพทองธารเหมือนมารี อังตัวแน็ต ดีแต่ตัว ใส่เสื้อผ้าราคาแพง ในขณะที่ประชาชนยังยากจน อันเป็นพล็อตเรื่องที่พรรคส้มพยายามถักทอให้เป็นแบบนั้น

และคนก็ซื้อพล็อตนี้ง่ายๆ เพราะมันสอดคล้องกับเรื่องราวที่คุ้นชินและฟังมาซ้ำๆ ซากๆ จากนั้นชนชั้นกลาง

นักวิชาการก็จะสานต่อพล็อตนี้ด้วยการตอกย้ำภาพแพทองธารเป็นเพียงคุณหนูสมองกลวง เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ และย้ำด้วยบทปิดจบของเท้งในการอภิปรายที่บอกว่า

“ราคาที่ประเทศไทยและคนไทยต้องจ่ายให้กับรัฐบาลแพทองธารจะยิ่งสูงมากกว่านี้ เพราะต้องเผชิญกับปัญหาสงครามการค้าโลก ประเทศไทยจะอ่อนแอ ไม่กล้าฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า…เพราะดีลแลกประเทศ”

เป็นการประณามแบบกลวงและกว้าง เพราะเท้งก็ไม่สามารถลงรายละเอียดว่า รัฐบาลแพทองธารสร้างความเสียหายให้ประเทศในเรื่องอะไรบ้างอย่างเป็นรูปธรรม

เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็แก้ไขได้

ดิจิทัลวอลเล็ตก็แจกสำเร็จไปสองเฟส รอประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ดูจีดีพีตอนปลายปี

เรื่องอุยกูร์โลกเสรีด่า แต่ได้คะแนนจากคนในประเทศ

ส่งออกเป็นบวกต่อเนื่อง เสียแต่ค่าเงินบาทแข็งทำให้ไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจเท่าที่ควร

เรื่องเอ็นเตอร์เมนต์คอมเพล็กซ์ ฝ่ายค้านควรถล่มหากสร้างไม่สำเร็จมากกว่าค้านไม่ให้สร้าง

เรื่อง PM 2.5 เอาตัวเลขเทียบปีต่อปีมาดู ปีนี้ก็ดีกว่าปีที่แล้วในห้วงเวลาเดียวกัน และค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เป็นหลัก

ท่องเที่ยวยังทรงตัว

ผลักดันสมรสเท่าเทียมสำเร็จ

ผลักดันการให้สัญชาติแก่คนไร้สัญชาติสำเร็จ

พ.ร.บ.สุราฯ สำเร็จ

ที่ไม่สำเร็จคือเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ กับเรื่องเศรษฐกิจที่ยังทรงกับทรุด และเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดคาด อย่างที่ฉันบอกมาตลอดว่า รัฐบาลนี้ไม่น่าทำอะไรได้เยอะ ไม่มีอะไรให้ว้าว แต่จะให้ถึงขั้นมีเรื่องให้ฝ่ายค้านมาอภิปรายแบบสอยให้ร่วง มันไม่มีจริงๆ เพราะฝ่ายค้านก็หลงทิศหลงทางไปเล่นเกมวาทกรรมมากเกินไป แทนที่จะอยู่กับข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่านี้ และติดหล่ม “ทักษิณ” แบบถอนตัวไม่ขึ้น

ความโชคดีของรัฐบาลนี้คือการมีฝ่ายค้านที่ “กลวง” และเน้นเล่นละครรัชดาลัยมากเกินไป

เสียดายจริงๆ เสียดายโอกาสของฝ่ายค้านที่ควรสร้างฐานการทำงานได้ยั่งยืนกว่านี้