จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (22)

เป็นศิษย์ (นอกห้องเรียน) คนหนึ่ง นอกจากจะพยายามศึกษาเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ จากอาจารย์คึกฤทธิ์ตลอดเวลาในทุกๆ เรื่อง ซึ่งจะว่าไปทำยังไงก็ไม่มีทางที่จะรู้เท่าทันความคิดคนพิเศษระดับนั้นได้

ได้พัวพันติดตามไปมากมายหลายแห่งแหล่งที่อันเกี่ยวข้องด้วยกิจกรรมทางการเมืองเมื่อท่านได้ก่อตั้งพรรค “กิจสังคม” (Social Action Party) ขึ้นมาเพื่อดำเนินงานการเมืองตามระบอบ “ประชาธิปไตย” จนแทบไม่ได้ทำงานในหน้าที่ของตัวเองเป็นเวลาต่อเนื่องเสมอๆ

แต่การเดินทางติดตามเก็บเรื่องราวอันเกี่ยวข้องด้วยตัวท่านอาจารย์ และพรรคการเมืองของท่านย่อมเป็นข้อมูลชั้นดีในทางการงานของคนทำสื่อในยุคสมัยนั้นอยู่แล้ว

ความรู้เล็กๆ น้อยๆ เรื่องการบ้านการเมืองจึงได้พอมีติดตัวมาบ้างจนถึงทุกวันนี้

 

อาจารย์คึกฤทธิ์ (2454-2538) ย่อมประจักษ์กันแล้วว่าท่านเป็นผู้ที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีวิต

รักและหวงแหนระบบการปกครอง “ประชาธิปไตย” พร้อมกับชิงชังการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร”

ท่านได้พยายามทำทุกวิถีทางระหว่างที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ของรัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่เพื่อป้องกัน “ทหาร” เข้า “ยึดอำนาจ” การปกครอง

แม้จะต้องสูญเสียทรัพย์สินส่วนตัวทั้งบ้านพักอาศัยเมื่อตำรวจยกขบวนบุกเข้าทำลาย

ขณะเดียวกันเมื่อมีเหตุการณ์วุ่นวายจากการปลุกปั่นให้นักเรียนอาชีวะจำนวนมากเดินขบวนบุกเข้าทำลายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่านพยายามแก้ปัญหา

โดยให้อาจารย์ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นหลีกหลบไปเสีย ปล่อยให้อาคารเรียนข้าวของถูกทำลายไป โดยท่านกล่าวว่า “ข้าวของเสียหาย ย่อมซื้อหาเอาใหม่ได้ แต่ถ้าลูกหลานประชาชนตายไปผมไม่รู้จะไปหามาคืนพ่อแม่เขาได้อย่างไร?”

กล่าวกันว่า ท่าน “ทันเกม” ทหารที่จะพยายามสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองก่อนจะยกกำลังออกมา “ยึดอำนาจ” ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลอ่อนแอเอาไม่อยู่ แต่จนแล้วจนรอดก็ประคองต่อไปไม่ไหวต้อง “ยุบสภา” ในปี พ.ศ.2519 เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกันใหม่ เป็นการรักษาระบบการปกครองเอาไว้

ในที่สุด รักษาการตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ก็ต้อง “สอบตก” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ทีเดียว

 

บ้านเมืองเดินทางถึงจุดต้องกลับไปสู่ยุคทหารปกครองอีกครั้ง แม้จะมี “นายกรัฐมนตรี” เป็นพลเรือน หลังจากที่พรรค “ประชาธิปัตย์” เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” และเกิดเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” มีการ “ยึดอำนาจ” โดย “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”

อาจารย์คึกฤทธิ์ยังต่อสู้อยู่บนเส้นทางการเมือง โดยมีสังเวียนในการต่อสู้คือ หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” รวมทั้งพรรคกิจสังคม ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ได้แปรเปลี่ยนไป โดยพยายามรักษาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (เสียชีวิต) ได้รับการสนับสนุนจากทหารหนุ่มในกองทัพเข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 15) หลังการ “ปฏิวัติรัฐบาลหอย” ของ (อดีต) นายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2520 โดยท่านบริหารบ้านเมืองอยู่จนถึงปี พ.ศ.2523 ท่ามกลางฝ่ายค้านซึ่งมีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้นำในที่สุดก็ต้องปิดฉากลง

“ฉะนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา กระผมจึงได้ตัดสินใจดังนี้ กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงอยู่ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่าเข้าบริหารประเทศ และรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป”

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กล่าว “ลาออกกลางสภา” หลังจากได้อภิปรายกระทบกระทั่งตำหนิติเตียนเหล่าสมาชิกสภาไปมากพอสมควร

 

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาท่ามกลางเสียงสนับสนุนทั้งกองทัพและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองจำนวนเสียงข้างมากเพื่อให้เข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 16) เพื่อบริหารประเทศให้เดินหน้าต่อไป

และท่านก็อยู่ในตำแหน่งสูงสุดฝ่ายบริหารถึง 8 ปีเศษ ก่อนท่านจะบอกว่า “ผมพอแล้ว” เมื่อบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายซึ่งชนะการเลือกตั้ง รวมกันเป็นเสียงข้างมากพร้อมใจหยิบยื่นตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ให้กับท่านต่อไปอีก

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (บิ๊กจิ๋ว) เข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการของนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม หรือ (ป๋าเปรม) ติณสูลานนท์ ขณะที่ “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” (เสียชีวิต) พุ่งพรวดพราดแบบเขย่งก้าวกระโดดจากแม่ทัพภาคที่ 2 เข้าสู่ไลน์ 5 เสือกองทัพบก ในตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” ในเวลาอันรวดเร็ว

และดูเหมือนว่าท่านมีเป้าหมายในชีวิตกับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ถ้าไม่มีการปีนเกลียวขัดแย้งกันพอสมควร กับ พล.อ.เปรม (ป๋าเปรม) (อดีต) นายกรัฐมนตรี?

 

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (บิ๊กจิ๋ว) นายกรัฐมนตรี (คนที่ 22) (2539-2540) ซึ่งเป็นทหาร แต่มาจากการเลือกตั้ง โดยเป็นผู้ก่อตั้งพรรค “ความหวังใหม่” เมื่อปี พ.ศ.2535 ซึ่งท่านผู้นี้ดูเหมือนจะเป็นความหวังของนายทหารรุ่นน้องจากกองทัพบกด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดลึกซึ้งในทางความคิดการวางแผน จนมีการเรียกขานกันว่า “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” โดยตั้งเป้าหมายการเข้าสู่การเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เป็น “นายกรัฐมนตรี” จากการเลือกตั้ง

ท่าน (พี่) “บิ๊กจิ๋ว” คิดอะไรต่อมิอะไรมากมายเพื่อระบบการปกครองของประเทศไทย เมื่อการเมืองไทยสับสนวุ่นวายก็มีข่าวออกมาว่าท่านอยากเปลี่ยนแปลงเอาระบบสภาเปรซิเดียมมาใช้ หรือนำเอาระบอบการปกครองอื่นเข้ามา

ความที่ท่านคิดอะไรๆ นอกกรอบเยอะแยะ แถมสนิทสนมกับนักการเมืองที่นิยม “ระบบสังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” จึงถูกมองด้วยสายตาของนักประชาธิปไตย และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นอันตราย

คนหนึ่งที่ยอมไม่ได้เอาเสียเลยกับความคิดของท่าน (พี่) “บิ๊กจิ๋ว” คือ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งจะมีการคัดค้านความคิดของนายทหารที่คนในกองทัพมองว่าก้าวหน้ามากมายเสมอมา

แต่ท่านไม่มีกำลังอะไรนอกเหนือไปจากหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” การต่อต้านความคิดนายทหารหัวก้าวหน้าที่ปรากฏอออกมาในข้อเขียนจึงมีคำว่า “กูไม่กลัวมึง–”

“วีระ สมความคิด” นักต่อสู้เพื่อสังคมประชาธิปไตยของประเทศนี้ ซึ่งได้ผ่านชีวิตผ่านคุกตะรางซึ่งไม่ได้เป็นของประเทศเราด้วยซ้ำไป ดันงัดเอาคำว่า “กูไม่กลัวมึง” ออกมาใช้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ขณะไปร่วมกับบรรดาแกนนำต่อต้านการเลื่อนเลือกตั้ง ต้องการ “ประชาธิปไตย” ซึ่งในที่สุดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวไปพบ นัยว่าจะดำเนินคดี

และดูเหมือนว่าต่อจากนี้คำว่า “กูไม่กลัวมึง” ต้องมีคนอื่นๆ นำเอามาใช้อีกก็ได้

 

เขียนไปในไลน์กลุ่มอาทิตย์ก่อนว่า ยามนี้บ้านเมืองของเรามีอะไรแปลกๆ คล้ายจะเป็น “อาถรรพ์” เหมือนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ อย่างเช่นกรณี “ทุ่งใหญ่นเรศวร” ซึ่งทหาร ตำรวจใหญ่ ใช้อาวุธ ยานพาหนะ เฮลิคอปเตอร์ ของทางราชการพาดาราภาพยนตร์ไปพักผ่อนล่าสัตว์ สุดท้ายเฮลิคอปเตอร์กลับมาตกระหว่างเดินทางกลับ ขากระทิง และ ฯลฯ กระจายฟ้องเต็มลาน

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เชื่อมโยงมาสู่ หรือมาถึงวัน “มหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนออกมาเดินขบวนเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ในที่สุดรัฐบาลอยู่ไม่ได้ ผู้นำต้องเดินทางออกนอกประเทศ

ทุกวันนี้ประเทศภายใต้การบริหารของรัฐบาล “เผด็จการทหาร” ซึ่งพยายามที่จะยืดเวลาการคืนอำนาจสู่ประชาชนให้เลือกผู้แทนฯ เลือกรัฐบาลของเขาเอง ผู้นำเกรี้ยวกราดดุดันพร้อมใช้กฎหมายจัดการกับผู้ต่อต้านเรียกร้อง จนอึดอัดกันเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริหาร ซึ่งไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้

หลายคนต่างบอกตรงกันว่าหมดเวลาของ “รัฐบาลทหาร” ชุดนี้แล้ว ประวัติศาสตร์บอกว่าที่ไหนมีการบังคับกดขี่ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้

อยากให้ “รัฐบาลทหาร” ย้อนดู “ประวัติศาสตร์” กันบ้าง?