พิพิธภัณฑสถานสร้างชาติ (10)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พิพิธภัณฑสถานสร้างชาติ (10)

 

การปรับปรุงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2525 เราแทบไม่รู้ว่าได้มีการปรับในส่วนจัดแสดงของอาคารมหาสุรสิงหนาท และประพาสพิพิธภัณฑ์ (ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงหลักว่าด้วยศิลปวัตถุในยุคสมัยต่างๆ ของไทย) หรือไม่และอย่างไร จากหลักฐานที่มีอยู่น่าเชื่อว่าจะไม่มีการปรับอะไร หากจะมีก็คงเป็นเพียงการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงและคำอธิบายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หนังสือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย” โดยกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร พ.ศ.2532 ให้รายละเอียดการจัดแสดงภายในอาคารทั้งสอง ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ไว้โดยคร่าวๆ ดังนี้

“…อาคารมหาสุรสิงหนาท จัดแสดงศิลปะของชาติต่างๆ ในเอเชีย (ห้องเอเชีย)…ส่วนอื่นๆ ของอาคารจัดแสดงศิลปวัตถุที่พบในประเทศไทยได้แก่ศิลปะทวารวดี ศิลปะเขมร (ลพบุรี) ศิลปะศรีวิชัย อีกทั้งส่วนหนึ่งที่จัดแสดงศิลปะชวาที่ได้มาตั้งแต่ พ.ศ.2439

อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงศิลปกรรมที่พบในประเทศไทยที่มีอายุตั้งแต่ราว พ.ศ.1800 ลงมา ได้แก่ ศิลปะล้านนา ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์…”

แม้รายละเอียดจะมีไม่มากนัก แต่จากข้อความดังกล่าวก็ช่วยยืนยันว่า ในระดับโครงสร้างการจัดแสดงหลักไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มีนัยยะสำคัญเลย การแบ่งห้องจัดแสดง วิธีการเดินชม ตลอดจนกรอบแนวคิดในการอธิบายศิลปวัตถุ ยังคงเป็นไปตามแนวทางประวัติศาสตร์ศิลปะ “สกุลดำรง-เซเดส์”

แต่จากข้อความที่ปรากฎ มีข้อน่าสังเกตอยู่ 2 ประการ คือ

หนึ่ง มีการเปลี่ยนชื่อเรียกห้อง “ศิลปะเชียงแสน” มาเป็นห้อง “ศิลปะล้านนา” ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากงานศึกษาทางประวัติศิลปะและโบราณคดีในช่วงราวทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาซึ่งเริ่มมองเห็นว่าการใช้ “ศิลปะเชียงแสน” น่าจะไม่เพียงพอต่อการอธิบายศิลปวัตถุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

สอง (ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุด) คือ มีการเปลี่ยนชื่อเรียกห้อง “ศิลปะลพบุรี” โดยปรับมาเป็นห้อง “ศิลปะเขมร (ลพบุรี)” แทน

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า เราไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด อย่างน้อยก็ ณ ขณะนี้ ว่าการจัดแสดงจริงในห้องดังกล่าวใช้ชื่อว่า “ศิลปะเขมร (ลพบุรี)” จริงหรือไม่ (รวมถึงห้อง “ศิลปะล้านนา” ด้วย) แต่จากการที่หนังสือเล่มนี้ซึ่งเขียนและตีพิมพ์โดย กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง ได้มีการระบุชื่อนี้เอาไว้ ก็น่าเชื่อว่าในช่วงทศวรรษ 2530 อาจจะใช้ชื่อเรียกนี้อย่างเป็นทางการจริง หรืออย่างน้อย ในป้ายคำอธิบายศิลปวัตถุต่างๆ ก็เป็นไปได้สูงที่จะใช้คำนี้

นิทรรศการ “เทวสตรี : คติพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อในประเทศไทย” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พ.ศ.2558
ที่มา : เพจ National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ผมเคยเสนอไว้ในหลายที่แล้วว่า การเกิดขึ้นของคำว่า “ศิลปะลพบุรี” ที่แยกขาดออกมาจาก “ศิลปะเขมร” ทั้งๆ ที่รูปแบบทางศิลปะแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย อีกทั้งการจำแนกยุคสมัยย่อยๆ ภายในศิลปะลพบุรีเองก็ยังใช้วิธีการแบ่งและชื่อเรียกชุดเดียวกันกับศิลปะเขมรทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องการเมืองของประวัติศาสตร์ศิลปะ ระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศสในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในช่วงดังกล่าว สยาม กับ อินโดจีนฝรั่งเศส กำลังแข่งขันกันเพื่อสถาปนาขอบเขตของรัฐสมัยใหม่ในบริเวณประเทศกัมพูชาปัจจุบัน ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมในการผนวกรวมดินแดนกัมพูชาเป็นของตน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ตลอดจนงานทางศิลปวัฒนธรรมในทุกแขนงกลายมาเป็นเครื่องมืออ้างอิงสร้างความชอบธรรมของตนเองอย่างเต็มที่

การทำงานของนักโบราณคดีจากสํานักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ได้สถาปนาองค์ความรู้และกรอบความคิดว่าด้วย “ศิลปะเขมร” ขึ้น

ซึ่งองค์ความรู้ชุดนี้มิได้เป็นเพียงความรู้เพื่อความรู้แบบโดดๆ แต่ส่วนหนึ่ง (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) มันได้เข้ามาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการอ้างสิทธิครอบครองดินแดนกัมพูชาและหลายส่วนในภาคอีสานของประเทศไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่อีสานใต้ซึ่งเต็มไปด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุภายใต้กรอบนิยามของสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะเขมร”

ภายใต้สภาวะดังกล่าว สยามได้สร้างองค์ความรู้และกรอบความคิดว่าด้วย “ศิลปะลพบุรี” ขึ้นในเวลาต่อมา เพื่อยืนยันว่าโบราณวัตถุสถานต่างๆ ที่ดูเสมือนว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับศิลปะเขมรนั้น แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนอีกกลุ่มที่แยกขาดออกจากกันในทางการเมืองการปกครอง กลุ่มวัฒนธรรมนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ลพบุรี และดังนั้น โบราณวัตถุสถานทั้งหลายจึงควรถูกนิยามว่าศิลปะลพบุรี

ด้วยเหตุผลข้างต้น “ศิลปะลพบุรี” จึงถือกำเนิดขึ้นในโครงเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะไทย และถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงตลอดมาภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ตั้งแต่ พ.ศ.2469 เรื่อยมา

การใช้คำว่าศิลปะลพบุรีในหนังสือ “เทวสตรี : คติพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อในประเทศไทย” พ.ศ.2558

จนถึงทศวรรษ 2520 ปัญหาของคำนิยามนี้เริ่มถูกตั้งคำถามจากนักวิชาการ ที่สำคัญ เช่น พิริยะ ไกรฤกษ์ ในหนังสือ “ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแบบศิลปะในประเทศไทย คัดเลือกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สาขาส่วนภูมิภาค” พ.ศ.2520 และ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ในหนังสือ “ศิลปะในประเทศไทย” ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2524 ซึ่งทรงเสนอทางเลือกในการเรียกแบบใหม่ว่า “ศิลปะลพบุรีหรือศิลปะขอมในประเทศไทย” ล่วงมาจนถึง พ.ศ.2537 หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ได้เสนอให้ใช้คำว่า “ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย”

ภายใต้ข้อเสนอของนักวิชาการชั้นนำดังกล่าว ผสานกับบรรยากาศการเมืองแบบยุคสงครามเย็นที่สิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงในกลางทศวรรษ 2520 ไปจนถึงแนวคิดว่าด้วยการ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในต้นทศวรรษ 2530 ทำให้บรรยากาศตึงเครียดของอุดมการณ์ชาตินิยมทั้งของไทยและกัมพูชาผ่อนคลายลง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นบริบทที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการปรับเปลี่ยนดังกล่าว เกิดการยอมรับที่จะใช้คำว่าศิลปะเขมรในการอธิบายศิลปวัตถุในประเทศไทยมากขึ้น

และนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ในทศวรรษ 2530 กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ยอมใช้คำว่า “ศิลปะเขมร (ลพบุรี)”

 

ยิ่งหากเราสำรวจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในช่วงเวลานั้นเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 2540 เราจะมองเห็นชัดเลยว่า มีแนวโน้มในการใช้คำว่าศิลปะลพบุรีแบบโดดๆ ลดลง และปรากฏการใช้คำว่า “ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย” (หรือคำในลักษณะใกล้เคียงกัน) มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงสำคัญก็เกิดขึ้น ภายหลังการประกาศขึ้นบัญชี “ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลกโดย UNESCO เมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ที่นำมาซึ่งความไม่พอใจในกลุ่มคนไทยมากมายที่เชื่อว่าโบราณสถานแห่งนี้ควรเป็นของชาติไทย

เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น การปะทะทางทหารได้เกิดขึ้นหลายจุดตามแนวชายแดนใกล้ตัวปราสาท และเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในช่วงระหว่าง พ.ศ.2551-2554 ชาวบ้านในพื้นที่ของทั้งสองประเทศต้องอพยพจากที่พักอาศัย ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนหลายราย ทั้งไทยและกัมพูชา

ความรุนแรงที่ขอบชายแดนปราสาทพระวิหาร ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อองค์ความรู้ว่าด้วย “ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย” และก่อให้เกิดปรากฏการณ์ฟื้นกลับมาของคำว่า “ศิลปะลพบุรี” อีกครั้ง

หนังสือวิชาการและไม่วิชาการหลายเล่มหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เราพบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า มีการหวนกลับมาใช้คำว่า “ศิลปะลพบุรี” กันอย่างจริงจัง หลายเล่มไม่ปรากฏการใส่วงเล็บต่อท้ายด้วยคำว่าว่า ศิลปะเขมร หรือ ศิลปะร่วมแบบเขมร อีกต่อไป

บางเล่มแม้จะยังอ้างอิงไปถึงวัฒนธรรมเขมร แต่ก็อธิบายในทำนองว่าเป็นวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับคนกัมพูชาในปัจจุบัน

กล่าวคือ มีความพยายามที่จะย้อนกลับไปหาคำอธิบายยุคเก่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่อุดมการณ์เชื้อชาตินิยมสุดโต่งกำลังได้รับความนิยม) ที่อธิบายว่า โบราณวัตถุสถานต่างๆ ในกัมพูชานั้นล้วนสร้างขึ้นจากกลุ่มคนในอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่สูญหายไปแล้ว ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันกับคนกัมพูชาปัจจุบัน หรือบางงานเขียนก็ไปไกลกว่านั้น

คือ อธิบายว่ากลุ่มคนที่สร้างปราสาทหินคือคนสยาม

 

น่าสนใจมากว่า การจัดนิทรรศการชั่วคราวเรื่อง “เทวสตรี: คติพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อในประเทศไทย” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เมื่อ พ.ศ.2558 ที่จัดแสดงศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อและบทบาทของสตรีเพศในดินแดนไทย ที่มีบางส่วนของนิทรรศการจัดแสดง “ศิลปะลพบุรีหรือศิลปะเขมรในประเทศไทย” ซึ่งในทศวรรษ 2530-2540 จะใช้ชื่อประกบคู่กันเช่นนี้โดยตลอด

แต่ในนิทรรศการ พ.ศ.2558 กลับใช้คำอธิบายเพียงแค่คำว่า “ศิลปะลพบุรี” เท่านั้น โดยตัดคำว่าศิลปะเขมรในประเทศไทยออกไปทั้งหมดในทุกชิ้นงานศิลปะ ส่วนหนังสือประกอบนิทรรศการครั้งนั้น ก็ใช้คำว่า “ศิลปะลพบุรี” โดดๆ เช่นเดียวกัน

นิทรรศการและสูจิบัตรดังกล่าว สะท้อนให้เราเห็นอย่างชัดเจนถึงการเมืองว่าด้วย “ศิลปะลพบุรี” และ “ศิลปะเขมร” ที่ไม่เคยหายไปไหน

ตราบใดที่การแบ่งยุคสมัยทางศิลปะของไทย (รวมถึงกัมพูชาด้วยเช่นกัน) ยังถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมเข้มข้น การจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ย่อมไม่มีทางเปลี่ยน

แม้บางช่วงขณะจะดูเสมือนมีความก้าวหน้า แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ดูเสมือนว่าจะหมุนย้อนเวลากลับไปเหมือนเดิม