จิตต์สุภา ฉิน : ความเท่ที่เลือนหายไปจากเฟซบุ๊ก

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เราได้เดินทางกันมาถึงยุคที่แทบจะนึกไม่ออกเลยว่าชีวิตก่อนหน้าการมาถึงของเฟซบุ๊กเป็นยังไง

ย้อนเวลากลับไปสักเกือบสิบปี เราติดต่อกับเพื่อนเก่าสมัยเรียนยังไง เราอัพเดตข่าวสารรอบตัวยังไง เราตามติด “ดราม่า” ต่างๆ บนอินเตอร์เน็ตยังไง

หรือเวลาว่างๆ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ชวนน่าอึดอัดนิดๆ เราคว้าอะไรขึ้นมาเล่นแก้เก้อ

เวลาผ่านไปไม่นานชีวิตเราผูกพันกับสิ่งที่เรียกว่าเฟซบุ๊กได้เพียงนี้

และถ้าให้นึกจินตนาการถึงชีวิตที่ไม่มีเฟซบุ๊ก นอกจากจะรู้สึกหัวตื้อๆ นึกไม่ออกแล้วก็ยังรู้สึกประหม่าและหวาดหวั่นในใจนิดๆ ด้วยว่าชีวิตที่ไม่มีเฟซบุ๊กจะเป็นชีวิตที่ดีหรือเปล่านะ

หากคุณผู้อ่านพบว่ามีอาการและความคิดในแบบที่ซู่ชิงเกริ่นมา ก็คงจะคิดว่าถ้าเราติดเฟซบุ๊กหนึบขนาดนี้แล้วคงจะเป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหมคะ ที่เฟซบุ๊กจะล้มหายตายจากไปไหน

หรือผู้ใช้งานอย่างเราจะหันหลังเดินจากเฟซบุ๊กไปได้ยังไง มันก็น่าจะต้องอยู่กับเราไปอีกนานชั่วลูกชั่วหลานเลยนั่นแหละ

ทว่า ไม่มีอะไรตั้งอยู่โดยไม่ดับไป (หรือมีแนวโน้มที่กำลังจะริบหรี่ลง)

เฟซบุ๊กเองก็เช่นกัน ล่าสุดมีรายงานว่าตัวเลขผู้ใช้เฟซบุ๊กในอเมริกาเหนือ ลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเฟซบุ๊ก

ซึ่งจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เข้ามาเช็กหน้าฟีดในแต่ละวันเริ่มลดน้อยลง

โดยจะเห็นได้จากตัวเลขผู้ใช้เฟซบุ๊กในช่วงไตรมาสสามและสี่ของปี 2017 ซึ่งในไตรมาส 3 ตัวเลขอยู่ที่ 185 ล้านคนต่อวัน แต่ไตรมาส 4 ตกลงมาอยู่ที่ 184 ล้านคนต่อวัน

เป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่มีการรายงานตัวเลขมา

 

ลองมาเจาะดูรายละเอียดว่าใครเป็นกลุ่มคนที่หายไปกันค่ะ

รายงานจาก eMarketer ระบุว่าผู้ใช้งานที่มีอายุอยู่ในช่วง 12 ถึง 17 ปี หรือกลุ่มเด็กวัยรุ่น เป็นประชากรเฟซบุ๊กกลุ่มที่กำลังหายไปเรื่อยๆ

ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กในกลุ่มช่วงอายุนี้หายไปถึง 9.9 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา คิดเป็นจำนวนคนแล้วก็อยู่ที่ราว 1.4 ล้านคน มากยิ่งกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าเสียอีก

แถมยังคาดการณ์ต่อไปสำหรับปีนี้ว่า เฟซบุ๊กจะเสียกลุ่มผู้ใช้งานในช่วงอายุ 18-24 ที่ราว 5.8 เปอร์เซ็นต์

และจะนับเป็นครั้งแรกเลยที่ยอดผู้ใช้งานกลุ่มนี้จะตก

ปัญหาเรื่องเฟซบุ๊กสูญเสียผู้ใช้งานในกลุ่มวัยรุ่นไม่ใช่ปัญหาใหม่เอี่ยมที่เพิ่งเกิดนะคะ

แต่เป็นปัญหาที่เราเห็นแนวโน้มและคาดการณ์กันมาสักระยะแล้วว่ากลุ่มนี้จะมีแต่ลดลงเรื่อยๆ

ซึ่งนี่อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ชนิดคอขาดบาดตายสำหรับเฟซบุ๊กเนื่องจากกลุ่มที่หายไปถูกทดแทนด้วยกลุ่มใหม่ที่เข้ามา ซึ่งก็คือกลุ่มผู้ใหญ่นั่นเอง

และดูเหมือนกับว่าผู้ใหญ่จะทยอยเข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งการที่ผู้ใหญ่เข้ามายึดครองพื้นที่เฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ นี่แหละค่ะ ที่ยิ่งเป็นตัวขับให้เด็กวัยรุ่นเผ่นหนีออกไป

ปรากฏการณ์นี้นับเป็นการเปลี่ยนกลุ่มประชากรหลักของเฟซบุ๊กไปเลย เพราะนับตั้งแต่การกำเนิดขึ้นของเฟซบุ๊กเป็นต้นมา

ผู้ใช้งานกลุ่มวัยรุ่นเป็นผู้ใช้งานหลักที่เหนียวแน่นและทำให้แพลตฟอร์มนี้ฮ็อตฮิตติดลมบนขึ้นมาได้

พอเห็นลูกเห็นหลานเล่นเฟซบุ๊ก พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ก็เริ่มสงสัยใคร่รู้และอยากจะเล่นขึ้นมาบ้าง

เมื่อผู้ใหญ่และเครือข่ายมิตรสหายของตัวเองกระโดดลงมาใช้งานเฟซบุ๊กมากขึ้น

ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กวัยรุ่นจะรู้สึกว่า แพลตฟอร์มนี้ไม่คูล ไม่เจ๋ง ไม่ฮิป ไม่แฮปเพนนิ่งแล้ว เพราะใครๆ ก็เล่นกันหมดแล้วแม้กระทั่งปู่ ย่า ตา ยาย

ดังนั้น การจะคงความเจ๋งของตัวเองไว้ได้ ก็คือการต้องออกไปหาแพลตฟอร์มใหม่ที่มีแต่วัยรุ่นอยู่แทน

และแพลตฟอร์มที่กำลังมียอดผู้ใช้งานวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือสแน็ปแชต และอินสตาแกรม นั่นเองค่ะ

 

รายงานบอกว่าในปี 2018 นี้ สแน็ปแชตน่าจะมียอดผู้ใช้งานเพิ่มอีก 1.9 ล้านคน และอินสตาแกรมน่าจะกวาดเพิ่มไปได้ 1.6 ล้านคน

ซึ่งก็จะเป็นผู้ใช้งานในกลุ่มอายุ 12-24 ปี นี่แหละค่ะ

จะว่าไปก็ไม่มีอะไรมาการันตีว่าหลังจากนี้ไปสองแพลตฟอร์มนี้จะไม่เจอปัญหาแบบเดียวกับที่เฟซบุ๊กกำลังประสบ

เพราะทั้งสแน็ปแชตและอินสตาแกรมต่างก็พยายามปรับปรุงรูปแบบการใช้งานให้ง่ายขึ้นเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ใช้ใหม่ๆ

เมื่อไหร่ที่มันง่ายดายสบายตาสำหรับผู้ใหญ่มากพอที่จะทำให้กลุ่มผู้ใหญ่ก้าวเข้ามาเล่นแล้ว วัยรุ่นก็คงจะได้เวลาแพ็กกระเป๋าหนีอีกเช่นเคย เล่นไล่จับกันแบบนี้ไม่ต่างจากชีวิตจริงสักเท่าไหร่

สิ่งที่ซู่ชิงสนใจคือ นอกเหนือจากกลุ่มวัยรุ่นที่เห็นได้ชัดว่ากำลังให้ความสำคัญเฟซบุ๊กน้อยลง แล้วยังมีกลุ่มไหนอีกที่เริ่มรู้สึกเบื่อแพลตฟอร์มนี้

ตลอดปีที่ผ่านมาเฟซบุ๊กก็นับว่าอ่วมจากหลายศึกสงครามไปไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียเกี่ยวกับข่าวปลอมนับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นต้นมา

ทำให้แพลตฟอร์มที่ครั้งหนึ่งคนเคยคิดว่าอยู่ยงคงกระพันเริ่มถูกตั้งคำถามว่ากำลังเดินไปถูกทางจริงหรือไม่

 

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ ซู่ชิงก็เลยลองทำโพลสำรวจเล่นๆ บนหน้าเพจของตัวเอง (กลุ่มคนติดตามเพจซู่ชิงที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เยอะที่สุด คือคนในช่วงอายุ 25-34 ปี) เพื่อถามความคิดเห็นว่าตอนนี้เราเริ่มเบื่อเฟซบุ๊กกันแล้วหรือยัง จากบรรดา 281 โหวตภายในเวลาหนึ่งวัน

ผลลัพธ์ออกมาว่า 52 เปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่เบื่อและยังชอบเฟซบุ๊ก

ในขณะที่ 48% บอกว่า เบื่อเฟซบุ๊กและอยากเลิกใช้แล้ว

ซึ่งดูเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูสีกันใช่ไหมคะ

หลายคนบอกว่าสาเหตุที่เบื่อเป็นเพราะมีโฆษณาเยอะมาก แม้กระทั่งเพื่อนหรือคนรู้จักก็มีแต่คนที่ขายของเต็มฟีดไปหมด

บางคนเบื่อเพราะเฟซบุ๊กจุ้นจ้านกับชีวิตพวกเขามากเกินไป

อย่างเช่น การออกนโยบายล้างฟีดใหม่ ให้เราเห็นโพสต์จากเพจที่เรากดไลค์น้อยลง แต่เห็นโพสต์จากเพื่อนมากขึ้น (คือบางคนเขาไม่ได้อยากเห็นโพสต์จากเพื่อนมากขึ้น แต่เขาอยากเห็นข่าวสาร สาระ คลิปตลกโปกฮา ความรู้ต่างๆ ที่เพจที่พวกเขาชอบจะแชร์มาให้เห็นมากกว่า)

หรือบางคนก็บอกว่า เบื่อบ้างนะ แต่ไม่มีทางเลือกอื่น

แถมบางคนก็ต้องใช้เฟซบุ๊กทำงานด้วยอีกต่างหาก ก็เลยยังต้องอยู่กันต่อไป

 

พูดถึงความรู้สึกเบื่อเฟซบุ๊กเนี่ย มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใช้ทั่วไปนะคะ อย่างที่ซู่ชิงเกริ่นไว้ตอนต้นสุดของบทความว่าเราใช้เฟซบุ๊กเป็นทางเข้าสู่ข้อมูลข่าวสารที่เราอัพเดตกันรายวัน

จากเดิมเราต้องพิมพ์ URL เว็บไซต์ของเว็บข่าวที่เราสนใจเพื่อเข้าไปเลือกอ่านข่าว

แต่ทุกวันนี้เราไปกดไลก์เพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวเหล่านั้น แล้วรอให้เขาโพสต์มาให้เราเห็นในฟีดแทน

ซึ่งนี่ได้กลายเป็นรูปแบบการเสพข่าวสารของคนในยุคนี้ไปแล้วเรียบร้อย และเมื่อเฟซบุ๊กออกมาบอกว่าจะลดจำนวนโพสต์ของเพจที่ผู้ใช้ทั่วไปจะเห็นลง (หรืออีกนัยคือเพจต้องจ่ายเงินเพิ่มถ้าอยากให้คนเห็นโพสต์เท่าเดิม) ก็ทำให้เป็นการเพิ่มอีกกลุ่มที่ไม่พอใจไปด้วย คือ กลุ่มของสำนักข่าวและคนดูแลเพจทั้งหลายนั่นเอง

กลุ่มนี้กำลังเริ่มต่อสู้กลับด้วยการแสดงออกให้เห็นถึงการ “ขัดขืน” ที่จะใช้งานแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเหมือนเดิม

อย่างเช่น สำนักข่าว Folha de S. Paulo หนังสือพิมพ์ระดับชั้นนำของบราซิล ก็เพิ่งออกมาประกาศว่าจะเลิกตีพิมพ์เนื้อหาต่างๆ ลงบนเพจเฟซบุ๊ก นับตั้งแต่เฟซบุ๊กประกาศว่าจะปรับให้ผู้ใช้เห็นโพสต์จากเพื่อนมากขึ้น

ซึ่งสำนักข่าวนี้ให้เหตุผลว่าการทำแบบนี้จะยิ่งเป็นการทำให้ข่าวปลอมทั้งหลายแพร่กระจายได้ง่ายกว่าเดิม เพราะนับเป็นการจำกัดข่าวสารจากสื่อมวลชนมืออาชีพ

เรื่องแนวโน้มของการลุกฮือขึ้นมารับมือเฟซบุ๊กโดยบรรดาคนทำเพจทั้งหลายเป็นเรื่องที่อาจจะต้องแยกเป็นอีกหนึ่งบทความในครั้งอื่น แต่ในตอนนี้สิ่งที่น่าสนใจคือการจับตาดูว่าเฟซบุ๊กจะรับมือกับปัญหานานัปการที่ถาโถมเข้าใส่ได้อย่างไรต่อไป และจะรักษาผู้ใช้ที่มีไว้ได้อย่างเหนียวแน่นพร้อมๆ กับเก็บเกี่ยวผู้ใช้ใหม่ๆ ไปด้วยได้หรือไม่

การทำให้เฟซบุ๊กกลับมา “เท่และคูล” อีกครั้ง น่าจะพอเป็นคำตอบเบื้องต้นได้ค่ะ