Full Time การทำงานศิลปะเป็น ‘งานประจำ’ ของ ณเรศ จึง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Full Time การทำงานศิลปะเป็น ‘งานประจำ’ ของ ณเรศ จึง

 

ในสายตาของคนทั่วๆ ไป ในสังคมไทยของเราในอดีตที่ผ่านมา การทำงานศิลปะ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นวิชาชีพที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้อย่างจริงจัง เป็นได้เพียงแค่งานอดิเรกเพื่อความเพลิดเพลินในยามว่างแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้โดยส่วนใหญ่ก็อาจเป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อเทียบสัดส่วนของคนทำวิชาชีพศิลปะกับวิชาชีพอื่นๆ ในบ้านเรา ถึงแม้ในปัจจุบัน สถานการณ์ทางวิชาชีพทางศิลปะจะดีขึ้น มีศิลปินอาชีพจำนวนมากมายที่ทำมาหาเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง แต่วาทกรรมเดิมๆ ที่มองว่า ศิลปิน (ไทย) = ไส้แห้ง หรือการทำงานศิลปะไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้จริงๆ ก็ยังมีอยู่ในทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยอยู่ดี

เหล่าบรรดาศิลปินมืออาชีพในบ้านเราจึงต้องมุ่งมั่นที่จะทำลายอคติที่ว่านี้ด้วยการทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องจริงจัง เช่นเดียวกับ ณเรศ จึง จิตรกรหนุ่มชาวไทย ผู้ประกอบวิชาชีพคนทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อย่างเต็มตัว เต็มเวลา

ณเรศใช้ผลงานศิลปะของเขาเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในการล้มล้างอคติ และทำลายวาทกรรมเดิมๆ ที่ฝังลึกในจิตสำนึกของคนไทยมาเนิ่นนาน โดยนำเสนอออกมาเป็นนิทรรศการที่มีชื่อว่า Full Time : งานประจำ ที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า การทำงานศิลปะนั้นเป็นวิชาชีพที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้จริงๆ ด้วยการตั้งเป้าว่าจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยการวาดภาพวันละหนึ่งภาพ ติดต่อกันทุกวัน เป็นเวลาหนึ่งปี โดยไม่เว้นว่างเลยแม้แต่วันเดียว ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม

“นิทรรศการครั้งนี้เริ่มต้นจากการที่ผมเห็นพื้นที่แสดงงานที่ใหญ่มากแห่งหนึ่ง แล้วผมอยากทำงานชิ้นเล็กๆ จัดแสดงให้เต็มพื้นที่แสดงงาน ประจวบกับผมเป็นคนชอบเขียนบันทึกประจำวัน ผมจึงคิดว่าผมจะทำงานให้ได้ทุกวันเป็นเวลา 1 ปี บังเอิญว่าปี 2024 เป็นปีที่มี 366 วัน ก็จะได้ผลงานออกมาจำนวน 366 ชิ้น”

“อีกอย่าง พอผมเริ่มทำงานศิลปะ เคยมีคนรอบๆ ตัวที่ไม่ได้อยู่ในสายศิลปะถามผมว่า ผมทำอาชีพอะไร ผมตอบว่า ทำอาชีพวาดภาพ เขาบอกว่า มีอาชีพนี้อยู่ด้วยหรือ? การวาดภาพสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยหรือ? ก็เลยทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมคนถึงคิดแบบนี้ ผมก็เลยอยากใช้วิธีการบางอย่างเพื่อทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่าศิลปะสามารถเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงชีพได้ ด้วยการทำงานวาดภาพทุกๆ วัน ให้เป็นเหมือนงานประจำ โดยจะต้องทำงานให้เสร็จหนึ่งชิ้นให้ได้ภายในหนึ่งวัน”

“ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการฝึกตัวเองให้มีวินัย ถึงแม้ในแต่ละวันผมจะเจอเหตุการณ์หลายอย่าง บางวันต้องออกไปข้างนอก บางวันต้องไปต่างจังหวัด หรือบางวันต้องทำงานชิ้นอื่นๆ แต่ผมก็ต้องวาดภาพให้เสร็จหนึ่งภาพ ภายในหนึ่งวันให้ได้”

ณเรศจึงใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สร้างสรรค์ผลงานติดต่อกันทุกวันโดยไม่ขาด ผลลัพธ์ก็คือ ผลงานจิตรกรรมสีอะครีลิก ขนาด 23 x 30 ซ.ม. จำนวน 366 ภาพ ซึ่งเป็นขนาดกำลังพอดี ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไปสำหรับเขาที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ภายในหนึ่งวัน

การทำงานในลักษณะนี้ของณเรศ ไม่เพียงเปรียบเปรยถึงการทำงานประจำของผู้ประกอบวิชาชีพตามปกติทั่วไปแล้ว (ต่างกันก็เพียงแต่การทำงานของณเรศ เป็นการทำงานติดต่อกันทุกวันโดยไม่มีวันหยุดหรือวันลาแต่อย่างใด)

เมื่อมองในแง่นี้การทำงานติดต่อกันเป็นกิจวัตรประจําวันของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับการเขียนไดอารี หรือบันทึกประจำวัน เพียงแต่เป็นการบันทึกด้วยฝีแปรง เส้นสาย และสีสันบนผืนผ้าใบนั่นเอง ดังนั้น ผลงานภาพวาดแต่ละชิ้นในจำนวน 366 ภาพของเขา จึงมีบุคลิกลักษณะและท่วงทีที่เหมือนและแตกต่างกันไปตามอารมณ์ความรู้สึก เหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่เขาประสบพบเจอในแต่ละวัน

ผลงานภาพวาดของณเรศ จึงไม่จำกัดอยู่ที่รูปแบบทางศิลปะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง หรือตายตัว หากแต่ไหลเลื่อนไปอย่างแตกต่างหลากหลาย แต่ก็คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ในความอิสระลื่นไหลของเส้นสายและฝีแปรงอันเปี่ยมสีสัน ไม่ยึดติดกับความเหมือนจริงอย่างเคร่งครัด

รูปแบบการทำงานจิตรกรรมเช่นนี้ของณเรศ ทำให้เรานึกไปถึงศิลปินคนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะหลังสมัยใหม่อย่าง ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) ศิลปินอเมริกันเชื้อสายตาฮีเตียนและเปอร์โตริกัน หนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 ผู้ทำงานศิลปะที่ผสมผสานสื่ออันหลากหลาย ไร้ขอบเขต ที่หลอมรวมศิลปะกราฟิตี้ การ์ตูน ภาพวาดกึ่งนามธรรมลายเส้นอิสระ สีสันสดใส เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกเข้าไว้ด้วยกัน บาสเกียยังมักหยิบเอาศิลปะต่างแขนงเข้ามาผสมผสานกัน ทั้งภาพวาด กราฟิตี้, บทกวี และภาพลายเส้น รวมถึงหลอมรวมตัวหนังสือ ถ้อยคำ, ภาพการ์ตูน เข้ากับภาพวาดแบบนามธรรม และดึงเอาความเป็นศิลปะชั้นสูงลงมาคลุกเคล้าเข้ากับศิลปะข้างถนนอย่างสตรีตอาร์ตบนท้องถนน หรือวัฒนธรรมป๊อปรอบๆ ตัว และนำบุคลิกภาพอันโดดเด่นของตนมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนวทางเฉพาะตัวออกมา

ณเรศ จึง เองก็เป็นศิลปินที่ทำงานจิตรกรรมในหลากหลายแนวทาง ทั้งภาพวาดนามธรรม (abstract painting) ภาพวาดรูปธรรม (figurative painting) ภาพวาดกึ่งนามธรรม (semi-abstract painting) ที่น่าสนใจก็คือ บางผลงานของเขายังมีการผสมผสานตัวหนังสือถ้อยคำลงในภาพวาด คล้ายกับ บทกวีภาพ หรือ วรรณรูป (concrete poetry) ที่หยิบยกเอาข้อความจากเรื่องราวที่เขาสนใจอย่างวรรณกรรม ข่าวสาร เหตุการณ์รอบตัว หรือแม้แต่ปรัชญาทางพุทธศาสนา มาแทรกร้อยในภาพวาดอันเปี่ยมสีสันของเขา

“ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบเขียนไดอารี จดบนทึกประจำวัน และถ้าในช่วงนั้นผมฟังอะไรอยู่ ได้เห็นหรือได้ยินคำคำไหนที่โดนใจ ผมก็จะจดเอาไว้ และหยิบเอามาใส่ลงไปในผลงาน นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบอีกอย่างในนิทรรศการนี้ คือหลังจากทำงานเสร็จแต่ละชิ้น ผมจะเขียนบันทึกเป็นถ้อยคำเอาไว้ในกระดาษแผ่นหนึ่ง ให้เป็นคำบรรยายประกอบแต่ละภาพที่วาด ซึ่งถ้อยคำแต่ละคำ หรือสิ่งที่ผมบรรยายบนกระดาษแต่ละแผ่น ก็อาจจะไม่ได้มีเรื่องราวตรงกับภาพที่วาดก็ได้ แต่เป็นข้อความที่บันทึกว่า ข้อเขียนเหล่านี้อยู่กับภาพวาดภาพนี้บนกระดาษจำนวน 366 แผ่น เท่ากับภาพวาดจำนวน 366 ภาพ”

ลักษณะอันโดดเด่นอีกประการในผลงานของณเรศ คือความสดของเส้นสาย สีสัน ที่แสดงออกถึงความเคลื่อนไหวอันฉับพลันแบบด้นสด (Improvisation) โดยไร้การร่างภาพก่อนหน้าการทำงาน

“เวลาทำงานศิลปะมา ผมมักไม่วาดภาพร่าง ภาพร่างของผมมักจะเป็นตัวหนังสือ คล้ายกับแผนผังการทำงาน เหมือนกับเป็นสตอรีบอร์ดซะมากกว่า สมมติผมอยากวาดภาพสักภาพหนึ่ง ผมก็จะเขียนเป็นบันทึกลงไปในกระดาษว่า ตรงกลางเป็นพระ ข้างล่างเป็นพื้น และโครงสร้างของภาพเป็นสามเหลี่ยม อะไรแบบนี้ ก่อนหน้านี้ผมเคยวาดภาพร่างนะ แต่พอวาดภาพจริงออกมาแล้วก็ไม่เคยเหมือนภาพร่างสักที จากที่ต้องทำงานโดยมีภาพร่าง ผมก็เปลี่ยนมาทำงานแบบด้นสดโดยไม่มีการวาดภาพร่างแทน ผมยังมักจะทำงานเป็นคอนเซ็ปต์ในแต่ละปี ยกตัวอย่างเช่น ในนิทรรศการนี้ก็จะเป็นงานที่ได้จากคอนเซ็ปต์ที่ผมทำขึ้นในปีที่แล้ว”

“ด้วยความที่ผมเป็นคนทำงานได้หลายแบบ ในช่วงไหนผมอยากจะทำงานแบบไหนผมก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ถ้าผมเกิดอยากทำงานแบบอื่นขึ้นมา ผมก็จะเริ่มต้นทำงานแนวใหม่ ผมมองงานของตัวเองว่ามีบุคคลิกเฉพาะตัวอยู่ที่สีสัน ผมชอบสี การทำงานของผมจึงเป็นเหมือนการเอาสีมาปรุงแต่งให้เป็นภาพวาดขึ้นมา สีสันแต่ละสีก็เป็นเหมือนเป็นอารมณ์ในวันนั้นๆ หรือไม่ก็เป็นบททดสอบรูปแบบหนึ่ง อย่างผมเองเป็นคนไม่ชอบสีเขียวในงานศิลปะ ผมก็จะทำอย่างไรก็ได้ในการเอาสีเขียวใส่ลงไปในภาพวาดให้ออกมาแล้วเป็นภาพที่ผมชอบได้”

ณเรศยังกล่าวถึงวิชาชีพของเขาในการเป็นศิลปินเต็มตัวว่า

“ตอนนี้ผมเป็นศิลปินเต็มตัวมาได้ 7 ปีแล้ว ไม่ได้ทำอาชีพอื่นเลย วาดภาพอย่างเดียว หาเลี้ยงชีพด้วยการขายผลงาน ผมเลยตั้งชื่อนิทรรศการนี้ว่า Full Time : งานประจำ เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าผลงานศิลปะจำนวน 366 ชิ้นนี่แหละ ที่จะแสดงให้ทุกคนรู้ว่าผมกำลังทำงานศิลปะเป็นงานประจำอยู่”

“สำหรับผม การทำงานศิลปะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็ต้องมีปัจจัยหลายอย่างมาก ก่อนที่ผมจะเป็นแบบนี้ หนึ่ง คือคุณต้องไม่อายว่าคุณทำงานศิลปะเป็นอาชีพ สอง คุณต้องกล้าที่จะเลิกทำงานอื่นมาทำงานศิลปะเต็มตัว สาม คุณต้องทำงานอย่างสม่ำเสมอ และต้องมีวินัย เหมือนคนทั่วไปที่ทำงานบริษัท ตื่นเช้ามาทำงาน มีเวลาเริ่มงานและเลิกงาน แต่สำหรับผม การทำงานศิลปะของผมนั้นไม่มีวันหยุดวันลา ทั้งวันหยุดราชการ หรือหยุดนักขัตฤกษ์ นั่นเป็นที่มาว่าทำไมผมจึงต้องทำงานหนักขนาดนี้ เพราะผมสามารถทำงานให้แล้วเสร็จได้ในวันเดียว”

จะว่าไปแล้ว การทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตรของณเรศในลักษณะนี้เองก็เป็นเฉกเช่นวัตรปฏิบัติทางพุทธศาสนา อย่างการเจริญสติภาวนาในชีวิตประจำวัน เช่นนั้นแล้ว การทำงานศิลปะของณเรศ ก็ไม่ได้เป็นแค่เพียงการประกอบสัมมาอาชีพเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการทำงานศิลปะเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจและจิตวิญญาณของตนเองเช่นเดียวกัน

นิทรรศการ Full Time : งานประจำ โดย ณเรศ จึง จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม-30 เมษายน พ.ศ.2568 ที่หอศิลป์ BNC Creatives RCA สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดหมายเข้าชมงาน โทร. 09-2609-2666, อีเมล [email protected], Line OA : BNCCREATIVES

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก BNC Creatives RCA •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์