พะยอม ดอกหอมงามบานสะพรั่ง

ในช่วงเวลานี้เป็นฤดูที่ดอกพะยอมกำลังบานสะพรั่ง ขาวโพลนไปทั้งต้น ถ้าได้มีโอกาสเดินตามทุ่งนาจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆ โชยมา ทำให้ชื่นใจ แต่น่าเสียดายในปัจจุบันพบว่าพื้นที่หลายแห่งมีผู้คนตัดฟันทิ้งไปจำนวนไม่น้อย

พะยอม เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea roxburghii G.Don ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Anthoshorea roxburghii (G.Don) P.S.Ashton & J.Heck. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า White – Meranti ชื่อนี้น่าจะมาจากลักษณะการออกดอกที่ขาวไปทั้งต้น และทิ้งใบจนหมดเหลือแต่ดอก พะยอมยังมีชื่อท้องถิ่น เช่น แคน (เลย) ยางหยวก (น่าน) กะยอม เชียง เซียว เซี่ย (เชียงใหม่) พะยอมทอง (ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี) ขะยอมดง พะยอมดง (ภาคเหนือ) สุกรม (ภาคกลาง) คะยอม ขะยอม (อีสาน) ยอม (ภาคใต้) ขะยอม (ลาว) เป็นต้น

ชื่อเรียกในอดีตที่น่าสนใจมากชื่อหนึ่งที่คนภาคกลางเรียกว่า “สุกรม” ซึ่งพบในวรรณกรรมดั้งเดิมมากมายไม่น้อยกว่า 50 รายการ เช่น ในรามเกียรติ์ เล่ม 3 กล่าวว่า “กรรณิการ์การะเกดสุกรม” และในเล่มที่ 49 กล่าวว่า

ครั้นมาถึงที่อุทยาน เกษมศานต์ทั้งห้ามารศรี

สรวลระริกซิกแซ่ทุกนารี พาทีสัพยอกหยอกกัน

เที่ยวเก็บบุปผามาลาศ พุทธชาดสุกรมนมสวรรค์

หรือในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง บทที่ 62

เพกาฝักย้อมกุ่ม ผลหนา

ตาตุ่มทุมราชา เนื่องหน้า

สุกรมมะยมพวา ชมพู่

สาเกไม้หมากข้า อิกเปล้าขานาง ฯ

หรือในอิเหนา กล่าวว่า

บนเนินเขาล้วนเหล่าลั่นทม ดอกสุกรมยมโดยโชยรส

พิกุลบุนนาคมากมี ตามทางหว่างวิถีสีขาวสด

ชมพลางทางเร่งรีบรถ เลียบตามบรรพตเชิงคิรี ฯ

ในวรรณกรรมของสุนทรภู่ เรื่องขุนช้างขุนแผน ปรากฏไว้เช่นกันแต่เรียกว่าพะยอม

กระลุ่มพูจิกพวงชมพูเทศ พะยอมหอมหวนมายวนใจ

สังเกตเหมือนผ้าชมพูพิสมัย เหมือนกลิ่นสไบเจ้ายังติดมา

 

วรรณกรรมมากมายนี้แสดงให้เห็นว่า ต้นพะยอมหรือสุกรมนี้มีอยู่มากมายในธรรมชาติ แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดและเมื่อใดที่ชื่อเรียกจาก “สุกรม” มาเป็น “พะยอม” เพราะในปัจจุบันถ้ากล่าวถึงต้นสุกรมน่าจะหาคนรู้จักน้อยมาก หรือเพราะเหตุว่าสุกรมอาจจะหมายถึงต้นไม้อีกชนิดหนึ่ง ในฐานข้อมูลของหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ ให้ข้อมูลถึงต้นไม้ที่มีชื่อว่า สุกรม นอกจากต้นพะยอมแล้วยังมีต้นไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่คนท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “สุกรม” มีชื่อทางราชการว่า “ไข่เขียว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Parashorea stellata Kurz เป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์ไม้ยางเช่นเดียวกับพะยอม ไม้ชนิดนี้พบมากในภาคใต้ จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับต้นสุกรมที่ปรากฏในวรรณกรรมทางภาคกลาง

พะยอม มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชีย เช่น ประเทศพม่า ลาว ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น หรือป่าดิบแล้งทั่วไป พบได้ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 60-1,200 เมตร

พะยอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นสูงได้ถึง 15-30 เมตร และมีเนื้อไม้แข็ง สีเหลืองอ่อนแกมสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียว แผนใบรูปมนรี เรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ท้องใบ เป็นเส้นแขนงใบนูนมองเห็นชัด ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ สีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม ผลเป็นรูปรี กลีบเลี้ยงเจริญไปเป็นปีกคล้ายผลยาง มีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก

หากสังเกตจากวรรณกรรมข้างต้นก็ยืนยันได้ว่าในอดีตจำนวนประชากรของพะยอมมีมากมายพบได้ทุกแห่ง และเพราะพะยอมเป็นไม้ที่มีเนื้อแข็งมากในการพัฒนาประเทศช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง จึงนำเอาไม้พะยอมมาใช้ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะการทำไม้หมอนรถไฟ ต่อมาการตัดป่าเพื่อทำการเกษตรเชิงเดียวก็เป็นตัวเร่งให้ไม้หลายชนิดรวมทั้งพะยอมมีจำนวนลดลงอย่างมาก แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีคนนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับแต่จำนวนตามธรรชาติยังไม่มากขึ้นนัก

ในแง่ประโยชน์สมุนไพร เปลือกต้นพะยอมมีแทนนินมาก ใช้ต้มกินเป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเดิน และลำไส้อักเสบ ดอกใช้เข้าเป็นยาหอม ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ และลดไข้

ดอกอ่อนพะยอมเป็นอาหารพื้นบ้านที่น่าสนใจ นำมาต้มหรือยำก็ได้ คนอีสานนิยมนำมาทอดกับไข่ให้เด็กกินเพราะเชื่อว่าช่วยขับพยาธิให้เด็กได้ และในอดีตกินหมากกับเปลือกพะยอมด้วย การแพทย์พื้นบ้านอีสานมีการนำรากพะยอมมาฝนร่วมกับสายสะดือแห้ง ใช้รักษาไข้หมากไม้ที่พบในเด็ก ชนิดที่เรียกว่า ไข้ออกปานดำปานแดงสลับกัน ซึ่งมีอาการไข้ทุเลาเป็นบางเวลา เช่น ตอนกลางคืนพอเด็กนอนหลับจะเริ่มจับไข้ ไข้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตอนรุ่งสางไก่ขันไข้จะหนักมาก พอสว่างไข้จะทุเลาลง อาการไข้หมากไม้เช่นนี้ก็จะใช้ตำรับพะยอมข้างต้น

ความรู้พื้นบ้านยังใช้รักษาโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยในสัตว์ โดยนำเปลือกพะยอม เปลือกประดู่ เปลือกแต้ มาแช่น้ำรวมกัน แล้วนำไปราดในคอกและตัวสัตว์

 

เนื่องจากเปลือกพะยอมมีแทนนินสูงจึงนำมาใช้เป็นสารกันบูดในเครื่องหมักดองบางชนิด และใส่ในกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้เก็บน้ำตาลจากต้นมะพร้าวและต้นตาลเพื่อไม่ให้น้ำตาลบูดเสียด้วย ชันจากพะยอมนำมาใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ยาเรือ แต่คุณภาพไม่ดีเท่ากับชันจากต้นเต็ง (Shorea obtusa Wall. ex Blume) เปลือกพะยอมใช้เป็นสีย้อมธรรมชาติจะให้สีแดงเหลือง น้ำตาลส้ม

ถ้าชุมชนใดมีที่ว่างพอก็แนะนำให้ปลูกไม้ใหญ่เป็นทั้งอาหารและสมุนไพร ดอกงามและหอมต้นนี้กันเพิ่มขึ้นด้วย •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org