สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [20] มลายู, จาม ผู้ค้าทางทะเลให้อยุธยา

อยุธยามากประสบการณ์การสัญจรในแม่น้ำลำคลอง แต่ประสบการณ์ไม่มากการสัญจรทางทะเลสมุทร ดังนั้น กษัตริย์อยุธยาต้องจ้างผู้ชำนาญทางทะเลซึ่งเป็นนานาชาติภาษา ให้ควบคุมดูแลการค้าทางทะเลสมุทร ได้แก่

ราชาเศรษฐี พูดภาษาจีน ดูแลกรมท่าซ้าย-การค้าทางทะเลจีน กับนานาประเทศทางตะวันออก

จุฬาราชมนตรี พูดภาษามลายู ดูแลกรมท่าขวา-การค้าทางทะเลอันดามัน กับนานาประเทศทางตะวันตก

นอกจากการค้าของราชอาณาจักรแล้ว มลายูยังทำการค้าซอกซอนถึงชุมชนหมู่บ้านตลอดชายฝั่งและเกาะใหญ่น้อยทั่วภูมิภาค ซึ่งสร้างความมั่งคั่งตั้งแต่เมืองใหญ่ถึงหมู่บ้านน้อยๆ

มลายูมีจำนวนมากที่สุดในบรรดามุสลิมกลุ่มต่างๆ ของอยุธยา ที่ตั้งบ้านเรือนบริเวณเมืองปท่าคูจาม ซึ่งเป็นหลักแหล่งของมุสลิมหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจาม, กลุ่มมลายู, กลุ่มหมู่เกาะในอุษาคเนย์ [จากหนังสือ ขุนนางกรมท่าขวา การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2153-2435 ของ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546 หน้า 33-36]

จามใน “เมืองปท่าคูจาม” เป็นพลังสำคัญในการค้าทางทะเลสมุทรของกลุ่มสยามสุพรรณภูมิมาแต่ไหนแต่ไร

ปัญหาอยู่ที่ว่าอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ทุกวันนี้กีดกันทางประวัติศาสตร์ว่าจามเป็นพวก “ไม่ไทย” และ “ไม่มีหัวนอนปลายตีน” แล้วถูกยัดเยียดว่าจามเป็นเชลยกองทัพอยุธยากวาดต้อนจากกัมพูชาคราวศึก “ขอมแปรพักตร์” สมัยแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา

แต่แท้จริงแล้ว ศึก “ขอมแปรพักตร์” เป็นวรรณกรรม “เพิ่งสร้าง” เพื่อยกย่องเมืองใหม่ “เพิ่งเกิด” คือกรุงศรีอยุธยา

ดังนั้น ศึก “ขอมแปรพักตร์” ไม่เคยมี และเชลยจามจากกัมพูชาไม่เคยมา ไม่ว่าสมัยแรกหรือสมัยหลังของกรุงศรีอยุธยา

ทั้งนี้เพราะมลายู-จาม เป็นประชากรดั้งเดิมของอุษาคเนย์ และมีในไทยก่อนมีคนเรียกตนเองว่าไทย

อยุธยายกย่องมลายูดูแลการค้าทางทะเลอันดามัน (มหาสมุทรอินเดีย) เพราะมลายูชำนาญทางทะเลสมุทร (ดูในหนังสือประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย ของ ธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2554)

เมืองปท่าคูจาม กร่อนจากคำเดิมว่า “เมืองปละท่าคูจาม” หมายถึง เมืองฟากฝั่งคลองคูจาม ซึ่งส่อว่าเป็นคำเรียกชื่อลักษณะบอกที่ทางหรือตำแหน่งแห่งหนของชุมชนเมืองสำคัญนั้นว่าอยู่บริเวณที่เป็นคลองคูจาม ดังนั้น จึงไม่ใช่ชื่อเมืองอย่างเป็นทางการ หากเป็นชื่อเรียกตามภาษาปากแล้วรู้กันในกลุ่มคนครั้งนั้นสืบถึงสมัยแต่งพงศาวดาร

[คำว่า “ปละ” หรือ “ประ” แปลว่า ฝั่ง, ฟาก (พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างพระราชวินิจฉัยของ ร.5 อยู่ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2542 หน้า 212, และพบใน พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ พุทธศักราช 2525 สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2530 หน้า 204, นอกจากนั้นยังพบในเอกสารเรื่องกัลปนาเมืองพัทลุง อ้างในบทความเรื่อง “สมเด็จพระนครินทราธิราชฯ” ของ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล พิมพ์ในหนังสือ Ayutthaya Underground สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 162) ส่วนคำว่า “ท่า” หมายถึง คลอง มีใช้ในคำว่า “น้ำท่า” คือ น้ำในแม่น้ำลำคลอง ดังนั้น “ปทา” ในที่นี้จึงไม่มาจากภาษาเขมรตามที่มีอธิบายไว้ในหนังสือของราชการ]

จาม เป็นชื่อทางวัฒนธรรม (เหมือนคำว่า เจ๊ก, แขก, ขอม ฯลฯ) หมายถึง ประชากรของรัฐจามปาในเวียดนาม อยู่ในตระกูลภาษาและวัฒนธรรมมลายู (บางทีเรียก “มลายูจาม”) ซึ่งมีบรรพชนเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในวัฒนธรรมซาหวิ่น ประกอบด้วยคนนับถือศาสนาผีซึ่งมีหลายชาติพันธุ์ แต่พูดภาษามลายูเป็นภาษากลาง และชำนาญเดินเรือทะเลสมุทร (ก่อนจีน) จามหรือคนในวัฒนธรรมซาหวิ่นพร้อมสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ ลิงลิงโอและกลองทอง (มโหระทึก) เข้าถึงอ่าวไทยสมัยแรกๆ ทางลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500

รัฐจามปา รับวัฒนธรรมอินเดีย หลัง พ.ศ.1000 นับถือพราหมณ์-ฮินดูและพุทธปนศาสนาผี แล้วแผ่ขยายอิทธิพลไปทางลุ่มน้ำโขงบริเวณจำปาสัก (ในลาว) เข้าอีสาน (ในไทย) ต่อมาราวเรือน พ.ศ.1900 เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม (รับผ่านทางจีน)

มลายูจามเดินเรือเลียบชายฝั่งค้าขายกับรัฐเริ่มแรกในไทย ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1000 ได้แก่ (1.) หลั่งยะสิว หรือหลั่งเกียฉู่ ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และ (2.) โถโลโปตี หรือทวารวดี ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี

สมัยรัฐอโยธยาศรีรามเทพ จามปาค้าขายทางทะเลกว้างขวางแข็งแรง และมีความสัมพันธ์ทางการค้าใกล้ชิดกลุ่มสยาม จึงมีชุมชนจามอยู่ในกลุ่มสยามย่านคลองตะเคียน (แผนที่สมัยพระนารายณ์เรียกคลองตะเคียน ว่า คลองคูจามใหญ่) และน่าเชื่อว่ามีชาวจามรับราชการเป็น “กองอาสาจาม” ทำหน้าที่คล้ายกองทัพเรือเมื่อมีสงคราม แต่ยามปกติทำหน้าที่ควบคุมเรือและประโคมปี่กลองรับเสด็จ ดังนั้น เครื่องประโคมรับเสด็จจึงเรียกสืบเนื่องถึงทุกวันนี้ว่าปี่ชวา, กลองแขกมลายู

สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวจามเป็นข้าราชการ “กองอาสาจาม” มีศักดินา และมีชื่อในพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ส่วนจามพ่อค้ามีฐานะทางสังคมเทียบเท่าจีนและชวา จึงพบในกฎมณเฑียรบาลเรียก “จีนจามชวานานาประเทศ”

จีนกับจามมีการค้าทางทะเลสนับสนุนใกล้ชิดกลุ่มสยามมานานมากแล้ว จึงพบภาษาในชีวิตประจำวันเรียกคู่กันว่า “จีนจาม” แม้ชื่อถ้ำใกล้กันบนเทือกเขางู (จ.ราชบุรี) ยังตั้งชื่ออย่างคุ้นเคยว่า ถ้ำจีน-ถ้ำจาม

มลายูจามเป็นรัฐเอกเทศซึ่งมีสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอยุธยาอย่างเสมอหน้า พบหลักฐานสำคัญมากอยู่ในโคลงเฉลิมพระเกียรติพระนารายณ์ฯ ดังนี้

นัดดาจาเมศร์ไท้ จำปา

นามชื่อโปซางสา โรชแท้

มาทูลสุวรรณบา ทุกราช

เป็นบาทมุลิกาแล้ นอบนิ้วอภิวันท์ (บท 7)

หนึ่งสามนตราชเชื้อ รายา

นามชื่อตาเยงมะงา เผ่าไท้

ในเมืองมักกาสา สันราช

มาประนมนิ้วไหว้ นอบน้อมบังคม (บท 9)

ทั้งมลายูและจามจำนวนหนึ่งในอโยธยา-อยุธยา เมื่อนานไปก็กลายตนเป็นไทยเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ จำนวนมาก •

 

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ