จับเชลยศึกชาวตะวันตก และค่ายเชลยศึกที่ มธก. (จบ)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

จับเชลยศึกชาวตะวันตก

และค่ายเชลยศึกที่ มธก. (จบ)

 

ค่ายเชลยศึกชาวตะวันตกที่ค่าย มธก.

ภายหลังที่ไทย “กติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น” เมื่อ 21 ธันวาคม 2484 และประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯเมื่อ 25 มกราคม 2485 แล้ว จึงถือว่าคนที่มีสัญชาติประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเป็น “ชนชาติศัตรู” และรัฐบาลไทยได้จับกุมชนชาติศัตรู การควบคุมช่วงแรกๆ ให้เชลยอยู่ภายในอาคารบ้านเรือนของตนเองและบางส่วนอยู่ในสถานทูตของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาโดยมีตำรวจควบคุมสถานทูตตลอดเวลา และมีเจ้าหน้าที่ผสมจากทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นเข้าไปตรวจเยี่ยมเป็นระยะ (นิภาพร รัชตพัฒนากุล, 2567, 7)

ต่อมาเมื่อเชลยศึกมีจำนวนมากขึ้น หลวงอุดลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจขอใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) จากนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ เขาให้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ด้วยมองว่าหากไม่ทำเช่นนี้ ญี่ปุ่นจะดำเนินการเองและชีวิตเชลยศึกอาจเลวร้ายกว่าเก่า และหากฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามจะผ่อนหนักเป็นเบาให้ไทยมากขึ้น การใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นค่ายคุมขังจะเป็นประโยชน์มากกว่าการนำเชลยไปอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, 2535, 116)

ในช่วงแรกนั้น จำนวนเชลยศึกชาติยุโรป และสหรัฐ ออสเตรเลียที่ค่าย มธก.มีกว่า 350 คน (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 60-61) ในค่ายส่วนใหญ่เป็นพลเรือนที่เป็นลูกจ้างต่างชาติที่ทำงานในห้างร้านที่ประกอบการในไทย ถูกนำมากักในพระนคร เช่น G. FitzGerald และ G.W.E. True พนักงานธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้, K.G. Gairdner และ E. Healey พนักงานบริษัทไทยวัฒนาพานิช, W.H. Mundie เจ้าของบริษัท The Bangkok Time, C.W. Taylor พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์, H.F. Scholtz และ L.D. Wester พนักงานบริษัท International Engineering และบุคลากรด้านศาสนา เช่น American Bible Society เป็นต้น (นิภาพร, 7-8)

ช่วง 7-8 เดือนแรกของสงคราม ฝ่ายไทยดูแลเชลยศึกกันอย่างเข้มงวด (ชาญวิทย์และคณะ, 2535, 116-117) ชีวิตความเป็นอยู่ของเชลยศึกที่เป็นพ่อค้าที่เคยสุขสบายต้องมาอยู่รวมกันอย่างแออัดในค่ายเชลยศึกย่อมมีความลำบากอยู่บ้าง แต่อยู่ไปนานเข้าก็เคยชิน ชีวิตประจำวันก็ดำเนินไปตามปกติ ขาดแต่เพียงเสรีภาพเท่านั้น เชลยทุกคนต่างคนมีหน้าที่ทำภาระงานที่เชลยแบ่งหน้าที่กัน เช่น บางคนทำครัว บางคนจ่ายตลาด บางคนมีหน้าที่ทำความสะอาด บ้างก็ซักรีด เป็นช่างไม้หรือช่างไฟฟ้ากันตามถนัด (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 64)

สภาพชีวิตเชลยศึกที่ค่ายมธก.

ต่อมา การปฏิบัติต่อเชลยศึกที่ มธก.เป็นไปในทางถ้อยทีถ้อยอาศัย ลดความเข้มงวดลงเรื่อยๆ เช่น มธก.อนุญาตให้ใช้สถานที่เป็นที่พักผ่อนและเล่นกีฬาได้ การผ่อนปรนเหล่านี้ในค่าย เหล่าเชลยจัดกิจกรรมนันทนาการ เช่น จัดการเรียนภาษา วิทยาศาตร์ ตัดเย็บเสื้อผ้า แกะสลัก วาดภาพ เพื่อเป็นการฆ่าเวลา (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, 2535, 117; กิตติชัย, 150-151)

ทั้งนี้ ภายในค่าย เหล่าเชลยศึกตั้งคณะกรรมการขึ้นภายในค่ายดูแลผลประโยชน์และความผาสุกกันเอง มีงานบันเทิงต่างๆ ตามสมควร มีการแสดงละคร การแข่งกีฬาภายใน มีการปาฐกถาให้ความรู้กัน ทำให้เชลยที่ มธก.มีเสรีภาพและความสะดวกสบายพอสมควร ในลักษณะที่เรียกกันว่า “ในทางปฏิบัติมีการผ่อนคลายกันอย่างกว้างขวาง” สภาพความผ่อนปรนในค่ายเชลยศึกที่ มธก.ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารญี่ปุ่นในคณะกรรมการผสมไทย-ญี่ปุ่นมักค่อนขอดอยู่เป็นนิจว่า ฝ่ายไทยดูแลเชลยศึกชาวตะวันตกให้ความสุขมากเกินไป ซึ่งแตกต่างจากเชลยในความควบคุมของญี่ปุ่น (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 65)

ที่ค่ายเชลยศึก มธก.นั้น เชลยศึกชาวตะวันตกที่โสด ไม่มีครอบครัวจะถูกแยกไปอยู่ห้องรวมซึ่งเป็นเตียงเดี่ยวเหมือนโรงทหาร โดยใช้ห้องเรียนในตึกโดมเป็นห้องพักเชลย การกินอาหารของเหล่าเชลยศึกจะกินร่วมกันบนโต๊ะยาว อาหารเช้าเป็นขนมปังคุณภาพต่ำกับกาแฟหนึ่งถ้วย พอแป้งเริ่มขาดแคลนจึงแจกไข่ต้มหนึ่งฟองให้กินแทน อาหารเที่ยงและเย็นเป็นข้าวและแกงกะทิ บางมื้อใช้เนื้อควายหรือไก่หั่นเป็นชิ้นๆ เสิร์ฟกับข้าวหรือมันบดและผักพื้นบ้าน อาหารในค่ายเชลยถูกปรุงมาจากโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งมีบ๋อยชาวจีนเป็นเด็กเสิร์ฟ (กิตติชัย, 147)

สำหรับข้าราชการสถานทูตและกงสุลอเมริกันและอังกฤษถูกคุมขังเป็นเวลานานกว่า 7 เดือนจึงเริ่มมีการแลกเปลี่ยนเชลยศึก ทำให้เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐและอังกฤษออกจากไทยไปในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2485 ตามลำดับ (กนต์ธีร์, 2527, 63-64) ต่อมา มีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกทำให้เชลยศึกในค่าย มธก.มีจำนวนลดลง (ชาญวิทย์และคณะ, 2535, 116-117)

มธก.ในยามสงคราม

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยินยอมให้ฝ่ายไทยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลค่ายเชลยศึกที่ตั้งที่ มธก.ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่อัตคัดขัดสนนัก จนทำให้มีผู้บันทึกว่า มีครั้งหนึ่ง สารวัตรทหารไทย ต้องการนำหนังสืออ่านเล่นที่เชลยศึกนำติดตัวมาแต่อ่านจบแล้วไปแลกกับหนังสือของห้องสมุดเนลสัน เฮย์ ที่สุรวงศ์อันเป็นสถานที่ทหารญี่ปุ่นยึดครองอาคารไว้ สารวัตรทหารญี่ปุ่นแจ้งให้สารวัตรทหารฝ่ายไทยนำหนังสือที่ต้องการแลกมาไว้ที่กองบัญชาการสารวัตรทหารผสมไทยญี่ปุ่นที่ศาลาแดง (เสถียร ตามรภาค, 2518, 139-140)

แต่ปรากฏว่า สารวัตรทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นกลับใช้น้ำมันราดกองหนังสือและจุดไฟเผาทิ้ง ฝ่ายไทยจึงประท้วงการกระทำดังกล่าว ต่อมา สารวัตรใหญ่ทหารญี่ปุ่นแจ้งกับฝ่ายไทยว่า “ค่ายเชลยศึกไทย สบายมาก-ไม่ใช่ค่ายเชลย แต่เป็นเหมือนโฮเต็ล อาทิตย์หนึ่งๆ ต้องมีช่างเสริมสวยเข้าไปทำผมให้แก่ผู้หญิงในค่าย งานการก็ไม่ทำอะไร น่าจะให้ทำสวนครัวกันบ้าง ท่านรู้หรือไม่ว่า ในมะนิลา สหรัฐขังพลเรือนญี่ปุ่นไว้กับคนโรคเรื้อน รัฐบาลไทยกลับช่วยเหลือชนชาติศัตรูดีเหลือเกิน”

ร.ต.เสถียร ตามรภาค ทหารสารวัตรจึงตอบกลับว่า รัฐบาลไทยต้องทำตามกฎบัตรของสันนิบาตชาติ คือ สนธิสัญญาว่าด้วยเชลยศึก (เสถียร ตามรภาค, 2518, 139-140)

โรงเรือนของเชลยศึกเคยตั้งอยู่ที่สนามหญ้าหน้าตึกโดม

การย้ายค่ายเชลยศึกช่วงปลายสงคราม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสงคราม ในสมุดสั่งการจอมพล ป. เขาในฐานะนายกรัฐมนตรี สั่งการเมื่อ 13 มกราคม 2487 ให้ย้ายชนชาติศัตรูทั้งหมดมาไว้ที่โรงเรียนการปกครอง สวนสุนันทา เพื่อให้ มธก.เป็นสถานที่รองรับคนบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศในพระนครแทน (อนันต์ พิบูลสงคราม, เล่ม 1, 2540, 251) ต่อมาต้นปี 2488 พื้นที่ของค่ายเชลยศึกที่ มธก.ตั้งอยู่ใกล้แหล่งยุทธศาสตร์ที่มีการทิ้งระเบิดเสมอ ทำให้รัฐบาลครั้งนั้นย้ายค่ายเชลยศึกแห่งนี้ต่อไปยังโรงเรียนวชิราวุธเพื่อความปลอดภัยในชีวิต (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 60-65)

เมื่อเชลยศึกที่ มธก.บางส่วนถูกส่งกลับพร้อมเจ้าหน้าที่สถานทูตและสถานกงสุลแล้ว เชลยตกค้างเหลืออยู่เป็นพ่อค้า ยิ่งทำให้ฝ่ายไทยผ่อนปรนให้กับเชลยศึกในค่ายมาก ถึงขนาดเชลยบางคนที่แก่ชราหรือเจ็บป่วยโดยฝ่ายไทยอนุญาตให้กลับไปอยู่บ้านแต่มีตำรวจรักษาการณ์ บางส่วนอาศัยอยู่ในเขตเมือง คือ บริเวณตรอกจันทร์ บางรัก สีลม ช่องนนทรี สุรวงศ์ นานาเหนือ บางกะปิ ส่วนที่อยู่นอกพื้นที่พระนคร เช่น แถวบางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม และสถานีรถไฟอยุธยา ทั้งนี้ เหล่าเชลยศึกใช้ชีวิตอยู่ในค่ายเชลยศึกในความดูแลของฝ่ายไทย ราวกว่า 3 ปีจนสงครามสงบ (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 60-65; นิภาพร, 2567, 8)

อย่างไรก็ตาม สภาพชีวิตที่ไม่ลำบากยากแค้นนักในค่ายที่ มธก. เทียบไม่ได้เลยกับชีวิตของเชลยศึกในความควบคุมของญี่ปุ่นที่เชลยศึกทหารสัมพันธมิตรถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่า ต่อมา ลอร์ด หลุยส์ เมาต์แบตแตน ผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียอาคเนย์ กล่าวในภายหลังว่า

อดีตเชลยศึกอังกฤษเคยเล่าให้เขาฟังว่า พวกเขาสำนึกในน้ำใจของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ มธก.และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นอย่างมากที่ให้การดูแลพวกเขาในช่วงถูกกักกันที่ค่ายเชลยศึกในพระนคร (ชาญวิทย์และคณะ, 2535, 117)

การแสดงละครของเหล่าเชลยศึกที่ค่าย มธก.
การแสดงละครของลูกหลานเหล่าเชลยศึกในค่าย มธก.
ห้องสมุดเนลสัน เฮย์ ที่ถนนสุรวงศ์
ที่พักเชลยศึกที่โรงเรียนวชิราวุธ
ที่พักเชลยศึกที่วิชิราวุธ
สภาพชีวิตเชลยศึกทหารสัมพันธมิตรที่นครปฐมถูกใช้แรงงานภายใต้การดูแลของทหารญี่ปุ่น