ในประเทศ : สนิมเกิดแต่เนื้อในตน ศึกใน-นอกโหมกระหน่ำ คสช.

“สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” น่าจะเป็นคำจำกัดความกับสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กุมบังเหียนใหญ่ ในฐานะ “กัปตันเรือแป๊ะ” ในเวลานี้ได้เหมาะสมที่สุด

เนื่องจากสถานการณ์และปัจจัยลบที่โหมกระหน่ำใส่รัฐบาลและ คสช. ในเวลานี้ จนหายุทธวิธีตั้งรับกันแทบไม่ทัน

ล้วนเกิดมาจากเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ “คสช.” แทบทั้งสิ้น

เริ่มจากประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากเดิม ที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยยืนยันผ่านสื่อว่า หากกฎหมายลูกมีความเรียบร้อยก็จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561

แต่เมื่อสถานการณ์และปัจจัยเปลี่ยน หนึ่งในแม่น้ำ 5 สายอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รับผิดชอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทั้ง 10 ฉบับ มีมติปรับแก้ไขในมาตรา 2 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … ให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แปลเป็นภาษาชาวบ้าน นั่นคือ แก้ไขให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยืดการบังคับใช้ไปอีก 90 วัน หรือ 3 เดือน และยังไม่นับรวมปัจจัยแทรกซ้อนระหว่างทาง เมื่อ สนช. ปรับแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้สามารถจัดมหรสพในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ได้ 

รวมทั้ง สนช. ยังได้ปรับแก้ไขร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. … โดยแก้ไขการเลือกไขว้ของบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ว. จาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม นำมาซึ่งความเห็นแย้งทั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จนต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย มาชี้ขาดข้อขัดแย้งภายใน 15 วัน ก่อนที่จะส่งให้ที่ประชุม สนช.ลงมติชี้ขาดอีกครั้ง

โดย กกต. และ กรธ. มองตรงกันว่า การจัดให้มีมหรสพในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. จะเกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างพรรคการเมืองใหญ่กับพรรคการเมืองเล็กที่มีเงินทุนในการจัดมหรสพหาเสียงเลือกตั้งที่ไม่เท่ากัน และอาจไปสู่การร้องเรียนที่ทำให้การดำเนินการจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 224(2)

ส่วนประเด็นเรื่องการปรับแก้ไขการเลือกไขว้คัดเลือกบุคคลเป็น ส.ว. จาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่มนั้น กรธ. ในฐานะผู้ยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีความเห็นแย้งว่า การปรับลดกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาคัดเลือกเป็น ส.ว. จาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม เปิดช่องเกิดการฮั้วกันระหว่างกลุ่มเพื่อให้ได้คนที่แต่ละกลุ่มล็อกสเป๊กไว้ได้เข้ามาเป็น ส.ว. และไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัด เพราะมาตรา 107 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าประชาชนมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคน สามารถรับเลือกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างเสรี

หากที่ประชุม สนช. มีมติเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ของ สนช. ที่มีอยู่ โหวตคว่ำร่าง พ.ร.ป.ฉบับหนึ่งฉบับใดใน 2 ฉบับข้างต้น ย่อมส่งผลให้การนับหนึ่งวันเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก เพราะกระบวนการทั้งหมดต้องย้อนกลับมานับหนึ่งใหม่ โดย กรธ. จะต้องกลับมายกร่าง พ.ร.ป.ฉบับที่ถูกคว่ำไปใหม่อีกครั้ง

และหากเกิดการคว่ำกฎหมายลูกขึ้นมาจริงนั้น กระแสคัดค้านจากมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. เกิดจุดติดขึ้นมาจะถือเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่พัดกระหน่ำใส่รัฐบาลและ คสช. สุ่มเสี่ยงที่จะซ้ำรอยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้

เพราะเพียงแค่ สนช. ยืดการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้โรดแม็ปการเลือกตั้งของรัฐบาลและ คสช. ต้องเลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ข้ามไปเป็นช่วงต้นปี 2562

กลุ่มคัดค้าน คสช. หน้าเดิมๆ อย่างกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและกลุ่มสตาร์ตอัพ (START UP PEOPLE) กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ภายใต้การนำของ อานนท์ นำพา, รังสิมันต์ โรม, เอกชัย หงส์กังวาน และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ก็นัดกันออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ คสช. ทันที ในแบบที่ไม่เกรงกลัวหมายจับ

พร้อมกับประกาศหาแนวร่วม เรียกร้องว่าถึงเวลาของนักการเมืองทุกค่าย ทุกพรรค ออกมาต่อสู้ร่วมกับภาคประชาชนขับไล่ คสช. กันได้แล้ว

ประเด็นร้อนที่กลุ่มคัดค้าน คสช. ออกมาขยายแผลหาแนวร่วมคือ ความไม่ชอบธรรมของการอยู่ในอำนาจต่อไปของ คสช. ขาดความน่าเชื่อถือปรับเปลี่ยนโรดแม็ปของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า กอปรกับความไม่โปร่งใส ไร้ธรรมาภิบาลของผู้มีอำนาจในรัฐบาลและ คสช.

แม้ คสช. และฝ่ายความมั่นคงจะรับมือด้วยการบังคับใช้กฎหมายเข้มทุกฉบับ เพื่อสกัดแนวร่วมม็อบคัดค้านไม่ให้จุดติด พร้อมกับคำยืนยันของเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ออกมาประเมินสถานการณ์ของกลุ่มคัดค้าน คสช. คงจะไม่พัฒนาไปถึงขั้นซ้ำรอยกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

แต่การเมืองก็ไม่มีอะไรที่แน่นอนเสมอไป หากมีปัจจัยลบของ คสช. เกิดขึ้นมาอีก ม็อบคัดค้าน คสช. อาจจะจุดติดขึ้นมา ทำให้ คสช. ตกอยู่ในที่นั่งลำบากยิ่งกว่าเดิม

เพราะไม่เพียงแค่ศึกนอกจากกลุ่มคัดค้านรัฐบาลและ คสช. ทว่าศึกในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ดูเหมือนเงียบสงบก็กลับปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ “หมอธี” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมา “ปะ ฉะ ดะ” พี่ใหญ่แห่ง คสช. อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในประเด็นร้อน “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ทั้ง 25 เรือน แบบไม่เกรงใจใคร

ในวงทอล์กกับนักเรียนไทยและนักธุรกิจไทยในงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง “หมอธี” ระบุว่า “หากเป็นผมคงลาออกไปตั้งแต่นาฬิกาเรือนแรกแล้ว”

ร้อนถึงหัวหน้า ครม. อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องเรียก นพ.ธีระเกียรติมาเคลียร์ประเด็นร้อนที่วิพากษ์ พล.อ.ประวิตร ในประเด็นนาฬิกาหรูเป็นการด่วน แม้ผลการเคลียร์ใจใน 5 นาที 15 วินาที จะออกมาไม่สะใจคอการเมืองเท่าใดนัก นั่นคือ นพ.ธีระเกียรติยอมขอโทษ พล.อ.ประวิตร ที่เสียมารยาทไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนาฬิกาหรู พร้อมกับยืนยันว่ายังไม่ไขก๊อก ยังเชื่อมั่นในตัวนายกฯ และร่วมงานกับ ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้ต่อไป

ซึ่งคนการเมืองต่างฟันธงตรงกันว่า แม้ “หมอธี” จะเคลียร์ใจกับ “บิ๊กป้อม” แต่คงไม่สามารถลบรอยร้าวใน ครม.ประยุทธ์ 5 ได้อย่างแน่นอน อีกทั้งนับจากนี้ไปยังไม่รู้ว่าจะมีรัฐมนตรีคนใดจะเลียนแบบ “หมอธีโมเดล” มาปะ ฉะ ดะ ครม. ด้วยกันเองอีกหรือไม่

ศึกในและศึกนอกที่โหมกระหน่ำ “รัฐบาลและ คสช.” ในเวลานี้ ล้วนเกิดจาก “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” ทั้งสิ้น