ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.facebook.com/bintokrit
บทบาทสำคัญของไมโครซีเนม่า
ต่อวงการภาพยนตร์ไทย
ไมโครซีเนม่า (Micro Cinema) คือโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดชัดเจนตายตัวว่าต้องมีจำนวนที่นั่งไม่เกินเท่าไหร่ แต่โดยทั่วไปแล้วมักคุ้นเคยกันว่ามีขนาดไม่เกิน 100 ที่นั่ง
สำหรับกลุ่มผู้ชมชาวไทยที่เคยสัมผัสประสบการณ์ในโรงภาพยนตร์แบบไมโครซีเนม่าก็จะคุ้นเคยกับห้องฉายซึ่งมีที่นั่งอยู่ราวๆ 20-50 ที่นั่ง
บางแห่งเป็นแบบโฮมเธียเตอร์ (Home Theatre) คือมีจอฉายขนาดใหญ่กว่าหน้าจอโทรทัศน์ทั่วไป มีระบบเสียงสเตอริโอรอบทิศทาง มีเก้าอี้ชมภาพยนตร์ที่วางเป็นลำดับชั้นทำให้สามารถมองจอได้เต็มที่ ไม่บดบังกันเองอันเป็นอุปสรรคต่อการรับชม ฯลฯ
บางแห่งก็เป็นแบบสกรีนนิ่งรูม (Screening Room) คือไม่ได้วางระบบภาพและเสียงสำหรับฉายภาพยนตร์ไว้ แต่อาศัยการยืดหยุ่นพลิกแพลงสถานที่ให้สามารถฉายภาพยนตร์ได้ เช่น ใช้ผนังกำแพงของแกลเลอรีเป็นฉากสำหรับฉายภาพยนตร์ แทนที่จะติดตั้งจอภาพยนตร์สำหรับใช้ในการฉาย
บางแห่งก็อาจปรับประยุกต์ห้องอเนกประสงค์ที่เดิมใช้ในการประชุมหรือบรรยายมาฉายภาพยนตร์แทน เป็นต้น
บทบาทสำคัญของไมโครซีเนม่าที่มีต่อสังคมมีมากมายหลายประการ
ประการแรกคือเปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระหรือคนตัวเล็กตัวน้อยที่สร้างภาพยนตร์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสนำภาพยนตร์ของตัวเองมาเผยแพร่สู่ผู้ชมในวงกว้าง และสามารถแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็นระหว่างกันได้
ซึ่งลำพังโรงภาพยนตร์ในเครือใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว ย่อมไม่อาจทำให้หนังฟอร์มเล็กหรือหนังนอกกระแสเป็นที่รับรู้ในหมู่ผู้ชมได้เลย ยกเว้นแต่จะใช้ช่องทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียวเท่านั้น
ประการที่สอง หลายคนคิดว่าในยุคสมัยปัจจุบันที่อินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญต่อผู้คนมากกว่าโรงภาพยนตร์เสียอีก ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เห็นจะต้องสนใจไมโครซีเนม่าเลย เอาภาพยนตร์เหล่านั้นไปฉายทางยูทูบก็ได้
แต่การคิดเช่นนี้มีปัญหาอยู่มาก เพราะหากผู้สร้างหนังทุกคนต้องปล่อยงานของตนลงไปในอินเตอร์เน็ตให้ชมกันฟรีๆ โดยไม่มีโอกาสหารายได้กลับคืนมาเลย ก็คงไม่ดีต่อการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อสู่การเติบโตของผู้สร้างหนังได้
ขืนปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปนานวันเข้าก็คงไม่มีใครยอมเสียเงินเสียเวลามาสร้างภาพยนตร์ที่แปลกใหม่ จึงเหลือแต่การผลิตจากสตูดิโอใหญ่ที่ผูกขาดสไตล์และวิธีการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ ซึ่งทำให้ภาพยนตร์ขาดความหลากหลาย
การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายของภาพยนตร์จึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้ไมโครซีเนม่ายังคงมีความสำคัญอยู่
ประการสามก็คือการพัฒนาวัฒนธรรมการดูหนังและการสร้างหนังที่ยกระดับไปมากกว่าแค่การเสพความบันเทิงทั่วไปหรือผ่อนคลายสบายใจเท่านั้น
ลักษณะพิเศษของไมโครซีเนม่าคือมักเลือกฉายภาพยนตร์ที่ไม่ตรงกับที่กำลังเผยแพร่อยู่ในตลาดใหญ่ ไม่ได้ฉายหนังกระแสหลักซึ่งผู้ชมสามารถหาดูได้ง่ายดายอยู่แล้ว
แต่ไมโครซีเนม่ามักนำหนังที่แปลกแตกต่างจากโรงหนังเครือใหญ่มาเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น หนังทดลอง หนังศิลปะ หนังรางวัล หนังสารคดี หนังจากประเทศที่คนทั่วไปไม่คุ้นเคย หนังวิทยานิพนธ์ หนังนักศึกษา ฯลฯ
ซึ่งการรับชมงานประเภทนี้จำเป็นต้องขบคิดใคร่ครวญทั้งในส่วนของวิธีการทำความเข้าใจ ตลอดจนประเด็นที่หนังต้องการสื่อ ดังนั้น จึงต้องใช้สมาธิ ต้องมีความรู้ รวมทั้งเข้าใจเทคนิควิธีการทางภาพยนตร์ด้วย
ในหลายๆ ครั้งการเสพงานประเภทนี้จึงไม่ใช่กิจกรรมบันเทิงที่ย่อยง่าย แต่เป็นอาหารสมองที่ช่วยยกระดับสติปัญญา การเรียนรู้ และการวิเคราะห์ปัญหาสังคม เมื่อต้องใช้ทั้งความคิดและความรู้สึกในการรับชม
กิจกรรมการฉายภาพยนตร์ในไมโครซีเนม่าจึงมักมาพร้อมกับการพูดคุยสนทนาหลังฉายจบ บางครั้งเป็นการเสวนาระหว่างผู้สร้าง ผู้กำกับฯ นักแสดงกับผู้ชม แต่บางครั้งก็เป็นการสนทนาระหว่างผู้ชมด้วยกันเอง
เมื่อกิจกรรมการฉายภาพยนตร์ของไมโครซีเนม่ามักสร้างบรรยากาศดังที่กล่าวมา จึงทำเป็นพื้นที่มี “ตัวตน” ที่มีลักษณะเฉพาะต่างจากโรงภาพยนตร์ทั่วไปในห้างสรรพสินค้า
เพราะโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่หรือแบบที่เป็นมัลติเพล็กซ์ (multiplex) ซึ่งมีหลายโรงรวมกันในแห่งเดียวนั้นมีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก จึงมีแต่หนังทำเงินแทบทั้งหมด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังในกระแส หากเรื่องใดทำรายได้ไม่ตรงกับที่ต้องการก็ย่อมถูกถอดจากโปรแกรมฉายหายไปอย่างรวดเร็ว
พื้นที่ลักษณะเช่นนี้จึงมีแต่สื่อบันเทิงย่อยง่ายเบาสมอง ผู้ชมเข้ามาเพียงเพื่อสนุกสนานผ่อนคลายและจากไปเมื่อดูจบ
แต่ลักษณะแบบไมโครซีเนม่ากลับให้ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งเครือโรงหนังขนาดใหญ่ไม่มี นั่นคือการที่ผู้ชมเกิดการเกาะกลุ่มรวมตัวกันเป็น “ชุมชน” ซึ่งสมาชิกแต่ละคนดึงดูดกันเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวผ่านรสนิยมและกิจกรรมเหล่านี้
การดำรงอยู่ของไมโครซีเนม่าจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การมีปริมาณของโรงฉายเพิ่มขึ้นเฉยๆ
หากแต่เป็นการสร้างชุมชนทางศิลปวัฒนธรรมขึ้นโดยปริยายด้วย นี่คือบทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของไมโครซีเนม่า
จะเห็นได้ว่าการรับชมภาพยนตร์ในโรงนั้นเป็นวัฒนธรรมการเสพงานศิลปะแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างจากวิธีการเสพงานศิลปะแบบอื่น และแตกต่างจากวิธีการรับชมภาพยนตร์ในพื้นที่อื่น เช่น รับชมผ่านอุปกรณ์พกพา จำพวกโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต รวมทั้งการรับชมผ่านจอโทรทัศน์ที่บ้าน
การรับชมในโรงภาพยนตร์นั้นเป็นเรื่องจริงจังกว่า เรียกร้องต้องการคุณค่าทางสุนทรียรสที่มากกว่า และคาดหวังการเปิดประสบการณ์ที่ลงลึกหรือมีพลังกว่าการดูเล่นอยู่บ้านไปเพลินๆ ซึ่งบ่อยครั้งแค่ชมคอนเทนต์แบบผิวเผินก็เพียงพอแล้ว
แต่การรับชมภาพยนตร์ในโรงจริงๆ นั้นไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย เนื่องจากผู้ชมควรมีพื้นฐานในการทำความเข้าใจเรื่องราวและตีความสื่อภาพยนตร์ รวมทั้งต้องมีสมาธิกับงานที่กำลังฉายอยู่
บทบาทของไมโครซีเนม่าจึงมีความสำคัญทั้งในด้านการพัฒนา “คุณภาพ” และ “ปริมาณ” อันหมายถึงคุณภาพของการรับชมและคุณภาพของการรังสรรค์ผลงาน
ตลอดจนเพิ่มปริมาณของกลุ่มผู้ชมและผู้ผลิตงานที่มีคุณภาพด้วย
ซึ่งนี่ก็คือความสำคัญของไมโครซีเนม่าประการที่ห้า
ไมโครซีเนม่าจึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนา “ระบบนิเวศ” (Ecosystem) ในแวดวงภาพยนตร์อย่างน้อย 5 ประการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แก่
1. เปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ตัวเล็กตัวน้อยรายอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์อิสระ ภาพยนตร์ทางเลือก ภาพยนตร์นอกประแส ฯลฯ ได้มีที่ทางในการเผยแพร่และปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายของภาพยนตร์
3. การพัฒนาวัฒนธรรมการดูหนังและการสร้างหนังที่ยกระดับไปมากกว่าแค่การเสพความบันเทิงทั่วไปหรือผ่อนคลายสบายใจเท่านั้น
4. เป็นการสร้างชุมชนทางศิลปวัฒนธรรมที่ยึดโยงกันด้วยศาสตร์ภาพยนตร์
และ 5. การพัฒนาทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณของผู้ชมภาพยนตร์และผู้ผลิตงาน
แม้จะมีคุณูปการต่อการพัฒนาทางศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งภาครัฐกำลังปลุกปั้นไปสู่ตลาดโลกตามนโยบาย “Soft Power” ของรัฐบาลก็ตาม
ทว่า อนาคตของไมโครซีเนม่าในไทยกำลังอยู่ในช่วงลูกผีลูกคนอย่างยิ่ง
จากอุปสรรคทางด้านกฎหมายที่ไม่เอื้อให้ไมโครซีเนม่าโรงใดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
ปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร แต่ละภาคส่วนพยายามดิ้นรนแก้ไขและหาทางออกด้วยวิธีอะไรบ้าง
คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022