อีกแล้วพระราม 2 คานถล่ม อุบัติเหตุก่อสร้าง-ซ้ำซาก สังเวย 6 ศพ ‘วิศวกร’ ด้วย เป็นครั้งสุดท้ายจริงหรือ

อาชญากรรม | อาชญา ข่าวสด

 

อีกแล้วพระราม 2 คานถล่ม

อุบัติเหตุก่อสร้าง-ซ้ำซาก

สังเวย 6 ศพ ‘วิศวกร’ ด้วย

เป็นครั้งสุดท้ายจริงหรือ

 

ถนนพระราม 2 ในสายตาของผู้ใช้รถ ใช้ถนน และชาวบ้าน กลายเป็นถนนเจ้าปัญหา เกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างไม่รู้จักจบสิ้น ดูได้จากเพียงปี 2567 ปีเดียว เกิดอุบัติเหตุที่กลายเป็นข่าวมาแล้วถึง 5 ครั้ง

ล่าสุด เกิดเหตุคานถล่มในพื้นที่การก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงคร่อมทางด่วนเฉลิมมหานคร ก่อนลงถนนพระราม 2 ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ย้อนไปเมื่อ 01.48 น. วันที่ 15 มีนาคม สายด่วน 199 รายงานว่า เกิดเหตุคานก่อสร้างทางด่วนถล่ม ใกล้เคียงซอยพระรามที่ 2 ซอย 25 ถนนพระราม 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง กทม.

ที่เกิดเหตุเป็นโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเทคอนกรีตคานทางด่วน โดยมีคนงานปฏิบัติหน้าที่จำนวนมากกว่า 30 คน

จากการตรวจสอบพบผู้บาดเจ็บจำนวนหลายราย โดยมีผู้เสียชีวิต 5 ราย สภาพถูกซากโครงเหล็กและคอนกรีตทับร่างไว้

นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บติดค้างบนตอม่ออีก 4 ราย เจ้าหน้าที่จึงช่วยเหลือนำลงสู่ที่ปลอดภัย และนำสุนัขช่วยค้นหาว่ามีผู้ติดค้างหรือผู้เสียชีวิตอีกหรือไม่

จากการสอบถามพนักงานขับรถปูนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ เปิดเผยว่า ช่วงเกิดเหตุงานอยู่ระหว่างการเทคานปูนเชื่อมต่อระหว่างเสาตอม่อ แต่ในระหว่างนั้นได้ยินเสียงดังของโครงสร้าง ก่อนที่จะพังถล่มครืนลงมา

ทั้งนี้ โครงสร้างที่พังถล่มลงมาใส่ทางด่วนเฉลิมมหานคร ที่อยู่ข้างใต้ทำให้สะพานทางด่วนถูกตัดขาด ไม่สามารถสัญจรได้ ทั้งเส้นทางจากถนนพระราม 2 มุ่งหน้าเข้าด่านเก็บเงินดาวคะนอง และเส้นจากทางด่วนมุ่งหน้าลงถนนพระราม 2 เช่นเดียวกับถนนจอมทองบูรณะ ที่อยู่บริเวณตรงจุดเกิดเหตุไม่สามารถสัญจรได้ทุกช่องทาง

เจ้าหน้าที่จึงแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลี่ยงไปใช้เส้นทางจราจรอื่นๆ

เหตุโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง ถล่มช่วงคร่อมทางลงด่วนพระราม2

ต่อมาเวลา 08.30 น. พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ดำรงศักดิ์ สว่างงาม ผบก.จร. นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พล.ต.ท.สยามเผยว่า ได้สั่งการให้ทางตำรวจพื้นที่ สน.บางมด และจราจรกลาง ดูแลอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร เนื่องจากเป็นใต้ทางด่วน ทางเข้าและออกกรุงเทพมหานคร

ด้านนายสุรเชษฐ์กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ระหว่างเคลียร์เรื่องพื้นที่ทั้งหมดให้ปลอดภัย คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ จึงจะสามารถเคลียร์พื้นที่บริเวณดังกล่าว แต่ในส่วนฝั่งขาออก ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งตั้งกรอบไว้ 30 วัน เนื่องจากคานของทางพิเศษที่ถล่มลงมา ทำให้ถนนที่ลงจากทางพิเศษเดิมได้รับความเสียหาย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ ก่อนเปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ขอแสดงความเสียใจกับพนักงานที่เสียชีวิต เรื่องนี้ได้กำชับการปฏิบัติผู้เกี่ยวข้องอย่าให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ก็เกิดขึ้นมาอีก สั่งการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยตรวจสอบสาเหตุความผิดพลาดให้ชัดเจน ว่าเกิดจากส่วนไหนไม่จะเป็นส่วนผู้รับเหมาหรือเหตุสุดวิสัยหรือไม่

ที่ผ่านมาไม่มีระบบดำเนินการลงโทษกับผู้ควบคุมงาน ต่อไปนี้จะต้องดำเนินการบทลงโทษกับผู้ควบคุมงานที่เกิดอุบัติเหตุ เพราะถ้าทำงานได้ผลไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ กรณีดังกล่าวเป็นคนละบริษัทกับที่เกิดเรื่องคราวที่แล้ว ครั้งนี้เป็นบริษัท อิตาเลียนไทย และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง

กระทรวงคมนาคมได้ประสานกับทางกรมบัญชีกลางร่วมกันนำมาตรการสมุดพกผู้รับเหมามาใช้ ขณะนี้ได้หารือกับกรมบัญชีกลาง คาดว่ามาตรการจะออกได้ชัดเจนภายในเมษายน 2568 ดังนั้น หากพบผู้รับเหมากระทำความผิด จะสั่งให้หยุดรับงานทันที และไม่สามารถประมูลงานได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และหลังจากนั้นจะพิจารณาออกมาตรการจัดการผู้ควบคุมงาน เพื่อให้มีบทลงโทษเช่นเดียวกับมาตรการสมุดพกผู้รับเหมา

ส่วนกรณีนี้บริษัทผู้รับเหมาดังกล่าวต้องรับผิดชอบชดใช้กรณีพนักงานเสียชีวิต ทางการทางพิเศษฯ จะช่วยกรณีการเยียวยาเป็นพิเศษเพิ่มเติมอีกครั้ง

นายสุริยะกล่าวย้ำว่า สำหรับภาพรวมทุกโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ยังคงยืนยันว่า จะแล้วเสร็จทั้งหมดก่อนสิ้นปี 2568 อย่างแน่นอน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้การสัญจรได้อย่างสะดวกตลอดเส้นทาง

เหตุโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง ถล่มช่วงคร่อมทางลงด่วนพระราม2

สําหรับผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วย นายนราธร เยือกเย็น อายุ 39 ปี ชาว จ.ปทุมธานี เป็นวิศวกร บริษัท อิตาเลียนไทย ทำหน้าที่ควบคุมการเทคอนกรีต นายรุจธร หาระสา อายุ 47 ปี ชาว จ.นครราชสีมา หัวหน้าควบคุมงาน นายสิทธิชัย เกษรบัว ชาว จ.นนทบุรี คนงาน นายซิน กู ออง ชาวเมียนมา นาย ลิน ออง คนงานชาวเมียนมา

ส่วนผู้บาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจำนวน 27 คน

ขณะที่ผู้สูญหายเจ้าหน้าที่ระดมกำลังทั้งหน่วยกู้ภัย และสุนัข K9 ตรวจสอบภายใต้ซากปรักหักพัก ทั้งกองเหล็กและคอนกรีตหนักร่วม 10 ตันที่พังลงมา แต่ก็ไม่พบร่างผู้เสียชีวิต ต่อมาตำรวจ สน.บางมด ตรวจสอบจนพบว่าเดินทางกลับที่พักไปแล้ว จึงยุติการค้นหาและเริ่มการรื้อถอนอย่างจริงจัง

ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม มีผู้เสียเสียชีวิตเพิ่ม 1 คนที่โรงพยาบาลตากสิน ชื่อ นายไท่ เหว่ย เยียน เป็นแรงงานชาวเมียนมา ทำให้เหตุสะพานถล่มครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 26 คน

ด้าน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวหลังลงตรวจสอบที่เกิดเหตุว่า จากการตรวจสอบสภาพที่เกิดเหตุ และสภาพแวดล้อมโดยรอบ และจากที่ได้รับรายงานว่าขั้นตอนในการเทคอนกรีตบนพื้นทางด่วนชั้นสูงนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว

จึงคาดการณ์สาเหตุเบื้องต้นว่า ตัวรับพื้นปลายทางคือตัวโครงเหล็กที่เป็นแม่แบบ หรือ Temporary Structure มีปัญหาในการขยับตัว ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของดิน ทำให้การรับน้ำหนักปูนกว่า 10 ตัน เกิดการเอียง จนตัวแม่แบบหลุดออกมาและถล่ม ขณะที่สาเหตุที่แท้จริงจะต้องรอให้เจ้าหน้าที่เคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน แล้วเข้าสำรวจโดยละเอียดอีกครั้ง

ซึ่งหากตรวจสอบระดับดินแล้วพบว่า อยู่ในสภาพปกติก็ต้องย้อนกลับมาดูที่ตัวโครงสร้างว่าสภาพเสาค้ำยันปกติหรือไม่ บางครั้งมีการผิดพลาดแค่เพียง 1 เซนติเมตร ก็เกิดการเอียงจนถล่มได้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม รุดตรวจสอบสาเหตุ

การก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ บนถนนพระราม 2 เมื่อปี 2567 เคยเกิดอุบัติเหตุแล้วถึง 5 เหตุการณ์ โดยเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 เกิดเหตุสลิงรถเครนขาด ส่งผลให้กระเช้ารถเครนร่วงลงมาทับร่างคนงานเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 1 ราย

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 เกิดเหตุนั่งร้านก่อสร้างตอม่อทางยกระดับถนนพระราม 2 โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M82 สูง 14 เมตร ล้มขวางถนนพระราม 2 โชคดีไม่มีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 เกิดเหตุแผ่นเหล็กหล่นใส่กระโปรงรถฟอร์ดของผู้ที่ใช้รถสัญจรไปมา ขณะกำลังขับผ่านบริเวณสะพานลอยแยกวัดปากบ่อ โชคดีไม่มีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567 เกิดเหตุสะเก็ดไฟจากการก่อสร้างสะพานร่วงเฉียดโดนรถยนต์ที่วิ่งอยู่ แถววัดยายร่ม ถนนพระราม 2 ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดเหตุคานเหล็กก่อสร้างสะพาน ด่วนพระราม 2 ขาออก เลยมหาชัยเมืองใหม่มาเล็กน้อย ต.คอกกระบือ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พังถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บอีก 9 ราย ก่อนจะมาเกิดเหตุอีกครั้งในครั้งนี้

สำหรับโครงการทางด่วนสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนตะวันตก มีระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนร่วม 30,000 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 5 สัญญา เป็นงานโยธาสัญญาที่ 1-4 และสัญญาที่ 5 เป็นงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมการจราจร เริ่มทยอยเปิดไซต์ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 คาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดสายได้ภายในปี 2568 นี้

ปัจจุบันงานก่อสร้างโดยรวมคืบหน้าแล้ว 87.76% เมื่อโครงการแล้วเสร็จเปิดให้บริการจะช่วยให้การจราจรของกรุงเทพมหานครซึ่งมุ่งหน้าสู่ภาคใต้มีความคล่องตัวขึ้น โดยโครงการจะเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ M82 บางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแผ้ว ซึ่งมีกำหนดสร้างเสร็จภายในปี 2568 นี้เช่นกัน

เจ้าหน้าที่ค้นหาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคานปูน และโครงสร้างเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (ถนนพระราม 2) ที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 โดยคณะกรรมการสอบสวนได้ข้อสรุปแล้วว่า สาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว มาจากน็อตที่ยึดโครงสร้างสะพานรูดออกมาจากคานคอนกรีตและคานเฟรมเหล็กด้านหลัง ไม่มีประเด็นด้านการออกแบบ วัสดุก่อสร้างที่ใช้เป็นไปตามสเป๊กทั้งหมด แต่จะมาจากการขันไม่แน่นหรือไม่ จะมีการลงรายละเอียด โดยมาจากคนหน้างานบกพร่อง ซึ่งจะมีการสอบสวนว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติงานตรงนี้

ส่วนการเอาผิด บจ.อุดมศักดิ์เชียงใหม่ ในฐานะผู้รับเหมาโครงการ อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า มีมาตรการลงโทษในเรื่องของการระงับการก่อสร้าง และตรวจสอบชิ้นส่วนการทำงาน รวมถึงการเช็กลิสต์ต่างๆ ซึ่งจะถอดบทเรียนจากครั้งนี้ เพื่อเฝ้าระวังเพิ่มเติม โดยการก่อสร้างโครงการบนพระราม 2 จะแล้วเสร็จภายในปีนี้

โดยเหตุการณ์นี้ทางกองบัญชาการตำรวจภูธรรภาค 7 เพิ่งดำเนินคดีกับบริษัท อุดมศักดิ์เชียงใหม่ จำกัด และบริษัท พีเอสซีไอ คอนสตรัคชัน จำกัด ในความผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยอาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมของการทำงานไป ทางกรมจะส่งผลการสอบสวนของกรมให้พนักงานสอบสวนต่อไป จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะเรียกบุคคลหรือหน่วยงานที่น่าสงสัยมาสอบอีกที ส่วนมาตรการอื่นๆ ต้องรอการใช้สมุดพกรับเหมาก่อน

ขณะที่การสอบสวนหาสาเหตุคานถล่มครั้งนี้ ผู้คนในสังคมต่างพากันตั้งข้อสงสัยว่าสาเหตุอาจเกิดจากวัสดุไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้คุณภาพ หรือมีการทุจริตในการจัดซื้ออุปกรณ์หรือไม่

เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหล็กเส้น ไปตรวจสอบอย่างละเอียดที่แล็บเฉพาะทางของสถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เพื่อดูว่ามีคุณภาพตรงตามมาตรฐานหรือไม่ โดยจะรู้ผลใน 30 วัน

ปัญหาที่ยังค้างคาคือการกำกับดูแลผู้รับเหมาให้ทำงานภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ก่อนจะเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยอีกครั้ง

ครอบครัวทำพิธีเชิญวิญญาณ