แดง VS ส้ม ลื้อดูร้อน อั๊วรำคาญ

บทความในประเทศ

 

แดง VS ส้ม

ลื้อดูร้อน

อั๊วรำคาญ

 

กองเชียร์เตรียมเฮ…

พรรคแดง และพรรคส้ม เตรียมใส่นวมสู้กันในสภาเป็นครั้งแรกในนามศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร 24 มีนาคม

ซึ่งกว่าจะมาถึงข้อสรุปเรื่องวันอภิปรายได้ ต้องยอมรับว่าวันนี้พรรคประชาชนไม่ใช่เด็กเกรียน เดินหน้าชนแบบไม่สนใจใคร แบบที่เคยโดนสบประมาท มีความสามารถในการเจรจาต่อรองทางการเมืองไม่น้อย

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็เขี้ยวลากดิน ตั้งเกมรับและเปิดเกมรุกกลับ ไม่ยอมให้พรรคประชาชนได้แต้มฟรีๆ

ตั้งแต่เปิดวิวาทะเรื่องระยะเวลาการอภิปราย ที่จริงพรรคส้มก็รู้ว่าการอภิปรายนายกฯ คนเดียว ขอเวลาถึง 5 วัน เป็นอะไรที่ยังไม่ค่อยสมเหตุสมผล

เดินเกมคล้ายกับหัวชนฝา แต่พอถึงจังหวะสำคัญก็ยอมถอย แลกกับเงื่อนไขการเมือง ล่าสุด ยื้อต่อรองจนได้เวลา 28 ชั่วโมงอภิปรายกัน 2 วัน ส่วนฝ่ายรัฐบาลได้เวลาชี้แจง 7 ชั่วโมง

 

การเปิดเกมยื่นญัตติใส่ชื่อคนนอกอย่างนายทักษิณ ชินวัตร ก็เล่นเอาขุนพลเพื่อไทยปั่นป่วนใช่น้อย

หลังเป็นข่าวดัง ทำให้คนในสังคมสนใจร่วมกันตั้งคำถามว่า ก็เห็นๆ กันอยู่ นายทักษิณ มีอิทธิพลระดับสูงทางนโยบายและการเมืองต่อรัฐบาล ทั้งข้อกล่าวหาฝ่ายค้านก็ชี้ชัดว่าเป็นการกล่าวหาว่า น.ส.แพทองธาร ไม่ใช่นายกฯ ตัวจริง แต่คือนายทักษิณ แล้วทำไมจะพูดถึงไม่ได้?

จนเพจข่าวการเมืองต่างๆ เอามาเล่นเป็นเกม ถ้าเอ่ยชื่อนายทักษิณไม่ได้ จะให้ฝ่ายค้านเรียกว่าอะไรดี?

แต่ในที่สุด พรรคส้มก็ยอมถอยเรื่องเล็กเพื่อรักษาวาระใหญ่ ยอมตัดชื่อนายทักษิณออก แลกกับการต่อรองเรื่องเวลา โดยใช้ปากกาขีดฆ่าชื่อนายทักษิณ แล้วเขียนทับเป็น “บุคคลในครอบครัว”

เป็นการลดระดับความต้องการการเมืองแบบไม่เสียคะแนนและความชอบธรรม

 

หลังจบวิวาทะเรื่องวันอภิปรายและการเอ่ยชื่อนายทักษิณ พรรคส้มก็เปิดเกมใหม่ผ่านการโหมแคมเปญอภิปราย “ดีลแลกประเทศ” จุดประเด็นให้เห็นว่ารัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของนายกฯ คนปัจจุบันและอดีตนายกฯ ผู้พ่อ “ดีล” กับกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมไทยเดิม

ทีเด็ดคือการนำภาพ The Creation of Adam ที่วาดโดย ไมเคิลแองเจโล ศิลปินเอกชาวอิตาเลียนแห่งยุคเรอเนสซองส์ มาทำใหม่ล้อเลียนการเมืองไทย เป็นรูปนายกฯ แพทองธารเอนกายทับบนผ้าคลุมสีแดงขนาดใหญ่ ซึ่งผ้าคลุมนั้นก็ปิดทับลงบนซากปรักหักพังของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะการต่อสู้ของคนเสื้อแดง และรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกขาด

ขณะที่รูปคนที่เอื้อมชูนิ้วถึงกัน ก็เป็นพระเจ้าสวมเสื้อลายพรางคล้ายทหาร มีพลังของกลไกอำนาจรัฐ กลไกกฎหมาย กลไกความมั่นคงและกลุ่มทุนใหญ่ที่อิงกับอำนาจอนุรักษนิยมเดิม หนุนข้างหลัง

ฟากเพื่อไทยซึ่งเตรียมความพร้อม ตั้งวอร์รูมเฉพาะกิจสู้ศึกอภิปราย หาชุดข้อมูล ระดมไอเดียตอบโต้ทีมส้มไว้อยู่แล้ว ก็ปล่อยภาพสู้ลงในเพจทางการของพรรค

โดยเป็นภาพเข็มทิศที่บิดเบี้ยว คล้ายกับว่าให้พรรคประชาชนกำลังเดินหลงทาง จากเครื่องมือที่ผิด พร้อมข้อความว่า “ไปไหนอ่ะ กลับมานี่ อย่าอภิปรายเป็นฝ่ายแค้น หลงประเด็น หลงประเทศ หลงวาทกรรม หลงตัวเอง”

ซึ่งเพจอย่างเป็นทางการของพรรคประชาชนก็ตอบโต้ทันควัน เข้ามาแสดงความเห็นใต้ภาพดังกล่าวว่า ระบุข้อความว่า “24 มีนาคม ประเทศไทยเข้าสู่ ‘ลื้อดูร้อน’ อย่างเป็นทางการ”

2 ข้อความของทั้งสองพรรคที่โพสต์โต้กันด้วยข้อความขำๆ ขบเหลี่ยมกันไปมา ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกดไลก์กันกระจายด้วยความตลก แต่ที่จริงสอดแทรกความดุเดือด และบรรยากาศอารมณ์ “มาคุ” ขอการซักฟอกรัฐบาลครั้งนี้ไว้

สะท้อนจากคำพูดไม่กี่วันก่อนหน้านี้ หลังสื่อมวลชนถามนายทักษิณ ถึงความเห็นต่อศึกซักฟอกรัฐบาลโดยพรรคประชาชน ที่เจ้าตัวถึงกับออกปากเป็นฝ่ายค้าน เป็นพรรคคนรุ่นใหม่ “อย่าทำอะไรน่ารำคาญ” ระวังจะเสียไปอีกพรรค ทำให้วลี ลื้อดูร้อน – (อั๊ว) รำคาญ จากทั้งฝ่ายส้มและแดงกระหึ่ม บ่งบอกความ “แรง” ของศึกซักฟอกครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

 

สําหรับการรับมือศึกซักฟอกรอบนี้ของเพื่อไทย ต้องใช้คำว่าเตรียมพร้อมเต็มพิกัด ระดมทุกสรรพกำลังที่มีมาใช้สู้

หน้าฉาก เป็นการซักซ้อม มอบหน้าที่การชี้แจงบรรดา ส.ส. มีการประชุมเตรียมการหลายครั้ง นายกฯ แพทองธาร ลงไปนั่งคุยเอง กระทั่งออกคำสั่ง ส.ส.ต้องเฝ้าไลน์กลุ่ม พร้อมช่วยกันตอบโต้อย่างทันท่วงที ทั้งยังประสานไปยังพรรคร่วมรัฐบาลให้เตรียมพร้อมรองรับทุกการกล่าวหา

หลังฉาก มีการจัดตั้งวอร์รูม ดึงคนรุ่นใหม่ที่รู้ทันและเข้าใจวิธีสื่อสารแบบพรรคส้ม เตรียมชุดข้อมูลตอบโต้ทุกระดับ ในทุกตรรกะที่ฝ่ายค้านอาจจะหยิบมาต่อสู้ ใช้เทคนิคการสื่อสารที่พรรคส้มเคยใช้ได้ผลในอดีต เอามาย้อนกลับพรรคส้ม

ขณะที่นายทักษิณ ก็ยังช่วยเดินสายปลุกกระแส เก็บคะแนนอยู่ภายนอก เช่น การขึ้นเวทีที่พิษณุโลก ก็ประกาศโชว์ไอเดียซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคาร เรียกเสียงฮือฮาจากลูกหนี้

กระตุ้นความหวังให้ยังมีต่อรัฐบาลเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ทรัพยากรจะพร้อมกว่า แต่การอภิปรายรอบนี้ก็ไม่ง่ายสำหรับเพื่อไทย เพราะต้องยอมรับว่ากราฟคะแนนการทำงานของเพื่อไทยยังไม่สู้ดี

1. นโยบายการเมืองไม่คืบหน้า คนมองว่าเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญล่าช้า สัปดาห์นี้พรรคเพื่อไทยโหวตให้ใช้วิธีส่งคำถามไปศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ศาลก็เคยตอบมาแล้ว ผสานการกระทำหลายอย่าง และด้วยเวลาที่ยืดยาว หนีไม่พ้นถูกคนมองว่าที่จริงแล้วเพื่อไทยอาจไม่มีเจตจำนงทางการเมืองชัดเจนที่จะจัดการ “มรดกคณะรัฐประหาร” ชิ้นใหญ่สุด

2. เพิ่งคว่ำ กม.ป.ป.ช.ที่เสนอโดยพรรคประชาชน สาระสำคัญคือการโอนคดีทุจริตประพฤติมิชอบที่กระทำโดยทหาร ให้มาขึ้นศาลอาญาปกติ เรื่องนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะจากคนเสื้อแดง

3. ความผิดพลาดเรื่องอุยกูร์ การส่งกลับผู้อพยพหนีภัยการเมือง กลับไปสู่ประเทศต้นทาง ผิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศชัดเจน ผิดหลักการทูตที่ไทยเคยยึดถือมา นอกจากสร้างความเสียหายทางการทูต ยังส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น โดยเฉพาะจากผู้คนในชาติตะวันตก ที่ประณามไทยอย่างหนัก บางประเทศถึงขั้นตัดวีซ่าเจ้าหน้าที่ไทย ที่น่าห่วงคืออาจเสี่ยงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเจรจาการค้า โดยเฉพาะกับอียู

4. ผลงานรัฐมนตรีหลายคนไม่ปรากฏ เป็นช่องโหว่ให้ฝ่ายค้านโจมตี นโยบายรัฐบาลที่ประกาศไว้หลายเรื่องทั้งเศรษฐกิจและสังคม ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ไม่นับปัญหาการทะเลาะกันระหว่างกระทรวง ที่เป็นข่าวดังสัปดาห์ที่ผ่านมา

5. ปัญหาเสถียรภาพในพรรคร่วมรัฐบาล ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่า พรรคร่วมต่างๆ จะช่วยชี้แจงแทนนายกฯ ได้เต็มที่ อย่างมากที่สุดก็ชี้แจงในส่วนที่ตัวเองโดนพาดพิง

6. ความเสี่ยงของนายกฯ เอง ที่ถูกล็อกเป้าอภิปรายเพียงคนเดียว ก็อาจเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองได้ง่าย เช่น การหลุดชี้แจงฝ่ายค้าน แต่ถ้อยคำกลับเป็นผลบวกต่อฝ่ายค้าน เป็นผลลบต่อตัวนายกฯ เอง เช่น วาทะ “สามีคนใต้” ในการตอบเรื่องปัญหาน้ำท่วม

และวาทะ “นายกฯ ก็มีเชื้อสายจีน” ในการยืนยันว่าประเทศไทยปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวจีน

 

ขณะที่ฟากทีมส้ม พรรคประชาชนก็มีเรื่องท้าทาย

1. จากการเลือกอภิปรายนายกฯ เพียงคนเดียว ก็พลาดโอกาสอภิปราย ตรวจสอบรัฐมนตรีคนอื่นให้ประชาชนรับรู้

2. ต้องยอมรับว่า น.ส.แพทองธาร ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้เพียง 6 เดือน การจะสร้างความเสียหายร้ายแรง อย่างเป็นรูปธรรมดังข้อกล่าวหา ก็อาจถูกวิจารณ์เรื่องความ “เกินจริง” ไปได้ หลายเรื่องแม้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลเพื่อไทย เช่น กรณีชั้น 14 ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วง น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ

3. พรรคเพื่อไทยวันนี้ ทำงานการเมืองกับพรรคประชาชนมานาน อันที่จริงคนทำงานเบื้องหลังก็รู้ทันกันหมด เพราะฉะนั้นการวางเกมการเมืองที่เคยได้ผลสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ก็อาจจะใช้ไม่ได้ตามที่หวังในยุคนี้

การปรับแผนมาเล่นงานนายกฯ คนเดียว จึงเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงไปในตัว แทนที่จะเก็บแต้มทำกำไรไว้รอเลือกตั้งรอบหน้า หากเดินเกมพลาด ก็อาจกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงไปได้

โดยรวมศึกรอบนี้เป็นการต่อสู้ของค่ายสีแดง และค่ายสีส้มอย่างเป็นทางการครั้งแรก เป็นศึกแรกของรัฐบาลผสมข้ามขั้ว

พรรคแดงก็กำลังเจอวิกฤตศรัทธา ปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจ รุมเร้า ขณะที่พรรคส้มก็กำลังเจอวิกฤตรัฐธรรมนูญ กระบวนการนิติสงครามเล่นงานอย่างหนัก

ลื้อดูร้อน ปะทะ อั๊วรำคาญ

เดิมพันสูงด้วยกันทั้งคู่