เผยแพร่ |
---|
รายงานพิเศษ
‘สัญญาณใหม่’ โผทหาร
2 กฎเหล็ก
จับตายุคทอง ตท.26 ยุค ‘บิ๊กปู’
กับ ‘เสธ.โอม’ รีเทิร์น
และเวฟสุดท้าย ตท.25 ทร.
การแต่งตั้งโยกย้ายทหารกลางปีที่ประกาศเมื่อ 13 มีนาคม 2568 ในส่วนกองทัพเรือ (ทร.) ที่น่าจับตาคือ คลื่น ตท.25 เวฟระลอกสุดท้ายใน ทร. ที่ได้ขึ้นพลเรือเอก 2 คน หนึ่งในนั้นคือ พล.ร.ท.สุนทร คำคล้าย ที่ปรึกษา ทร. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. ได้เป็นพลเรือเอก และด้วยอายุราชการถึงกันยายน 2569 จึงจะกลายเป็นแคนดิเดต ผบ.ทร.อีก 1 คน
ท่ามกลางแคนดิเดต ผบ.ทร. ที่เป็น ตท.25 อยู่ถึง 3 คน ทั้งบิ๊กเดี่ยว พล.ร.อ.ณัฏฐพล เดี่ยววานิช ผบ.กองเรือยุทธการ พล.ร.อ.พิจิตต์ ศรีรุ่งเรือง ผช.ผบ.ทร. ที่เกษียณกันยายน 2569 พร้อมกัน คงมีแต่ พล.ร.อ.สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. ที่มีอายุราชการกันยายน 2570
โดยมีข่าวสะพัดว่า จากนี้ไป จะมีการนำข้อกำหนดใหม่ ที่ ผบ.เหล่าทัพ ยกเว้น ผบ.ทหารสูงสุด และปลัดกลาโหม จะต้องมีอายุราชการมากกว่า 1 ปีมาใช้ ในการโยกย้ายตุลาคม 2568 นี้
แต่ที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถใช้บังคับได้สักครั้ง เพราะในบางเหล่าทัพมีแคนดิเดตที่เหลืออายุราชการแค่ 1 ปี และในบางเหล่าทัพมีการวางทายาทไว้ โดยที่เหลืออายุราชการแค่ 1 ปี จึงต้องมีการตั้ง ผบ.เหล่าทัพ อายุราชการเหลือ 1 ปีมาตลอด โดยเฉพาะ ผบ.ทร.
แต่มีรายงานว่า ได้มีการส่งสัญญาณในข้อกำหนดการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร มา 2 ข้อ คือ จากเจ้ากรม ให้ขึ้นรองเสนาธิการ ก่อนขึ้น 5 เสือเหล่าทัพ และ ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. จะต้องมีอายุราชการมากกว่า 1 ปี
ด้วยกระแสข่าวลือนี้ ทำให้ พล.ร.อ.สุชาติ ถูกจับตามองมากที่สุด ในฐานะม้ามืด เพราะเกษียณ 2570 แม้ตัวเต็งที่ถูกมองว่าเป็นทายาทที่ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.คนก่อน วางตัวไว้คือ พล.ร.อ.ณัฏฐพลก็ตาม
ด้วยกระแสข่าวนี้ ไปสอดคล้องกับการที่บิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. ดึงเจ้ากรมปู พล.ท.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ จากเจ้ากรมยุทธการทหารบก ขึ้นรอง เสธ.ทบ.ก่อน เพื่อเตรียมขึ้น เสธ.ทบ. ในโยกย้ายตุลาคมนี้ เพื่อเป็น เสธ.ทบ.คู่ใจ พล.อ.พนา ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.26 ด้วยกัน จากเดิมที่คาดกันว่า พล.ท.ชัยพฤกษ์ จะขึ้นจากเจ้ากรม ยก.ทบ. เป็น เสธ.ทบ.ได้เลย
รวมทั้งกรณีบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. จัดโผโยกย้ายนายพลกลางปี ดันเจ้ากรมโอ๋ พล.อ.ท.อนุรักษ์ รมณารักษ์ จากเจ้ากรมยุทธการ ทอ. มาเป็นรอง เสธ.ทอ.ก่อน จากที่ถูกคาดหมายว่า โยกย้ายตุลาคมนี้ จะดันจากเจ้ากรมยุทธการ ทอ. ขึ้นเป็นพลอากาศเอก เป็น เสธ.ทอ.เลย
การโยกย้ายที่เจ้ากรม ฝ่ายอำนวยการ ขึ้นเป็น 5 เสือเหล่าทัพได้เลย เริ่มครั้งแรกที่ ทร. ในยุคบิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็น ผบ.ทร. โดยใช้เป็นฟาสต์แทร็ก เพื่อดันนายทหารให้ขึ้นมาเป็นแคนดิเดต ผบ.เหล่าทัพได้ทัน
จากนั้นมา ทบ. และ ทอ. ก็ทำตามบ้าง จนฟาสต์แทร็กนี้ กลายเป็นธรรมเนียมในการโยกย้ายของ 3 เหล่าทัพ
ก่อนที่จะมีสัญญาณส่งถึงเหล่าทัพว่า ให้งดใช้แทร็กนี้

หากสัญญาณที่ว่านี้เป็นสัญญาณจริง การโยกย้ายตุลาคม 2568 นี้ จะมีการบังคับใช้ และจะส่งผลต่อการเลือก ผบ.ทร. และการวางตัว 5 เสือเหล่าทัพ
แต่ในส่วนของ ทอ. มีแคนดิเดต ผบ.ทอ.คนต่อไป ที่ล้วนมีอายุราชการมากกว่า 2 ปีทั้งสิ้น ทั้ง บิ๊กคิม พล.อ.อ.เสกสรร คันธา (ตท.26) ผช.ผบ.ทอ. ที่เกษียณ 2571 เสธ.แอน พล.อ.อ.วชิระพล เมืองน้อย (ตท.27) เสธ.ทอ. เกษียณ 2570 บิ๊กไว พล.อ.อ.ไวพจน์ เกิงฝาก (ตท.25) ผบ.คปอ. เกษียณ 2570
ในส่วนของ ทอ. จึงไม่มีปัญหา แต่จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ ในโยกย้ายตุลาคม 2567 พล.อ.อ.วชิระพล ก็ขึ้นจากเจ้ากรมยุทธการ ทอ. มาเป็น เสธ.ทอ.เลย เพราะในเวลานั้น ยังไม่มีสัญญาณใหม่โยกย้ายทหารออกมานั่นเอง

แต่ก็เป็นจังหวะที่ทำให้ พล.อ.ท.อนุรักษ์ ขยับมาเป็นเจ้ากรม ยก.ทอ.แทน จนมาโผนี้ ก็เป็นจังหวะที่เปิดให้ เสธ.ปุ่น พล.อ.ท.วิเชียร วิเชียรธรรม นายทหารฝ่าย เสธ.ของ ผบ.ทอ. ขึ้นเป็นเจ้ากรม ยก.ทอ.แทน จนถูกจับตามองว่า เป็นทายาทอีกคนที่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี วางตัวไว้หรือไม่ เพราะเป็น ตท.28 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ท.อนุรักษ์ และเกษียณกันยายน 2572 พร้อมกัน
แต่อย่างไรก็ตาม หากมีสัญญาณใหม่จริง โอกาสที่ พล.อ.ท.วิเชียร จะขึ้นจากเจ้ากรม ยก.ทอ. เป็น เสธ.ทอ.เลยไม่ได้ ก็จะก้าวตามหลัง พล.อ.ท.อนุรักษ์ ที่จ่อขึ้น เสธ.ทอ. ในโยกย้ายตุลาคม 2568 นี้แล้ว แต่ก็น่าจับตาว่า ในระหว่าง 2-3 ปีของ ผบ.ทอ.คนต่อไป ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.อ.เสกสรร หรือ พล.อ.อ.วชิระพล ก็ตาม พล.อ.ท.วิเชียร ก็จะขึ้นมาได้ทัน
แม้ว่าในเรื่องความโดดเด่นในเวลานี้ Jedi พล.อ.ท.อนุรักษ์ มีผลงานและเป็นที่จับตามองมากกว่า ในฐานะแคนดิเดต ผบ.ทอ.ในอนาคตอันใกล้ เพราะ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี เองก็มอบหมายงานสำคัญให้ทำมาตลอด โดยเฉพาะการนำเครื่องบิน Gripen ลงจอดบนถนนทางหลวง ที่หาดใหญ่ สงขลา ได้สำเร็จสวยงาม
โดยมีรายงานว่า การโยกย้ายครั้งนี้ มีเสียงวิจารณ์ว่า เป็นเสมือนแผ่นดินไหวเล็กๆ ในทุ่งดอนเมือง เพราะแม้จะขยับ พล.อ.ท.อนุรักษ์ ขึ้นรอง เสธ.ทอ. และน่าจะขึ้น เสธ.ทอ. ในโยกย้ายตุลาคมนี้ก็ตาม
แต่ก็ทำให้ พล.อ.ท.วิเชียร ถูกจับตามองว่าขึ้นมาอีกคน

ขณะที่ในส่วน ทร. มี พล.ร.อ.สุชาติ คนเดียวที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2570 ส่วนแคนดิเดต ผบ.ทร.คนอื่น เกษียณกันยายน 2569 พร้อมกันหมด อีกทั้งธรรมเนียมการเลือก ผบ.ทร. ได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่ พล.ร.อ.อะดุง แต่งตั้งบิ๊กแมว พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ จากที่ปรึกษาพิเศษ ทร. ขึ้นมาเป็น ผบ.ทร. จนทำให้เกิดธรรมเนียมใหม่ว่า ผบ.ทร.จบจากต่างประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องจบจากโรงเรียนนายเรือ และไม่ต้องมาจาก 5 ฉลาม ทร. ไม่ต้องผ่านตำแหน่งสำคัญ ผบ.หน่วย หรือคอมแมนเดอร์ ตามประเพณีเดิมที่ ทร.เคยมีมา จึงเป็นการเปิดช่องให้นายทหารเรือยศพลเรือเอก สามารถเป็น ผบ.ทร.ได้
จึงทำให้ พล.ร.อ.สุชาติ ที่เกษียณ 2570 และไม่ได้อยู่ใน 5 ฉลาม ทร. ถือเป็นแคนดิเดต ผบ.ทร.ด้วย
ในโผมีนาคมที่ประกาศออกมานั้น ในส่วน ทร. ตท.25 มี พล.ร.ท.ภุชงค์ ประดิษฐธีระ จากเจ้ากรมข่าวทหารเรือ ขึ้นเป็นพลเรือเอก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร.
โดยดึง พล.ร.ต.พิบูลย์ พีรชัยเดโช รอง ผอ.สำนักงานประสานภารกิจ ปรมน.ทร. เป็นพลเรือโท เจ้ากรมข่าวทหารเรือ

ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยนั้น บิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด ขยับตำแหน่งหลักน้อย มีการขยับเพื่อวางตัวนายทหารดาวรุ่งเข้าแต่ละแทร็ก เพื่อเตรียมเติบโตให้เหมาะกับงานและความถนัด
เช่น การขยับ พล.ต.วิระ เธียรธโนปจัย จากรองเจ้ากรมข่าวทหาร มาเป็นรองเจ้ากรมแผนที่ทหาร เพื่อวางตัวให้ทำงานสำคัญ เรื่องแผนและงานการข่าวกรอง เพราะเคยเป็น ผอ.สำนักข่าวกรอง กรมข่าวทหาร และทำงานด้าน Geo Int. ที่เป็นงานท้าท้าย ทั้งการข่าว และงานชายแดน การปักปันเขตแดน งานความมั่นคง
โดยขยับ พล.ต.กรรณ บุญชัย ผอ.สำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหาร มาเป็นรองเจ้ากรมข่าวทหารแทน
รวมทั้งการขยับ เสธ.แต พล.ต.ฐนิตพัฒน์ อุทะนุตนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผอ.สน.บก.นทพ.) เป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาค 2 (ผอ.สนภ.2 นทพ.) คุมทหารพัฒนา ภาคอีสาน

ขณะที่กองทัพบก เข้าสู่ยุคทองของ ตท.26 หลังบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. และได้จัดโผนายพลโผแรกด้วยตนเอง จึงดึงเพื่อน ตท.26 ขึ้นมา เช่น การดึง พล.ต.วัชรินทร์ มุทะสินธุ์ ออกจากกรุผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ. มาเสียบยอดเป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดิน (ผบ.นรด.) ท่ามกลางรุ่นพี่ ตท.25 ที่เป็นรอง ผบ.นรด. อยู่หลายคน ที่ก็ต้องขยับขยาย
หรือแม้ต่การดัน พล.ต.อนุสรณ์ โออุไร จากรองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นพลโท แม่ทัพน้อยที่ 4 แทน แม่ทัพแม็กซ์ พล.ท.คมกฤช รัตนฉายา ขยับขึ้นพลเอก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เตรียมเกษียณกันยายนนี้ พร้อมขยับ เสธ.ต่อ หลานป๋า พล.ต.นิติ ติณสูลานนท์ เพื่อน ตท.26 จากเสนาธิการ กองทัพน้อยที่ 4 เป็นรองแม่ทัพน้อยที่ 4
พล.อ.พนา ยังไม่เปิดทางให้รองอ้วน พล.ต.วรเดช เดชรักษา (ตท.27) รองแม่ทัพภาคที่ 4 หรือรองคิ้ว พล.ต.ชาคริต อุจจะรัตน์ (ตท.28) รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นแม่ทัพน้อยที่ 4 เช่นที่คาดกัน เพื่อยื้อเวลาการได้เปรียบเสียเปรียบของ พล.ต.วรเดช และ พล.ต.ชาคริต ออกไปก่อน
อีกทั้ง พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 จาก ตท.25 มีอายุราชการถึงกันยายน 2569 ซึ่งตุลาคมนี้ จะได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ต่อ หรือว่าเปลี่ยนตัวเลย ก็ต้องมีการวัดพลังกันบ้าง

นอกจากนั้น พล.อ.พนา ยังช่วยเพื่อนให้ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งหลายคน และคนที่ยังไม่ได้เป็นนายพล และจะเกษียณก่อน ก็ให้เป็นพลตรียกแผง ส่วนที่เหลือให้รอโยกย้ายครั้งต่อไป
เช่น พล.ต.สุวัทฆ์ โตเสวก เป็นพลโท ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก พล.ต.อาวุธ พุทธอำนวย ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ เป็นพลโท ที่ปรึกษากองทัพบก และนายพลใหม่ เช่น พ.อ.องอาจ อิ่มศิริ พ.อ.ก้อง ไชยณรงค์ พ.อ.ไพโรจน์ ยินดีรัตน์ พ.อ.ไพฑูรย์ บูรณศักดิ์ พ.อ.ยุทธพล ประทีปอุษานนท์ พ.อ.ศุภฤกษ์ ผลฉาย ผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ.
ที่ต้องจับตาคือ การขยับเจ้ากรมปู พล.ท.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ เพื่อนรัก ตท.26 เจ้ากรมยุทธการทหารบก ขึ้นเป็นรองเสนาธิการทหารบก เพื่อขึ้นพลเอก เป็น เสธ.ทบ.คู่ใจ ในโยกย้ายตุลาคมนี้ โดยให้ พล.ต.พงษ์ศักดิ์ หมื่นกล้าหาญ (ตท.27) รองเจ้ากรม ยก.ทบ. ขึ้นแทน
ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่ง อาจเป็นเพราะเรื่องสัญญาณใหม่ หลักการแต่งตั้งโยกย้ายที่เจ้ากรมจะต้องขึ้นรองเสนาธิการเหล่าทัพก่อน ถึงจะขึ้น 5 เสือเหล่าทัพได้

แต่ที่ฮือฮาคือ การคัมแบ๊กของ เสธ.โอม พล.ท.ธิติพันธ์ ฐานะจาโร ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สปท.) ข้ามจากกองทัพไทย กลับ ทบ. มาเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก จากเดิมที่คาดกันว่า พล.อ.พนา จะดันเพื่อน ตท.26 อย่าง พล.ต.อาวุธ ผบ.ศูนย์การทหารราบ มานั่ง แต่ก็ได้เป็นพลโท ที่ปรึกษากองทัพบก
ด้วยเป็นที่รู้กันดีว่า พล.ท.ธิติพันธ์ เป็นลูกชายของบิ๊กเหวียง พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีต ผบ.ทบ. ที่เป็นทั้งเพื่อน จปร.9 และนายเก่าของ พล.อ.ปรีชา แคล้วปลอดทุกข์ บิดา พล.อ.พนา ซึ่งมีความสนิทสนมกันทั้งครอบครัวมายาวนาน ในฐานะลูก จปร.9 ด้วยกัน แม้ พล.ท.ธิติพันธ์ จะเป็น ตท.27 ก็ตาม และต้องจับตามองถึงอนาคตของ พล.ท.ธิติพันธ์ มีอายุราชการถึง 2571
นอกจากนั้น พล.อ.พนา กับ พล.ท.ธิติพันธ์ ยังถือเป็นสายวงศ์เทวัญด้วยกันเพราะเติบโตมาจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) พล.ท.ธิติพันธ์ เติบโต ร.1 รอ. ส่วน พล.อ.พนา เติบโตมาจาก ร.31 รอ. และเคยมาอยู่ พล.ร.11 ด้วยกันมา

ขณะที่นายทหารคนดัง เพื่อนรัก เสธ.โอม อย่าง เสธ.หนุ่ม พล.ต.พลศักดิ์ ศรีเพ็ญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ. ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวกองทัพบก ได้ขึ้นพลโท ที่ปรึกษาสำนักปลัดกลาโหม ใช้กลยุทธ์แยกกันโต
ส่วนนายทหารคนดังอย่าง เสธ.เก๋ พล.ท.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิขย์พงศ์ อดีตฝ่าย เสธ.ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับ ทบ. จากนายทหารประสานภารกิจสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาเป็นเสนาธิการ สำนักปฏิบัติภารกิจ ปรมน. และเป็นที่จับตามองกัน จะกลับเข้าไลน์ในกรมยุทธการทหารบก
กล่าวได้ว่า การจัดโผแรกของ พล.อ.พนา มีปัจจัยเพื่อน ตท.26 ปัจจัยครอบครัว และสายสัมพันธ์ส่วนตัว เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเป็นจังหวะของเตรียมทหารรุ่น 26 ที่เข้ารับการผ่องถ่ายอำนาจ ตท.23 และ ตท.24 พอดีด้วยนั่นเอง
ยังเหลือเวลาอีกถึง 2 ปีครึ่ง ในยุคของบิ๊กปู
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022