ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
ส่ง 40 ชาวอุยกูร์ เอาใจจีน
สหรัฐ-รัฐสภายุโรป ตอบโต้
เสียหลัก เสียดุลยภาพ
ภาพลักษณ์เสียหาย
กรณีการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนไปประเทศจีนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนานาประเทศ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ได้สร้างผลกระทบกับประเทศไทยอย่างร้ายแรงหลายมิติ
รัฐบาลไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศ เพราะไทยไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยอีกต่อไป ถูกนานาชาติประณามไร้จุดยืนทางการทูตตามมาตรฐานสากล ละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้นไทยยังถูกประชาคมโลกมองว่าเลือกข้างเอาใจจีน สะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ที่มีมาอย่างยาวนาน และลุกลามไปถึงขั้นกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ก่อนหน้านี้นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ออกมายืนยันว่าชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คนเลือกกลับจีนโดยสมัครใจ ทุกคนปลอดภัยดี ไม่มีใครถูกดำเนินคดี ไม่มีการสอบสวนใดๆ
ที่ผ่านมาไม่มีประเทศที่สามขอรับตัวไป รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องส่งตัวให้จีน เพราะพวกเขาคือคนจีน
ขณะเดียวกันนายกฯ ย้ำว่าการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปจีน ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนทางการค้า เรื่องนี้เป็นเรื่องของคน คนไม่ใช่สินค้า และไม่ได้ทำผิดกฎหลักสหประชาชาติหรือสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด โดยทางการจีนพร้อมให้รัฐบาลไทยติดตามความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน
แม้ว่ารัฐบาลไทยจะแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในเรื่องสิทธิมนุษยชน และยืนยันข้อตกลงระหว่างไทยกับจีนที่มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้ว
แต่เรื่องนี้กลับยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมหนักในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และรัฐสภายุโรป ที่ออกมาตรการตอบโต้ขั้นรุนแรงกับประเทศไทย พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วงสวัสดิภาพของชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับไปจีน
มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประณามไทยที่ส่งตัวชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนกลับไปจีน ซึ่งพวกเขาขาดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ชาวอุยกูร์ต้องเผชิญกับการข่มเหง บังคับใช้แรงงาน และทรมาน
“ในฐานะพันธมิตรอันยาวนานของไทย เรารู้สึกตระหนกกับการกระทำนี้ ซึ่งอาจขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ”
“ขอให้ทางการจีนเปิดให้มีการตรวจสอบโดยถี่ถ้วนและสม่ำเสมอ เพื่อยืนยันถึงสวัสดิภาพของชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับ”
“รัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้ทางการจีนคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ รวมทั้งต้องพิสูจน์การดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง” มาร์โค รูบิโอ ระบุ
ขณะที่รัฐสภายุโรปออกแถลงการณ์ประณามไทยกรณีส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ไปประเทศจีน โดยเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการส่งตัวผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และนักโทษการเมืองกลับไปยังประเทศที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตพวกเขา
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับ แสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับข้อมูลสถานที่ควบคุมตัวของชาวอุยกูร์ และอนุญาตให้ UNHCR เข้าพบพวกเขาได้ รวมถึงปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยไม่มีเหตุอันควร
ที่สำคัญยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 หรือกฎหมายอื่นที่เป็นเครื่องมือกดขี่ เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมแก่ ส.ส. และนักเคลื่อนไหวทุกคนที่ถูกดำเนินคดีหรือจำคุกภายใต้ ม.112 พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปใช้เวทีเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อกดดันให้ประเทศไทยปฏิรูปกฎหมายที่เข้มงวด
โดยเฉพาะ ม.112 ปล่อยตัวนักโทษการเมือง หยุดการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรประงับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งอุยกูร์กลับจีน กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาคมโลกเฝ้าจับตา และย่างก้าวที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ยังส่งผลกระทบร้ายแรงตามมาจนถึงขั้นสหรัฐอเมริกาออกประกาศนโยบายข้อจำกัดใหม่ เรื่องวีซ่ากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันและในอดีต
ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันชาวอุยกูร์ หรือชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ หรือศาสนากลุ่มอื่นที่อาจไม่ได้รับความคุ้มครองกลับประเทศจีน รวมไปถึงสมาชิกครอบครัวบางคนของบุคคลดังกล่าวอาจอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ เหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แสดงท่าทีปกป้องประเทศไทยจากการคว่ำบาตรของสหรัฐ โดยระบุว่า การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับเป็นความร่วมมือระหว่างจีนและไทย ในการต่อสู้กับการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่สอดคล้องกับกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ
จีนขอประฌามการใส่ร้ายที่มุ่งร้ายใดๆ และการคว่ำบาตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเล็งเป้าเล่นงานจีนและไทย ขอคัดค้านอย่างถึงที่สุดต่อการที่สหรัฐ ใช้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นข้ออ้างที่บิดเบือนประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซินเจียง
และแทรกแซงกิจการภายในของจีน ก่อความปั่นป่วนต่อความร่วมมือบังคับใช้กฎหมาย ระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายกฯ อิ๊งค์ ยืนยันว่า ความเสียหายจากกรณีสหรัฐประกาศมาตรการแบนวีซ่ากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ไม่ได้หนักหนาอะไร ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยพูดคุย เราไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เพื่อไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์หลังจากส่งตัวกลับไปจีน
นายภูมิธรรมระบุว่า ต้องการไปดูสภาพความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน พวกเขากลับไปถึงที่บ้านแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เราจะพยายามไปเจอพวกเขาที่บ้านให้ได้มากที่สุด
แต่เท่าที่ทราบคือพวกเขาอยู่ห่างไกลกันมาก เนื่องจากพื้นที่ซินเจียงอุยกูร์ใหญ่กว่าไทยถึง 3 เท่า ซึ่งคาดว่าจะพบกับชาวอุยกูร์ที่อยู่ใกล้เมืองคาซือ ระยะทางห่างประมาณ 150-170 กิโลเมตร แต่ถ้าไกลกันมาก ก็จะให้เขาใช้ระบบซูม เพื่อจะได้พูดคุยและเห็นหน้ากัน
แม้ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามกอบกู้ภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนต่อสายตาประชาคมโลก ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชาวอุยกูร์
แต่พรรคฝ่ายค้านนำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน มองว่าไทยอาจตกเป็นเครื่องมือในการฟอกขาวให้จีน และการที่สหรัฐออกมาตรการแบนวีซ่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก
“พวกเราเรียกร้องมาโดยตลอดว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ควรใช้นโยบายต่างประเทศที่เป็นไผ่ลู่ลม ควรที่จะต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล”
“สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือการแสดงออกหน้าบ้านอย่างชัดเจนว่าเราเคารพในหลักการของสิทธิมนุษยชนสากลมากกว่า” นายณัฐพงษ์กล่าว
เช่นเดียวกับ นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม ที่ระบุว่า Travel Ban ของสหรัฐต่อเจ้าหน้าที่รัฐไทย ซึ่งน่าจะรวมถึงนักการเมืองและข้าราชการไทยที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 40 ชีวิตกลับจีน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568
คือการตอบสนองจากต่างประเทศต่อการตัดสินใจที่ไร้ซึ่งจุดยืนทางการทูตตามหลักสากลของไทย
“เรื่องอุยกูร์คือประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ มันจะกระทบการเมืองภาพใหญ่ หากไทยเราไม่มีจุดยืนทางการทูตตามมาตรฐานสากล”
“จริงๆ เราไม่ต้องเลือกข้างว่าจะเข้าข้างประเทศใดอย่างออกหน้าออกตา เราต้องเลือกยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม มันจะเป็นเกราะป้องกันเราเอง” นายกัณวีร์เผย
ปิดท้ายกันที่มุมมองของ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Politics ข่าวบ้าน การเมือง
ศ.ดร.ฐิตินันท์มองว่า ไทยกำลังตกเป็นเบี้ยระหว่างสหรัฐกับจีน และเชื่อว่าการที่รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์กลับ เป็นเพราะแรงกดดันจากจีน
“เรื่องอุยกูร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทางการจีนทราบว่าสหรัฐไม่ต้องการให้ไทยส่งตัวกลับ แต่รัฐบาลจีนอยากให้ส่งตัวกลับมา พอเราส่งพวกเขากลับไปจีน มันก็เลยเสียหายมาก”
“เราไม่จำเป็นต้องทำตามสหรัฐ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเอาใจจีน จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นอย่างนั้น ปล่อยให้มันคาราคาซังไปเรื่อยๆ เพราะพวกเขาอยู่ในไทยมาตั้ง 10-11 ปี สถานการณ์บางครั้งการทำให้มันคาราคาซังดีที่สุด”
“ผมคิดว่าไทยคงได้รับแรงกดดันจากจีน พอเราไปยอมเขาปุ๊บ เราก็เลยเสียหลัก เสียดุลยภาพ สหรัฐก็ออกมาตรการคว่ำบาตรเรื่องวีซ่าทันที”
“ตอนนี้จีนก็รุกคืบเข้ามา เหมือนออกมาปกป้องไทย เรากำลังเข้าไปอยู่ในวังวนเครือข่ายของจีนที่แน่นขึ้น”
“เราก็เป็นเหมือนเบี้ยอันหนึ่ง ระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งไม่น่ามาถึงจุดนี้ได้ ถ้าเราอยู่เฉยๆ ไว้ มันก็จะไม่มาถึงจุดนี้” ศ.ดร.ฐิตินันท์กล่าวทิ้งท้าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022