อิทธิฤทธิ์ ‘ส.ว.สีน้ำเงิน’ คว่ำ ‘สิริพรรณ-ชาตรี’ โชว์พลังเฟ้นศาล รธน.

อิทธิฤทธิ์ ‘ส.ว.สีน้ำเงิน’ คว่ำ ‘สิริพรรณ-ชาตรี’ โชว์พลังเฟ้นศาล รธน.

ไฮไลต์สำคัญในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ย่อมหนีไม่พ้นวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่

สำหรับ 2 รายชื่อที่สามารถฝ่าด่านคณะกรรมการสรรหา จนได้เข้าสู่รอบสุดท้าย เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ลงมติโหวตให้ความเห็นชอบนั้น ประกอบด้วย นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยนางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี รับการสรรหา เข้ามาแทนตำแหน่งของนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567

ส่วนนายชาตรี อรรจนานันท์ เข้ารับการสรรหา แทนนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567

ทว่า ก่อนการประชุมเพื่อพิจารณาลงมติเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่จะเริ่มขึ้น น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เสนอญัตติด่วนขอให้ชะลอการลงมติออกไปก่อน โดยหยิบยกเหตุผลประเด็นการตรวจสอบกระบวนการได้มาของ ส.ว. ควรรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบที่มาของ ส.ว.ชุดนี้จนสิ้นสงสัย แล้วค่อยกลับมาลงมติกันใหม่

เพื่อเป็นการทำหน้าที่อย่างสง่างามและไม่ส่งผลกระทบต่อองค์กรอิสระใดๆ

แต่สุดท้าย ญัตติด่วนด้วยวาจาที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ได้เสนอนั้นได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นญัตติที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงไม่รับเป็นญัตติ เพราะถือว่าวุฒิสภามีอำนาจเต็มตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น กระบวนการลงมติโหวตเห็นชอบจึงเดินหน้าต่อไป

โดยที่ประชุมวุฒิสภาได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายก่อนที่จะพิจารณาเป็นการลับ ต่อรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม โดยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง

จากนั้นเป็นการลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งการลงคะแนนจะใช้การลงคะแนนลับด้วยเครื่องออกเสียง

ผลปรากฏว่า นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี ได้คะแนนเสียงเห็นชอบ 43 ไม่เห็นชอบ 136 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 1 ขณะที่นายชาตรี อรรจนานันท์ ได้คะแนนเสียงเห็นชอบ 47 ไม่เห็นชอบ 115 งดออกเสียง 22 ไม่ลงคะแนน 3

ฉะนั้น ผลการลงคะแนนถือว่าทั้งนางสิริพรรณและนายชาตรี ไม่ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทั้งคู่ได้คะแนนเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 199 คน คือ น้อยกว่า 100 คะแนน

ซึ่งตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 204 กำหนดไว้ว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ฉะนั้น เมื่อที่ประชุม ส.ว.ลงมติโหวตคว่ำทั้งนางสิริพรรณและนายชาตรี ส่งผลทำให้ต้องกลับไปเริ่มกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะครบวาระการทำหน้าที่แล้ว แต่ยังคงต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่มาทำหน้าที่แทน

จากผลคะแนนโหวตที่สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เสียงส่วนใหญ่ลงมติโหวตตีตก นางสิริพรรณและนายชาตรี นั่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่นั้น แน่นอนว่า ทุกสายตาของสังคมต่างพุ่งเป้าและโฟกัสมายังกลุ่ม ส.ว.สายสีน้ำเงินทันที เนื่องจากเป็นกลุ่ม ส.ว.ที่คุมเสียงข้างมากอยู่ในสภาสูง

อีกทั้งก่อนถึงวันโหวตมีการส่งสัญญาณจาก ส.ว.บางกลุ่ม โดยเฉพาะ ส.ว.สายสีน้ำเงิน เกี่ยวกับประเด็นที่นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี เคยร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นประเด็นที่ ส.ว.หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นและให้น้ำหนักพิจารณาเป็นพิเศษว่า จะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

ส่วนนายชาตรี อรรจนานันท์ มี ส.ว.บางส่วนหยิบยกประเด็นเรื่องที่ว่า กว่านายชาตรีจะผ่านด่านเข้ารอบสุดท้ายมาลุ้นนั่งเก้าอี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น ทางคณะกรรมการต้องโหวตกันถึง 3 รอบ

 

หากย้อนกลับไปในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ว.สีน้ำเงินนั้น พบว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จำนวน 6 คน

ผลปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบ 4 คน ได้แก่ 1.นางเกล็ดนที มโนสันติ์ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 2.นางพรพิมล นิลทจันทร์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 3.นายยุทธพงษ์ อภิรัตนรังษี อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 4.นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร อดีต ผอ.สำนักงบประมาณ

ส่วนอีก 2 คนไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา คือ น.ส.พศุตม์ณิชา จำปาเทศ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยได้คะแนนเห็นชอบ 48 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 116 คะแนน ไม่ออกเสียง 27 คะแนน และนายนิวัติไชย เกษมมงคล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้คะแนนเห็นชอบ 30 คะแนน ไม่เห็นชอบ 145 คะแนน ไม่ออกเสียง 15 คะแนน

ขณะที่การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตอธิบดีกรมคุมประพฤติ อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า มี ส.ว.เห็นชอบ 18 คะแนน ไม่เห็นชอบ 130 คะแนน และงดออกเสียง 27 เสียง

สะท้อนว่า ส.ว.โดยเฉพาะสายสีน้ำเงินโชว์พลังเปิดไฟแดงสกัดบุคคลที่ไม่อยู่ในสเป๊กอย่างทรงพลัง

 

นอกจากกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งแล้ว ในช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา และปี 2568 จะเข้าสู่ช่วงผลัดใบ เนื่องจากจะมีกรรมการในองค์กรอิสระ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช., นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และนายวิทยา อาคมพิทักษ์

รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งจะหมดวาระ 5 คน ประกอบด้วย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นายปกรณ์ มหรรณพ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ

ฉะนั้น ด้วยกฎหมายที่กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมากพอสมควร

สุดท้ายแล้วโฉมหน้าของกรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ที่มีอำนาจชี้อนาคตทางการเมืองของทุกฝ่าย ภายใต้ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ที่กุมอำนาจตรงนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร

คงต้องรอลุ้นกัน