ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ - 21 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน
“หมัดเด็ด” ญัตติซักฟอก
“ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล” ล่อเป้า “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว ตามช่องทางมาตรา 151 ที่ระบุเอาไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
เมื่อมีการเสนอญัตติแล้ว “จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”
ตอนแรกญัตติซักฟอกของฝ่ายค้านร่วม ทำท่าจะลำกล้องอักเสบ ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก เนื่องจาก “นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน “เล่นท่ายาก” มากไปหน่อย ช่วงท้ายๆ ของญัตติ ระบุว่า “น.ส.แพทองธาร ยังสมัครใจยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเหมือนหุ่นเชิด”
“นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ไม่สมควร เพราะ “ทักษิณ” เป็นบุคคลภายนอก อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ เนื่องจากไม่สามารถเข้ามาชี้แจงในที่ประชุมสภาได้ จึงยื่นไม้ตายให้ฝ่ายค้านแก้ไขข้อบกพร่อง นำรายชื่อบุคคลภายนอกออกจากญัตติ
แรกๆ “ผู้นำเท้ง” ทำท่าจะฮึกเหิมลำพองคึกคะนองศึก ดับเครื่องชนไม่ยอมถอนชื่อ “ทักษิณ” ออก รู้จักมักคุ้นตัวตนคนชื่อ “วันนอร์” น้อยไป มีแนวโน้มว่าจะเอาหัวโหม่งกำแพง “ศึกซักฟอก” อาจจะแห้วรับประทาน ไม่บรรจุเข้าวาระ ต้องเลื่อนโปรแกรมไปสมัยประชุมหน้า
ล่าสุด “นายณัฐพงษ์” กลับลำเรียบร้อยแล้ว โดยได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจฉบับแก้ไขใหม่ ต่อประธานสภาไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม โดยใช้ฉบับเดิมทั้งดุ้น เพียงแต่ขีดชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” และคำว่า “ผู้เป็นบิดา” ออก เปลี่ยนด้วยลายมือเป็นเหมือนไก่เขี่ย ใช้คำว่า “บุคคลในครอบครัว” แทน
และ “นายวันนอร์” เซ็นอนุญาตบรรจุญัตติซักฟอกเข้าสู่วาระ ให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจกันตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2568 จากนั้นมีการเปิดโต๊ะเจรจาทำข้อตกลงกันเรื่องวันเวลาของวิป 3 ฝ่าย คือ “นายณัฐพงษ์” ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน “นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ “นางมนพร เจริญศรี” วิปคณะรัฐมนตรี
และที่สุดมีจุดลงตัวที่ 37 ชั่วโมง แบ่งเป็นของพรรคฝ่ายค้านได้อภิปราย 28 ชั่วโมง และอีก 7 ชั่วโมงรัฐบาลหักหัวคิวไว้ให้รัฐบาลแถลงตอบโต้ แก้ข้อกล่าวหา และเวลาของประธานที่ประชุมอีก 2 ชั่วโมง
พลันที่ญัตติได้รับการบรรจุ “พรรคเพื่อไทย” กับ “ประชาชน” เกลอเก่า กัลยาณมิตรที่กลายพันธุ์กันเป็นศัตรู เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข ห่วงใยกันดั่งพี่น้องร่วมสายโลหิตกันมายาวนาน สมัย “3 ป.เรืองอำนาจ” ย่อมรู้ไส้รู้พุงกันดี และส่อเค้าเล่าอาการว่า ไม่มีมวยล้มต้มคนดู ใส่กันเต็มข้อ ล่อกันเต็มแข้ง กะซวกกันเลือดนองเลือดสาดแน่นอน
แค่เปิดฉาก “โหมโรง” เรียกน้ำย่อย ก็เกทับบลั๊ฟฟ์แหลกกันหนัก “ค่ายสีส้ม” เปิดหัวคิวเรียกน้ำย่อยออกแคมเปญ “ดีลแลกประเทศไทย” สื่อนัยยะทางการเมืองโดยใช้รูป “แพทองธาร ชินวัตร” เอนกายทับผ้าคลุมสีแดง ท่ามกลางซากปรักหักพังของระบอบประชาธิปไตย จนสัญลักษณ์พานสีทองบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตกลงมาแทบเท้าของนายกฯ อุ๊งอิ๊ง
ในภาพยังมีพระเจ้าลายพาง แต่งตัวคล้ายทหาร แสดงถึงอำนาจของกองทัพ และยังมีรูปหุ่นชักใย ที่อาจจะมองได้ว่า มีคนบงการอยู่เบื้องหลัง พร้อมมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย โดยใช้โทนสีทองเปล่งประกาย น่าจะบ่งบอกนัยว่ากลุ่มทุนผู้ให้การสนับสนุน
“พรรคประชาชน” ปล่อยแคมเปญมาได้ไม่กี่อึดใจ “พรรคเสื้อแดง-เพื่อไทย” ปล่อยแคมเปญออกมาบลั๊ฟฟ์ โดยมีภาพเข็มทิศบิดเบี้ยวเป็นภาพหลังพร้อมกับข้อความเย้ยหยันว่า
“ไปไหนอ่ะ กลับมานี่ อย่าอภิปรายเป็นฝ่ายแค้น หลงประเด็น หลงประเทศ หลงวาทกรรม หลงตัวเอง” เรียกว่าปล่อยของตอบโต้ทันที
ทีนี้ตามไปดูประเด็นที่คาดหมายว่า “พรรคสีส้ม” จะหยิบมาถล่ม “แพทองธาร” ปมแรกคงหนีไม่พ้น “ทักษิณชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ” ระหว่างรับโทษโดยไม่เข้าไปเหยียบเรือนจำแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม กรณี “ป่วยทิพย์” จะมาเล่นงาน “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” อะไรได้ยาก เพราะขณะนั้นไม่ได้อยู่ในฝ่ายบริหาร ไม่มีตำแหน่งแห่งหน มีสถานะเพียงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับแคนดิเดตนายกฯ เป็นช่วงสมัยที่ระหว่างนั้น “นายเศรษฐา ทวีสิน” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ประเด็น “ครอบงำ ชี้นำ ชักใย ประพฤติตนเสมือนนายกฯ” “ทักษิณ” ก็แก้ตัวบนเวทีปราศรัยมาหลายสนาม ว่าตนเองเป็นพ่อนายกฯ เคยมีประสบการณ์ คอยให้คำแนะนำในฐานะ “สทร.”
ตามด้วยนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งถูกถล่มหนักว่า เหมือนเอางบประมาณไปละลายแม่น้ำ แจกมาแล้ว 2 รอบแต่ไม่มีผลสะท้อนว่า กระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแน่นอนว่า ตรงประเด็นนี้ก็สามารถผ่องถ่ายไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือรัฐมนตรีช่วยคนหนึ่งคนใด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตอบแทนได้
ดังที่บอกไปแล้วว่า “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 เวลาที่เข้าบริหารประเทศเพียง 6 เดือนเท่านั้น เข้าใจได้ว่า เวลาแค่ประเดี๋ยวประด๋าว จะยัดเยียดความผิดให้ทุกเรื่อง ถือว่าเกินไปตามความน่าจะเป็น
กรณีที่จะเล่นงาน “อุ๊งอิ๊ง” มีเสียวตาปลา น่าหนักใจมากกว่าเรื่องใดก็คือ “นโยบายซอฟต์เพาเวอร์” ที่ปรากฏว่ามีผลผูกพันติดตัวมาตั้งแต่สมัย “นายเศรษฐา” เป็นนายกฯ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการ “ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” โดย “นายเศรษฐา” นั่งประธาน และวางตัวให้ “แพทองธาร” เป็นรองประธานคุมยุทธศาสตร์ และตัวบุคคลทั้งหมด
มีข่าวว่า “พรรคสีส้ม” มีหมัดเด็ดตรงจุดนี้ ตาอย่ากะพริบ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022