ครม.เคาะเออร์ลี่ฯ นายพลกลางปี ครั้งแรกสีกากีตามรอยสีเขียว เป็นขวัญกำลังใจ-ประหยัดงบฯ

บทความโล่เงิน

 

ครม.เคาะเออร์ลี่ฯ นายพลกลางปี

ครั้งแรกสีกากีตามรอยสีเขียว

เป็นขวัญกำลังใจ-ประหยัดงบฯ

 

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ไฟเขียว โครงการเออร์ลี่รีไทร์กลางปี เฉพาะ พล.ต.ต. หรือ พล.ต.ท.

ถือเป็นครั้งแรกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ให้เออร์ลี่ฯ ได้กลางปีด้วย เหมือนข้าราชการทหาร ปกติตำรวจมีเฉพาะปลายปีเท่านั้น

โครงการนี้ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ

แรกเริ่มเดิมทีจะเปิดให้ “พล.ต.ท.” ที่อายุราชการเหลือ 6 เดือน ตั้งแต่ 1 เมษายน-30 กันยายน เข้าร่วมโครงการได้เท่านั้น

แต่ “2 ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ” พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ และ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ได้เสนอต่อที่ประชุม ก.ตร.ว่า ไหนๆ พล.ต.ท.ได้แล้ว ควรเปิดให้ พล.ต.ต.ได้ร่วมโครงการด้วย

เพราะเป็นผู้บริหารระดับสูง ตร. เป็นผู้ที่ได้อุทิศตน เสียสละในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่อย่างเต็มความรู้ ความสามารถ เพื่อองค์กรมายาวนาน

จึงสมควรที่จะตอบแทนคุณงามความดีเป็นพิเศษ

พล.ต.ท. อภิชาติ เพชรประสิทธิ์

หลังจากนั้นถึงนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.อนุมัติ ตามที่ ตร.เสนอ คือ “การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์แนวทางการดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนกำลังพล” รุ่นที่ 26

นั่นคือ เพิ่มรอบเออร์ลี่ฯ 1 เมษายน มีผลให้ลาออกจากราชการ ตั้งแต่ 1 เมษายน

นอกเหนือจากรอบ 1 ตุลาคมของแต่ละปี ซึ่งเป็นปกติ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้จะเข้าร่วมโครงการ

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็น “พล.ต.ต.” หรือ “พล.ต.ท.” มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับถึงวันที่ 31 มีนาคม ของปีงบประมาณที่ลาออก (สำหรับรอบ 1 เมษายน)

หรือครองยศ “พล.ต.ต.” หรือ “พล.ต.ท.” มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับถึงวันที่ 30 กันยายนของปีงบประมาณที่ลาออก (สำหรับรอบ 1 ตุลาคม)

ทั้งนี้ หากเป็นการได้รับการแต่งตั้งยศ “พล.ต.ต”. หรือ “พล.ต.ท.” ในการแต่งตั้งตามวาระประจำปี ให้เริ่มนับเวลาการครองยศนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของวาระประจำปีนั้น

และมีเวลาราชการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่ 1 เมษายน หรือ 1 ตุลาคม แล้วแต่กรณี

โดยสำหรับคุณสมบัติและเงื่อนไขอื่นๆ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องที่จะพึงได้รับตามโครงการ ให้เป็นไปตามแนวทางเดิม

พล.ต.ท. สรายุทธ สงวนโภคัย

ที่ผ่านมา ตร.ดำเนินโครงการเออร์ลี่ฯ รอบ 1 ตุลาคม มาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงขณะนี้ ผ่านมาแล้ว 25 รุ่น

วัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังพลให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่มีการยุบเลิกตำแหน่งที่ร่วมโครงการ

และเพื่อบำรุงเสริมสร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในการปฏิบัติงานรวมทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐด้วย

ทั้งนี้ ระยะที่ผ่านมาผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งสมัครใจเข้าร่วมและได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามโครงการปรับเปลี่ยนกำลังพล มีผลในการลาออกตั้งแต่ 1 ตุลาคมของปีงบประมาณที่ดำเนินการ และจะได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนเป็นพิเศษ เช่น การได้รับการเสนอขอพระราชทานยศสูงขึ้น 1 ชั้นยศ เป็นกรณีพิเศษ

และได้รับใบประกาศเกียรติคุณทำนองเดียวกับผู้เกษียณอายุราชการ

พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง

พอมาถึงปีนี้ ตร.ต้องการให้เออร์ลี่ฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการมากยิ่งขึ้น จึงได้เสนอที่ประชุม ก.ตร.ดังกล่าว

คุณสมบัติต้องเป็นตำรวจยศไม่เกิน พล.ต.ท. มีอายุตั้งแต่ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือมีเวลาราชการ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยไม่รวมเวลาทวีคูณ

ทั้งนี้ การนับอายุและเวลาราชการให้นับถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 คือ ต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2517 หรือได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2542

ไม่เป็นผู้ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องออกจากราชการในกรณีอื่นตามที่กำหนด

เช่น ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับ อันเป็นที่พอใจของทางราชการ

เงื่อนไขการลาออกจากราชการตามโครงการนี้เป็นไปตามความสมัครใจ หลังจากได้รับอนุมัติให้ลาออกแล้วจะไม่ขอกลับเข้ารับราชการ และไม่เรียกร้องสิทธิหรือผลประโยชน์ใดๆ นอกเหนือจากที่ราชการกำหนด

ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ มีได้รับการขอพระราชทานยศ หรือเลื่อนยศสูงขึ้นเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่มีการปรับระดับเงินเดือนสูงขึ้นตามยศใหม่ และมีสิทธิได้รับใบประกาศเกียรติคุณทำนองเดียวกันกับผู้เกษียณอายุ

 

สําหรับผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่ฯ กลางปีนี้ มี พล.ต.ท. 13 นาย และ พล.ต.ต. 53 นาย รวม 65 นาย

จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการจะมีผู้เข้าร่วม 22 นาย อาทิ ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. 3 นาย มี พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง นรต.40 ,พล.ต.ท.สรายุธ สงวนโภคัย นรต.41 และ พล.ต.ท.อภิชาติ เพชรประสิทธิ์ นรต.40

นอกนั้นมี พล.ต.ท.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและความมั่นคง นรต.41 และ พล.ต.ท.บัณฑิต ตุงคะเศรณี จเรตำรวจ (หัวหน้าจเรตำรวจ) นรต.41 เป็นต้น

โดย “นายพล” ส่วนใหญ่เปิดใจถึงที่มาเข้าร่วมโครงการว่า ได้รับใช้ประเทศชาติมานาน เมื่อเหลืออายุราชการอีก 6 เดือน แล้วมีหนทางก้าวสู่ตำแหน่งได้สูงขึ้นอีก 1 ชั้นยศ โดยไม่ได้ฝ่าฟันอะไรมากมาย และไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้ปฏิบัติด้วย ถือเป็นโอกาสชีวิตจึงได้ขอเออร์ลี่ฯ

หลังจากนี้ตำแหน่งที่ว่างจากนายพลที่เข้าโครงการเออร์ลี่ฯ จะไปแต่งตั้งโยกย้ายตามวาระประจำปี 2568 ในเดือนสิงหาคมทีเดียว