ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มีนาคม - 3 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
จับตาร่องรอยตระกูลธุรกิจไทยกับธนาคารใหญ่ ในภาพมีมิติซับซ้อนพอประมาณ
เรื่องของเรื่องมาจากกรณีธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ประกาศจ่ายเงินปันผลกรณีพิเศษ อ้างอิงผลประกอบการปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าสนใจ
“…จ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2567 แก่ผู้ถือหุ้นสามัญเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษในอัตราหุ้นละ 2.50 บาท ทั้งนี้ ธนาคารได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ในอัตราหุ้นละ 1.50 บาท และได้เสนอขออนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้าย ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 9 มีนาคม 2568 ในอัตราหุ้นละ 8.00 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับการเสนอขอจ่ายเงินปันผลเป็นกรณีพิเศษครั้งนี้ ในอัตราหุ้นละ 2.50 บาท รวมเป็น 12.00 บาท…”
สาระสำคัญอันตื่นเต้นข้างต้น เป็นมติคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย (14 มีนาคม 2568) เพื่อขอมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 ที่มีจะมีขึ้น (7 พฤษภาคม 2568) เป็นที่เชื่อกันแน่ว่า ไม่น่าจะมีข้อขัดข้องแต่ประการใด
คำนวณอย่างคร่าวๆ จากจำนวนหุ้นทั้งหมดประมาณ 2,300 ล้านหุ้น การจ่ายปันผลครั้งนี้ ถือว่ามากกว่า 27,000 ล้านบาท
ยิ่งเมื่อเทียบเคียงกับช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการจ่ายเงินปันผลเป็นกรณีพิเศษจริงๆ เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารใหญ่ในระดับเดียวกัน โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL จะเห็นได้ว่า อัตราการจ่ายเงินปันผลได้ขยับขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้
อันที่จริงมีภาพหนึ่งซึ่งสะท้อนสะเทือนความรู้สึกผู้คนอยู่บ้าง ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะเป็นใจ แต่ธนาคารใหญ่ๆ ล้วนมีผลประกอบการที่ดีที่น่าทึ่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีมานี้ (โปรดพิจารณา “ข้อมูลจำเพาะ”) เหตุผลหนึ่งซึ่งไม่อาจปฎิเสธได้ว่า มีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย กับความสามารถในการบริหารช่วงว่าง ในช่วงอัตราดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
ในมุมสำคัญตั้งใจจะกล่าวถึง เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งได้ประโยชน์โดยตรง ไม่มีใครปฏิเสธได้เช่นกัน มีความสัมพันธ์โดยตรงกับตระกูลธุรกิจใหญ่ อันทรงอิทธิพล ผ่านร้อนผ่านหนาวในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
แม้ว่าข้อมูลที่เปิดเผยผ่านตลาดหุ้น ไม่ว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้น และโครงสร้างคณะกรรมการธนาคาร มีความหลากหลายกระจายตัวไป ดูเหมือนจะไร้ร่องรอย อย่างที่กล่าวไว้ แต่อย่างไรในนั้นเชื่อว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ซึ่งกุมอำนาจการตัดสินใจในเชิงบริหารสำคัญๆ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าสัดส่วนถือครองหุ้นจะลดลงไปมากก็ตาม
ธนาคารกสิกรไทย ยุคใกล้ ผู้คนมักมองผ่าน และยังคงอ้างอิงบทบาทคนคนหนึ่ง
บัณฑูร ล่ำซำ (เกิดปี 2496) เป็นรุ่นที่ 5 ของตระกูลเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีน เข้ามาเมืองไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้ เขาเป็นผู้มีบทบาทในธนาคารกสิกรไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ
ธนาคารกสิกรไทย ตั้งขึ้นในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยแรงบันดาลใจการบริหารตามมาตรฐานโลกตะวันตก จากประสบการณ์และรากเหง้าเชื่อมโยง
หนึ่ง-ตระกูลล่ำซำ ผู้ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจบริหารธนาคาร มีความสัมพันธ์กับธุรกิจตะวันตก จากระบบสัมปทานป่าไม้ จนถึงค้าข้าว ตั้งแต่ยุคอาณานิคมต่อเนื่องมา
สอง-ผู้บริหารสำคัญๆ ผ่านการศึกษาและมีสายสัมพันธ์กับโลกตะวันตกอย่างไม่ขาดตอน จากอังกฤษ สู่สหรัฐ
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งธนาคารและเครือข่ายธุรกิจแวดล้อม มาจากความสัมพันธ์กับกระแสลงทุนจากธุรกิจโลกตะวันตกในช่วงสงครามเวียดนาม โดยเฉพาะเข้ามาในกระบวนการซึ่งสัมพันธ์กับธนาคารกสิกรไทยและตระกูลล่ำซำ
สถานการณ์ เปลี่ยนแปลง และผันแปรไปมาก เมื่อเข้าสู่ยุคบัณฑูร ล่ำซำ มีความจำเป็นต้องโฟกัสกับธนาคารกสิกรไทยเป็นพิเศษ ภาพและความสำคัญของเครือธุรกิจตระกูลล่ำซำ จึงลดบทบาทไปพอสมควร ผลพวงนั้นสะท้อนถึงปัจจุบัน เมื่อมองผ่านความเป็นไปของธุรกิจในเครือข่ายซึ่งอยู่ในตลาดหุ้น
ขณะธนาคารกรุงเทพ มีจุดเริ่มต้นยุคเดียวกัน แต่เป็นไปอย่างแตกต่าง ด้วยอ้างอิงกับอำนาจรัฐ และเครือข่ายชาวจีนโพ้นทะเล สามารถสร้างอาณาจักรอันเข้มแข็งขึ้นมา ในยุคใกล้กลับมีความเชื่อมโยงและเป็นไปไม่แตกต่างจากธนาคารกสิกรไทยนัก ทั้งนี้ สัมพันธ์กับบทบาทคนคนหนึ่ง เป็นการเฉพาะเช่นกัน
ชาติศิริ โสภณพนิช (เกิดปี 2502) รุ่นที่ 3 ของตระกูลเก่าแก่ในยุคถัดมา (ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2) ด้วยโปรไฟล์ด้านการศึกษาคล้ายกัน และเข้ามามีทบาทอย่างโฟกัสในธุรกิจธนาคารในช่วงเดียวกัน เข้าทำงานครั้งแรก ตามด้วยจังหวะก้าวขึ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 8 ปี (2529-2537) ขณะบัณฑูร ล่ำซำ ใช้เวลานานกว่า (2522-2535)
เวลานี้ ชาติศิริ โสภณพนิช ยังคงอยู่ตำแหน่งบริหารอย่างเต็มตัว ถือว่าเป็นคนในตระกูลโสภณพนิช อยู่คู่กับธนาคารกรุงเทพอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดไปแล้วก็ว่าได้ เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนหน้า ไม่ว่ารุ่นบุกเบิกในยุค ชิน โสภณพนิช หรือยุคโลดโผนก่อนหน้า-ชาตรี โสภณพนิช
ขณะที่ บัณฑูร ล่ำซำ ถือว่าอยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่าคนรุ่นก่อนในตระกูลเช่นกัน แม้ได้วางมือไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ (2563) แต่ใครๆ ก็เชื่อว่า เงาของเขายังคงอยู่
ภาพ บัณฑูร ล่ำซำ และ ชาติศิริ โสภณพนิข คงถูกโฟกัสในฐานะผู้มี “ตัวตน” เป็นตัวแทนตระกูลธุรกิจสำคัญในสังคมธุรกิจไทย
ทั้งนี้ อ้างอิงมาจาก Forbes Thailand’s 50 Richest ปรากฏทั้งสองอยู่ในทำเนียบ ในนาม Banthoon Lamsam & family และ Chartsiri Sophonpanich & family ด้วยนิยามอย่างเจาะจงว่าสังกัดในธุรกิจธนาคาร (Banking) ทั้งนี้ Forbes ได้ระบุแบบแผนการและวิธีการจัดอันกับไว้ด้วยว่า “Unlike our billionaire rankings, this list encompasses family for?tunes, including those shared among extended families of multiple generations.”
ทั้งนี้ กรณี Banthoon Lamsam & family (อ้างอิงล่าสุดปี 2567 อยู่ในอันดับ 37) เข้ามาอยู่ในอันดับตั้งแต่ปี 2558 มีอันดับขึ้นลงอย่างวูบวาบ ไม่มีแนวโน้มขาขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าส่วนหนึ่งมีผลมาจากดัชนีตลาดหุ้นไทย
ส่วน Chartsiri Sophonpanich & family (อ้างอิงล่าสุดปี 2567 อยู่ในอันดับ 30) เข้ามาอยู่ในอันดับทีหลัง (ปี 2562) ทั้งนี้ มีแนวโน้มและทิศทางขยับขึ้น แต่ก็ไม่มาก
เป็นไปได้ว่า สัมพันธ์กับบริบท ความเป็นไป เมื่อธนาคารใหญ่ไทย สามารถตั้งหลักได้หลังจากวิกฤตการณ์ซึ่งสั่นคลอนมาตั้งแต่ปี 2540
Forbes Thailand’s 50 Richest ได้ให้ภาพใหญ่ที่น่าสนใจด้วย ตระกูลธุรกิจเก่าแก่ทั้งสองที่อ้างถึง ยังคงมีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างที่เป็นมา รักษาสถานภาพในสังคมไทยไว้ได้อย่างเหนียวแน่น มั่นคง แม้จะมีอีกภาพซ้อนอยู่ เป็นไปท่ามกลางด้วยปรากฏ “ผู้มาใหม่” มากหน้าหลายตา ไต่อันดับข้ามไปไม่ขาดสาย •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022