ในสมการอำนาจที่ไม่มี ‘เด็กน่ารำคาญพวกนั้น’ | ปราปต์ บุนปาน

บางคน โดยเฉพาะผู้หลัก ผู้ใหญ่ ผู้มากประสบการณ์ ในแวดวงการเมือง อาจรู้สึกว่า ถ้าตัดพวก “เด็กรุ่นใหม่ที่น่ารำคาญ-ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้” อย่างพรรคประชาชน (หรือพรรคสีส้ม) ออกจากวงจรอำนาจไปสักพรรคหนึ่ง

ปัญหาน่าหนักใจต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน อาจจะมลายหายไปโดยพลัน

คำถามคือ ปัญหาหนักๆ ใหญ่ๆ ทุกปัญหาของการเมืองไทย นั้นผูกติดอยู่กับ “เด็กอมมือทางการเมือง” เหล่านั้นจริงๆ หรือ?

ถ้าถามผู้ใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ผู้ใหญ่ในรัฐบาล ผู้ใหญ่ที่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคม ผู้ใหญ่ในกองทัพ เป็นต้น

คำตอบก็คงออกมาว่า “จริง”

เพราะ “ปัญหา” ในนิยามของพวกเขา ย่อมหมายถึง “วิถีการทำงานใหม่ๆ” ที่รุกคืบเข้ามาตรวจสอบ ถ่วงดุล และหาจุดบกพร่องตกหล่นของ “วิถีการทำงานแบบเดิมๆ” ที่บรรดาผู้ใหญ่คุ้นชิน และไม่อยากเปลี่ยนแปลง

แต่หากลองเคลื่อนพื้นที่-ขยับประเด็นออกไปไกลสักนิด เราก็อาจจะพบว่า ต่อให้ตัด “เด็กรุ่นใหม่น่ารำคาญ” เหล่านั้น ออกไปจากสมการทางอำนาจ

ปัญหา-ความขัดแย้ง-การต่อรองผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ระหว่างผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายต่างๆ กลับมิได้ระเหยหายไปไหน

 

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องวุ่นๆ ล่าสุด ที่วุฒิสภาเพิ่งประชุมลับ ก่อนจะลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ให้ “ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “ชาตรี อรรจนานันท์” อดีตอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

การ “ประชุมลับ” แล้ว “โหวตไม่เห็นชอบ” บุคคลที่เป็นแคนดิเดตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (องค์กรอิสระที่ทรงอำนาจมากที่สุดองค์กรหนึ่งในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย กระทั่งสามารถ “วีโต้” อำนาจบริหารและนิติบัญญัติมาหลายหน) ถึงสองคนรวด บ่งบอกว่า ต้องมี “ปัญหาสำคัญ” ซ่อนอยู่ในกระบวนการนี้แน่ๆ

“ปัญหา” อยู่ที่เรื่องอะไร? ดูเหมือนจะมีหลายเหตุผล-ปัจจัย ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีการชี้แจงแถลงไขอย่างชัดเจน เพราะเป็นการ “ประชุมลับ”

แต่ถ้าถามต่อว่านี่เป็น “ปัญหา” ระหว่างใครบ้าง? ประเด็นนี้จะพอเห็น “แนวคำตอบ” ปรากฏเค้าลางขึ้นมา

เบื้องต้นสุด เรื่องนี้ไม่น่าพัวพันกับพวก “เด็กดื้อ” จากพรรคสีส้มสักเท่าไหร่? เพราะถ้าไปดูองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะพบว่ามีเพียง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” คนเดียวเท่านั้น ที่สามารถถูกจัดประเภทเป็น “เด็กน่ารำคาญ”

“ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่ประธานกรรมการสรรหา คือ “ท่าน” ประธานศาลฎีกา ร่วมด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็คือประธานรัฐสภา ในอีกตำแหน่งหนึ่ง (หมายความว่าในคณะกรรมการสรรหาชุดนี้ มีประมุขฝ่ายตุลาการและนิติบัญญัติเป็นหลักสำคัญ), ประธานศาลปกครองสูงสุด และตัวแทนจากองค์กรอิสระอื่นๆ ได้แก่ กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ป.ป.ช., กสม. และ คตง.

กระบวนการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงแทบจะเป็น “ฉันทามติ” ของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่-ชนชั้นนำกลุ่มเดิมในสังคมการเมืองไทย

ส่วนแคนดิเดตที่ถูกโหวตคว่ำ ก็ยิ่งไม่ได้มีภาพลักษณ์ “ก้าวหน้า-ถอนรากถอนโคน” แบบ “เด็กๆ พรรคส้ม”

หากเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งอาจารย์รัฐศาสตร์ที่พยายามศึกษาและเข้าอกเข้าใจเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ของนักการเมือง-นักเลือกตั้งทุกฟากฝ่ายในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ (จนถูกมองว่า “ไม่ส้ม”)

แล้วทำไมวุฒิสภาจึงโหวตไม่เห็นชอบบุคคลเหล่านี้? ทำไมวุฒิสภาจึงมีความเห็นแย้งกับ “ฉันทามติ” ของชนชั้นนำที่น่าเชื่อถือได้กลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีประมุขฝ่ายตุลาการและนิติบัญญัติรวมอยู่ด้วย?

 

แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการโหวตเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตัวอย่างแรก ตัวอย่างเดียว และตัวอย่างสุดท้ายของปัญหาดุลยภาพทางอำนาจที่ไม่สอดคล้องลงรอย ทั้งๆ ที่ (แทบ) ไม่มี “พวกเด็กๆ พรรคสีส้ม” อยู่ในสมการ

หากลองจินตนาการไปให้ไกลสุดขั้วยิ่งขึ้นว่า ในวันหนึ่ง ถ้านายกรัฐมนตรี ผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล (ทั้งตัวจริงและตัวแทน) ประมุขฝ่ายตุลาการ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานวุฒิสภา (รวมถึงคนที่คุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง) ตลอดจนผู้นำขององค์กรอิสระทุกแห่ง และชนชั้นนำอื่นๆ ต้องมานั่งหารือ-ต่อรองกัน เพื่อแสวงหา “ทางออก” บางอย่างให้แก่ประเทศชาติ (ไม่ใช่แค่มากินเลี้ยงสังสรรค์แบบพอเป็นพิธี)

ในเงื่อนไขที่ “พวกเด็กหัวรุนแรงสีส้ม” ถูกกำจัดทิ้งจนสิ้นซากไปหมดแล้ว

น่าสนใจว่า ผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านั้นจะเจรจาพูดคุยกันรู้เรื่อง และร่วมกันแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองได้สำเร็จหรือไม่?

อย่าแปลกใจ ถ้า ณ เวลานี้ จะมีสามัญชนคนธรรมดาจำนวนมากรู้สึก “ไม่แน่ใจ-ไม่มั่นใจ” เมื่อได้ฟังคำถามดังกล่าว •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน