
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
“คาซูโอะ อิชิงูโระ” นักเขียนเชื้อสายญี่ปุ่นที่เติบโตและทำงานในอังกฤษ เจ้าของรางวัล “โนเบล สาขาวรรณกรรม” เมื่อปี 2017 เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ “เดอะ การ์เดียน” เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ประเด็นใหญ่และสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งอิชิงูโระสนใจ-ใส่ใจในระยะหลัง ในฐานะนักประพันธ์ผู้ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลว่า งานเขียนของเขานั้นทรงพลังอย่างสูงในการเร้าอารมณ์ผู้คน ก็คือการพยายามใช้พลังอำนาจในการปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านอย่างรอบคอบระมัดระวัง
เนื่องจากพันธกิจของนักเขียนนั้นผูกพันอยู่กับเรื่องการปลุกเร้าอารมณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังที่เจ้าของรางวัลโนเบลผู้นี้ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ถ้าคนอ่านอยากเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ก็ควรจะไปศึกษาจากหนังสือที่เขียนโดยบรรดานักประวัติศาสตร์ ไม่ใช่หนังสือวรรณกรรมของเขา
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เหล่าคนเขียนนิยายสามารถมอบให้แก่ผู้อ่านได้ ก็คือ แง่มุมมิติทางด้านอารมณ์ความรู้สึก
อิชิงูโระอธิบายว่า คนเขียนนิยายจะสามารถสร้างสรรค์ “สัจจะทางอารมณ์ความรู้สึก” อันเป็นองค์ประกอบที่หาไม่ได้ในหนังสือประเภทสารคดีหรืองานเขียนแขนงอื่นที่ไม่ใช่วรรณกรรม
ทว่า “สัจจะทางอารมณ์ความรู้สึก” ดังกล่าว ก็เกิดขึ้นจากการอ่าน เขียน บันทึก ค้นคว้า มาอย่างหนักหน่วง ละเอียดลออ ไม่แพ้กระบวนการเผยให้เห็น “ความจริง” ในมิติอื่นๆ ที่ปรากฏในงานเขียนประเภทอื่น
กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมรายนี้รู้สึกวิตกกังวกลมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีหลัง ก็คือ สภาวะที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนถูกยั่วยวนป่วนปั่นให้ถลำลึกเข้าสู่ด้านมืดมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่อิชิงูโระใช้อธิบาย คือ ปรากฏการณ์ที่ขบวนการทางการเมืองต่างๆ สามารถ “ลากจูง-ชี้นำ” พลเมือง ผ่านการยั่วเย้าดึงดูดใจคนเหล่านั้นด้วยเรื่องราวที่ขับเน้นการปลุกเร้าสัญชาตญาณ มากกว่าจะทำให้พวกเขาเชื่อด้วยประจักษ์พยานหลักฐานใดๆ
“ในยุคหลังความจริงที่คนอย่างทรัมป์เรืองอำนาจ ได้เกิดปรากฏการณ์ทำนองนี้ที่กร่อนเซาะบ่อนทำลายความน่าเชื่อของสื่อมวลชนสำนักต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
“ซึ่งตัวการก็ไม่ใช่แค่ (โดนัลด์) ทรัมป์ด้วย แต่มันเป็นบรรยากาศรวมๆ ที่ไม่ว่าพยานหลักฐานต่างๆ จะออกมาในรูปไหน แต่ถ้าคุณไม่ชอบใคร คุณก็สามารถหาทางที่จะอ้างเอา ‘สัจจะทางอารมณ์ความรู้สึก’ แบบอื่นๆ มาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองได้เสมอ
“ดังนั้น สถานภาพของสิ่งที่ควรจะเป็นสัจจะความจริงทั้งหลายจึงพลอยพร่าเลือนไม่ชัดเจนกันไปหมดในระยะหลังๆ แล้วผมก็เริ่มรู้สึกว่า พลังอำนาจในการปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกประเภทต่างๆ ของผู้คน และพลังอำนาจในการสร้างสารรค์สัจจะทางอารมณ์ความรู้สึก นั้นได้กลับกลายเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะแปลกแยกผิดปกติไปเสียแล้ว”
ในทัศนะของนักประพันธ์เชื้อสายญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่อังกฤษ เขาเชื่อว่าสถานการณ์อันน่าวิตกกังวลนี้จะมีความหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเทคโนโลยี “เอไอ” มีความสามารถและพลังอำนาจสูงขึ้น
“เอไอจะกลายเป็นเครื่องมือที่เก่งมากๆ ในการกำหนดจัดการอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ผมคิดว่าพวกเราทุกคนกำลังยืนอยู่บนปากเหวลักษณะนั้น
“ในขณะนี้ พวกเราอาจยังครุ่นคิดกันเกี่ยวกับเรื่องที่เอไอกำลังประมวลผลข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลหรืออะไรทำนองนั้น แต่ในเวลาอีกไม่นานต่อจากนี้ เอไอจะมีศักยภาพถึงขั้นคำนวณวิธีการกำหนดสร้างอารมณ์ความรู้สึกประเภทต่างๆ ให้แก่มนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธแค้น, โศกเศร้า หรือขำขัน”
อิชิงูโระเชื่อว่าเทคโนโลยีเอไอจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทุกแขนง เขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรหาทางปกป้องผลงานของนักเขียนและศิลปิน จากการตกเป็นเหยื่อที่ถูกไล่ล่า-ปล้นสะดมโดยบรรษัทเทคโนโลยีต่างๆ
โดยเขาได้บรรยายถึงสภาวะท้าทายแห่งยุคสมัยปัจจุบันเอาไว้ว่า เป็น “ห้วงเวลาของการเดินมาถึงทางแยก” •
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022