ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
ปัญหาใน ‘ทะเลจีนใต้’
กับความล้มเหลวของจีน
เมื่อนักสังเกตการณ์สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ มองย้อนกลับไปทบทวนภาพรวมของปี 2024 ที่ผ่านมา พบว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ก็คือ ความตึงเครียดที่พุ่งขึ้นสูงกว่าครั้งไหนๆ
บางครั้งแทบจะเปลี่ยนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการอ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือพื้นที่ในบริเวณทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ปะทุกลายเป็นสงครามขึ้นมา
ความตึงเครียดที่เขม็งเกลียวขึ้นมากดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากยุทธวิธีที่จีนนำมาใช้ โดยการสั่งการให้กองเรีอรักษาการณ์ชายฝั่งของจีน (ซีซีจี) เพิ่มการลาดตระเวนมากขึ้นในพื้นที่ซึ่งประเทศอย่าง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม อ้างว่าเป็นพื้นที่ทะเลที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนเอง
พร้อมกับความถี่ในการลาดตระเวนที่เพิ่มขึ้น กองกำลังของจีนก็ก่อเหตุรุนแรง สร้างสถานการณ์ปะทะย่อมๆ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดและผลที่เกิดขึ้นตามมาหลังหลายๆ เหตุการณ์เหล่านั้น ผู้เชี่ยวชาญกลับพบว่า ทางการจีนกลับล้มเหลว ไม่ประสบความคืบหน้าใดๆ เลยจากการใช้กลยุทธ์ดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อมองในแง่ของการบรรลุเป้าในเชิงยุทธศาสตร์
ตรงกันข้าม หลายชาติคู่กรณีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เพียงสามารถดำเนินการหลายอย่างตามที่ตนต้องการได้เท่านั้น ยังสามารถปลุกเร้าแรงสนับสนุนจากนานาชาติได้มากขึ้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกด้วย
กรณีตัวอย่างที่เป็นอุทาหรณ์ที่ดีที่สุดตามนัยดังกล่าวก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณสันดอน โธมัส ที่สอง (Second Thomas Shoal) แนวโขดหินสันดอนกลางทะเล ในบริเวณซึ่งศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ พิพากษาเมื่อปี 2016 ว่า เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ แต่จีนก็ยังคงอ้างสิทธิ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง
จุดนี้กลายเป็นจุดขัดแย้งหลักระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ หลังจากที่ฝ่ายหลังพัฒนาที่ตั้งทางทหารขึ้นที่นี่ ด้วยการนำเรือรบเก่า บีอาร์พี เซียร์รามาเดร ที่สหรัฐอเมริกามอบให้ ไปเกยตื้นที่สันดอนแห่งนี้แล้วใช้พื้นที่บนเรือเป็นฐานที่มั่นทางทหาร
ทำให้จีนส่งเรือของซีซีจี กับเรือของกองกำลังติดอาวุธไปปิดล้อมทั้งในปี 2023 และตอนต้นปี 2024 เป้าหมายเพื่อตัดการส่งกำลังบำรุงและลำเลียงวัสดุอุปกรณ์สำหรับทะนุบำรุงซากเรือที่ถูกใช้เป็นฐานที่มั่นทางทหารแห่งนี้
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 จีนเพิ่มจำนวนเรือปิดล้อม และเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นก้าวร้าวมากขึ้น เป็นที่มาของเหตุการณ์รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2014 เมื่อเรือของซีซีจีพุ่งชนเรือส่งกำลังบำรุงของฟิลิปปินส์ และส่งกำลังพร้อมอาวุธอย่างมีดและอื่นๆ ขึ้นเรือฟิลิปปินส์ เกิดการสู้รบขึ้นตามมา และลูกเรือชาวฟิลิปปินส์ได้รับบาดเจ็บหนึ่งราย
กลายเป็นเหตุการณ์ที่นานาชาติ หรือแม้แต่จีนเองก็วิตกว่าจะนำไปสู่การประกาศสงครามตามพันธะของสนธิสัญญาป้องกันร่วมระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกาขึ้นตามมา ในกรณีที่ลูกเรือฟิลิปปินส์รายนั้นเกิดเสียชีวิตลง
ในที่สุด ในการเจรจาตามกลไกหารือทวิภาคีระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ทางการจีนยอมรับตามความตกลงเบื้องต้น ยุติการปิดล้อม ฟิลิปปินส์สามารถส่งกำลังบำรุงไปยังเซียร์รามาเดรได้เท่าที่จำเป็น
การปะทะที่จุดนี้ยุติลง แม้ว่าสถานการณ์ในจุดอื่น อาทิ สันดอนซาบีนา และสการ์โบโรห์ ยังคงเกิดเหตุรุนแรงอยู่ก็ตาม
ถัดลงมาทางใต้ลงไปอีก ประเทศอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ก็เผชิญกับเรือลาดตระเวนของซีซีจีเพิ่มมากขึ้นในน่านน้ำของตน จำนวนเหตุก่อกวนการขุดเจาะหาก๊าซและน้ำมันเพิ่มมากข้น
ในเดือนกันยายน 2024 จีนกดดันจนมาเลเซียต้องยุติปฏิบัติการสำรวจหาน้ำมันและก๊าซในบริเวณใกล้กับสันดอนลูโคเนีย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
เดือนตุลาคม 2024 ก่อกวนจนปฏิบัติการสำรวจของพีที เพอร์ตามินา บริษัทอินโดนีเซียในบริเวณแหล่งก๊าซธรรมชาติ นาทูนา ดี-อัลฟา ต้องระงับไป 3 สัปดาห์ ระหว่างนั้นก็มีการเผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดระหว่างกองเรือของซีซีจี กับกองเรือของกองทัพเรืออินโดนีเซีย ปัญหาของจีนก็คือ จีนทำได้เพียงแค่นั้น เพราะต่อมา มาเลเซียก็สามารถเพิ่มหลุมขุดเจาะใหม่นอกชายฝั่งซาราวักได้อีกถึง 15 หลุมในปี 2024 เช่นเดียวกับที่การสำรวจของอินโดนีเซียก็ดำเนินต่อจนเสร็จสิ้น
จีนยังล้มเหลวในการปิดกั้นเวียดนามในปี 2024 จนทำให้ปีที่แล้วกลายเป็นปีที่เวียดนามสามารถขยายฐานที่มั่นในพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จนอาจมีเนื้อที่สำหรับใช้ทางทหารได้มากพอๆ กับจีนได้ในปี 2025 นี้อีกด้วย
ความสำเร็จของเวียดนามในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ได้ทั้งทางทหารและพลเรือนในพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ก็ดี การสำรวจที่ดำเนินไปจนสำเร็จของอินโดนีเซีย และการที่มาเลเซียสามารถขยายพื้นที่พัฒนาโครงการสำรวจหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้ ยิ่งทำให้ความล้มเหลวของจีน ซึ่งไม่สามารถควบคุมพื้นที่น่านน้ำและน่านฟ้า เพิ่มขึ้นแม้แต่น้อยในปี 2024
ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ ฟิลิปปินส์สามารถใช้เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น โน้มน้าวจน 27 ประเทศ บวกกับอีก 1 สหภาพยุโรป ออกมาเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2016 อีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า หากจีนยังคงดำเนินการตามยุทธศาสตร์เดิมนี้ต่อไปในปี 2025 นี้ ผลที่ได้เพียงอย่างเดียวก็คือ จะทำให้สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาค เสื่อมถอยลงจนถึงขีดสุด
และภายใต้สภาพภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้กรณีเล็กๆ ที่เกิดขึ้นลุกลามใหญ่โตได้อย่างน่าสยดสยองยิ่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022