ทรัมป์อัดไบเดน กับ ‘ออโต้เพ็น’ ประเด็นร้อนการเมืองสหรัฐ

Damilic Corp. president Bob Olding anchors a sheet of paper as the Atlantic Plus, the Signascript tabletop model autopen, produces a signature at their Rockville, Md., office, June 13, 2011. (AP Photo/Manuel Balce Ceneta, File)

บทความต่างประเทศ

 

ทรัมป์อัดไบเดน กับ ‘ออโต้เพ็น’

ประเด็นร้อนการเมืองสหรัฐ

 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐได้ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ว่า การลงนามคำสั่งอภัยโทษหลายฉบับที่อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามขณะยังดำรงตำแหน่งอยู่นั้น ไม่มีผลบังคับใช้ เพราะไบเดนไม่ได้ลงนามคำสั่งด้วยลายเซ็นที่เขาเขียนเอง แต่ใช้ปากกาออโต้เพ็น (autopen) หรือเครื่องลงลายเซ็นอัตโนมัติ

ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่าคำสั่งใดก็ตามที่ลงนามโดยใช้ปากกาออโต้เพ็นมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายหรือไม่?

ทรัมป์โพสต์ลงบนทรูธ โซเชียล แพลตฟอร์มออนไลน์ของเขาว่า การที่อดีตประธานาธิบดีไบเดนลงนามการอภัยโทษด้วยปากกาออโต้เพ็น หมายความว่า ไบเดนไม่ได้ลงนามมันและไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวเลย

แม้ว่าทรัมป์จะไม่ได้ออกมากางหลักฐานหรือระบุชัดเจนว่าคำสั่งอภัยโทษใดที่เขาหมายถึง

แต่ทรัมป์ได้กล่าวถึงการอภัยโทษแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติและเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการรัฐสภาที่สอบสวนเหตุการณ์ที่ผู้สนับสนุนของทรัมป์บุกอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 2021 เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ถูกประธานาธิบดีทรัมป์เล่นงานย้อนหลังได้

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังได้วิจารณ์ไบเดนที่ลงนามคำสั่งอภัยโทษแก่สมาชิกครอบครัวของเขาและนักการเมืองบางคนในวันที่ 19 มกราคม หรือ 1 วันก่อนที่เขาจะพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

ทรัมป์อาจเอาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาจาก Oversight Project ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันคลังสมองสายอนุรักษนิยม The Heritage Foundation ที่อ้างว่าคำสั่งอภัยโทษทั้ง 2 กรณีของไบเดนถูกลงนามโดยใช้ปากกาออโต้เพ็นเพราะมีลายเซ็นเดียวกัน

รวมถึงจากการวิเคราะห์เอกสารหลายพันฉบับของไบเดนพบว่าลายเซ็นในเอกสารส่วนใหญ่ทำโดยปากกาออโต้เพ็นเช่นกัน

 

นายไมค์ โฮเวล หัวหน้า Oversight Project ให้ความเห็นว่าสาเหตุที่เขาวิจารณ์ไบเดนเพราะอำนาจตามรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดีจะอยู่ที่ประธานาธิบดีเพียงคนเดียว ไม่สามารถส่งต่อไปให้บุคคลใดหรือเครื่องมือใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ไบเดนไม่ใช่ประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ใช้ปากกาออโต้เพ็นในการลงนามเอกสาร อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ และอดีตประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน เคยใช้ปากกาออโต้เพ็นเพื่อลงนามเอกสารมาแล้ว

แต่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ใช้ปากกาออโต้เพ็นเพื่อลงนามกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2011 เนื่องจากในขณะนั้นโอบามากำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และรัฐบัญญัติความรักปิตุภูมิ (PATRIOT Act) กำลังหมดอายุลง ทำให้โอบามามีคำสั่งให้ใช้ปากกาออโต้เพ็นเพื่อต่ออายุรัฐบัญญัติดังกล่าวออกไป

ทรัมป์กล่าวว่าเขาเองก็เคยใช้ปากกาออโต้เพ็นเช่นกัน แต่แค่กับเอกสารที่ไม่มีความสำคัญ เช่น การตอบจดหมายผู้สนับสนุนหลายพันฉบับที่ส่งมาให้เขา

แต่สำหรับคำถามว่าเอกสารใดก็ตามที่ใช้ออโต้เพ็นลงนามนั้นมีผลตามกฎหมายหรือไม่

 

ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายให้ความเห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดควบคุมการใช้งานปากกาออโต้เพ็นของประธานาธิบดีสหรัฐ และบันทึกของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐในปี 2005 ในสมัยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ระบุว่าปากกาออโต้เพ็นสามารถใช้ในการลงนามกฎหมายได้ และประธานาธิบดีไม่จำเป็นต้องเซ็นลงนามกฎหมายด้วยตัวเองเพื่อให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้

แต่แอนดริว โมราน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์กล่าวว่า การใช้ปากกาออโต้เพ็นลงนามเอกสารที่มีความสำคัญน้อยไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เขาคิดว่าไบเดนจะลงนามเอกสารที่มีความสำคัญอย่างการอภัยโทษด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เอริน เดลานี ผู้อำนวยการ Global Centre for Democratic Constitutionalism จาก University College London กล่าวว่า ความพยายามใดก็ตามของทรัมป์ที่จะยกเลิกคำสั่งอภัยโทษของไบเดนจะเป็นการละเมิดบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้

ซึ่งหากทรัมป์ต้องการที่จะเล่นงานคนที่ได้รับอภัยโทษไปแล้ว

เรื่องดังกล่าวจะถูกส่งขึ้นไปให้ศาลพิจารณาและจะเป็นบททดสอบต่อรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง