วิช่วลคัลเจอร์/ห้องสมุด : ส่งเสริมหรือเซ็นเซอร์ (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ห้องสมุด : ส่งเสริมหรือเซ็นเซอร์ (1)

ถ้าหนังเรื่อง The Post มีแท่นพิมพ์และตัวตะกั่วเป็นตัวละคร All The President’s Men ก็มีห้องสมุด ซึ่งเป็นตัวละครที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน เรื่องหลังเป็นหนังของ อลัน เจ แพ็กคิวลา นำแสดงโดย โรเบิร์ต เรดฟอร์ด และ ดัสติน ฮอฟแมน ออกฉายเมื่อปี พ.ศ.2519 และโด่งดังเพราะเกี่ยวกับคดีวอเตอร์เกตเช่นกัน
หนังเรื่องนี้มีฉากห้องสมุดหลายแห่ง ทั้งของเมือง ของเดอะโพสต์ และของทำเนียบขาว แต่ที่เด่นคือห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน ในวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งมีชื่อเสียงเพราะมีหนังสือมากที่สุดในโลกและมีอิทธิพลขนาดเป็นชื่อของระบบหนังสืออันหนึ่ง
ช็อตซึ่งเรียกกันว่า Library of Congress shot ต่อจากฉากที่ คาร์ล เบิร์นสตีน (ดัสติน ฮอฟแมน) นักข่าวคนหนึ่ง เริ่มสงสัยเพราะเมื่อโทรศัพท์เพื่อหาเอกสารของห้องสมุดรัฐสภา พบว่าตอนแรกบรรณารักษ์บอกว่ามี แต่ตอนหลังบอกตรงกันข้าม เขาจึงไปค้นด้วยตัวเองในห้องอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นห้องรูปวงกลมและอยู่ใต้โดมสูง ศูนย์กลางของห้องสมุดนี้
เกือบจะเป็นภาพอย่างเดียว ไม่มีบทพูดอะไรเลย มีแต่เสียงคลี่กระดาษและเปียโนคลอเบาๆ เริ่มตั้งแต่โคลสอัพของการ์ดห้องสมุดที่ผูกกันเป็นปึกและวางบนโต๊ะ กล้องจะถอยทีละน้อยและลอยขึ้นไปจนถึงยอดโดม ภาพที่เห็นเป็นห้องขนาดใหญ่ที่มีคนนั่งอยู่มากมายและตัวเล็กนิดเดียว
ช่างภาพคือ กอร์ดอน วิลลิส ได้ไปถ่ายในสถานที่จริงและใช้ความกว้างใหญ่ของห้องอย่างเต็มที่ เขาบอกว่าอยากทำให้การค้นหาของนักข่าวทั้งสองดูคล้ายการ “งมเข็มในกองฟาง” ซึ่งก็ตรงกับไอเดียของหนัง คนตัวเล็กๆ หาทางล้มยักษ์ซึ่งก็คือรัฐบาลสหรัฐ หรือทำสิ่งที่ใหญ่จนแทบจะเป็นไปไม่ได้

ในแง่สถาบันซึ่งจำเป็นสำหรับทุกสังคม ห้องสมุดกลายเป็นหัวข้อที่พูดถึงกันมากเพราะเป็นที่เก็บหนังสือ และหนังสือมีภาพลักษณ์ว่าให้ทางออกแก่ชีวิต ทั้งที่เป็นแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ และเปิดหูเปิดตาสำหรับทุกคน
แต่ถ้าแบ่งทัศนะเกี่ยวกับห้องสมุดเป็นสองแบบ คือ แบบแรก มีหน้าที่ให้ความรู้และส่งเสริมการอ่าน ที่ทันสมัยหน่อยก็กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งบวกเอานิทรรศการหรือกิจกรรมเข้าไป แบบที่สอง มีหน้าที่เก็บหนังสือมากกว่าการนำออกมาใช้
และเมื่อประกอบกับความเชื่อของไทยที่เน้นความเป็น “กรุ” หนังสือจึงเป็นสมบัติอย่างหนึ่ง และบรรณารักษ์มีบทบาทเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มากกว่าผู้ส่งเสริมการอ่านหรือยืม
นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเป็นสาธารณะของห้องสมุดหลายแห่งเสื่อมไปในทุกวันนี้
ในช่วงสองสามปีนี้ มีหนังสือใหม่มากมาย เช่น Library : An Unquiet History โดย Matthew Battles, Libraries (Roads Reflections) โดย Bjarne Hammer, The Library : A World History โดย James W. P. Campbell และ The Meaning of the Library : A Cultural History ซึ่งมี Alice Crawford เป็นบรรณาธิการ พูดถึงความหมายของห้องสมุดในแง่วัฒนธรรม ตั้งแต่ยุคโบราณถึงปัจจุบัน
หนังสารคดี เช่น Ex Libris : The New York Public Library ซึ่งเกี่ยวกับห้องสมุดใหญ่ของนิวยอร์ก และเป็นของ เฟรดเดอริก ไวส์แมน นักทำหนังรุ่นคลาสสิค ได้ออกฉายเมื่อปีที่แล้ว ส่วนปีนี้ ที่กำลังจะออกฉายคือ The Hollywood Librarian : A Look at Librarians through Film
หนังบันเทิงจากฮอลลีวู้ดที่มีฉากห้องสมุดนับพันเรื่อง และทุกวันนี้ เพียงแค่เว็บไซต์ที่เก็บคลิปและข้อมูลเหล่านี้ก็มีมากมาย เช่น Enchanting Libraries from Film and TV, Library Books blog, Libraries at the Movies และ Reel Librarians
ที่สำคัญ ทำให้เห็นว่าห้องสมุดแต่ละยุคมีความแตกต่างกันมากมาย ซึ่งแบ่งได้เป็นสองแบบคือมีบทบาทส่งเสริมหรือไม่ก็เซ็นเซอร์การอ่าน

ในหนังฮอลลีวู้ดยุคก่อน เราจะเห็นเพียงด้านดีของห้องสมุด เช่น ในหนังเรื่อง Human Comedy (1943) แต่ภาพลักษณ์ของบรรณารักษ์ก็ยังเป็นสาวทึมทึกหรือคนที่ล้มเหลวในชีวิต เช่น It’s a Wonderful Life! (1946) และอีกหลายร้อยเรื่อง แต่พอผ่านไปราวสิบกว่าปี หรือนับจาก All The President’s Men และ Three Days of the Condor (1975) ห้องสมุดมีอำนาจในทางร้าย ไม่ว่าจะเพราะการเมืองสมัยนั้น หรือขนาดและระบบของห้องสมุดเอง
ในขณะเดียวกันภาพลักษณ์ของบรรณารักษ์ก็เปลี่ยนเป็นสาวเปรี้ยวได้
ใน Ghostbuster (1984) ห้องสมุดกลายเป็นบ้านผีสิง ทั้งเลวร้ายและน่าหวาดกลัว ฉากเปิดหนังเกิดขึ้นในห้องสมุดสาธารณะของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นตึกใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนสายที่ 42 และมีรูปปั้นสิงโตตัวใหญ่นั่งอยู่หน้าห้องสมุด
ในช่วงเดียวกัน The Name of the Rose (1986) หนังของ จัง จากส์ อังโนด์ ซึ่งเกี่ยวกับฆาตกรรมในยุคกลางหรือศตวรรษที่ 14 ซึ่งเกี่ยวพันกับห้องสมุด บรรณารักษ์ไม่ชอบหนังสือหลายเล่ม เช่นของอริสโตเติลที่ว่าด้วยการหัวเราะ จึงทำทุกอย่างเพื่อห้ามไม่ให้คนอ่าน พระเอกเป็นพระสองรูปที่เข้าไปสืบสวนในวัดแห่งหนึ่งในอิตาลี และต้องปะทะกับอำนาจของฝ่ายต่างๆ เช่น โป๊ป อินควิซิเตอร์ เจ้าอาวาส และบรรณารักษ์