เศรษฐกิจฟื้นช้า-ตลาดหุ้นซึม รัฐเร่งกู้วิกฤตความเชื่อมั่น ระดมสารพัดมาตรการกระตุ้น

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

เศรษฐกิจฟื้นช้า-ตลาดหุ้นซึม

รัฐเร่งกู้วิกฤตความเชื่อมั่น

ระดมสารพัดมาตรการกระตุ้น

 

ขณะที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2568 โต 3-3.5% สวนทางกับบทวิเคราะห์ของสำนักวิจัยของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ปรับลดคาดการณ์ลงอยู่ที่ 2.5-2.7%

รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่เมื่อเดือนมกราคมประกาศคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 2.9% ก็ส่งสัญญาณเตรียมปรับลดลงมาอยู่ที่เหนือระดับ 2.5%

ด้วยเพราะสารพัดปัจจัยเสี่ยงทั้ง “ศึกในและศึกนอก” อย่างสงครามการค้าในยุคทรัมป์ 2.0 ที่เขย่าโลกสร้างความโกลาหล ด้วยการเปลี่ยนนโยบายในทุกๆ วัน ส่งผลสะเทือนและแรงกระแทกต่อทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทย

เรียกว่าทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน อยู่ในสถานการณ์อ่อนแรง ไม่มีข่าวดี

จนถึงขั้นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลกับประชาชนอยู่กัน “คนละโลก”

ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยก็อยู่ในภาวะ “ซึมเศร้า” เช่นกัน ดัชนีตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปีลดลงมากกว่า 17% ดัชนะร่วงลงไปกว่า 200 จุด มูลค่ามาร์เก็ตแคปหายไปกว่า 2.9 ล้านล้านบาท จากต้นปีอยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท ล่าสุดอยู่ที่ 14.5 ล้านล้านบาท

ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจกำลังซื้อไม่ได้หดหายแค่รากหญ้า หรือมนุษย์เงินเดือนเท่านั้น แต่สะเทือนไปถึงนักลงทุนกลุ่มผู้มีอันจะกิน ความมั่งคั่งหดหายไปอย่างมาก ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลหม่นหมองไปมากขึ้น

แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงกระทรวงการคลังจะพยายามสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นด้วยมาตรการต่างๆ

โดยเฉพาะการตั้งกองทุน Thai ESGX เพื่อหยุดเลือดการขายกองทุน LTF ที่ครบอายุ ซึ่งเหลืออยู่ไม่ถึง 1.8 แสนล้านบาท และเพิ่มสิทธิการลดหย่อนภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เข้ามาลงทุน แต่ดูเหมือนตลาดหุ้นยังไม่รับข่าวดีนี้ เพราะดัชนีตลาดหุ้นก็ยังคงร่วงลงต่อเนื่อง

แม้ว่านักวิเคราะห์และนักลงทุนขาใหญ่หลายรายเริ่มออกมาส่งสัญญาณว่าราคาหุ้นไทยเริ่มอยู่ในจุดที่ “ราคาถูก” สามารถเลือกทยอยสะสมหุ้นปันผลดีได้ แต่ก็ดูเหมือนนักลงทุนอยู่ในภาวะขาดความเชื่อมั่นจากสารพัดปัจจัย

รวมถึงปัญหาเรื่องการทุจริตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ทยอยออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่มีเคสใหญ่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าพบหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในตลาดหุ้นไทย และติดตามการดำเนินมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายให้เร่งดำเนินการอย่างเคร่งครัดและรวดเร็ว โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการกระทำผิดในตลาดหุ้น ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การให้ ก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวน

โดยนายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้าคดีที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและส่งผลต่อคนจำนวนมาก เช่น คดี STARK รวมทั้งติดตามมาตรการในการสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้น

และกำชับให้มีการดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับบริษัทจดทะเบียนที่ปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น การกระจายการถือหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย (free float)

 

นั่นเป็นความพยายามอีกด้านหนึ่ง หลังจากเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 รัฐบาลได้อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนใหม่ชื่อ “Thai ESG Extra” หรือ “Thai ESGX” เป็นกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 500,000 บาท โดยในส่วนสับเปลี่ยนจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ปีแรกลดหย่อนภาษีได้สิทธิไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนที่เหลือ 200,000 บาท ให้ใช้สิทธิในปีภาษีต่อๆ ไป ปีละ 50,000 บาท จนครบจำนวน และส่วนใช้เงินใหม่ซื้อลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่เกิน 300,000 บาท และต้องลงทุนภายในวันที่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2568 นี้

ทั้งนี้ ทำให้เมื่อรวมรายการลดหย่อนภาษีกับกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ไม่เกิน 300,000 บาท

และรวมกับสิทธิลดหย่อนภาษี RMF + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กบข. + ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนสงเคราะห์ครู ที่ลดหย่อนภาษีรวมได้ไม่เกิน 500,000 บาท

เท่ากับปี 2568 ผู้เสียภาษีจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี (การลงทุน) สูงสุดถึง 1,400,000 บาท

แต่ดูสัญญาณตลาดหุ้นก็ยังไม่มีวี่แววที่จะพลิกกลับได้โดยง่าย ล่าสุด (18 มีนาคม 2568) ปิดตลาดดัชนี 1176.17 จุด มาร์เก็ตแคป (มูลค่าตลาด) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 14.5 ล้านล้านบาท

เรียกว่าจากต้นปีความมั่งคั่งในตลาดหุ้นหายไป 2.9 ล้านล้านบาท

 

อีกด้านรัฐบาลยังเร่งหาสารพัดมาตรการเติมเงินเข้าสู่ระบบเพื่อ “พยุง” เศรษฐกิจ ตั้งแต่การอนุมัติแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3 สำหรับกลุ่มอายุ 16-20 ปี อีกราว 2.7 ล้านคน ที่คาดว่าจะสามารถแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตได้ในช่วงไตรมาส 2-3

รวมถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ในเรื่องของการต่ออายุ “ลดค่าโอน-จดจำนอง” รวมถึงเร่งถกแบงก์ชาติปลดล็อกมาตรการ LTV (เกณฑ์ควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย)

และมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์โดยเฉพาะรถกระบะ โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ เพื่อหนุนผู้ประกอบการธุรกิจค้าขาย หวังดันตลาดรถยนต์กระเตื้องขึ้นบ้าง

 

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีคลังยังให้ความสำคัญกับการเติมเงินเข้าระบบ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยกู้เพื่อให้หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมผู้บริหารกระทรวง มีการนัดหมายกับสมาคมธนาคารไทยและผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ หารือถึงแนวทางดังกล่าว รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดยรองนายกฯ พิชัยได้กล่าวว่า “ถ้าแบงก์ปล่อยแต่รายใหญ่ ไม่กล้าปล่อยรายเล็ก แต่ถ้ารายเล็กมีปัญหา จะไปถึงรายใหญ่ไหม ก็ลองไปคิดดู ซึ่งก็คงไม่ได้ไปบังคับให้แบงก์ต้องปล่อยหมด แต่ควรมีทางเลือกไม่ใช่ปิดประตูเลย เพราะถ้าจะให้มีเงินใหม่เข้ามา ก็ต้องมีสินเชื่อใหม่ แต่เมื่อสินเชื่อเท่าเดิม ก็แปลว่าเงินหายไปจากตลาด ก็เพราะว่าแบงก์ไม่ปล่อย”

นี่คือความพยายามของรัฐบาลที่พยายามจะกอบกู้และฟื้นความเชื่อมั่นทั้งในด้านเศรษฐกิจและตลาดหุ้น แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ต่างๆ จะยังไม่เป็นใจ