‘หายาก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังจากเริ่มต้นใช้กล้องและเลนส์เป็นเครื่องมือมาสักพัก ผมก็กำหนดเป้าหมายไว้กับการตามหาสัตว์ป่าหายาก

ถึงแม้ว่าผมจะโชคดีที่ได้เกิดมาในช่วงรอยต่อระหว่างความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ กับการทำลายล้าง

มีโอกาสได้เห็นว่า แหล่งอาศัยของเหล่าสัตว์ป่ารวมทั้งชีวิตต่างๆ อุดมสมบูรณ์เช่นไร ทั้งในป่า และตามพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่สัตว์ป่าหลายชนิดก็สาบสูญไปก่อนที่ผมจะเกิด ได้ยินแต่เพียงเรื่องราว และความเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เห็น

อีกทั้งมันเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งขึ้น เมื่อมีความจริงว่า สัตว์บางตัว เช่น สมัน เมื่อสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว นั่นหมายถึง สูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ด้วย

มีสัตว์หลายตัวยังมีชีวิตรอด พวกมันอยู่ในสถานภาพลึกลับ หายาก การพบเจอร่องรอยแม้เพียงรอยตีนก็สร้างความยินดีให้

ผมเดินทางไปในทันที ในทุกที่ซึ่งมีข่าวเจอร่องรอยสัตว์หายาก ไปเพื่อพบแต่เพียงร่องรอย

การไปคล้ายจะตอกย้ำความจริงว่า โอกาสที่จะพบสัตว์ป่าหายากบางตัวนั้นหมดไปแล้ว

 

วันนั้น เป็นช่วงเวลาต้นฤดูฝน เรากำลังเดินทางอยู่เหนือพื้นดินราว 200 ฟุต ไม่สูงเกินยอดไม้สักเท่าใด ต่ำไปด้วยซ้ำกับผมผู้ไม่คุ้นเคยกับการเคลื่อนที่ไปเหนือพื้นดินเช่นนี้

ในเฮลิคอปเตอร์ลำเล็ก มีผู้โดยสารสี่คน นักบินกับผู้ช่วย ช่างเครื่องหนึ่ง และตัวผม

แนวป่า ขนาบลำห้วยคดเคี้ยว ต้นฤดูฝนเช่นนี้หาดทรายริมห้วยขยายกว้าง

“แถวนี้เจอสัตว์เยอะครับ ตัวที่น้องตามหาก็เจอแถวๆ นี้แหละ” เสียงนักบินผ่านเข้ามาทางหูฟังที่ผมสวมไว้ ภารกิจการดูแลและดับไฟป่าของนักบินชุดนี้ทำให้พวกเขาต้องมาแถบนี้เกือบทุกวัน พบเจอสัตว์ป่ามากมาย คล้ายเป็นเรื่องปกติ

วันนั้นผมคิดว่าโอกาสในการพบเจอสัตว์จากทางอากาศ ดูเหมือนจะมีมาก ต่างจากการเฝ้ารอทางภาคพื้นดิน

กลิ่นกายมนุษย์ แปลกปลอม และเป็นภัยเกินกว่าสัตว์ป่าจะวางใจ

ลำห้วยกว้างแผ่ขยาย อาจเพราะช่วงฤดูฝนปีที่แล้วนั้นฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนาน ความรุนแรงของสายน้ำทำให้ป่าสองฝั่งห้วยราบเป็นแนวกว้าง

นักบินลดเครื่องลงต่ำลัดเลาะไปตามแนวโค้งของหาดทราย ริมฝั่งเป็นป่าไผ่หนาทึบ ขณะเครื่องตีวงไปกับลำห้วย ข้างล่างบนหาดทรายมีความเคลื่อนไหว

ร่างทะมึนกำลังวิ่งเหยาะๆ ไปตามลำห้วย เป็นร่างของสัตว์ป่า ที่ทำให้ผมแทบลืมหายใจตั้งแต่เห็นแวบแรก

ร่างนั้นคือ ควายป่า สัตว์ที่ผมใช้เวลาหลายปีเพื่อตามหา

 

ย้อนเวลาจากวันนั้นไปสัก 50 ปี ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเดินป่าจะพบเจอควายป่า มีเรื่องเล่าและตำนานของควายป่ามากมาย

ส่วนใหญ่มาจากคนล่าสัตว์ซึ่งเล่าถึงความเถื่อน ดุร้าย ถึงวันนี้ถิ่นอาศัยเดิม แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถูกปรับเปลี่ยนเป็นเมือง เป็นพื้นที่เกษตร โรงงาน เส้นทางรถไฟ ถนนตัดผ่านใจกลางถิ่นที่อยู่ สัตว์ป่าหลายชนิดสาบสูญไป บางชนิดเหลือเพียงเรื่องเล่าตำนาน บางชนิดถอยร่นเข้ามาอยู่ในถิ่นอาศัย

ซึ่งไม่ผิดนัก หากจะพูดว่า อยู่ในพรมแดนแห่งสุดท้าย

ควายป่า – ควายป่าในถิ่นอาศัยแห่งสุดท้าย สถานภาพของควายป่าน่าเป็นห่วง นักวิชาการกำลังศึกษา วิจัยหาข้อมูลต่างๆ เพื่อความอยู่รอดของพวกมัน

เฮลิคอปเตอร์ลอยตัวนิ่ง เสียงเครื่องยนต์คำรามก้อง ร่างกำยำ เขาโค้ง ลำตัวมอมแมมโคลนแห้งกรัง ยืนหันข้างเงยหน้าจ้องเขม็ง

แววตาใสแจ๋ว ไร้แววของความเถื่อน ดุร้าย ตามคำเล่าลือ

ผมไม่เคยลืมแววตาที่เห็นในวันนั้น เป็นแววตาที่บ่งถึงพลังของชีวิตหนึ่ง

ชีวิตหนึ่งในฝูงสุดท้ายที่อาศัยอยู่แถบลำน้ำแห่งนี้

 

ควายป่าตัวนั้นแหงนหน้ามองสักพักก็ออกวิ่งเหยาะๆ ไปตามหาดทราย

“ไปเถอะครับ ผมได้ภาพแล้ว” ผมบอกนักบิน

เครื่องลอยตัวขึ้นสูง วกออกจากลำห้วย ร่างกำยำเบื้องล่างหยุดวิ่ง แหงนหน้ามองสิ่งแปลกปลอมจากไป มันเลิกระแวง

ผมมองร่างทะมึนที่ค่อยๆ เล็กลง จนกระทั่งลับหายไปจากสายตา เบื้องล่างเป็นแนวป่าทึบกว้างใหญ่

ผมถอดหูฟังออกแขวนไว้กับตะขอติดเพดาน เอนหลังพิงที่นั่ง หลับตา เก็บภาพสง่างามของควายป่าตัวนั้นไว้ในใจ

วันนี้ผมได้พบและได้ถ่ายรูปสัตว์ป่าที่ตามหามาหลายปี

ผมได้พบควายป่าตัวหนึ่ง นอกจากภาพสัตว์ป่าตัวหนึ่งแล้ว ผม “เห็น” ควายป่า จริงๆ หรือ?

 

ผมมองไปเบื้องล่าง ป่าทึบกว้างใหญ่ อีกเมื่อไหร่จะค้นหาสิ่งที่อยากพบได้หมด

จากวันนั้นผมเริ่มต้นใหม่ เริ่มจากตามหา “สิ่งหายาก” ที่อยู่ในตัว สิ่งซึ่งเรียกว่า ใจ ให้พบเสียก่อน

เพราะเมื่อได้พบเห็นสัตว์ป่าหายาก จะได้รู้จักสิ่งที่พวกมัน “เป็น”

วันเวลาทำให้ผมรู้ว่า สิ่งที่ตามหายากจริงๆ นั้นคล้ายจะไม่ใช่สัตว์ป่า •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ