จังหวะ ‘อุ๊งอิ๊ง’ สู่ผู้นำ

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

จังหวะ ‘อุ๊งอิ๊ง’ สู่ผู้นำ

 

การเมืองเข้าสู่โหมด “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” สาระของญัตติอย่างเป็นทางการ ฝ่ายค้านที่มี “พรรคประชาชน” เป็นแกนนำ ต้องการเน้นให้เห็นภาพว่ารัฐบาลที่ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถสร้างผลงานเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศได้ โดยเน้นรูปธรรมหลักใน 4 เรื่อง

หนึ่ง 18 เดือนภายใต้รัฐบาลที่ดีลกันบนผลประโยชน์ของชนชั้นนำ เหยียบย่ำเสียงของประชาชน

คนไทยต้องสูญเสียไปเท่าไหร่ เพื่อให้คนบางคนได้กลับบ้าน

ประเทศเสียหายไปแค่ไหน เพื่อให้แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

สอง ดิจิทัลวอลเล็ตกลายพันธุ์จนจำรูปร่างเดิมไม่ได้ แจกจ่ายไม่ทั่วถึง เศรษฐกิจโตต่ำรั้งท้ายอาเซียน คนไทยตกงานนับแสน ค่าครองชีพสูง ค่าแรงไม่ขึ้นตามสัญญา

สาม กองทัพกลายเป็น “เขตทหาร ห้ามเข้า” รัฐบาลพลเรือนแตะต้องไม่ได้ ปฏิรูปกองทัพเป็นเพียงลมปาก

สี่ แก้รัฐธรรมนูญไร้ความคืบหน้า นักโทษการเมืองติดคุกไม่ได้ประกัน ประเทศไทยถูกประณามเป็นที่อับอายในเวทีโลก

เป็นข้อกล่าวหาที่ “ฝ่ายค้าน” ต้องการคำตอบ

แต่น่าสนใจตรงที่ “ประชาชนคนทั่วไปต้องการเหมือนที่ฝ่ายค้านอยากรู้หรือไม่”

 

แน่นอนว่าคนทั่วไปรู้อยู่เต็มอกว่า ต่อให้ทำการบ้านมาดีแค่ไหน ข้อมูลแน่นเพียงใด สามารถชี้ให้เห็นเหตุผลว่าหากปล่อยให้รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อถึงวาระที่ต้องโหวตว่าจะไว้วางใจ “นายกฯ แพทองธาร” หรือไม่

แม้เมฆหมอกการเมืองจะก่อให้เกิดความคิดขึ้นมาได้ว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่นำโดย “ภูมิใจไทย” อาจจะใช้จังหวะนี้ให้บทเรียนบางอย่างกับ “เพื่อไทย”

เพื่อย้ำเตือนว่าเป็นเพียง “พรรคที่ข้ามขั้ว” มาเป็นแกนนำ การจะหวังให้พรรคอื่นต้องเดินตามต้อยๆ เป็นการให้ค่าตัวเองเกินเบอร์

แต่เมื่อถึงเวลา ทุกพรรคไม่น่าจะกล้าหาญพอจะโหวตไปในทางประกาศการให้บทเรียนอย่างที่คิด

 

ในผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “จะได้อภิปรายแค่ไหน” ในคำถาม “ข้อมูลของฝ่ายค้านในการอภิปรายที่อาจนำไปสู่การล้มรัฐบาลได้” ร้อยละ 66.79 เชื่อว่าฝ่ายค้านจะมีข้อมูลสำคัญในการอภิปราย แต่ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้, ร้อยละ 19.31 เห็นว่าจะไม่มีข้อมูลสำคัญ และไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ มีเพียงร้อยละ 11.30 เท่านั้นที่เชื่อว่าจะมีข้อมูลสำคัญในการอภิปราย จนถึงขั้นล้มรัฐบาลได้ มีร้อยละ 2.60 ที่ไม่ตอบ

แม้กระแสตอบรับ “พรรคประชาชน” จะยังไปได้ดี แต่ความเชื่อว่าการเมืองจะสนองตอบกระแสจนถึงขั้นตัดสินใจไปตามฝ่ายค้านนั้น “เป็นไปไม่ได้”

ยิ่งไปกว่านั้น ในคำถาม “นักการเมืองที่ประชาชนสนใจจะฟังในการเปิดอภิปรายครั้งนี้” แทนที่จะอยากฟังว่า “ฝ่ายค้าน” พูดอะไร กลับกลายเป็นว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.99 อยากฟัง “นายกรัฐมนตรี-แพทองธาร ชินวัตร” ขณะที่ร้อยละ 34.35 อยากฟัง “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน”

ร้อยละ 11.83 อยากฟัง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเท่ากับคนที่ไม่ตอบ

 

ที่เห็นว่าน่าสนใจเพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นวาระของฝ่ายค้าน ในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งหากเป็นในอดีตที่ “ดาวสภา” เป็นโฟกัสหลักของการติดตาม “ขุนพลของฝ่ายค้าน” จะเหนือกว่าการเฝ้ารอฟังคนจากรัฐบาล

ดังนั้น เมื่อผลโพลออกมาว่าคนอยากฟัง “นายกรัฐมนตรี-แพทองธาร” มากกว่า จึงเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น

เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้คนอาจจะเรียนรู้ว่าประเทศชาติไม่มีทางเลือกอื่น ไม่มีทางที่ “พรรคประชาชน” จะได้รับอนุญาตให้เป็นรัฐบาล เมื่ออย่างดีที่สุดชีวิตต้องอยู่กับรัฐบาลภายใต้การนำของ “พรรคเพื่อไทย” การพยายามหาทางรับรู้ว่า “ผู้นำพรรคเพื่อไทย” จะทำอะไรให้กับประเทศชาติ และจะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตประชาชน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่ารอฟังการโจมตีของฝ่ายค้าน

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญของของ “แพทองธาร ชินวัตร” ที่จะพลิกเกมให้เกิดการยอมรับในฐานะ “ผู้นำ” ได้

และนั่นหมายถึง “การบ้านของทีมครีเอทีฟพรรคเพื่อไทย” แทนที่จะจ้องแต่จมอยู่กับการฝึกให้ “ส.ส.ของพรรค” เก่งกาจในบท “องครักษ์พิทักษ์นาย” มาเป็นการสร้างสรรค์ภาพ “แพทองธารที่เปี่ยมคุณสมบัติและภาวะผู้นำ”

หากทำได้ จะมองเห็นแสงสว่างของ “ทางออกการเมืองไทย”