ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
เหยี่ยวถลาลม
ไม่มีคำว่า ‘ก้มหัว’
ทั้งยังมองไม่เห็น ‘หัว’
ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส ตรวจสอบอะไรก็ไม่ได้-ไม่ใช่คุณลักษณะของสังคมเสรีประชาธิปไตย แต่บ่อยครั้งในสังคมไทยจะพบเห็นพฤติกกรรมแบบที่ว่านั้นกันได้ทั่วไปจนคล้ายจะเป็น “ระบบความคิด” ที่ฝังรากลึก
นักการเมืองก็เหมือนกัน ถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้ามีพฤติการณ์นิยมชมชอบการผูกขาดตัดตอน ใช้ตำแหน่งหน้าที่เป็นโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ได้มีสามัญสำนึกที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สาธารณะ จะว่าไปแล้วนั่นก็ไม่ใช่คุณลักษณะของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
การที่คนกับระบอบไม่ได้สอดคล้องไปด้วยกันแบบนี้บ่งชี้ถึง “ขั้น” การพัฒนาของสังคม
ระบบกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งระบบการเมืองควรจะเป็น “เครื่องกรอง” เอาคนที่ไม่ใช่ ออกจากระบบ
ระบบที่ต้องสะสางอย่างยิ่งคือระบบการเมืองกับระบบราชการไทย
คนที่เจริญแล้ว “คิด” กับคนที่ยังไม่เจริญ “คิด” ย่อมไม่เหมือนกัน
“ความไม่เหมือน” โดยปกติเป็นความปกติ
แต่ “ไม่ปกติ” ถ้าความต่างนั้นสร้างปัญหาจนเป็น “อุปสรรค” สำหรับการพัฒนา
คนเจริญกับคนที่ยังไม่เจริญที่ว่า ไม่ใช่เรื่องทางวัตถุ แต่เป็น “ความเจริญทางความคิด” อันหมายถึงคนที่มีความสามารถในการใช้เหตุผลและมีความเจริญทางวัฒนธรรม
“คนที่ยังไม่เจริญ” หรือนักการเมือง หรือข้าราชการ ทหาร ตำรวจ รวมทั้งผู้คนทั่วไปที่คิดและกระทำด้วยแรงขับจากข้างในที่อาจจะดูคล้ายเรียบง่าย ดิบ แต่มักง่าย เอาแต่ได้นั้นเป็น “อุปสรรค” การพัฒนา ต่างจาก “ความคิดที่เจริญแล้ว” ที่จะคิดไปอีกขั้น นั่นคือ มีความคิดสำนึกในถูกผิด มีความละอายต่อการกระทำผิดต่อ “สังคมส่วนรวม”
ดังนั้น ในหลายกรณี เพื่อรักษาความสงบสุขและความยุติธรรมในการอยู่ร่วมกัน ประโยชน์ส่วนตัวจึงต้องหลีกทางให้กับ “ประโยชน์ของส่วนรวม”
“เกียรติ” ของข้าราชการ ของนักการเมือง หรือของผู้นำหน่วยที่เจริญแล้วจึงเกิดจาก “ความสามารถ” เกิดจากการทำหน้าที่ในตำแหน่ง เกิดจากการเคารพกฎหมาย และการประพฤติที่ดีงาม มีความละอาย ไม่ทุจริต ไม่เบียดเบียน ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคม ต่างกับ “เกียรติ” ของคนที่ยังไม่เจริญที่มุ่งหมายแต่จะ “มีมาก” เช่น ขอแต่เพียงให้เงินมาก มีอำนาจมาก มีพวกมาก มีเครือข่ายทุจริตคอร์รัปชั่นกว้างขวางใหญ่โตก็คิดว่าตัวเองมีเกียรติมาก
ในสภาพสังคมที่ยังลูกผีลูกคน “ระบบกฎหมาย” กับ “กระบวนการยุติธรรม” ควรจะเป็น “เขตปลอดเชื้อ” ทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นที่พึ่ง ทำหน้าที่ “กรอง” เอาความบิดเบี้ยว ความไม่ถูกต้องตามกติกาจารีตและกฎหมายออกไปจากพื้นที่ต่างๆ ไม่ปล่อยให้ “ตัวแบบ” ที่เลวๆ ลอยหน้าลอยตามีเกียรติมีสถานะได้อวดโอ่อยู่ในสังคม
เมื่อมีเรื่องราวที่อันใดผิดปกติปรากฏ ควรต้องมี “คำตอบ” อย่างเปิดเผย โปร่งใส เข้าใจง่าย สังคมตรวจสอบได้โดยไม่ต้องดราม่าหรือชวนให้เกิดการตีความซับซ้อนซ่อนเร้น
ดังกรณีการใช้เงินประกันสังคมซื้อตึก 7 พันล้าน หรือกรณีการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำซากนั้น “ข้าราชการ” กับ “นักการเมือง” ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องควรประพฤติปฏิบัติได้ทันท่วงที
เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูก แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ
หากแต่บ่อยครั้งการจัดการที่ปลอดโปร่ง และเปิดเผย ไม่ปรากฏ
ที่ถนนพระราม 2 แม้โทนจะออกไปทาง “อุบัติเหตุ” แต่ 5 ปีมานี้ เกิดขึ้นแล้วกี่ครั้ง!?
เมื่อปี 2564 คนงานก็หล่นตุ้บลงมาจากคานยกระดับ-ตายสนิท
ปี 2565 เกิดเหตุตั้งหลายครั้ง เช่น แผ่นปูนหนัก 5 ตันของสะพานกลับรถที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมาทับรถยนต์ที่ผู้คนกำลังสัญจรอยู่ด้านล่าง
อีกครั้งเหล็กก่อสร้างมหึมาก็หล่นลงมาเฉียดคร่าชีวิตรถที่สัญจรด้านล่างไปหวุดหวิด
ช่วงปี 2566 เหตุแบบเดียวกันเป๊ะเกิดขึ้นอีกตั้งหลายครั้ง เช่น รถเครนของโครงการก่อสร้างทางยกระดับโค่นลงมา อีกไม่นานต่อมาเศษปูนก็ร่วงหล่นลงมาใส่รถยนต์ประชาชน
อีกครั้งก็มีแผ่นปูนหล่นลงมาทับทั้งรถยนต์หลายคัน มีคนตาย
ปลายปี 2567 ที่เพิ่งผ่านกันไปไม่นาน ทั้งคานปูน ทั้งเครนเหล็กที่กำลังก่อสร้างก็ถล่ม คนตายไป 6 บาดเจ็บนับสิบ
ทุกครั้งและทุกด้านควรเปิดเผยต่อสาธารณะ
เส้นทางถนนพระราม 2 สับสนอลหม่าน ชวนสยองด้วยสถิติอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วไม่น้อยกว่า 130 ชีวิต
ที่ผ่านมาเกิดเหตุครั้งหนึ่งก็จะเห็นรอยยิ้มบนใบหน้า “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกทีวี มาอธิบายความเรื่อยเปื่อยกันครั้งหนึ่ง แต่จับใจความหาสาระไม่ได้ว่า ทำไม หรือเหตุใดการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระรามที่ 2 จึงเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง
ทำไมรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่ หรือข้าราชการกระทรวงคมนาคมผู้มีหน้าที่ หรือตำรวจนครบาลผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานด้านต่างๆ จึงไม่มีท่วงท่ากล้าหาญที่จะพิทักษ์ปกป้องประโยชน์แห่งสาธารณะให้สุดจิตสุดใจ เช่น
หนึ่ง สอบสวนดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้รับเหมาอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา เพราะทุกครั้งที่มีคนเหตุ ทำให้คนเจ็บ มีคนตาย เกิดความเสียหายแก่ราชการและประชาชนผู้สัญจร
สอง บอกกับสาธารณชนให้ชัดว่า สาเหตุเกิดจากอะไร ใครคนไหนเกี่ยวข้องอย่างไร ใช้เครื่องมืออุปกรณ์อะไร ใช้วิธีทำแบบไหน มีใครละเลยอย่างไร มีใครเป็นผู้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น
และมีใครที่ต้องรับผิดชอบกับเหตุร้ายซ้ำซาก!
หรือไม่ต้องมี
เหตุเกิดขึ้นแล้ว มีตายก็จ่ายเงิน มีเจ็บก็รักษาพยาบาล
ระบบความคิดแบบรัฐราชการไทย ไม่รู้จักคำว่า “ก้มหัว” และมองไม่เห็น “หัว” ประชาชน!?!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022