Birth Tech ท้องแบบปลอดภัยและแจ่มใส

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Birth Tech

ท้องแบบปลอดภัยและแจ่มใส

 

คุณผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามกันบนโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ทราบว่าฉันกำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรก และอีกแค่ประมาณเดือนกว่าก็จะคลอดแล้ว

ดังนั้น หัวข้อที่ฉันไม่ค่อยได้พูดถึงในคอลัมน์สักเท่าไหร่ตลอดเวลาสิบกว่าปีที่เขียนบทความมาก็อาจจะกลายเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยขึ้นหลังจากนี้

อย่างเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับลูก การเลี้ยงลูก หรือแก็ดเจ็ตสำหรับแม่และเด็ก

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาฉันได้รู้ ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในชีวิตหลายอย่าง ตั้งแต่ได้รู้ข้อมูลการตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงเวลา การอัลตราซาวด์ การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ การใช้แอพพ์คอยเก็บข้อมูลอาการในระหว่างตั้งท้อง พัฒนาการของลูก นับจำนวนการดิ้น ไปจนถึงการเตรียมตัวเตรียมใจก่อนเข้าห้องคลอด

เป็นประสบการณ์ใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยคาดคิดว่าตัวเองจะได้เจอจริงๆ

 

หนึ่งในหมวดหมู่เทคโนโลยีที่ฉันน่าจะไม่เคยได้พูดถึงมาก่อนเลยก็คือ Birth Tech หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการท้องและคลอดบุตร ที่พอมาดูรายละเอียดกันจริงๆ แล้วก็พบว่ามีพัฒนาการขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

เทคโนโลยีเหล่านี้น่าจะสามารถช่วยทำให้คุณแม่โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่อย่างฉันมีประสบการณ์การตั้งครรภ์และการคลอดลูกที่ปลอดภัยและรื่นรมย์มากขึ้น

อย่างแรกสุดที่เป็นการใช้เทคโนโลยีช่วยดูแลการตั้งครรภ์แบบพื้นฐานที่แม่ๆ จำนวนมากได้ลองใช้มาก่อนฉันแล้วก็คือแอพพลิเคชั่นช่วยเก็บข้อมูลระหว่างการตั้งครรภ์ที่นับวันก็จะเก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ

เพียงแค่เราป้อนข้อมูลการตั้งครรภ์เข้าไป แอพพ์ก็จะคำนวณทุกอย่างมาให้เสร็จสรรพ เช่น ลูกในท้องเรากี่สัปดาห์แล้ว ตอนนี้มีขนาดตัวแค่ไหน เปรียบเทียบขนาดได้กับผักหรือผลไม้อะไร อาการในแต่ละวันที่เราน่าจะเจอมีอะไรบ้าง ลูกเราพัฒนาการไปถึงไหน มีอะไรที่ต้องระวังในแต่ละช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ และคอยส่งคำแจ้งเตือนถึงสิ่งที่เราต้องรู้ให้ทุกวัน

เมื่อข้อมูลทั้งหมดทุกปรับให้เข้ากับการตั้งครรภ์ของเราเองโดยเฉพาะก็ทำให้เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเราจริงๆ ทำให้รู้ว่าในแต่ละสัปดาห์เราต้องคอยสังเกตอะไรหรือคาดหวังอะไรได้บ้าง

 

เครื่องที่ใช้อัลตราซาวด์ดูลูกในท้องก็พัฒนาการไปเยอะเหมือนกัน แทนที่จะมีแต่เครื่องขนาดใหญ่ที่ใช้งานยากและเคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้ ทุกวันนี้ก็มีเครื่องขนาดเล็กแบบพกพาที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ตโฟนและสแกนดูได้แบบเรียลไทม์

มีแม้กระทั่งแบบที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สแกนเองแล้วส่งผลสแกนไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยอ่านค่าให้

ตัวฉันเองไม่ได้ใช้อัลตราซาวด์แบบนี้ แต่ก็คิดว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะสำหรับแพทย์ที่ต้องไปตรวจคนท้องที่อยู่ในพื้นที่ไกลโรงพยาบาล หรือสำหรับคุณแม่ที่รู้สึกถึงความผิดปกติและอยากส่งผลสแกนให้โรงพยาบาลช่วยตรวจเบื้องต้น

บรรดาเซ็นเซอร์ต่างๆ ก็มีพร้อมในการใช้ตรวจความเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหว ไปจนถึงคอยตรวจจับอาการต่างๆ ของแม่แล้วส่งข้อมูลเข้าไปยังแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์เพื่อให้แจ้งเตือนหากพบอาการที่ผิดปกติ

 

ยิ่งใกล้เวลาคลอดเท่าไหร่ฉันก็ยิ่งทั้งประหม่าและตื่นเต้นมากขึ้นเท่านั้น บางครั้งแค่คิดถึงห้องคลอดก็ใจหวิวๆ

พอได้มาเห็นว่ามีเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR ให้เราได้ลองซ้อมคลอดแบบเสมือนจริงก่อนก็รู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก ปกติแล้วก็จะมีคลาสให้คนท้องเข้าไปเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการคลอด ฝึกซ้อมหายใจ ซ้อมเบ่งบ้างอยู่แล้วแต่ถ้ามีการนำ VR เข้ามาใช้ช่วยจำลองสถานการณ์ด้วย ฉันคิดว่าก็น่าจะทำให้เราเข้าใจกระบวนการการคลอดได้ดีขึ้น คล้ายๆ กับการได้ฝึกซ้อมกีฬาก่อนลงแข่ง หรือได้ฝึกซ้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนล่วงหน้า พอต้องเจอเข้าจริงๆ จะได้ไม่ช็อกหน้างาน

เมื่อเริ่มรู้สึกเจ็บท้องก่อนคลอด ก็มีเทคโนโลยีช่วยลดความเจ็บปวดเบื้องต้น อย่างการส่งคลื่นไฟฟ้าเบาๆ ผ่านผิวหนังเพื่อให้ร่างกายช่วยจัดการความเจ็บปวดให้ตามธรรมชาติ

ห้องคลอดเองก็ได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัยทางเทคโนโลยีมากขึ้น อย่างเช่นที่ Sheba Medical Center ในอิสราเอลก็มีสิ่งที่เรียกว่าเป็นห้องคลอดแบบอัจฉริยะห้องแรกของประเทศ ในห้องติดตั้งมาพร้อมนวัตกรรมล้ำๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคลอดโดยเฉพาะ

เริ่มตั้งแต่การใช้ภาพและเสียงช่วยทำให้คุณแม่ที่กำลังจะคลอดรู้สึกผ่อนคลายความเครียดได้มากขึ้นโดยการใช้คอนเทนต์อย่างการช่วยฝึกนำหายใจ การทำสมาธิ หรือโยคะเตรียมคลอด

เชื่อมต่อสมาร์ตโฟนของแม่เข้ากับระบบสมาร์ตให้วิดีโอคอลได้บนจอใหญ่ๆ ดูคอนเทนต์ได้จากหลากหลายแพลตฟอร์ม ลดความเครียดก่อนคลอด

หรือในระหว่างคลอด คุณแม่ก็สามารถเลือกได้ว่าอยากได้ประสบการณ์การคลอดแบบไหน อยากเปิดวิดีโอ เสียง หรือแสงแบบธรรมชาติไปด้วย อยากคลอดอยู่ข้างๆ โลมา แสงเหนือ คลอดอยู่ในป่า คลอดอยู่กลางฝน ฯลฯ อะไรก็ได้ที่จอทีวีสามารถเสกสร้างขึ้นมาได้

ในกรณีที่การคลอดมีความซับซ้อนและทีมแพทย์ต้องการข้อมูลแบบตามเวลาจริง ทุกวันนี้ก็มีเทคโนโลยีที่จะคอยวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญๆ

พร้อมกับให้คำแนะนำว่าขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไร ให้ทีมแพทย์มีข้อมูลพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

เทคโนโลยี Birth Tech ก็จะยังมีความก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ ด้วยจุดประสงค์ของการช่วยให้ผู้หญิงมีประสบการณ์ด้านบวกกับการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยง ลดความเจ็บปวด ทำให้เราสามารถเอ็นจอยกับประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่าแบบนี้ได้มากขึ้น

และน่าจะช่วยให้รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่หลายๆ คนสามารถทำซ้ำได้แบบไม่ต้องขยาดกลัวอีกต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่อัตราการเกิดน้อยลงแบบนี้