ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ |
ผู้เขียน | หนุ่มเมืองจันท์ |
เผยแพร่ |
วันก่อน ผมได้ร่วมนั่งคุยกับ “ตูน” บอดี้สแลม และ “พี่ใหญ่” ณรงค์ ปรางค์เจริญ กับ “โจ้” และ “มิ้นท์” บนเวที HOW
เราคุยกันเรื่อง Bodyslam Power of the B side Concert ความฝันกับจักรวาล with the orchestra
คอนเสิร์ตเพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมัธยมปลาย
“ตูน” นั้นคงไม่ต้องแนะนำว่าเป็นใคร
แต่ “พี่ใหญ่” หรืออาจารย์ณรงค์นั้นคนไทยไม่ค่อยรู้จัก
เขาเป็นคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เป็นศิลปินระดับโลก ที่ประพันธ์เพลงออร์เคสตราจำนวนมากให้วงระดับโลกนำไปบรรเลง
คนที่ได้ดู Wednesday Song ครั้งที่ผ่านมาคงได้เห็นฝีมือวง TPPO ไปบรรเลงให้เพลย์ลิสต์ของ “พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล แล้วว่าสุดยอดแค่ไหน
“พี่ใหญ่” คนนี้ล่ะครับที่เป็นคนดูแลรายละเอียดทั้งหมด
เช่นเดียวกับคอนเสิร์ตครั้งนี้
ตอนที่ผมประชุมกับ “พี่ใหญ่” เขายังเอาเพลงที่เขาแต่งใหม่ที่ใช้ในคอนเสิร์ตของ “ตูน” มาเปิดให้ฟัง
ขอย้ำคำว่า “แต่งใหม่”
ฟังแล้ว “ว้าว” มาก
คอนเสิร์ตนี้ เพลงของ “บอดี้สแลม” ทั้งหมดยังเล่นเหมือนเดิม
วงบอดี้สแลมเคยเล่นอย่างไรก็เล่นแบบนั้น
คนดูร้องตามได้เหมือนเดิม
แต่วงออร์เคสตรา TPPO จะบรรเลงโน้ตใหม่เพิ่มเข้าไป
เพื่ออุ้มให้ “ตูน” และ “บอดี้สแลม” ไปอวกาศ
นี่คือ ศิลปะด้านดนตรีระดับสูงที่ “พี่ใหญ่” นำมาใช้กับคอนเสิร์ตนี้

ไม่แปลกใจเลยว่าเมื่อตอนแรกเริ่ม ทีมงานของ “บอดี้สแลม” คุยว่าจะให้ “พี่ใหญ่” ช่วยทำแค่ 10 เพลง
แต่พอ “กบ-ออฟ” บิ๊กแอส ที่ดูแลคอนเสิร์ตนี้ และวงบอดี้สแลมได้ฟังเพลงที่ “พี่ใหญ่” แต่งมา
จาก 10 เพลงก็งอกไปประมาณ 25 เพลงจาก 30 กว่าเพลงที่บรรเลงในคอนเสิร์ต
ทุกครั้งที่ประชุม เพลงที่ต้องทำเพิ่มจะงอกขึ้นมาทุกครั้ง
วิธีการที่ “กบ” บอกกับ “พี่ใหญ่” ก็คือ “ขอแค่ถูๆ ก็พอ”
ความหมายคือ เล่นเพิ่มนิดหน่อยก็ได้
แต่พอถึงมือ “พี่ใหญ่” ชื่อของเขาก็บอกอยู่แล้ว
เล็กๆ ไม่ ต้องเล่นใหญ่อย่างเดียว
“ใครที่ไปดูคอนเสิร์ตนี้ เพลงยาพิษจะขมขึ้นนิดนึง”
“พี่ใหญ่” เป็นศิลปินที่พูดถึงงานศิลปะได้งดงามมาก
อย่างเช่น ตอนที่พูดถึงเพลง “ชีวิตยังคงสวยงาม”
เขาชอบเพลงนี้มาก
“พี่ใหญ่” บอกว่าตัวโน้ตที่ “บอดี้สแลม” เล่นกับตัวโน้ตที่วง TPPO เป็นคนละตัวโน้ตกัน
แต่กลายเป็นเพลงที่ไพเราะได้
“เหมือนกับชีวิตของคนเรา แตกต่าง ขัดแย้ง แต่อยู่ร่วมกันได้”
“พี่ใหญ่” ใส่ “ความคิด” ของเขาลงในเพลงนี้ด้วย
เขาบอกว่าโหมดที่เลือกใช้ในเพลงจะค่อนข้างเบลอๆ
ไม่มีตอนเริ่มต้นและจบที่ชัดเจน
“เหมือนกับชีวิตของทุกคน คลุมเครือไม่ชัดเจน”
เป็นไงครับ
คำอธิบายเพลงของ “พี่ใหญ่”
ส่วน “ตูน” นั้น เขารอเวลาที่จะถึงวันเล่นคอนเสิร์ต
เพราะ “พี่ใหญ่” ได้ทำให้เขาได้ฟังตัวโน้ตบางตัวที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน
และเพลงที่เล่นจะไม่ใช่ B side อย่างเดียว
ชื่อคอนเสิร์ตทำให้คนคิดว่าจะได้ฟังแต่เพลงที่ “บอดี้สแลม” ไม่ค่อยได้เล่น
จริงๆ ก็คือ เพลงฮิตทุกเพลงของ “บอดี้สแลม” ทุกคนจะได้ฟังและโดดไปด้วยกัน
เพียงแต่เพิ่มเพลงที่หาฟังยากให้แฟนพันธุ์แท้ของ “บอดี้สแลม” ได้ฟังกัน
“ตูน” เป็นคนที่ชอบความท้าทายและแปลกใหม่
คอนเสิร์ตนี้จึงตอบสนองความรู้สึกของเขาในเรื่องนี้
แต่ที่เหนือกว่าทุกเรื่องที่เกี่ยวกับดนตรี นั่นคือ “เป้าหมาย” ของการหารายได้
รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะเข้าโครงการ “ทุนก้าวเพื่อน้อง”
เป็นทุนการศึกษาให้เด็กได้มีโอกาสเรียนต่อระดับมัธยมปลาย
หลายคนคงไม่รู้ว่ามีเด็กจำนวนมากหลายแสนคนต่อปีที่ไม่ได้เรียนต่อ ม.ปลาย
เพราะขาดเงิน
“ตูน” นั้นตั้งแต่เขาเริ่มต้นโครงการก้าวทีละก้าว หาทุนให้โรงพยาบาลบางสะพาน
และนำไปสู่การวิ่งครั้งประวัติศาสตร์จาก ‘เบตง-แม่สาย’ ( 2,215 ก.ม.) ครั้งนั้นได้เงินบริจาคกว่า 1,400 ล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ให้โรงพยาบาล
“ตูน” ได้ค้นพบ “ความหมาย” ของชีวิตในอีกมุมหนึ่ง
จากเดิมที่เขาตั้งคำถามกับชีวิตที่กลายเป็นวงล้อที่ซ้ำซาก
ออกอัลบั้ม-เดินสายเล่นคอนเสิร์ต-ทำเพลง
และวนกลับมาออกอัลบั้มอีกครั้งหนึ่ง
เขาได้พบแล้วว่า “ความหมาย” ของการมีชีวิตอยู่คืออะไร
“เราอาจจะไม่ได้ตั้งใจจะออกไปทำเพื่อคนอื่นในตอนแรก แต่เกิดจากคนอื่นมาถามเราว่าเราพอที่จะช่วยได้ไหม
เมื่อเราพอทำได้ก็ออกไปทำ คนมองว่าเราเป็นประโยชน์ก็ออกไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์”
การทำเพื่อคนอื่น ทำให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้น
“ความคิด” ของ “ตูน” เปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อมีครอบครัว
และ “ลูก”
ในมุมของความเป็น “คุณพ่อ” ทำให้เขารู้สึกกับโครงการหาทุนให้กับเด็กที่ขาดโอกาสในอีกมุมหนึ่ง
เดิมที่เขาคิดว่าการให้ทุนนั้นจะช่วยแต่งเติม “ความฝัน” ของเด็กให้เป็นจริง
สร้างโอกาสใหม่ให้กับชีวิตของเด็ก
แต่เมื่อมองในมุมของความเป็น “พ่อ” เขารู้ว่าทุนการศึกษาที่มอบให้เด็กนั้นยังช่วยทำให้พ่อแม่ไม่เกิด “บาดแผล” ในใจ
ลองนึกถึงว่าถ้าเราเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ของเด็ก เรารู้ว่าลูกเราเรียนไหว และอยากเรียน
แต่เราไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะส่งลูกให้ได้เรียน
พ่อแม่จะเจ็บปวดแค่ไหน
และความรู้สึกนี้คงเป็น “บาดแผลในใจ”
ที่ยากจะลบเลือน
ตอนนี้บัตรคอนเสิร์ตเปิดจำหน่ายแล้วครับ
จำนวนบัตรที่ขายได้เพียงพอกับต้นทุนที่ลงไป และมีกำไรเป็นทุนการศึกษาเด็ก
แต่ยังเหลือบัตรอีกจำนวนหนึ่ง
“ตูน” อยากขายให้หมด อยากได้เงินไปเป็นทุนการศึกษาเด็ก
ใครซื้อบัตรช่วงนี้ ทุกบาทจึงเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาส
มาร่วมทำบุญและฟังคอนเสิร์ต “บอดี้สแลม” จากศิลปินระดับโลกกันครับ
สำหรับผม นี่คือคอนเสิร์ตแห่งแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง
ไม่ใช่แค่เพื่อ “ความฝัน” ของเด็ก
แต่เรายังช่วยรักษา “บาดแผล” ในใจของพ่อแม่ด้วย •
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์
www.facebook.com/boycitychanFC
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022