มนุษย์อยากเป็นคนที่คู่ควรต่อการถูกรัก

นัยความเป็นคน | นิ้วกลม

 

มนุษย์อยากเป็นคนที่คู่ควรต่อการถูกรัก

 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พลูทาร์ก (Plutarch) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันบันทึกเหตุการณ์ของราชาพีรุสแห่งเอพีรุส (Pyrrhus of Epirus) ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในกรีกโบราณเอาไว้อย่างน่าคิด

พีรุสวางแผนโจมตีกรุงโรมกับที่ปรึกษาที่เขาไว้วางใจนาม-คีเนียส โดยที่ปรึกษาหนุ่มพยายามทัดทานความทะเยอทะยานของราชาพีรุสด้วยการตั้งคำถาม

“เป็นที่ร่ำลือกันว่าชาวโรมันเป็นนักรบฝีมือฉกาจ หากพวกเราชนะพวกเขาได้ เราควรจะใช้ชัยชนะของเราอย่างไร”

พระราชาตอบว่า เมื่อพิชิตโรมแล้วก็จะเป็นเจ้าครอบครองอิตาลีทั้งหมด คีเนียสถามต่อ-แล้วจากนั้นเล่า? เราก็จะบุกซิซิลีต่อไป จะยิ่งมั่งคั่งขึ้นอีก คีเนียสถามอีก-แล้วจากนั้นเล่า? ลิเบียกับคาร์เธจก็จะเป็นรายต่อไป คีเนียสถามอีก-แล้วจากนั้นเล่า? จากนั้นก็จะครอบครองกรีกทั้งหมด รวมทั้งเมดิเตอร์เรเนียน แล้วจากนั้นเราจะทำอะไรกันหรือ? คีเนียสถาม

“เราก็จะได้ใช้ชีวิตสบายๆ ร่ำสุราทั้งวัน และคุยกันแต่เรื่องที่มีความสุข”

“แล้วทำไมเราไม่เริ่มกันจากตรงนั้นล่ะท่าน”

ประโยคสุดท้ายคือประโยคในตำนานของคีเนียสที่ยังคงกระตุกจิตกระชากใจผู้คนในยุคปัจจุบันซึ่งห่างจากเหตุการณ์ที่ว่ามาสองพันกว่าปีแล้ว

 

บันทึกประวัติศาสตร์นี้สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ไม่เคยเปลี่ยน

ดูเหมือนมีบางสิ่งในตัวเราที่ต้องการแผ่ขยายออกไป ครองความยิ่งใหญ่ ครองอำนาจ ครองความนิยม และความต้องการนี้ไม่อาจยุติโดยง่าย เรายังอยากยิ่งใหญ่อีก มีอิทธิพลขึ้นอีก ดังขึ้นอีก ไม่ว่าผู้นั้นจะมีมากเพียงใดก็ตาม

ทว่า คำถามของคีเนียสชวนให้กลับมาทบทวนว่า เราต้องการอะไรกันแน่จากการแสวงหาความยิ่งใหญ่นั้น?

คำตอบแสนเรียบง่าย-ใช้ชีวิตสบาย ร่ำสุรากับมิตรสหาย ร่ายเรื่องอันเป็นสุข

นั่นเป็นสิ่งที่หลายคนสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรวยกว่านี้ เก่งกว่านี้ ใหญ่กว่านี้ ดังกว่านี้ สวยกว่านี้ หรือหล่อกว่านี้

เป็นไปได้ไหมว่า คำว่า ‘กว่า’ นั้นเพิ่งถูกหมกมุ่นอย่างหนักหน่วงในช่วงเวลาที่การผลิตแบบอุตสาหกรรมดำเนินไปพร้อมการตลาด โฆษณา และความพยายามขายสินค้าที่ผลิตได้มากและเร็วขึ้นเรื่อยๆ

แน่ล่ะ, มนุษย์เปรียบเทียบกันมาตั้งแต่โบราณกาล แต่ความรู้สึกเปรียบเทียบตนกับคนอื่นถูกขับเน้นมากขึ้นในโลกที่ทุกคนมีเสรีภาพที่จะบริโภคในระบบทุนนิยมที่หมุนไปด้วยความต้องการของทุกหน่วยสมาชิกในสังคม และยิ่งทบทวีหลายพันหมื่นดีกรีในยุคโซเชียลมีเดีย

สองสิ่งที่ปรากฏในยุคนี้คือ เราอยากมีและเราอยากดัง

ด้านหนึ่ง-มีข้าวของให้เห็นเต็มไปหมด อีกด้าน-มีช่องทางแห่งโอกาส

เปรียบไปก็เหมือนกษัตริย์พีรุสทอดตามองเห็นอาณาจักรมากมายที่ยั่วยวนให้ยึดครอง อีกทั้งข้าวของให้บุกไปฉวยคว้ามาเป็นของตน ยิ่งยึดได้มากก็ยิ่งเหนือกว่าคนที่เหลืออยู่

โดยลืมไปกว่า ทั้งเวลาและพลังงานที่ใช้ไปกับการ ‘บุกยึด’ นั้นเอง กินเวลาและโอกาสที่จะได้มานั่ง ‘เสพสุข’ ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายหลังยึดโลกได้ทั้งหมดแล้ว

แล้วเราบุกตะลุยไขว่คว้าสิ่งต่างๆ ทำไม?

 

เป็นไปได้ไหมว่า เราอยากมีอำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง ก็เพราะต้องการให้ตนเป็นที่รัก?

เราอยากเป็นคนสำคัญ?

เพราะคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนที่อยู่ในความสนใจ จะเรอจะจามก็มีคนหันไปสอดส่องจับจ้องและเป็นข่าว มนุษย์จำนวนไม่น้อยยอมสูญเสียอิสรภาพของตัวเอง (ความเป็นส่วนตัว) เพื่อแลกกับสามสิ่งนั้น เมื่ออยู่ในสถานะนั้นแล้ว ผู้คนจะคอยจับจ้องว่าคุณคิดอะไร เดินท่าไหน แต่งตัวยังไง หิ้วกระเป๋าอะไร คบหากับใคร ฯลฯ

มนุษย์ประเมินว่าสายตาที่จับจ้องมาคือ ‘ความรัก’

แต่นั่นคือการตีความที่ผิด

และเมื่อใครสักคนเสพติดการเป็นคนสำคัญ มันยากเหมือนกันที่เขาจะหวนคืนสู่การเป็นคนธรรมดา (ซึ่งเขาอาจนิยามว่านั่นคือการเสื่อมความนิยม) จึงต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อประคอง ‘ตัวตน’ นั้นไว้ เหมือนราชาพีรุสซึ่งถ้าได้ครอบครองอาณาจักรใหญ่แล้วต้องทุ่มสรรพกำลังเพื่อรักษาเอาไว้ให้ได้ (ซึ่งก็เสียเวลานั่งร่ำสุรากับเพื่อนฝูงอีก)

บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการประคับประคอง ‘อาณาจักร’ ที่ตัวเองครอบครอง ผมหมายถึงอำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง

ในสภาวะเสพติดหรือไม่อาจละวาง สามสิ่งนี้ดูจะเป็นคำสาปมากกว่าพร

อดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กล่าวถึงความปรารถนาของมนุษย์เอาไว้ในหนังสือ The Theory of Moral Sentiments ว่า

“Man naturally desires, not only to be loved, but to be lovely.”

“มนุษย์มีความปรารถนาโดยธรรมชาติ ไม่เพียงต้องการเป็นที่รัก แต่ต้องการเป็นคนที่คู่ควรต่อการถูกรัก”

ด้วยความคิดนี้ หากต้องการมีชีวิตอันเป็นสุข การเป็นที่รักซึ่งอาจได้มาจากการยอมรับในอำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง หรือความสามารถ ก็ยังไม่สามารถเติมเต็มความปรารถนาเบื้องลึกของมนุษย์ได้

แค่เป็นที่รักยังไม่พอ

เราจึงพบเห็นผู้ยิ่งใหญ่ คนดัง คนรวย คนเก่ง แต่ยังไม่พึงพอใจในตัวเอง เพราะลึกๆ เขาไม่รู้สึกว่าตัวเอง ‘คู่ควรต่อการถูกรัก’ ในหลายกรณี การมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเหล่านี้นี่เองได้ทำลายความรักที่ผู้คนมีต่อบุคคลนั้นไป เพราะมัวสนใจอำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง แล้วละเลยหัวใจของผู้คน

หากไม่ใช่อำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง แล้วมนุษย์ควรแสวงหาสิ่งใดเล่า?

อดัม สมิธ ตอบว่า เราควรแสวงหาปัญญาและความดี

ผู้ที่มีปัญญา (ซึ่งไม่ได้หมายถึงฉลาดหลักแหลม แต่หมายถึงผู้ที่เข้าใจสัจธรรมชีวิต จึงมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ไม่โลภ ไม่โมโหร้าย ไม่เอาเปรียบ) ย่อมเป็นที่รัก ย่อมถูกยกย่องว่าเป็นคน ‘น่ารัก’

ลึกลงไปกว่านั้น คนเหล่านี้รู้ตัวเองดีว่ามีคุณค่า เขารู้โดยหัวใจส่วนลึกว่าตนนั้น ‘คู่ควรต่อการถูกรัก’ ซึ่งหากใครสักคนรู้สึกเช่นนี้ คือตระหนักถึง ‘ความน่ารัก’ ของตน บุคคลนี้ย่อมมิต้องการคำสรรเสริญ ประจบประแจง พะเน้าพะนอจากผู้ที่หลงใน ‘ภาพมายา’ อีกต่อไป

แต่ถ้าเรายังไม่มีความพึงพอใจกับตัวเองเสียที และยังออกล่าอาณาบริเวณต่อไปเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะเรายังรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าเราไม่คู่ควรต่อการถูกรัก ซึ่งยิ่งกระเหี้ยนกระหือรือกับการไล่ล่ามากขึ้น เราก็จะยิ่งน่ารักน้อยลง

 

นี่อาจเป็นความเข้าใจสำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อนำพาให้ชีวิตไม่ผิดทิศผิดทาง

เราไม่ได้เกิดมาเพื่อพยายามทำตัวให้คนอื่นรัก ด้วยวิธีการสร้างสิ่งภายนอก ทว่า เราเกิดมาเพื่อพัฒนาตัวตนและคุณสมบัติภายในเพื่อค่อยๆ กลายเป็นคนที่ ‘คู่ควรต่อการถูกรัก’

เพราะชีวิตที่ดีไม่ได้เกิดจากการครอบครองอาณาจักร ทว่า เราต้องการวงล้อมเล็กๆ ที่อบอุ่น เข้าอกเข้าใจ ให้เวลากัน

สิ่งที่เราต้องการจากชีวิตคือคนที่มองเห็นคุณสมบัติแท้จริงของเรา ซึ่งไม่ต้องพิสูจน์ผ่านอำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง หรือความเก่งกาจ-สิ่งนั้นคือ ‘หัวใจที่น่ารัก’ ซึ่งคนอื่นสัมผัสได้จากเรา

กรุณา ช่วยเหลือ จริงใจ มีเวลาให้ รับฟัง

เหล่านี้คือบรรยากาศที่ราชาพีรุสตอบคีเนียสว่า เมื่อยึดดินแดนทั้งหมดแล้วอยากทำอะไร

ใช้เวลาคุณภาพกับคนที่เรารัก

ในเวลาเช่นนี้เราจะสัมผัสได้ถึงคุณสมบัติด้านลึกในตัวมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหามากที่สุด

เมื่อรู้สึกว่าเรา ‘คู่ควรต่อการถูกรัก’ เราก็ไม่ต้องการยึดดินแดนอะไรอีกแล้ว

*ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ How Adam Smith Can Change Your Life โดย Russ Roberts