ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี
รู้จัก ‘สหัสวัต คุ้มคง’
ส.ส. ‘ปีกแรงงาน-ตัวตึง’ จากชลบุรี
ผู้ผนึกกำลัง ‘ไอซ์ รักชนก’
ทะลุทะลวง ‘ระบบประกันสังคม’
คอข่าวการเมืองน่าจะเพิ่งได้ทำความรู้จักกับ “สหัสวัต คุ้มคง” ส.ส.หนุ่ม เขต 7 จังหวัดชลบุรี (อำเภอศรีราชา เฉพาะตำบลหนองขาม ตำบลเขาคันทรง ตำบลบ่อวิน และตำบลบึง) ซึ่งแสดงบทบาทตรวจสอบ-ไล่จี้การทำงานของ “สำนักงานประกันสังคม” ร่วมกับ “รักชนก ศรีนอก” เพื่อน ส.ส.กทม. จากพรรคประชาชน (ก้าวไกล) เช่นกัน อย่างถึงพริกถึงขิง
คำถามที่หลายคนสนใจใคร่จะรู้ต่อ ก็คือ สหัสวัตเป็นใคร? มาจากไหน? และมีพื้นเพ-แนวคิดทางการเมืองอย่างไร?
จากฐานข้อมูลตอนลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2566 เว็บไซต์พรรคก้าวไกลระบุว่า นักการเมืองหนุ่มผู้นี้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านกฎหมาย
โดยเขาได้โพสต์ปณิธานในการเข้ามาทำงานการเมืองเอาไว้ว่า
“เราได้ยินกันมาตลอดว่าถ้าขยันจะไม่ยากจน แต่ในความเป็นจริง แรงงานทุกระดับที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลับมีคุณภาพชีวิตแย่ลงทุกที
“โดยเฉพาะเมื่อผ่านวิกฤตโควิด-19 ที่การจัดการของรัฐล้มเหลว ในวิกฤตเจ็บป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา กักตัวขาดรายได้ สูญเสียชีวิต เสียคนที่รัก สูญเสียงาน หลังวิกฤตยังคงสิ้นหวัง ผจญข้าวของแพง ค่าแรงถูก ชั่วโมงทำงานยาวนาน แต่กลับต้องเป็นหนี้เป็นสิน นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
“ผมเกิดและโตในพื้นที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา เมืองแห่งนิคมอุตสาหกรรม ผมเข้าใจปัญหา และร่วมสู้กับพี่น้องแรงงานมาโดยตลอด
“วันนี้เมื่อพรรคก้าวไกลมีนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ผมอยากเป็นคนหนึ่งที่ผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริง รัฐจะต้องดูแลประชาชนตั้งแต่แรกเกิดไปจนตลอดชีวิต เพราะคนทุกคน ทุกวัย ล้วนเป็นพลังสร้างชาติ เป็นทรัพยากรที่มีค่า ไม่ใช่ภาระ
“ผมอยากเป็นตัวแทนของคนธรรมดา ของพี่น้องแรงงานทุกระดับ ไปเป็นปากเสียงในสภาผลักดันกฎหมาย รื้อโครงสร้างที่กดทับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้คนเท่ากัน ให้ประเทศไทยมีที่ยืนในสังคมโลกอย่างสง่างามเพราะคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน”
“สหัสวัต คุ้มคง” เคยให้สัมภาษณ์กับรายการ “The Politics” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ว่า ก่อนจะเข้ามาเป็น ส.ส. เขาเคยสวมหมวกการทำงานอยู่สามใบ
คือ หนึ่ง การรับภาระดูแลธุรกิจส่วนตัวของครอบครัว สอง การเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง และสาม การทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานหลายแห่ง
ส.ส.ชลบุรี เขต 7 เล่าว่า เขาตามคุณแม่ไปร่วมชุมนุมกับ “พี่น้องคนเสื้อแดง” ที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2552-2553 เนื่องจากมารดาถือเป็น “คนเสื้อแดงตัวยง”
ขณะเดียวกัน ด้วยความที่บริเวณบ้านเกิดเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงมี “สหภาพแรงงาน” ตั้งอยู่มากมาย จนเขาได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับ “พี่น้องแรงงาน” ละแวกบ้าน กระทั่งรู้สึก “อิน” กับประเด็นด้านสิทธิของผู้ใช้แรงงานในท้ายที่สุด
ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายในการทำงานการเมือง ณ ปัจจุบัน ของสหัสวัต จึงผูกติดอยู่กับการต่อสู้เพื่อพี่น้องแรงงานที่เขาคุ้นเคย
“ตอนนี้เป้าหมายผม ผมกำลังรื้อกฎหมายที่เกี่ยวกับโครงสร้างเรื่องแรงงานแทบจะทั้งหมด ผมอยากจะผลักดันเรื่องสิทธิแรงงานให้มันเกิดขึ้นในไทยจริงๆ ให้ได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนทำงานทุกคนมันดีกว่านี้ให้ได้ ผมคิดว่าแค่นี้ผมพอแล้ว”
น่าสนใจว่า สหัสวัตเป็นหนึ่งในนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ชอบ “อ่านหนังสือ” จนถึงขั้นวางวินัยให้ตนเองต้องอ่านหนังสือ (ที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ ส.ส.) ทุกวันก่อนเข้านอน
“อาชีพ ส.ส. มันเป็นอาชีพที่มี ‘ความรู้ร้อน’ คือความรู้ที่อ่านปุ๊บใช้เลย แต่มันจะไม่มีเวลาเติม ‘ความรู้เย็น’ คือความรู้สะสม แล้วผมเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ก่อนหน้าเป็น ส.ส. ผมก็อ่านหนังสือตลอด ก็กลายเป็นว่า ผมต้องวาง (กฎ) กับตัวเองว่า ก่อนนอน ต้องอ่านหนังสือ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่อง (งาน) ที่ทำอยู่
“บางทีก็ไปอ่านเศรษฐศาสตร์บ้าง ไปอ่านนู่นนี่นั่นมั่วซั่วไป ผมเป็นแฟนคลับอาจารย์สุจิตต์ (วงษ์เทศ) นิตยสารศิลปวัฒนธรรมก็สมัคร (สมาชิก) รายเดือน
“ผมคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ เพราะมันส่งผลถึงปัจจุบัน จริงๆ เรื่องประวัติศาสตร์แรงงานก็สนุก ถึงจะมีเล่าน้อย”
เมื่อถามต่อว่า เขามีใครเป็นนักการเมืองในดวงใจ? ส.ส.หนุ่มจากศรีราชาก็ยังคงเลือกตอบคำถามนี้ในมิติด้านประวัติศาสตร์การเมือง
“ผมไม่มีโรลโมเดล (ต้นแบบ) แต่ผม (ได้รับอิทธิพล) จากคนนั้นคนนี้อย่างละนิดอย่างละหน่อย
“ถ้าเป็นนักการเมืองไทยต้องย้อนกลับไปไกลเหมือนกัน ถ้าได้กลับไปอ่านคำอภิปราย (ในสภา) อย่าง ‘สหายคำตัน’ (พ.ท.พโยม จุลานนท์ อดีต ส.ส.เพชรบุรี อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และบิดาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ก็ตัวแรง หรือยุคก่อนหน้านั้น ก็ ‘เตียง ศิริขันธ์’
“ถ้ารุ่นใกล้หน่อย ผมรู้สึกว่าคนที่จับประเด็นเก่งๆ จริงๆ ผมเคยชอบ ‘คุณภูมิธรรม เวชยชัย’ หรือว่าจริงๆ ‘อาจารย์ปรีดี (พนมยงค์)’ ก็เป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพลกับนักการเมืองปัจจุบันหลายๆ คน”
ในมุมมองของ ส.ส.ที่ชอบอ่านประวัติศาสตร์ สหัสวัตพูดถึง “ประเด็นร้อน” ว่าด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี/รัฐบาล โดยพ่วงข้อห้ามไม่ให้ “พาดพิงคนนอกสภา” ไว้อย่างชวนขบคิด
“ผมอาจจะไม่แม่นเรื่องข้อบังคับสภา แต่ผมเป็นคนชอบอ่านบันทึกการประชุมสภามากๆ เวลาอยู่ในห้องสมุดของที่สภา ผมก็ไล่อ่านตั้งแต่การประชุมสภาครั้งแรก
“จริงๆ สภาสมัยก่อนของเราอภิปรายกัน ‘โหดมาก’ นะ โหดมากๆ ขุดคนนอก ขุดพ่อแม่ ส.ส. พ่อแม่รัฐมนตรีกันมาอภิปราย มันโหดกว่านี้มากๆ เลย
“ผมเลยงงว่า จริงๆ เวลาผ่านมา ประชาธิปไตยมันควรจะเบ่งบานขึ้น ไม่ใช่ถดถอยลง ผมคิดแบบคนไม่มีความรู้เลยนะ มันควรจะเบ่งบานขึ้น ไม่ใช่ตีกรอบให้มันแคบลง สมัยก่อน 2475, 2490, 2500 นี่โอ้โห! บางอย่างพูดไม่ได้ด้วยซ้ำในสมัยนี้”
ท้ายสุด “สหัสวัต คุ้มคง” ยังโฆษณาว่า บทบาทการตรวจสอบนอกสภาที่เขาทำร่วมกับ “ส.ส.รักชนก ศรีนอก” ในเวลานี้ เป็นเพียงแค่ “หนังตัวอย่าง” เรียกน้ำย่อยของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งกำลังจะเดินทางมาถึงเท่านั้น
“สิ่งที่ผมกับไอซ์พูดในช่วงนี้ จริงๆ ผมกล้าพูดว่ามันเป็นเพียงแค่ทีเซอร์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน อภิปรายไม่ไว้วางใจมีพีกกว่านี้อีก”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022