ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
คำ ผกา
รู้ว่าพูดไม่เก่งแต่สื่อสารบ้าง
ประเด็นเรื่องการส่งผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนทำให้เห็นสเปกตรัมของจุดยืนทางการเมืองในประเทศในแบบที่น่าสนใจซึ่งฉันจะลองจำแนกกลุ่มอย่างหยาบๆ ดูก่อน
คนไทยส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลทำถูกแล้ว ทำไมต้องขังคนเหล่านี้ไว้ในประเทศไทยถึง 11 ปี และมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาที่ไทยต้องมารับภาระ
สื่อมวลชนไทยร้อยละ 99.9 ปกติอวยจีน ชื่นชมจีน แต่ตอนนี้เกลียดรัฐบาลเพื่อไทย เลือกหยิบประเด็นที่ว่ารัฐบาลไทยใจไม้ไส้ระกำ ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (แต่สมัยก่อนสื่อเหล่านี้สนับสนุนรัฐประหาร เชียร์ให้ฆ่าเสื้อแดง) และตีฟูว่า รัฐบาลแพทองธารทำประเทศตกต่ำ ถูกอเมริกา และอียูคว่ำบาตร ขายหน้าที่สุด รัฐบาล “ลุงตู่” ยังไม่แย่ขนาดนี้
แต่สื่อเหล่านี้ก็ไม่พูดถึง “ประเทศจีน” หรือ “รัฐบาลจีน” เลย พูดแค่ว่าการต่างประเทศของรัฐบาลแพทองธารอ่อนด้อย ไร้ความสามารถ ซึ่งอาจจะไม่ผิดแต่ก็พูดไม่หมดอยู่ดี
พรรคประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคประชาชน มองว่านี่คือโอกาสทองในการโจมตีรัฐบาล จึงออกมาขยายผลเรื่อง “ความโง่” ของรัฐบาลไทยที่ไปยอมเป็นลูกไล่จีน
ผลักประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกอเมริกาขึ้นภาษี อียูจะไม่ค้าขายกับเรา
รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนำพาประเทศไปสู่จุดเดียวกับพม่า กัมพูชา ลาว เป็นที่ขายหน้าของประชาคมโลก Freedom house ลดอันดับประเทศไทยไปเป็นประเทศสีม่วงคือมีสภาพใกล้เคียงกับประเทศแบบเบลารุส พม่า ที่ประชาธิปไตยล้มเหลว
นักวิชาการนั้นแบ่งออกมาเป็นสามกลุ่ม
กลุ่มแรกคือ นักวิชาการที่รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจากแหล่งทุนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้แต่นิยามตัวเองว่าเป็นนักวิชาการหัวก้าวหน้า “เงียบกริบ”
นักวิชาการ “หัวก้าวหน้า” ที่มีจ๊อบเสริมเป็นการทำทัวร์ไปเที่ยวเมืองจีน (ในนามของทริปประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม) เงียบกริบ
นักวิชาการที่ทำเรื่องจีนโดยตรงอย่าง วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ออกมาอธิบายว่า อันดับแรก เรามีความเข้าใจตรงกันแค่ไหนต่อ “ความจริง” ของประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัย? และจุดยืนของรัฐไทยต่อเรื่องนี้คืออะไรในตลอดระยะเวลาของความสัมพันธ์ 50 ปีระหว่างจีนกับไทย ดังนั้น การตัดสินใจเช่นนี้ก็จะไม่เรื่องเหนือความคาดหมาย
เพียงแต่เรื่องที่ต้องติดตามต่อไปคือรัฐบาลชุดนี้จะมีความสามารถในการบาลานซ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน และไทยกับอเมริกาอย่างไร จะสามารถใช้เรื่องการส่งอุยกูร์กลับจีนอย่าง “จำใจ” ไปเป็นเงื่อนไขเจรจากับอเมริกาในการ decouple กับจีนได้หรือไม่?
ซึ่งความกังวลของวาสนา วงศ์สุรวัฒน์ คือ รัฐบาลของแพทองธารมีแนวโน้มจะเอียงข้างจีนมากไป
และในท่ามกลางทางเลือกที่ไม่มาก วาสนาก็ตำหนิ “สื่อไทย” ที่แยกไม่ออกระหว่าง visa restriction กับการ คว่ำบาตร และมองว่า บรรยากาศของบทสนทนาที่ผลักให้รัฐบาลเพื่อไทยต้องไปแสวงหาพันธมิตรจากฝ่ายขวาจัดในประเทศเพื่อหา “พวก”
เพราะในภาวะนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทยต้องการ “ความชอบธรรม” ต่อการตัดสินใจของตนเองมากเสียจนผลักตัวเองไปอยู่ในจุดยืนทางอุดมการณ์ที่ขวาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพประชาธิปไตยในประเทศของเราในระยะยาว
สนุกกว่านั้นคู่กรณีนัมเบอร์วันของพรรคเพื่อไทยอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาเล่นในหลายบท เช่น ออกมาชื่นชม รักชนก ศรีนอก ว่ามาถูกทางแล้วเรื่องตรวจสอบประกันสังคม อย่าไปยุ่งกับเรื่องสถาบันอีก แบบนี้แหละจะเป็นนักการเมืองที่มีอนาคต
หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันก็ประกาศจะไปเมืองซินเจียง โดยอ้างว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นสื่อรายเดียวที่ส่งทีมไปทำข่าวที่ซินเจียง ดังนั้น จึงรู้เรื่องนี้ดีที่สุด และว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์เป็นโฆษณาชวนเชื่อของสื่อตะวันตก
ขณะเดียวกันกลุ่ม “นางแบก” หรือผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสนับสนุนพรรค และรัฐบาลอย่างไม่มีเงื่อนไขเกิด sentiment หรืออารมณ์ร่วมว่า “รัฐบาลน่าสงสาร รัฐบาลโดนใส่ร้าย รัฐบาลโดนโจมตีอย่างไม่เป็นธรรม สื่อทั้งหลายล้วนแต่เอาใจช่วยพรรคส้ม หรืออีกทีก็เป็นสื่อของสลิ่มเฟสหนึ่งไปเลย”
ด้วยความรู้สึกนี้ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีข้อเท็จจริงรองรับอยู่ และปฏิเสธไม่ได้ว่าคนกลุ่มนี้มี “บาดแผล” ที่รัฐบาลที่เขาเลือก ทั้งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกโจมตีจากสื่อ ชนชั้นกลาง นักวิชาการ จนไปสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร คนกลุ่มนี้จึงมีภาวะต้องการปกป้องรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยมากกว่าที่มันควรจะเป็น
ซึ่งลักษณะปกป้องรัฐบาลมากๆ แบบนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างแปลก ถามว่าผิดไหม? ไม่ผิด แต่ข้อที่ควรต้องระวังมากๆ คือ ต้องไม่ปกป้องจนเราต้องออกจากหลักการที่ถูกต้อง
ดังที่ฉันเขียนไว้ว่า หากเรารักพรรคเพื่อไทยจริงๆ เราต้องไม่ “สปอยล์” พรรคไปในทางที่จะสูญเสียหลักการของพรรคการเมืองที่มีจุดยืน “เสรีนิยม” พรรคเพื่อไทยจะมีอนาคตในโลกแห่งอนาคตก็ด้วยจุดยืนเสรีนิยม บนนโยบายหาเสียงของพรรคในเรื่องสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ เรื่อง Global citizen ที่เกี่ยวพันกับ soft power นโยบายการรับแรงงานคนต่างชาติที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น การขยายสวัสดิการไปครอบคลุมแรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ
ไม่ใช่อนุรักษนิยมขวาจัดชาตินิยม
แต่กรณีอุยกูร์น่ากังวลใจว่า “นางแบก” และกองเชียร์พรรคเพื่อไทย ทำท่าจะซื้อ “วาทกรรม” เรื่อง “อย่าไปให้ค่าสื่อตะวันตก” ตาม สนธิ ลิ้มทองกุล
ซึ่งฉันคิดว่า นี่ไม่ใช่หนทางแห่งการเป็นอารยะในแบบที่เราหวังจะให้พรรคการเมืองที่เราเลือกพาเราไปให้ถึง
ในขณะที่พรรคประชาชน มวลชนของพวกเขา และสลิ่มเฟสหนึ่ง โจทย์เก่าของทักษิณ กำลังถักทอ “เรื่องเล่า” อย่างเป็นระบบว่า พรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์ข้ามขั้วไปร่วมหัวจมท้ายกับเผด็จการ ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ของชนชั้นนำรักษา “ระบอบเก่า” ภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย ขายวิญญาณ ทรยศประชาชน ทำสัญญากับปีศาจเพียงเพื่อพาทักษิณกลับบ้าน
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงไม่ใช่พรรคประชาธิปไตยอีกต่อไป
พรรคเพื่อไทยไม่แตกต่างจากประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อไทยยังปฏิบัติกับทักษิณดุจนายเหนือหัว ห้ามพูดถึง ห้ามวิจารณ์
ส่วนแพทองธาร ชินวัตร ก็เป็นเพียง “นายน้อย” หุ่นเชิดของบิดาเท่านั้น และตอนนี้ผลงานของรัฐบาลเพื่อไทยก็เละตุ้มเป๊ะไม่เป็นท่า
เรื่องเหล่านี้กำลังทำงานของมันอย่างเข้มข้นและกำลังไปถึงจุดพีกของพล็อตในจังหวะที่หุ้นตก อียูประณามไทย อเมริกามีมาตรการลงโทษไทย
และในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งฉันเขียนบทล่วงหน้าไว้ให้ได้เลยว่า พล็อตที่ว่านี้จะถูกขยี้ให้เข้มข้นและถูกสถาปนาอย่างเป็นทางการกลายเป็นชุดของข้อมูลที่ถูกตีพิมพ์ผ่านสื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าภายใต้โวหารเชิงวรรณกรรมเมโลดราม่าที่ถูกจริตถูกปากผู้บริโภค
เช่น การสร้างการเปรียบเทียบที่ตรรกะวิบัติ เช่น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับเชิญไปบรรยายที่ฮาร์วาร์ด แต่แพทองธารถูกแบนไม่ให้เข้าอเมริกา”
โวหารแบบนี้จะเสพง่าย ย่อยง่าย ไม่ต่างอะไรจากสุภาษิต คำคมที่คนไทยคุ้นเคยมาแต่เล็กแต่น้อย
เราจึงไม่สามารถตรวจสอบความวิบัติทางตรรกะได้ เช่น แพทองธารไม่ได้ถูกแบน และการที่พิธาไปอเมริกาก็เพราะไปหาอะไรทำหลังจากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไง
ท่ามกลางความอลหม่านของสเปกตรัมทางการเมืองนี้ รัฐบาลกลับดูเหมือนไม่มีกลยุทธ์การสื่อสารที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศเลย
วิกฤตการต่างประเทศในทุกเรื่องที่ผ่านมาชัดเจนว่าตัวละครที่หายไปคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มันถูกต้องที่การส่งชาวอุยกูร์กลับจีนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ ดูแล ติดตามผลของ รมต.กลาโหม และยุติธรรม
แล้วเราก็เห็นว่าสองท่านนี้ทำงานอย่างหนัก (จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
แต่พอมาเรื่องอียู กับอเมริกา ฉันคิดว่าเราเห็นบทบาทของ รมต.กระทรวงการต่างประเทศน้อยเกินไป จนลืมไปแล้วว่าเรามี รมต.อยู่
แน่นอนฉันไม่ได้เรียกร้องให้ รมต.ออกมาวิ่งชนใคร ไม่ได้ให้ออกมาทะเลาะกับมหาอำนาจที่ไหน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัว รมต.มีหน้าที่ “สร้างความเชื่อมั่น” มีหน้าที่ในการอธิบาย หรืออย่างน้อยมีหน้าที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า “ผมในฐานะที่ดูแลเรื่องนี้ ผมอยู่ตรงนี้ พร้อมแก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังรุมเร้าเข้ามา”
และฉันยังยืนยันว่า ต่อให้มีคนเกลียดรัฐบาลมากแค่ไหน หรือต่อให้คนมีคนอคติต่อรัฐบาลแค่ไหน รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องอย่าลืมว่ามีคน “กลางๆ” ที่ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าการปรากฏตัวให้เห็นให้รู้ว่าทำงานอยู่ พยายามอยู่ กำลังกอบกู้ประเทศโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งอยู่นะ
“มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”
ประชาชนอย่างฉันก็อยากจะบอกว่า “เออ รู้แล้วว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”
แต่ละเอียดอ่อนยังไงก็ต้องออกมาสื่อสาร ออกมาทำความเข้าใจกับประชาชน ออกมาเปิดห้อง ทำเสวนาโต๊ะกลม คุยกับสื่อ คุยกับนักวิชาการ คุยกับ ngos ด้านสิทธิมนุษยชน คุยกับนักธุรกิจ
ในตอนสุดท้ายรัฐบาลจะตัดสินใจยังไงเป็นอีกเรื่อง แต่การแสดงออกซึ่งการ acknowlwedge ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เช่นกัน
เพราะอย่างน้อยสังคมก็จะได้เห็นว่า เออ รัฐบาลพยายามทำอะไรบางอย่างอยู่ รัฐบาลมีข้อจำกัดเรื่องอะไรบ้าง
แต่ปรากฏว่า มีแต่แถลงการของผู้ช่วยรัฐมนตรี อดีตทูตรัศมิ์ ชาลีจันทร์ ที่ไม่ได้สร้างน้ำหนักอะไรสักเท่าไหร่ แถมยังดูเป็นความพยายามแก้ตัวให้รัฐบาลในเรื่องที่แก้ตัวไม่ขึ้น
ฉันไม่เถียงว่า เรื่องจีน อเมริกา อียู มันเป็นเรื่องช้างสารชนกัน หญ้าแพรกอย่างเราก็แหลกลาญ แต่กระทรวงการต่างประเทศควรออกมาเปิดอกเปิดใจสื่อสารกับประชาชนว่า
หนึ่ง สถานะของประเทศไทยบนเวทีโลกตอนนี้เป็นอย่างไร
สอง เรื่องทีมไทยแลนด์สมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว
สาม จุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนของเราเป็นอย่างไร และเผชิญกับข้อจำกัดเรื่องอะไรบ้างภายใต้ระเบียบโลกใหม่นี้
สี่ ระเบียบโลกใหม่ตอนนี้เป็นอย่างไร เราอยู่ตรงไหนในระเบียบใหม่นี้ มีจุดอ่อน จุดแข็งอะไร
ห้า เรามีบทบาทไปช่วยเหลือเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไหนบ้าง มีบทบาทในการสร้างสันติภาพที่ไหนบ้าง จะได้เอามาหักล้างกับเรื่องที่โดยประณาม
หก เราเตรียมเจรจากับอเมริกายังไง บอกเท่าที่บอกได้ อะไรเป็นความลับก็ไม่ต้องบอก แต่ต้องออกมาบอกว่ากำลังจะทำอะไร
เจ็ด เรื่องอียู เราจะไปต่อยังไง มีเรื่องต้องกังวลอะไรบ้าง และอะไรที่ไม่น่ากังวล
แปด เรื่อง OECD ไปถึงไหนแล้ว
เก้า เรื่อง strong passport ของเรา มีแผนจะทำอะไรต่อเพื่อบรรลุผล ติดปัญหาอะไรบ้าง
สิบ เรื่องเราถูกจัดเป็นประเทศสีม่วง เราต้องทำอะไร เพื่อให้ลำดับตรงนี้ดีขึ้น หรือมันไม่มีทางดีกว่านี้ เพราะหลายๆ เรื่องไม่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล เป็นเรื่ององค์กรอิสระ แต่การที่รัฐธรรมนูญเราเป็นแบบนี้ อำนาจองค์กรอิสระเป็นแบบนี้ ก็ส่งผลให้ลำดับเราแย่ลง อยากดีขึ้นก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ
อะไรแบบนี้ ฉันคิดว่า กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทยสามารถสื่อสารกับสังคมได้
สามารถมีวงสนทนาโต๊ะกลม วงเล็ก วงใหญ่ กับสื่อ กับนักวิชาการ กับนักกิจกรรมทางการเมืองได้
คุยแล้วเขาจะรักจะเกลียด จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ดีกว่าไม่คุย ไม่หือไม่อืออะไรเลยอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้
หรือจะทำเป็นไม่พูดเรื่องนี้ เลี่ยงไปพูดอีกประเด็น เช่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยว หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้า นำเข้า ส่งออกของไทยกับยุโรป เพื่อให้เห็นภาพว่าประเด็นอุยกูร์เราโดนประณามก็จริงแต่กลับไม่กระทบการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว ชาวบ้านร้านช่องยังใช้ชีวิตตามปกติ กะปิ ปลาร้า ข้าวหอมมะลิก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรปอยู่
ที่ญี่ปุ่น อเมริกามาประกาศเตือนเรื่องก่อการร้าย เราก็พยายามดูแลจนทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่น ฯลฯ
ฉันคาดหวังจริงๆ ว่าทีมงานสื่อสารของรัฐบาลจะทำงานสื่อสารด้วย passion ที่มากกว่านี้
และฉันต้องย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลมีวิกฤตของการสื่อสารอย่างยิ่ง การสื่อสารของรัฐบาลตอนนี้เป็นการสื่อสารเหมือนแค่แจ้งให้ทราบ แต่ไม่ engage เลย สิ่งนี้ยิ่งสร้างช่องว่าง ความห่างเหิน และยิ่งเป็นโอกาสของข่าวปลอม และยิ่งคนเชื่อข่าวปลอมมากเท่าไหร่ การทำงานหนักของรัฐบาลก็จะสูญเปล่ามากเท่านั้น
รัฐบาลมีข้อจำกัดห้าร้อยอย่างในการทำงาน ทำให้เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ไม่บรรลุผล ไม่เป็นไร
แต่รัฐบาลต้องอธิบาย และต้องอธิบายอย่างจริงใจ ความล้มเหลวไม่ใช่อาชญากรรม และเป็นเรื่องปกติธรรมดาด้วยซ้ำ
แต่การทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ จะสร้างความคลางแคลงใจ และไม่มีอะไรจะบั่นทอนคะแนนนิยมของรัฐบาลได้เท่ากับการที่ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่น
ความสำเร็จเล็กๆ มีอะไรบ้าง ก็ควรเอามาสื่อสาร เอามาบอกเล่า และบอกตรงๆ ว่า ณ วันนี้ทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ สำเร็จไปแล้วกี่เรื่องบ้าง
ผลงานของรัฐมนตรีที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ใครทำงานดีก็ควรให้หน้าให้ตาเขาเยอะๆ
ใครห่วยก็ต้องเอาวางบนโต๊ะ ทวงถามงาน ทวงถามความเปลี่ยนแปลงกันบ้าง
เรื่องประกันสังคมแม้จะไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลโดยตรง แต่จะไม่พูดถึงเลยก็ดูแปลกไปหน่อย
และหากจะเล่นเกมการเมืองก็อาจจะส่งบทชมไปเลยว่า ชื่นชมการทำงานของฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ ดีกว่าพยายามใส่ชื่อทักษิณในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ อะไรก็ว่าไป
หรือหากมีการตีกิน ใส่สีตีไข่ในข้อมูลที่เกินกว่าเหตุก็ต้องออกมาอธิบาย เพราะไม่เช่นนั้นก็จะโดน “ตีกิน” ไปเรื่อยๆ
งานสื่อสารของรัฐบาล ไม่ใช่งานสื่อสารของพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้น ต้องแยกให้ออกมาว่า ณ วันนี้ เป็นพรรคร่วมหลายพรรค
จำเป็นต้องบูรณาการงานสื่อสารของทุกพรรคร่วมเข้าด้วยกันและทำให้ออกมาเป็นภาพที่เป็นผลงานของรัฐบาล โดยไม่เกี่ยงงอนพรรคฉันหรือพรรคเธอ
สิ่งที่ประชาชนอยากฟัง อยากรู้ ควรแบ่งบทบาทกันออกมาสื่อสารเลย เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องงานด้านสังคม คุณภาพชีวิต สาธารณสุข การศึกษา อว. เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องคมนาคม เรื่องเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ เรื่องท่องเที่ยว ซอฟต์เพาเวอร์ จะออกมาอัพเดตเดือนละครั้ง เดือนละสองครั้งก็ทำให้มีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง
ย้ำ ประชาชน โดยเฉพาะกองเชียร์ไม่ได้คาดหวังจะฟังแต่ความสำเร็จ แต่คาดหวังจะอัพเดตสถานการณ์ เมื่อพวกเขาได้รับการอัพเดตสถานการณ์ ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลที่เป็นทางการ เฟกนิวส์จากฝ่ายโจมตีก็จะทำงานยากขึ้น
หากเกิดความล้มเหลว หากเกิดความผิดพลาด ก็ขอให้อัพเดตเรื่องนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมา
มาเถอะ มานั่งเล่าให้เราฟังว่า ปัญหาอะไรที่ซุกไว้ใต้พรม แล้วเราเปิดไปเจอ อะไรที่เราต้องตามล้างตามเช็ด ไม่ได้เล่าเพื่อโยนบาปให้ใคร หรือปัดความรับผิดชอบ
แต่เล่าเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูล แล้วก็บอกเขาไปตรงๆ ว่า กำลังพยายามจะทำอะไร
นี่เป็นเสียงจากคนที่เอาใจช่วย จากคนที่เชียร์รัฐบาล เพราะเราอยากเห็นรัฐบาลพลเรือนอยู่รอด 4 ปี สง่างามตัดริบบิ้นนำพาประเทศไปสู่สังคมประชาธิปไตย
เพราะหากรัฐบาลพลเรือนอยู่ครบ 4 ปี นี่จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในรอบ 20 ปี
มากกว่าความสำเร็จของรัฐบาล มากกว่าคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย ฉันขอให้รัฐบาลผสมชุดนี้ช่วยสาธิตให้คนไทยเห็นว่าคนไทยและประชาธิปไตย การเลือกตั้ง รัฐบาลพลเรือน ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมของกันละกัน
ช่วยสื่อสารกับเราให้มากกว่านี้อีกนิดเถอะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022