ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ระบบการนับนักษัตรประจำปี อย่างที่ประกอบไปด้วย ปีชวด (หนู), ฉลู (วัว), ขาล (เสือ), เถาะ (กระต่าย), มะโรง (มังกร หรืองูใหญ่), มะเส็ง (งูเล็ก-เมื่อเทียบกับมังกร), มะเมีย (ม้า), มะแม (แพะ), วอก (ลิง), ระกา (ไก่), จอ (สุนัข) และกุน (หมู) รวมเบ็ดเสร็จ 12 ราศีนั้น มีหลักฐานว่าใช้กันอยู่ในหลากวัฒนธรรม และหลายชาติ
แต่ที่มีเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่เก่าแก่ที่สุดนั้น เพราะปรากฏเป็นทั้งตำรา และลวดลายประดับตกแต่งต่างๆ ก็คือ วัฒนธรรมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างวัฒนธรรมจีน
แถมในวัฒนธรรมจีนนั้น ก็มีตำนานเรื่องกำเนิดของนักษัตรทั้ง 12 นี้อยู่มากมาย แต่ที่ถูกเล่ากันอย่างแพร่หลายที่สุดตำนานหนึ่งนั้นมีเรื่องเล่าอยู่ว่า ปราชญ์ท่านหนึ่งในราชสำนักของจักรพรรดิเหลือง หรือหวงตี้ ผู้เป็นกษัตริย์ในตำนาน ควบตำแหน่งวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของจีนนั้น เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับการนับ และลำดับเวลา
แต่บางทีก็ว่า หวงตี้ เองนั่นแหละที่เป็นผู้ประดิษฐ์ระบบ 12 นักษัตรนี้ขึ้นมา โดยพระองค์ได้นำเอาระบบ 12 นี้มาใช้เมื่อมีพระชนมายุ 60 พรรษา ปฏิทินได้รับการปรับเทียบตามวันเกิดของหวงตี้ และเริ่มใช้ในเมื่อ 2,697 ก่อนคริสตศักราช
ในตำนานเรื่องนี้ยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า ที่นับปีชวดเป็นปีแรกสุดของลำดับนักษัตรนี้ก็เพราะว่า เป็นปีที่จักรพรรดิเหลืองประสูติ จึงตั้งไว้เป็นลำดับแรก นัยว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม ตำนานดังกล่าวก็ยังคงเป็นแค่เรื่องเล่าที่ถูกแต่งขึ้น เพื่อใช้อธิบายเหตุที่คนสมัยหลังไม่เข้าใจเท่านั้นอยู่ดี เพราะถ้าระบบ 12 นักษัตรที่ว่านี้เพิ่งจะถูกแต่งขึ้นในราชสำนักของจักรพรรดิเหลืองจริงๆ แล้ว พระองค์นั้นจะทราบได้อย่างไรว่าตนเองประสูติเมื่อปีชวด เพราะพระองค์ย่อมประสูติมาก่อนที่จะมีชื่อของปีต่างๆ ในระบบ 12 นักษัตรไม่ใช่หรือครับ?
ในหนังสือเก่าเล่มหนึ่งของจีน ที่มีชื่อว่า “ลุ่นเหิง” ได้กล่าวถึงชื่อสัตว์ต่างๆ ที่ตรงกันกับ 12 นักษัตร เช่น บรรพอู้ซื่อ ในหนังสือเรื่องนี้มีข้อความระบุว่า
“ยามหยินคือไม้ สัตว์ประจำของหยินคือเสือ ยามซวีคือดิน สัตว์ประจำของซวีคือสุนัข…ยามอู่คือม้า จื่อคือหนู ยามโหย่วคือไก่ ยามเหมาคือกระต่าย…ยามไฮ่คือสุกร ยามเว่ยคือแพะ ยามโฉว่คือวัว…ยามซื่อคืองู ยามเซินคือลิง”
เช่นเดียวกับในหมวดเหยียนตู๋ ของหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ที่ก็มีข้อความระบุเอาไว้ว่า
“ยามเฉินคือมังกร ยามซื่อคืองู”
ดังนั้น จำนวนนักษัตรทั้ง 12 ที่ประกอบไปด้วยสิงสาราสัตว์ ทั้งที่มีอยู่จริง และมีอยู่ในปรัมปรานิยายอย่าง มังกร จึงเป็นรูปเป็นร่าง คือมีระเบียบแบบแผน และมีลำดับรวมถึงสมาชิกภาพทั้ง 12 ที่ชัดเจน มาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ที่ได้มีการแต่งหนังสือลุ่นเหิงดังกล่าวนี้แล้ว
ส่วนหนังสือ “ลุ่นเหิง” นี้ เป็นผลงานจากภูมิปัญญาของ “หวางชง” หนึ่งในเมธีสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (พ.ศ.568-763) เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุด ระบบ 12 นักษัตร ก็ต้องเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้วในช่วงยุคสมัยที่ว่า และนั่นก็ทำให้นักวิชาการของจีนบางท่านเชื่อว่า เรื่องของ 12 นักษัตรนั้น ควรที่จะเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปก่อนช่วงราชวงศ์ดังกล่าวนี้เอง
ควรสังเกตด้วยว่า ในวัฒนธรรมจีนโบราณ มีระบบการนับเวลา โดยแบ่งช่วงเวลา 1 วัน เป็น 12 ชั่วยาม ดังนั้น เวลา 1 ชั่วยามของจีนนั้นจึงอาจจะกำหนดได้คร่าวๆ ว่าเท่ากับ 2 ชั่วโมง ในระบบการนับเวลาอย่างปัจจุบัน
และเจ้าชื่อยามต่างๆ ที่ถูกระบุชื่อ อยู่คู่กับนักษัตรต่างๆ ในหนังสือลุ่นเหิงนั้นก็คือ ชื่อเรียกของช่วงเวลาต่างๆ ทั้ง 12 ชั่วยาม ในรอบ 1 วันของจีนนั่นแหละ
เอาเข้าจริงแล้วในวัฒนธรรมจีนนั้น จึงไม่ได้ใช้ระบบ 12 นักษัตรในการกำกับ หรือเรียกชื่อของรอบปีหนึ่งๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงส่วนอื่นๆ ในโครงสร้างทางความคิดเกี่ยวกับเรื่อง “เวลา” ในจักรวาลวิทยาของจีน อยู่อย่างซับซ้อนอีกด้วย
แต่นี่ก็ยังไม่ทำให้เราทราบได้ว่า ทำไมสัญลักษณ์ประจำนักษัตรเหล่านี้ จึงต้องกำหนดขึ้นจากสัตว์ชนิดต่างๆ?
นักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ของสัทศาสตร์ (phonetic, วิชาว่าด้วยการศึกษาอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง ธรรมชาติของการออกเสียง และการเปล่งเสียงพูด) ของภาษาต่างๆ ในอุษาคเนย์ ที่ชื่อ มิแชล แฟร์ลุส (Michel Ferlus, พ.ศ.2478-2567) ได้เสนอบทความที่ชื่อ “The sexagesimal cycle, from China to Southeast Asia” (ระบบเลขฐาน 60 จากจีน สู่อุษาคเนย์) ในการสัมมนา 23rd Annual Conference of the Southeast Asian Linguistics Society เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2556 ที่กรุงเทพฯ โดยเขาได้เริ่มต้นข้อเขียนชิ้นนี้เอาไว้ว่า
“ชาวจีนได้ใช้ระบบเลขฐาน 60 (sexagesimal) ที่เรียกว่า ‘เทียนกาน ตี้จี้’ (ti?ng?n d?zh?, ????) หรือ ‘กานจี้’ (g?nzh?, ??) ซึ่งประกอบขึ้นจากการรวม ‘ระบบเลขฐาน 10’ (decimal) ที่เรียกว่า ‘เทียนกาน’ (ti?ng?n, ??) แปลว่า ‘ลำต้นแห่งฟ้า’ (คล้ายกับ แม่ปี ในระบบปฏิทินโบราณของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท ที่ยังเหลืออยู่ในล้านนา ล้านช้าง-ผู้เขียน) และ ‘ระบบเลขฐาน 12’ (duodecimal, คล้ายกับ ลูกปี ในปฏิทินไทดั้งเดิม) หรือ ‘ตี้จี้’ (d?zh?, ??) คือ ‘กิ่งโลก’ เพื่ออธิบายหน่วยของเวลา”
ต่อให้ผมไม่บอกออกมา แต่ผู้อ่านทุกท่านก็คงจะพอเดากันได้นะครับว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเราในที่นี้ก็คือ เรื่องของ “กิ่งโลก” อันเป็นระบบเลขฐาน 12 ซึ่งก็คือ “12 นักษัตร” นั่นเอง
แฟร์ลุสได้อธิบายต่อไปว่า แม้ว่าในจีนยุคราชวงศ์ฮั่น ชื่อเรียกแต่ละชื่อในระบบ 12 นักษัตรนั้นจะถูกเชื่อมโยงกับสัตว์แล้ว แต่การออกเสียงชื่อนักษัตร และความหมายดั้งเดิมที่เป็นไปได้ของสัทศาสตร์ (phonogram) กลับแตกต่างออกไปจากชื่อทั่วไปของสัตว์ชนิดนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น “จี้” (z?, ?) ในภาษาดั้งเดิมแปลว่า “ลูกชาย” กลับถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรียกนักษัตร “ชวด” คือ “หนู” หรือ “โชว่” (chou, ?) ที่แต่ดั้งเดิมแปลว่า “ตัวตลก” แต่กลับหมายถึง “วัว” คือ “ฉลู” เป็นต้น นอกจากนี้คำเรียกชื่อของนักษัตร “กุน” คือ “หมู” ที่เรียกว่า “ฮ่าย” (h?i, ?) นั้น ก็ไม่มีความหมายดั้งเดิมของรูปอักษรนี้อีกต่างหาก
แฟร์รุสอธิบายว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะชาวจีนโบราณยืมคำศัพท์ที่ใช้เป็นชื่อของ 12 นักษัตร จากภาษาอื่นเข้ามาใช้ โดยภาษานั้นก็คือ ภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) อันเป็นตระกูลภาษาขนาดใหญ่ ที่พบกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะในเวียดนาม และกัมพูชา แต่ยังมีชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาในตระกูลนี้ทั้งในไทย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, อินเดีย, บังกลาเทศ, เนปาล และจีนตอนใต้อีกด้วย
ดังนั้น เราจึงสามารถเห็นได้ถึงร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางอย่าง เช่น “ฉลู” แต่เดิมควรหมายถึง “ควาย” ซึ่งเป็นสัตว์ในพื้นที่อบอุ่นและมีฝนตกชุก ก็ถูกแปลงเป็น “วัว” ที่มีอยู่ในภาคเหนือของจีน หรืออีกตัวอย่างคือ “มะโรง” ที่ “มังกร” ซึ่งถูกนำมาใช้แทนที่ ‘จระเข้’ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำในเขตร้อนที่ไม่มีอยู่ในจีนตอนเหนือ เป็นต้น
ในบทความชิ้นนี้ แฟร์ลุสเสนอว่า ภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก ที่มีร่องรอยของคำโบราณซึ่งเขาใช้เป็นหลักฐานในการนำเสนองานชิ้นนี้ก็คือ ภาษากลุ่มเวียด-เหมื่อง และเขายังได้เขียนสรุปรวบยอดข้อเสนอของเขาเอาไว้ด้วยว่า
“การเปรียบเทียบและการสืบสร้างคำทางภาษาศาสตร์ช่วยให้สามารถระบุที่มาของชื่อสัตว์ต่างๆ บางชื่อในวงจร 12 นักษัตรได้
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ชาวจีนมีความเข้าใจอย่างพร่าเลือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างความหมายของคำศัพท์ กับชื่อของสัตว์สัญลักษณ์ต่างๆ (เพราะเป็นคำที่รับมาจากภาษาออสโตรเอเชียติก-ผู้เขียน) แต่ต่อมาเมื่อชื่อสัตว์ทั้งสิบสองชื่อนี้ซึ่งมีความหมายชัดเจนสำหรับผู้ใช้ชาวจีนแล้ว ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาเวียดนามโบราณ จากนั้นชาวเขมรก็ได้หยิบยืมมาใช้ต่อ ตั้งแต่ในช่วงยุคก่อนเมืองพระนคร
อองเดร-จอร์จส์ โอดริกูร์ต (Andr?-Georges Haudricourt, พ.ศ.2454-2539, นักมานุษยวิทยา และนักภาษาศาสตร์ ชาวฝรั่งเศส-ผู้เขียน) ได้เสนอ (แม้ว่าเขาจะไม่เคยจดบันทึกเรื่องนี้ไว้ก็ตาม) ว่า การใช้ชื่อสัตว์เป็นเครื่องมือช่วยจำ การเชื่อมโยงเหตุการณ์กับชื่อสัตว์สามารถทำให้จดจำตำแหน่งในช่วงเวลาได้ง่ายขึ้น เช่น ‘เกิดปีมะเมีย’ ช่วยให้จำง่ายกว่า ‘เกิดในปีที่เจ็ดของรอบเลขสองหลัก’ ความหมายทางโหราศาสตร์ซึ่งต่อมาเชื่อมโยงกับชื่อสัตว์ได้ช่วยเสริมขีดความสามารถในการจดจำด้วยชื่อสัตว์ต่างๆ เหล่านี้” (แปล และจัดย่อหน้าเพื่อความสะดวกในการอ่านมากขึ้น โดยผู้เขียน)
แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า แฟร์ลุสจะสามารถเสาะหาร่องรอยของชื่อนักษํตรทั้ง 12 ได้ครบทั้งหมดดอกนะครับ เพราะเขายังบอกเอาไว้อีกด้วยว่า
“โดยจากทั้งหมด 12 คำนี้ ชื่อจีน-เวียดนามอยู่ 7 ชื่อ (ควาย, เสือ, มังกร, งู, ม้า, ไก่ และสุนัข), ชื่อหนึ่งเป็นคำที่ภาษาเวียดนามยืมมาจากภาษาจีนโบราณ (กระต่าย) ส่วนอีก 4 ชื่อซึ่งยังไม่ทราบที่มาอย่างชัดเจน”
ถ้าข้อเสนอของแฟร์ลุสถูกต้องแล้ว ก็คงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียวนะครับ เพราะจำนวน 7 จากชื่อของทั้ง 12 นักษัตรนั้นจะมีร่องรอยเก่าที่สุดมาจากอุษาคเนย์ แล้วจีนค่อยนำเอาชื่อสัตว์เหล่านี้ไปใช้ โดยสวมเข้ากับระบบเลขฐาน 12 ที่จีนเรียกว่า “กิ่งโลก” ซึ่งควรจะมีอยู่ก่อนแล้วในวัฒนธรรมใหญ่อย่างจีนนั่นเอง •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022