ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ภาสกร ประมูลวงศ์
Songs in The Key of Life
: Your Song เพลงของใคร?
มีคนเคยถามว่า ทำไม “เพลงของเธอ” ถึงเศร้านัก?
ผมตอบไม่ได้
ว่ากันตามตรง Your Song (1970) มิได้เป็นเพลงอกหัวรักคุดประเภทฆ่ากันให้ตาย
แถมไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์อันเลวร้ายหรือหวานชื่นแบบลงรายละเอียด
ฟังเผินๆ กลับเหมือนคนที่กำลังหลงทางเจ็บปวดแสนสาหัส ถึงขนาดสื่อสารอะไรบางอย่างออกมาแบบอ้อมค้อม (สุดขีด) ประมาณคนอกหักระยะเริ่มต้น จะไปต่อก็ไม่ไหว จะหยุดก็ห้ามตัวเองไม่อยู่ หรือจะถอยก็เสียหมา
สถานะครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้เองที่ทรมานกว่าอาการหัวใจล้มเหลวเพราะมัวไปเป็นทุกข์กับสิ่งที่ยังไม่พึงบังเกิด แถมจะเกิดหรือเปล่าก็ไม่รู้ ได้แต่พร่ำพรรณนาบรรยายความรู้สึกเปรียบเทียบโยงไปโน่นไปนี่ด้วยอารมณ์ “อยากจะถอนพิษที่คลั่งฝังทรวง”
เก้ๆ กังๆ กัดเล็บ อยู่ไม่สุข กระสับกระส่าย หวาดผวา
ผู้ที่เคยตกอยู่ในสภาพแบบนี้ความรู้สึกนั้นเป็นรักแท้ร้อยละร้อยยี่สิบ ซึ่งก็ต้องแลกกับความทรมานชนิดยันตัวไม่ขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปียโนกับเสียงร้องเชื่อมความรู้สึกเพลงนี้ด้วยความจริงเสียยิ่งกว่าจริง
ฟังผ่านๆ หู น่าจะเป็นความรักที่มีแนวโน้มว่าจะสมประสงค์…ทว่า จริงหรือ?
เธอรู้ไหม ความไหวหวั่น มันมีเสียง
เป็นสำเนียง หวานระคน ปนเศร้าหมอง
เพียงชิดใกล้ หามิได้ หมายครอบครอง
ได้แค่มอง ก็ดีล้น คนอย่างเรา
ห้ามตัวเอง อยู่หลายครั้ง พลั้งจนได้
แอบเผลอใจ หนีไม่พ้น คนอย่างเขา
ดั่งฝนสาด ฟาดหน้าแล้ง แสร้งหูเบา
นานวันเข้า ยิ่งดำดิ่ง จริงนะเออ
จรดปากกา ลงกระดาษ วาดเนื้อร้อง
ท่วงทำนอง เพลงพาไป ใจมันเผลอ
เป็นเรื่องจริง จากข้างใน ใช่ละเมอ
ถึงจะเก้อ ไม่เป็นไร ไว้กันลืม
ดีแค่ไหน มีเธออยู่ คู่โลกหล้า
ยอมฟันฝ่า ถึงเจ็บจน สู้ทนฝืน
หน้าดูชื่น แต่อกตรม ล้มทั้งยืน
ไม่ขอคืน นะตัวเอง เพลงของเธอ
เอลตัน จอห์น (Elton John) กับเพื่อนรัก เบอร์นี่ โทปิน (Bernie Taupin) เขียนเพลงนี้ร่วมกันโดยใช้เวลาแค่ 20 นาทีในปี 1967 ที่อพาร์ตเมนต์ของแม่เอลตัน จอห์น ละแวก Northwood Hills ชานกรุงลอนดอน โดยใช้กระดาษข้อสอบเขียนเนื้อร้องแถมมีคราบน้ำชาขณะทั้งคู่ยังเป็นนักศึกษาอายุเพียง 17 ปี
นับเป็นเพลงแรกที่ทำงานร่วมกัน เอลตันสร้างสรรค์ทำนอง เบอร์นี่เขียนเนื้อร้อง ความสัมพันธ์ที่ลงตัวกลายเป็นสูตรสำเร็จต่อมาในอีกหลายสิบปีให้หลัง
“มันเป็นความจริงครึ่งเดียวว่ะครับ” เบอร์นี่กล่าว
“ผมเขียนเพลงนี้ในห้องครัวแต่ไม่เสร็จ จนไปถึงที่ทำงาน ไม่รู้นึกยังไง ผมปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคาออฟฟิศแล้วจัดการซัดต่อจนจบ”
นั่นคือ 20 Denmark St ที่ตั้งของบริษัทเพลงที่เด็กหนุ่มสองคนโคจรมาพบกัน
และเป็นที่มาของเนื้อร้อง I sat on the roof and kicked off the moss
“ผมเคยเค้นมันนะ Your Song นี่แกแต่งให้แฟนคนไหนวะ” เอลตัน จอห์น ให้สัมภาษณ์อารมณ์ดีกับ Rolling Stone
“เพราะไอ้เบอร์นี่มันหล่อคารมดี ยิ่งอยู่ในวัยเริ่มทำงานพอจะมีเงินติดกระเป๋าควงสาวไม่ซ้ำหน้า มันปฏิเศษเลิ่กลั่กลิ้นพันเป็นเงื่อนพิรอด”
จนถึงปี 1989 เจ้าตัวถึงมาไขความกระจ่างกับ Music Connection (นิตยสารเล่มนี้ยังไม่เจ๊งนะครับ แต่หาซื้อยากชะมัด) “ผมไม่ได้แต่งให้ใครเป็นพิเศษ อาจเป็นใครก็ได้ที่มีความรู้สึกอยากมีความรักกับใครสักคน” เบอร์นี่หล่นความคิดเป็นตัวหนังสือ
“ใสซื่อ บริสุทธิ์ดุจน้ำค้างกลางหาว มันสดมากและมาถูกที่ถูกเวลา คุณลองนึกดู เด็กหนุ่มอายุ 17 ผู้เริ่มทำความรู้จักกับสิ่งใหม่ที่เรียกว่าความรัก ให้ผมเขียนตอนนี้ผมก็เขียนไม่ได้แล้ว” เบอร์นี่สรุปจบแบบไม่ต้องสืบต่อ
แต่ที่ต้องล้อมกรอบก็คือ Your Song เกือบๆ จะเป็นเพลงที่สุนัขคาบไปรับประทาน
ช่วงต้นทศวรรษที่ 70’s เอลตัน จอห์น ในช่วงต้นของการเทิร์นโปร เขารับหน้าเสื่อเป็นวงเปิดให้ศิลปินร็อกระดับตำนาน Three Dog Night (แสลงฝรั่งหมายถึงคืนที่เย็นยะเยือกบรรลัยจักร ถึงขนาดต้องกอดหมาสามตัวแก้หนาว)
เพลงนี้ดันไปเข้าหูจนได้รับการบรรจุในอัลบั้ม It Ain’t Easy (1970) แต่ทางวงตัดสินใจไม่ตัดเป็นซิงเกิล
ด้วยเหตุผลไม่อยากคุมกำเนิดศิลปิน พวกเขาต้องการให้เอลตัน จอห์น ร้องเพลงนี้เอง ในอัลบั้มของตัวเองและในรูปแบบของเขาเอง
แต่ก็นั่นแหละ เมื่อ Your Song อยู่ในมือของ Three Dog Night เราจึงเห็นเพลงนี้ในแง่มุมที่แตกต่าง
เพราะทางวงเคารพร่างแรกของเพลงโดยไม่เปลี่ยนเนื้อร้องใดๆ โดยเฉพาะในท่อน Boy, if I did I’d buy a big house where we both could live
ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่า ในช่วงเวลานั้น สถานะทางเพศของศิลปินถือเป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญยิ่งยวด
ค่ายเพลงต่างปกป้องศิลปินให้ถอยห่างจากผลกระทบใดๆ ต่อสาธารณชนโดยเฉพาะกับประเด็นที่ไม่สมควรเสี่ยง (เช่น เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ แบรี่ แมนิวโลว์ สตีฟ กรอสแมน และอื่นๆ อีกมากมาย)
ดังนั้น การสลับเนื้อจาก Boy เป็น Girl จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ผิด ใครๆ ก็ทำกัน
ยกตัวอย่างการเปลี่ยนชื่อเพลง The Girl from Ipanema หรือ This Guy’s in Love with You ไปเป็น The Boy from Ipanema กับ This Girl’s in Love with You ทว่าทางวงยืนกรานจะร้องด้วยต้นฉบับเดิม
เมื่อนั้น Your Song ก็ก้าวผ่านเส้นขีดจำกัดของตัวเอง ไปสู่แห่งหนที่ไกลกว่าจุดเริ่มต้นลิบลับ
เพราะเนื้อร้องประโยคล่อแหลม เมื่ออยู่ในปากของวงที่มีภาพลักษณ์ร็อกแอนด์โรลอันแข็งแรง
นักฟังเพลงต่างมองไปยังประเด็นความรักในครอบครัวระหว่างพ่อกับลูกชายมากกว่าแค่ความสัมพันธ์ทางเลือก
มันคือความตั้งใจจะมอบสิ่งดีๆ ให้กับคนที่เรารักมากที่สุดในชีวิต
สะท้อนความรู้สึกเป็นห่วงกังวลสารพัดอย่าง ตลอดจนความงดงามของการมีอยู่จริงในตัวมนุษย์
มากกว่านั้น Your Song ยังทำหน้าที่ปลอบประโลมใจผู้คนในช่วงเหตุการณ์ 911 เมื่อเอลตัน จอห์น ขึ้นเวทีร้องเพลงนี้กับ Piano Man นาม บิลลี่ โจเอล (Billy Joel, ในปี 2001)
ปีต่อมา เขาดูเอ็ตกับ อเลสซานโดร ซาฟริน่า (Alessandro Safina) เกิดเป็นฉบับ Operatic Pop Tenor ที่พาคนฟังข้ามจินตนาการไปไกลแสนไกล
Your Song มิใช่เพลงฮิตติดดาวระดับจักรวาลแถมอันดับในตารางก็ใช่ว่าจะดีเด่ ไต่ไม่ถึงอันดับหนึ่ง (สูงสุดอันดับ 8 ที่อเมริกา และ 7 ที่อังกฤษ)
แต่เป็นการเปิดตัวเอลตัน จอห์น ในฐานะศิลปินเดี่ยวชนิดเต็มตา
มากกว่านั้น เพลงนี้ยังทำให้เกิดระนาบความคิดใหม่ๆ ในเรื่องความสัมพันธ์ที่มองออกไปนอกชายขอบ
ส่งอิทธิพลเป็นไม้ต่อให้กับเพลงรักอมตะที่ไม่ได้พูดเรื่องรักแบบหนุ่มสาว (เลย)
เช่น You’ve got a friend ของแครอล คิง และเจมส์ เทย์เลอร์ เพลงนั้น “ผมพูดให้คนยุคนี้ฟังไม่รู้เค้าจะเข้าใจกันไหม” เบอร์นี่ โทปิน กล่าวกับ Far Out Magazine นิตยสารหัวก้าวหน้าของอังกฤษ
“ขณะที่ผู้คนชอบถามกันนักว่าผมแต่งเพลงนี้ให้ใครกันแน่? ตอบแบบนี้ดีกว่า ผมฟังมันเป็นพันครั้ง แต่ละครั้งก็มีความรู้สึกแตกต่างกันไป ผมกลับคิดถึงเพื่อนเก่าๆ คิดถึงหมาที่เคยเลี้ยง คิดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา นั่นต่างหากที่ทำให้เพลงนี้เป็นที่จดจำและมีคุณค่า”
เบอร์นี่พูดไม่ผิด ความทรงจำนับหมื่นนับแสนนับล้านชิ้นที่ซุกซ่อนอยู่ที่ใดสักแห่ง มันพร้อมจะย้อนกลับมาให้เราได้รำลึกเสมอต่อเมื่อถูกกระตุ้นจากอะไรสักอย่าง เฉกเช่นเพลงสักเพลง
เพราะเมื่อใดก็ตามที่ย้อนกลับไปคิดถึงสิ่งนั้น เหมือนเราได้ชมภาพยนตร์อีกเรื่องที่ถูกตัดต่อโดยใช้ฟุตเตจเดิมๆ กลายเป็นเรื่องราวในอดีตที่หวนคืนในร่างใหม่ ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างผู้คน
ดังนั้น อย่ามัวเสียเวลากับคำถามว่า Your Song เป็นเพลงของใคร?
มันอาจจะเป็น His Song Her Song หรือ Song for Whoever
เพราะคำตอบนั้นอาจจะง่าย แค่เพียงเมื่อได้ยินเพลงๆ นี้
คุณคิดถึงใคร?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022