จับตา ศธ.ปัดฝุ่นฟื้นสอบ ‘โอเน็ต’ พัฒนาเด็ก พัฒนาการศึกษา??

ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต หลังถูกลดความสำคัญลงในปี 2563 โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในขณะนั้น สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนข้อดี ข้อเสีย และความจำเป็นที่เด็กยังต้องสอบ!!

เหตุที่ต้องมาทบทวนเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ ศธ.ต้องประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ออกไป จากเดิมเปิด 15 พฤษภาคมของทุกปี มาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทบกับการเรียนการสอน และการสอบต่างๆ รวมถึงการสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ที่ต้องขยับปฏิทินรับนักศึกษาเข้าเรียนตามไปด้วย

ขณะเดียวกันการสอบโอเน็ตที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนมาตลอดว่าเด็กต้องสอบจำนวนมาก ทั้งสอบเพื่อประเมินผลการเรียนในโรงเรียน ไปจนถึงการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความเครียด และยิ่งให้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ทำให้บางคนถึงขั้นไปติวเพื่อสอบโอเน็ตให้ได้คะแนนดี

หลากหลายปัญหาที่มาพร้อมกับการสอบ ไม่นับรวมกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาตรฐานข้อสอบ ที่แต่ละปีมีทั้งข้อสอบที่ผิดพลาดและข้อสอบที่ทำให้สังคมต้องตั้งคำถามถึงความเหมาะสม…

ยังไม่นับรวมที่มีการเชื่อมโยงคะแนนโอเน็ตกับการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของครู มีผลต่อการประเมินสถานศึกษาภายในและภายนอก

 

การสั่งทบทวนครั้งนั้น ปักธงที่เป้าหมายยกเลิกการสอบโอเน็ตทั้งระบบ รวมไปถึงยกเลิกการสอบวีเน็ต หรือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 3 และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปี 2

แต่ท้ายที่สุด จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำได้เพียงลดความสำคัญลง โดยคงการสอบโอเน็ต ทั้ง 3 ช่วงชั้นไว้ คือ ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไว้ แต่เปลี่ยนจากบังคับสอบทุกคน เป็นเลือกสอบได้ตามความสมัครใจ

โดยออกประกาศเรื่องนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ให้นักเรียนเข้ารับการทดสอบโอเน็ตตามความสมัครใจ โดยให้ถือเป็นสิทธิส่วนตัวของนักเรียนตั้งแต่ปีการ ศึกษา 2563 เป็นต้นไป

ส่งผลให้โอเน็ตถูกลดความสำคัญ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยกเลิกการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการเข้าเรียนต่อหรือมีผลกระทบต่อการเรียนหรือการเลื่อนระดับชั้น

และให้การสอบโอเน็ตเป็นเพียงการสอบเพื่อวัดการศึกษาชาติโดยรวมเท่านั้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ยกเลิกการใช้โอเน็ตในการเข้าเรียนต่อไปแล้วก่อนหน้านั้น…

เมื่อให้การสอบเป็นไปตามความสมัครใจ และไม่มีการนำผลไปใช้ประโยชน์ ส่งผลให้เด็กเข้าสอบลดลง และที่แย่กว่านั้นคือ เด็กจำนวนมากที่มาลงชื่อสมัครสอบ แต่ไม่ไปเข้าสอบตามวัน เวลาที่กำหนด ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณในการดำเนินการหลายสิบล้านบาทไปโดยไม่เกิดประโยชน์…

 

ล่าสุด ถือเป็นความพยายามของ ศธ.ที่จะฟื้นความสำคัญของการสอบโอเน็ตกลับมาอีกครั้ง!!

โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. อยากให้เด็กสนใจสอบโอเน็ตมากขึ้น แม้จะยืนยันว่า ให้เลือกสอบได้ตามความสมัครใจเช่นเดิม แต่ในทางปฏิบัติ ส่งเสริมให้โรงเรียนนำผลสอบมาใช้ประโยชน์มากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผลสอบรายบุคคลในการพัฒนาการจัดการศึกษา พัฒนาโรงเรียน รวมถึงส่งเสริมให้โรงเรียนใช้ผลสอบโอเน็ต ในการเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

ซึ่งรวมถึงการใช้ผลสอบโอเน็ตในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย…

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า ที่ผ่านมา สถาบันทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ หรือ สทศ. มีการปรับรูปแบบข้อสอบโอเน็ตให้สอดคล้องกับการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ หรือปิซ่า ซึ่งมุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์ เพื่อนำผลสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา

ในส่วนของ ศธ. พยายามสร้างแรงจูงใจให้เด็กเข้าสอบโอเน็ตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชั้น ม.6 ซึ่งขาดแรงจูงใจ เนื่องจากไม่สามารถนำคะแนนสอบไปใช้ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้

“การสอบโอเน็ตจะมีขึ้นในภาคเรียนที่ 2 ซึ่งจะเป็นช่วงที่เด็ก ม.6 หลายคนสอบติดมหาวิทยาลัยไปบ้างแล้ว และเมื่อคะแนนไม่มีผลต่อการเข้าเรียนต่อ จึงทำให้เด็กไม่อยากเข้าสอบ ดังนั้น ศธ.จึงคิดแนวทางในการแก้ปัญหา 2 วิธี คือ 1.หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปฏิทินการสอบโอเน็ตของนักเรียน ม.6 จากเดิม สอบในภาคเรียนที่ 2 มาเป็นสอบในภาคเรียนที่ 1 เพื่อให้สามารถนำคะแนนไปใช้เป็นองค์ประกอบในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในระบบการคัดเลือกกลางเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ได้ทันในรอบที่ 1 รอบพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งแนวทางนี้เป็นข้อเสนอของสถานศึกษา ซึ่งจะต้องมีการหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต่อไป “นายสิริพงศ์กล่าว

แนวทางที่ 2 คือ นำคะแนนโอเน็ตในวิชาที่เทียบเคียงกับการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ TGAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ เช่น การสอบวิชาภาษาอังกฤษซึ่งมีมาตรฐานเดียวกับข้อสอบภาษาอังกฤษของ TGAT-TPAT มาใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน

 

ด้านนายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า มองว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้ แต่ต้องเป็นในรายวิชาที่ได้มาตรฐานเดียวกัน เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ส่วนรายวิชาอื่นๆ คงต้องไปดูรายละเอียด ซึ่งโดยหลักการเด็กไม่ควรจะสอบมากเกินไป หากสอบโอเน็ตแล้วสามารถนำมาใช้ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วย ก็ถือเป็นเรื่องดี ที่สำคัญการสอบโอเน็ตไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง

“ทั้งหมดนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องมาหารือร่วมกัน ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การจัดสอบโอเน็ตเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ ปัญหาของโอเน็ตไม่ใช่เรื่องคุณภาพของข้อสอบ แต่อยู่ที่วัตถุประสงค์ของการสอบที่ใช้ในการวัดความรู้ตลอดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่ข้อสอบคัดเลือก ดังนั้น หากจะนำมาใช้ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยจริง ก็คงต้องไปดูรายละเอียด ว่าทำอย่างไรให้ข้อสอบโอเน็ตสามารถทำหน้าที่ได้ทั้งสองอย่าง คือวัดความรู้ตลอดหลักสูตร ขณะเดียวกันยังสามารถใช้ในการสอบคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ด้วย”

“หากทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก และผู้ปกครอง คือ ลดการสอบและประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะโอเน็ตจัดสอบฟรี ทั้งนี้ หากจะนำโอเน็ตมาใช้เป็นองค์ประกอบในการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาจริง ก็จะต้องมีการประกาศล่วงหน้า 3 ปี เพื่อให้เด็กได้เตรียมความพร้อม ไม่ใช่นำมาใช้ทันทีอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงไม่อยากให้กังวลไปก่อน เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน”

 

จากนี้คงต้องรอฟังเสียงจากทางมหาวิทยาลัย ว่าจะเห็นต่างหรือมีเสียงสะท้อนไปในทิศทางใด

แต่ท้ายที่สุดแล้ว คงต้องฟังเสียงเด็ก ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

ไม่ใช่ตัดสินใจเปลี่ยนไปมา ตามนโยบาย…

และท้ายที่สุดคือ อยากให้มีการวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่า การสอบโอเน็ต มีข้อดีมากกว่าข้อเสียอย่างแท้จริง

ก่อนปัดฝุ่นกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้ง!! •

 

| การศึกษา