ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
พิพิธภัณฑสถานสร้างชาติ (9)
หลังช่วงเวลาแห่งความฝันของรัฐไทยในสมัยสงครามเย็นที่คาดหวังกันว่า โบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์จะทำให้พื้นที่ภาคอีสานของไทยกลายเป็นอู่อารยธรรมยุคสำริดที่อาจเก่าที่สุดในโลก ถูกทำให้พังทลายไปในครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2520 ดูเสมือนว่า การให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ของรัฐไทยก็ดูจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
แม้การศึกษาทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในไทยจะเจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับจวบจนกระทั่งปัจจุบัน มีนักวิชาการด้านนี้เพิ่มขึ้น ความร่วมมือกับต่างชาติปรากฏให้เห็นเป็นระยะ มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอจากแหล่งขุดค้นที่น่าสนใจหลายแหล่ง ไปจนถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์แฉพาะว่าด้วยยุคก่อนประวัติศาสตร์
แต่หากเทียบกับทศวรรษ 2500-2510 แล้ว บรรยากาศความตื่นตัวระดับชาติกลับดูไม่มากนัก กลายเป็นเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่ม ความสนใจเฉพาะด้าน ที่แม้จะสำคัญมากต่อการศึกษาอดีตของมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชาติไทยและคนไทยมีความยิ่งใหญ่อะไร พูดให้ชัดคือ ไม่ได้ตอบสนองอุดมการณ์ชาตินิยมไทยเหมือนยุคสงครามเย็น
ในขณะที่สมัยสุโขทัยซึ่งเป็นยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่มาก หากเทียบอายุเวลากับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่งานโบราณคดีสมัยสุโขทัยกลับได้รับความสำคัญและดูมีเสน่ห์สำหรับรัฐไทยมากกว่า เพราะสามารถสร้างเรื่องเล่าแห่งชาติอันน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นจุดกำเนิดรัฐแห่งแรกของคนไทย เป็นที่มาของเกือบทุกสิ่งอย่างของความเป็นไทยในปัจจุบัน
เรื่องเล่าแห่งชาติอันน่าประทับใจเหล่านี้ โบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ให้ไม่ได้
ลักษณะดังกล่าวสะท้อนชัดเจนผ่านการจัดแสดงใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ยุคหลังสงครามเย็น

ที่มา : หนังสือ ห้องแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
เนื่องในโอกาสฉลองพระนครครบ 200 ปี ซึ่งถือเป็นปีที่สำคัญของชาติไทย (ทั้งครบรอบการตั้งกรุงเทพฯ และอาจกล่าวได้ว่า เป็นการสิ้นสุดภัยคอมมิวนิสต์อย่างแทบจะสิ้นเชิงแล้ว) รัฐบาลในช่วงนั้นได้จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ มีการตีพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์ออกมาหลายเล่ม มีการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานหลายแห่ง
และแน่นอน งานด้านพิพิธภัณฑ์โดยกรมศิลปากรก็เข้าร่วมเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ด้วย โดยได้จัดทำโครงการปรับปรุงการจัดแสดงภายใน พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ขึ้นใหม่ เปิดอย่างเป็นทางการ พ.ศ.2525 โดยใช้ชื่อว่า “ห้องแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย”
ส่วนการจัดแสดงยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเคยใช้พื้นที่ทั้งหมดของพระที่นั่งองค์นี้ ถูกลดขนาดลงเหลือเพียงราว 1 ใน 5 ของพื้นที่จัดแสดงเดิม โดยเหลือพื้นที่เพียงในห้องส่วนท้ายของพระที่นั่งเท่านั้น
ในคำนำหนังสือ “ห้องแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร” โดยอธิบดีกรมศิลปากร ตีพิมพ์ พ.ศ.2525 ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นสูจิบัตรนิทรรศการในครั้งนั้น ระบุว่า
“…เนื่องในโอกาสที่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์บรรจบครบ 200 ปี…รัฐบาลเห็นเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งที่จะจัดงานสมโภชขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ…เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระมหาบูรพมหากษัติยาธิราชแห่งพระบรมมหาราชวงศ์จักรี กรมศิลปากรได้ตระหนักถึงวโรกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้เช่นกัน จึงได้เสนอโครงการจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ชาติไทย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน…”
ในคำนำยังได้อธิบายเนื้อหาการจัดแสดงโดยภาพรวมเอาไว้ว่า
“…ห้องแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดแสดงความเป็นมาของชนชาติไทย ตั้งแต่ครั้งยังรวมตัวกันอยู่ในลักษณะชุมชนย่อยๆ จนรวมตัวตั้งอาณาจักรไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 คืออาณาจักรสุโขทัย ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง ในปีพุทธศักราช 1893 ชนชาติไทยอีกกลุ่มหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้รวมตัวตั้งอาณาจักรขึ้นอีกแห่งหนึ่ง มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และได้รวมอาณาจักรสุโขทัยไว้ด้วยกันและได้เป็นปึกแผ่นสืบทอดตลอดมาถึงกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ห้องแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทยจัดแสดงวัตถุและหลักฐานประวัติศาสตร์เท่าที่มีอยู่…เพื่อความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติของชาติในอดีต บทเรียนในประวัติศาสตร์นั้นมีค่ายิ่งสำหรับปัจจุบันและอนาคต…”
เห็นได้ชัดเลยนะครับว่า พระที่นั่งองค์นี้ ซึ่งตั้งอยู่หน้าสุดของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และผู้ชมมักจะเดินเข้าชมเป็นอาคารแรกเสมอ ได้เปลี่ยนความสำคัญของเรื่องเล่าครั้งใหญ่
จากประเด็นยุคก่อนประวัติศาสตร์มาสู่ประเด็นว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทยแทน
จากแผนผังการจัดแสดงภายในพระที่นั่ง พ.ศ.2525 (ดูรูปประกอบ) เมื่อเดินเข้ามา ห้องแรกคือการพูดถึง “เผ่าไทย” จัดแสดงความเป็นมาของชนชาติไทยในหลากหลายทฤษฎี ตั้งแต่ มาจากเทือกเขาอัลไต, ตอนใต้ของจีน, มณฑลเสฉวน, คาบสมุทรมลายู และคนไทยอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันมาแต่เดิม
แม้จะนำเสนอหลายทฤษฎี และน่าสนใจว่าเนื้อหามีการปฏิเสธกำเนิดชนชาติไทยว่ามาจากเทือกเขาอัลไต แต่ข้อสรุปก็ยังชี้นำว่า คนไทยมีถิ่นกำเนิดแรกเริ่มอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายมาตั้งอาณาจักรของคนไทยในดินแดนไทยปัจจุบัน
อีกทั้งยังมีการเขียนว่า ข้อเสนอว่าด้วยคนไทยอยู่ในไทยมาแต่เดิม เป็นสิ่งที่ยังต้องหาหลักฐานพิสูจน์ต่อไปในอนาคต (คือไม่เชื่อในทฤษฎีนี้นั่นแหละครับ)
เมื่อเดินต่อไป จะพบการพูดถึงการตั้งบ้านเมืองโบราณในดินแดนไทยช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 8-18 ในลักษณะที่บอกโดยนัยว่าบ้านเมืองเหล่านี้เป็นช่วงสมัย “ก่อนไทย” ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงยุคทวารวดี (วัฒนธรรมมอญ) วัฒนธรรมเขมร และวัฒนธรรมศรีวิชัย
จากนั้นเนื้อหาจะพาเราไปสู่ “การก่อตั้งอาณาจักรของคนไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรก
แม้ในคำอธิบายจะมีการพูดถึงการปรากฏตัวขึ้นของชนชาติไทยในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 จากหลักฐานในเวียดนาม และในพุทธศตวรรษที่ 17 จากหลักฐานภาพสลักหินที่ปราสาทนครวัด รวมถึงการก่อตัวขึ้นของนครรัฐและแว่นแคว้นเล็กๆ ทางภาคเหนือ แต่นิทรรศการก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากนัก
ความสำคัญแท้จริงเริ่มต้นขึ้นเมื่อถึงอาณาจักรสุโขทัย นิทรรศการออกแบบพื้นที่นี้เป็นห้องเฉพาะ เน้นย้ำความสำคัญของการเป็นราชธานีแห่งแรก
แม้เราจะไม่มีหลักฐานเนื้อหาโดยละเอียดที่ยืนยันว่ามีบอร์ดจัดแสดงที่ประกาศความเป็นราชาธานีแห่งแรกของคนไทย แต่จากการออกแบบห้องและพื้นที่แยกออกมาเฉพาะเป็นห้องแรกในส่วนที่ว่าด้วยการก่อตั้งอาณาจักรไทย เราก็สามารถอนุมานได้ว่า เป็นความพยายามจะสื่อสารโดยนัยไปในทำนองนั้น
จากนั้น การจัดแสดงจะนำเราไปตามโครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยมกระแสหลัก ผ่านราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยโบราณวัตถุสถานต่างๆ ล้วนถูกเล่าอธิบายเชื่อมโยงเข้ากับพระราชกรณียกิจทางศาสนา การสงคราม และการเมืองการปกครองของกษัตริย์พระองค์ต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ที่ได้รับพื้นที่ใหญ่ที่สุด เกือบ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด มีการแบ่งเป็นห้องย่อยหลายห้อง แบ่งโซนออกเป็นส่วนๆ แยกตามรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-9 ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์ก็คือสิ่งเดียวกับประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรี
สอดคล้องเป็นอย่างดีกับบรรยากาศทางสังคมการเมืองไทยยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 และหลังสงครามเย็นที่นักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยหลายท่านลงความเห็นว่า ในยุคดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นของสังคมการเมืองไทยภายใต้พระราชอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์และกระแสประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม
ของที่จัดแสดงหลายชิ้น หากพิจารณาเพียงประเด็นอายุสมัย ก็มิได้มีความเก่าแก่มากนัก เช่นของจัดแสดงในสมัยรัชกาลที่ 7-9 ซึ่ง ณ ช่วง พ.ศ.2525 มีอายุเพียงแค่ไม่เกิน 50 ปีเท่านั้น
แต่หากพิจารณาในแง่ของการเล่าประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมแล้ว ทั้งหมดมีความสำคัญมากต่อการส่ง “สาร” (message) ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทยอันยาวนานที่มีแกนกลางของชาติอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ที่ดำเนินมาจนถึง 200 ปีแล้ว ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นได้เพราะพระบารมีของสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น
แน่นอนนะครับ แม้แต่การปฏิวัติ 2475 ที่นำมาซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ถูกเล่าผ่านภาพถ่ายของรัชกาลที่ 7 ที่กำลังพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475
แม้การเล่าเรื่องผ่านการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ในอดีต ไม่เคยว่างเว้นจากการเล่าบทบาทสถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันหลักสถาบันหนึ่งที่ทำหน้าที่หมุนกงล้อประวัติศาสตร์ชาติไทย
แต่ก็ไม่เคยมีการจัดแสดงนิทรรศการ (ถาวร) ครั้งไหนที่จะเน้นศูนย์กลางการจัดแสดงเกือบทั้งหมดให้แก่สถาบันกษัตริย์มากเท่านี้มาก่อน
ในทัศนะผม การจัดแสดง “ห้องแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พ.ศ.2525 คือ การเล่าพระราชพงศาวดาร (เรื่องราวของกษัตริย์) ในเวอร์ชั่นใหม่ผ่านรูปแบบนิทรรศการ เป็นพระราชพงศาวดารที่มิได้เน้นเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษร
แต่เป็นการเล่าเรื่องราวกษัตริย์ผ่านโบราณวัตถุและศิลปวัตถุประเภทต่างๆ แทน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022