ลงทุนไทยยุครัฐบาลอิ๊งค์ พลิกโฉมเศรษฐกิจ โตทันโลก

บทความเศรษฐกิจ

 

ลงทุนไทยยุครัฐบาลอิ๊งค์

พลิกโฉมเศรษฐกิจ โตทันโลก

 

รัฐบาลภายใต้การบริหารของ “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วางเป้าหมายพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยปี 2568 หวังจีดีพีทะยานถึง 3.5%

ตัวเลขนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ต้องรันให้ได้ เพื่อให้ประเทศไทยแข็งแกร่ง ประชากรมีมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หลังจากเศรษฐกิจไทยซบเซาเป็นเวลานานหลายปี

ล่าสุด รัฐบาลได้เปิดมาสเตอร์แพลนกระตุ้นเศรษฐกิจและการวางรากฐานอนาคต โดย “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เน้นสองแนวทางหลัก คือการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศผ่านการแก้หนี้ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันสมัย

พร้อมกับการผลักดันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หัวใจสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเป็น ‘ท็อปแห่งอาเซียน’ ได้อีกครั้ง

 

สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เร่งรัดผลักดันการลงทุนในรูปแบบระยะสั้นและระยะกลาง แม้เผชิญรัฐศาสตร์โลกยังคงมีความตึงเครียด แต่ต้องเดินหน้าให้ได้

“นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ผู้รับมอบภารกิจ ระบุ ประเทศไทยมีคุณสมบัติครบครันที่เรียกว่าเป็น ‘ดินแดนทองคำของนักลงทุน’ ด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไฟฟ้าที่เสถียร พลังงานสะอาดที่มีศักยภาพสูง และห่วงโซ่อุปทานครบวงจร

ทำให้ไทยถูกมองว่าเป็น ‘สปอตไลต์’ ของวงการลงทุนระดับโลก!!

บีโอไอจึงกำหนดเป้าหมายใหญ่ไว้ว่า คำขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2568 จะต้องทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาท โดยมีการบ้านจากทางรัฐบาล ให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศขึ้นจาก 40% เป็น 45% มั่นใจทำได้เพราะมีมาตรการจูงใจนักลงทุนในโครงการที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ที่ให้สิทธิประโยชน์สุดพิเศษเพิ่มเติม เช่น ลดภาษีนิติบุคคล 50% อีก 5 ปี

นับเป็น ‘ท็อปอัพ’ ที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างสนใจ

 

เลขาฯ นฤตม์ ยังระบุ ปัจจุบันไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์เป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่เซลล์

โดยเซมิคอนดักเตอร์ เป็นชิ้นส่วนที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์การแพทย์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทุกสิ่งที่เราใช้ในชีวิตประจำวันล้วนพึ่งพาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์

ขณะที่แบตเตอรี่เซลล์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่ยังขยายไปสู่รถยนต์ไฮบริด ซึ่งเป็นหัวใจหลักของยุคอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บีโอไอจึงออกมาตรการพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนในสองอุตสาหกรรมนี้ ไม่เพียงแค่ให้สิทธิประโยชน์ภาษีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้ครบวงจรอีกด้วย ทำให้นักลงทุนระดับโลกในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์เริ่มเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว

ขณะที่การลงทุนแบตเตอรี่เซลล์ มีข่าวดีเมื่อ “บริษัท ซันโวด้า ออโตโมทีฟ เอนเนอร์จี เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด” จากจีน ได้ตัดสินใจลงทุนตั้งฐานผลิตในจังหวัดชลบุรี ด้วยมูลค่าเกือบ 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 4,000 คน รวมทั้งวิศวกรและนักวิจัยในระดับท็อป 900 คน จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ก้าวขึ้นสู่อีกระดับ

 

ไม่เพียงแค่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่เซลล์เท่านั้น รัฐบาลและบีโอไอยังไม่ลืมที่จะผลักดันธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งเป็นแกนหลักของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและ Digital Transformation ของภาคธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ศูนย์ข้อมูลกลายเป็น อุตสาหกรรมหลัก ที่ไทยและมาเลเซียต่างเข้ามาแข่งขันกันอย่างดุเดือด

นักลงทุนต่างประเทศต่างมองว่า ปัจจุบันไทยมีศักยภาพสูงในการให้บริการศูนย์ข้อมูลระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นระบบคลาวด์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังมาแรงในวงการธุรกิจ

คาดว่าในเร็วๆ นี้จะมีข่าวดีจากไมโครซอฟต์ (Microsoft) ที่เลือกไทยเป็นฐานการลงทุนศูนย์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม AI คาดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับวงการดิจิทัลในไทย

 

การลงทุนไทยโฉมใหม่นี้ “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง แสดงความเห็นสนับสนุนแนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่เซลล์ของรัฐบาลในครั้งนี้อย่างเต็มที่

แต่ได้ย้ำเตือนรัฐบาลต้องไม่ลืมว่าการพัฒนาบุคลากรในประเทศก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ควรให้ความสำคัญ ไทยต้องโกยความรู้จากต่างชาติกลับมาสร้างศักยภาพให้คนไทยด้วยกันเอง

ด้านภาคเอกชน “นาวา จันทนสุรคน” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นด้วยพร้อมให้กำลังใจแนวทางการลงทุนในครั้งนี้ พร้อมมองว่าไทยยังมีที่ว่างรับเพิ่มเข้ามาในไทยได้อีกมาก ไม่มีปัญหาที่จะรองรับการลงทุนใหม่ เพราะภาคอุตสาหกรรมในไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว และการลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เซลล์ถือเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว

จะเห็นว่า นโยบายการผลักดันการลงทุนของรัฐบาลแพทองธาร มีความชัดเจนในเจตนารมณ์ที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้กลับมาสู่จุดเริ่มต้นที่แข็งแกร่งอีกครั้ง

แม้จะมีเสียงวิจารณ์และความกังวลในบางภาคส่วน แต่ในมุมมองของนักวิชาการและผู้ประกอบการ ก็ยังคงเห็นว่าการกระตุ้นการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงนี้จะสามารถเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู้ในตลาดโลกได้

ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นทันโลกในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรือด้านบริการดิจิทัล ภาครัฐและเอกชนจึงจำเป็นต้องรวมพลังกันอย่างแท้จริง

เพื่อให้การลงทุนเหล่านี้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ส่งต่อผลดี ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระยะยาว