ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์
ความทุกข์ของพ่อผู้ชรา
ผู้สูงวัย (高齢者) ในญี่ปุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีชีวิตอยู่อย่างเหงาหงอย ลูกหลานไปทำงานในเมืองใหญ่ห่างไกล จะมีโอกาสเจอหน้าปีละครั้งช่วงปีใหม่ หรือช่วงโอบ้ง (お盆) กลางปี มาเคารพสุสานบรรพบุรุษ
ผู้สูงวัยที่มีคู่ชีวิตก็อยู่ดูแลกันและกันที่ต่างก็สูงวัยด้วยกันทั้งคู่ หรือผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียว ถ้าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ก็ยังนับว่าโชคดี ใช้ชีวิตประจำวันกันไปเรื่อยๆ มีเงินเก็บส่วนตัวรวมกับเบี้ยบำนาญคนชราก็ไม่ลำบากมากนัก
แต่ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีอย่างนี้ มีผู้สูงวัยญี่ปุ่นอีกมากมายที่ต้องรับภาระหนักเกินวัย
จนถึงที่สุด หมดแรง สู้สังขารไม่ไหว สิ้นหวัง หมดความอดทน ก่อเหตุสะเทือนขวัญเป็นที่น่าสลดใจ
ที่จังหวัดชิงะ อยู่ทางทิศตะวันออกของเกียวโต คุณพ่อชราวัย 82 ปี สุขภาพทรุดโทรมลงด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และสังขารอันร่วงโรย ได้ก่อเหตุสลดใจ ปลิดชีพลูกชายคนโตวัย 50 ปี ที่ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นลูกชายที่เขาดูแลมาอย่างดีเป็นเวลารวมถึง 34 ปี อย่างไม่ย่อท้อ ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีปาฏิหาริย์ ลูกชายจะมีอาการดีขึ้น
แต่ยิ่งวันเวลาผ่านไป ความหวังก็ริบหรี่ลงทุกที ท้อแท้ อ่อนแรง ทั้งตัวเองก็ต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ เกินจะรับภาระได้
และยังห่วงว่าหากตัวเองสิ้นชีวิตไปเสียก่อน ลูกชายจะอยู่ได้อย่างไร จึงตัดสินใจใช้เชือกรัดคอลูกชายด้วยสองมือของตัวเอง โดยขอความเห็นชอบจากลูกชายก่อน
ตอนอายุ 16 ปี เป็นนักเรียนมัธยมปลาย ลูกชายคนโตของเขาแข็งแรง เป็นนักกีฬาชมรมฟุตบอล ประสบอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกชนขณะซ้อมวิ่ง สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง จากนั้นก็กลายสภาพเป็นนอนติดเตียง แขนซ้ายพอขยับได้บ้าง พูดไม่ได้แต่ส่งเสียงตอบ “อือ” “ออ” ได้
เขาให้การกับศาลว่า เชื่อว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ จึงพยายามดูแลลูกชายอย่างดีที่สุด เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สภาพเดิมให้ได้
ทนายจำเลยให้การยืนยันว่า จำเลย “ดูแลอย่างทุ่มเท” ปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน เพื่อสะดวกแก่การให้ลูกชายนั่งรถเข็นออกไปรับอากาศบริสุทธิ์ ช่วยพลิกตัวทุก 3 ชั่วโมง บีบนวดคลายกล้ามเนื้อ ช่วยอาบน้ำ ให้แช่น้ำอุ่นซึ่งต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
เขาดูแลอย่างดีจนหมอยังชื่นชมในความรักและทุ่มเทของเขา
ยามที่ร่างกายยังหนุ่ม ยังมีกำลังวังชา เขาก็ดูแลลูกชายมาอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
แต่เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา พร้อมกับต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันของตัวเองที่รุนแรงขึ้น
หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เขาคงดูแลลูกชายต่อไปไม่ไหว หากเขาเสียชีวิตไป ลูกชายต้องดิ้นรนอยู่อย่างลำบากมาก และต้องตายในที่สุด
ทำให้เขารู้สึกสิ้นหวัง
อันที่จริงแล้ว ญี่ปุ่นมีระบบประกันสุขภาพที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ โดยมีผู้ดูแลมาเยี่ยมและช่วยเหลือที่บ้าน หรืออาจส่งผู้ป่วยไปสถานบำบัดแบบไป-กลับ ในกรณีนี้พ่อเคยรับความช่วยเหลือแบบนี้ แต่ก็มีความไม่สะดวกในการรับส่งลูก เคยเกิดอุบัติเหตุ ในที่สุดปีที่ผ่านมา จำยอมฝากลูกไว้ที่สถานบำบัดในวันธรรมดา แต่ก็อดรู้สึกเป็นห่วงลูกชายไม่ได้
จำเลยไม่ได้มีลูกเพียงคนเดียว เหตุใดจึงไม่ขอให้ลูกคนอื่นช่วยแบ่งเบาภาระนี้?
เขาตอบว่า เมื่อตอนที่ลูกๆ แต่งงานแยกย้ายกันไป เขาให้สัญญาว่าจะดูแลลูกชายคนนี้เอง เพื่อให้ลูกๆ ได้สร้างครอบครัวด้วยความสุข ไร้ความกังวล
เขาจึงรับผิดชอบต่อคำมั่นสัญญาอย่างเคร่งครัด
มาถึงวันที่เขาตัดสินใจอย่างปัจจุบันทันด่วน เมื่อเขาเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง หมดแรง เซล้มลงอย่างทรมานจากอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
เขารำพึงกับลูกชายว่า “อย่างไรเสีย พ่อคงต้องตายแน่แล้ว ลูกเอ๋ย! เรามาตายด้วยกันเถิดนะ” ลูกชายนอนนิ่ง เพียงส่งเสียงตอบรับ “อือ”
เขาใคร่ครวญเรื่องนี้มากว่า 2 เดือนแล้ว ได้เตรียมซื้อเชือกมาเก็บไว้ มาถึงวันนี้ที่เขาตัดสินใจจากอาการกำเริบอย่างหนักของโรคที่เขาต้องทรมานอยู่
เขาบอกลูกชายว่า “พ่ออยากทำให้ลูกสบายให้เร็วที่สุดนะ” หลังจากนั้น เขาก็ใช้เชือกอีกเส้นรัดคอตัวเองด้วย แต่…มีคนมาพบเข้าก่อน
จำเลยมีโอกาสสามารถขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวและคนรอบข้างได้ แต่กลับไม่ทำตั้งแต่แรก กลับตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ ว่าจะเป็นการทำให้เหยื่อพ้นจากความทุกข์ทรมานได้ เมื่อพิจารณาจากความทุ่มเท ดูแลลูกชายมาอย่างดีตลอดเวลายาวนานเพียงคนเดียว ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบของพ่อที่มีต่อลูกชาย แต่กระนั้น ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะกระทำต่อผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิตได้
จำเลยกระทำความผิดฐานฆาตกรรมโดยความเห็นชอบ (承諾(しょうだく)殺人(さつじん)) ศาลตัดสินลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้รอลงอาญา 4 ปี ตามกฎหมายญี่ปุ่นมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี รวมถึงกรณีฆาตกรรมโดยการร้องขอหรือสมัครใจ (嘱託(しょくたく)殺人(さつじん)) ก็มีโทษในข่ายเดียวกัน ซึ่งพิจารณาโดยไม่เกี่ยวข้องกับแพทย์ผู้ทำการรักษา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความตื่นตัว หาทางป้องกันมิให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก จะทำอย่างไร?
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า กรณีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นคนในครอบครัว ผู้ดูแลเกิดความรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้นกับผู้ป่วย อยากทำทุกอย่างให้ด้วยตัวเอง กลายเป็นความสัมพันธ์ที่มีวงจำกัดเพียงสองคนเท่านั้น ไม่เปิดรับความช่วยเหลือจากภายนอก เมื่อถึงจุดหนึ่ง ทำให้ผู้ดูแลบางรายรู้สึกโดดเดี่ยว สิ้นหวัง ตัดสินใจก่อเหตุสลดใจขึ้นได้
จากสภาพสังคมญี่ปุ่นที่เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นอย่างมาก แม้แต่เพื่อนบ้านก็ได้แต่เฝ้าสังเกตอยู่ห่างๆ ไม่เสนอตัว ถ้าไม่ร้องขอ
ดังนั้น หน่วยงานเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องให้ความสนใจมากขึ้น แม้ผู้ดูแลไม่ร้องขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ก็ควรยื่นมือเข้าไปหา ไปพูดคุยและเยี่ยมครอบครัวผู้ป่วย หรือผู้พิการ
มองอีกแง่หนึ่งอาจเป็น “ความจุ้นจ้าน” ที่น่าจะก่อให้เกิดผลในทางที่ดีก็ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า แม้พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้ดูแลผู้ป่วยต่อไปได้ หากได้ทำความรู้จักหรือรู้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ไว้แต่เนิ่นๆ พ่อแม่ผู้ชราจะได้ไม่ต้องทุกข์ใจ
กรณีข้างต้น คุณพ่อผู้ชราปลดเปลื้องทุกข์และภาระอันหนักอึ้งไปแล้ว
แต่…ต่อจากนี้ จะมีชีวิตอยู่อย่างไร? ด้วยสำนึกว่าลูกชายจากไปด้วยน้ำมือของเขาเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022