ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | พาราตีรีตีส
จากคอลเซ็นเตอร์ถึงส่งตัวอุยกูร์
รัฐบาลไทยรับมือวิกฤตแบบใด
ในฐานะคนติดตามประเด็นระหว่างประเทศและการต่างประเทศของไทย เรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ อาจดูเหมือนค่อยๆ ซาลง (เพราะคนสนใจน้อยลง หรือรัฐบาลเพื่อไทยรีบทำให้จบแบบเงียบๆ)
แต่ปมปัญหาล่าสุดอย่างการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการส่งตัวชาวอุยกูร์ที่อ้างว่ากลับโดยสมัครใจ (แต่ทำไมต้องทำยามวิกาลและปิดเทปดำช่องไม่ให้เห็นข้างใน) เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจถึงบางแง่มุมว่า ในเชิงนโยบายและการปฏิบัติจริง สอดคล้องต้องกันแค่ไหน
เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและเตรียมรับมือไว้ในอนาคต
การจัดการเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์
บางแง่มุมจากคนหน้างาน
การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฝั่งเมียวดี-แม่สอด เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นหลังการมาเยือนของหลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ พบทั้งทางการฝั่งไทยและซอชิตตู่ ผู้นำกลุ่มติดอาวุธกะเหรี่ยงพุทธ หรือกองกำลังป้องกันชายแดน (BGF) ซึ่งได้กลายเป็นปมถกเถียงถึงอำนาจอธิปไตยของไทยในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติว่า ทำไมไทยถึงไม่สามารถจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเองได้ ต้องรอให้ชาติอื่นกดดัน แล้วยิ่งเป็นชาติมหาอำนาจอย่างจีนเข้ามาด้วย ยิ่งถูกตอกย้ำภาพไทยเป็นประเทศลูกไล่ของจีน
เรื่องของการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สำหรับไทยไม่ใช่แค่ปัญหาที่ไม่สามารถแสดงบทบาทที่จริงจังเพียงพอ ยังมีเรื่องประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาในภาวะวิกฤตกับคนที่เข้าร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งที่เป็นเหยื่อจากการถูกล่อลวงและมีบางส่วนที่เข้าร่วมอย่างเต็มใจ มีหลายชาติทั้งจากเอเชียและแอฟริกา เป็นจำนวนหลายพันคน
แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามซึ่งทำหน้าที่ด้านการทูตและได้ร่วมปฏิบัติการการคัดแยกเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่แม่สอด เปิดเผยว่า ทางการไทยรับมือกับคนจำนวนมากในเรื่องนี้อย่างไม่เป็นระบบ ตั้งแต่เจ้าภาพหลักที่ไม่รู้ว่าต้องฟังใคร ใครคือหัวเรือเฉพาะกิจที่ต้องสั่งการแล้วหน่วยงานอื่นทำตาม
แต่ที่เห็นคือ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศของไทย ฝ่ายความมั่นคง ต่างคนต่างแยกกันทำ ไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจ ทั้งๆ ที่งานนี้กระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องเป็นเจ้าภาพที่นำทุกหน่วยในการกำหนดทิศทางและแผนปฏิบัติ ส่วนฝ่ายความมั่นคงและหน่วยทหารในพื้นที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน
นอกจากนั้น แม้แม่สอดจะเป็นเมืองการค้าชายแดนสำคัญของไทย แต่ด้วยลักษณะที่เป็นเมืองเล็ก สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน จึงไม่ครบครันเหมือนเมืองใหญ่
ทั้งที่พักและโรงพยาบาลในการรองรับเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ต้องรักษาตัวหรือตรวจร่างกายจากการถูกทารุณกรรมอย่างโหดร้าย สภาพการดูแลเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงกลายเป็นความยากลำบาก ยิ่งพอเหยื่อเป็นคนจากหลากหลายชาติ กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ทูตและกงสุลของแต่ละประเทศที่เข้ามาดูแล ต้องหาที่พักและสถานพยาบาลกันเอง
พออนุมานได้ว่า การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลังการมาเยือนของหลิว จงอี้ ถูกจัดการอย่างเร่งรีบ ไม่มีแผนรับมือที่ดีพอ หากมีแผนรองรับแต่โครงสร้างพื้นฐานในแม่สอดไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร
เรื่องเล่าที่ออกจากสื่อ กับสภาพจริงหน้างาน เรียกว่า “หนังคนละม้วน”
ส่งตัว 40 ชาวอุยกูร์ให้จีน
ความไม่ซื่อตรงและการตกเป็นเบี้ยล่าง
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการไทยได้ทำสิ่งที่หลายฝ่ายเตือนแล้วแต่ก็ยังคิดจะทำคือการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนกลับไปให้จีน ทั้งๆ ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนและหลายประเทศเรียกร้องให้ทางการไทยทบทวนการกระทำนี้ แต่กลางดึกของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ รถบรรทุกลำเลียงนักโทษของตำรวจหลายคันที่ถูกเทปดำปิดช่องหน้าต่างจนไม่เห็นอะไรข้างใน วิ่งออกจากสถานกักตัวคนต่างด้าว ตม.สวนพลู ไปยังสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องบินที่จีนเตรียมไว้ บินกลับไปยังซินเจียง
ภาพรถลำเลียงปิดมิดชิดออกจาก ตม.สวนพลูเหล่านี้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงการกระทำของทางการไทย แต่รัฐบาลปฏิเสธกับสื่อว่าไม่ได้ส่ง จนสำนักข่าวของรัฐบาลจีนเผยแพร่รายงานข่าวการรับตัวชาวอุยกูร์ (ซึ่งทางการจีนแปะป้ายว่าเป็น “ชาวจีนหนีเข้าเมือง”) รัฐบาลไทยก็ต้องยอมรับกลายๆ แล้วพูดแบบเดียวกับที่สื่อจีนเล่า และเสริมว่าเป็นการตกลงกันระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับผู้นำจีนที่ปักกิ่ง นี่เป็นครั้งที่ 1 ที่รัฐบาลไทยสื่อสารไม่ซื่อตรงและทำหลบๆ ซ่อนๆ และคิดว่าอย่าให้มีครั้งที่ 2 แต่กลับไม่ใช่
ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจากการตอบโต้กันระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลไทย เรื่องมีประเทศที่สามเสนอรับตัวชาวอุยกูร์ แต่ทางฝั่งรัฐบาลไทยทั้งภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม และคุณรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศบอกไม่มี จนรอยเตอร์รายงานว่า มีทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา สวีแดน และออสเตรเลีย ร้องกับทางการไทยหลายครั้ง แต่ทางการไทยกลับไม่สน
และตอกย้ำไปอีกกับหนังสือจากทางการจีนถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่ส่งมาเมื่อ 8 มกราคม ให้ส่งตัวชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยให้กับจีน ต่อมาทั้งบัวแก้ว สภาความมั่นคงแห่งชาติ มีมติในช่วงกลางเดือนมกราคมให้ส่งตัว แต่เรื่องรั่วไปถึงองค์กรสิทธิฯ ส.ส.ฝ่ายค้านสภาอุยกูร์โลก รวมถึงไบรอัน แมสต์ ปธ.กมธ.ต่างประเทศสหรัฐ และยัง คิม ปธ.อนุกรรมการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เรียกร้องทางการไทยไม่ให้ส่งตัว แต่ทางการไทยก็ตัดสินใจในที่สุด
คุณรัศม์กล่าวกับที่ประชุม กมธ.ความมั่นคงเมื่อ 6 มีนาคม ยอมรับว่ามีประเทศที่เสนอตัวรับชาวอุยกูร์ แต่ที่ต้องเลือกส่งกลับไปเพราะไม่อยากมีปัญหากับจีน และเชื่อมั่นว่าเป็นการตัดสินใจบนผลประโยชน์ของชาติที่ดีที่สุดแล้ว
เป็นครั้งที่ 2 ที่ไม่เพียงให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกสื่อ ยังอ้างผลประโยชน์ที่แลกด้วยการละเมิดกฎสากลเต็มๆ
ประเด็นอุยกูร์และซินเจียง ทางการจีนพยายามสร้างภาพเป็นดินแดนที่จีนดูแลดี มีความยุติธรรม เคารพความหลากหลาย แต่อีกด้านจากเรื่องราวที่ชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัย จีนดำเนินนโยบาย Strike Hard ตั้งแต่ปี 2016 สร้างค่ายกักกันชาวอุยกูร์หลายแสนคน ควมคุมการเดินทางชาวอุยกูร์อย่างเข้มงวด หนักถึงขั้นยึดหนังสือเดินทางของชาวอุยกูร์ในภูมิภาคโดยพลการและคุมขังชาวอุยกูร์ที่ติดต่อกับคนต่างชาติ
ไม่นับการจำกัดเสรีภาพหลายด้านและนำหลักสังคมนิยมจีนกับวัฒนธรรมจีนฮั่นเข้าแทนที่วัฒนธรรมเตอร์กิสมุสลิม แล้วทางการไทยเชื่อมั่นว่าจีนจะดูแลชาวอุยกูร์ให้มีความสุขได้อย่างไร นอกจากความสงบเพราะความหวาดกลัว
ล่าสุด 13 มีนาคม สมาชิกสภายุโรป ยกมือโหวตท่วมท้น 482 เสียง ประณามไทยกรณีส่ง 40 อุยกูร์ให้จีน และเรียกร้องให้ใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกดดันให้ไทยปฏิรูปสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงประเด็นมาตรา 112 และนักโทษการเมือง อีกทั้งไชน่า เฉิงซิน อินเตอร์เนชั่นแนล เครดิต เรตติ้ง ของจีนได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของไทย จาก A- เป็น BBB+ โดยยกกรณีอาชญากรรมข้ามชาติของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยมีส่วนร่วมการทุจริตหาผลประโยชน์อีก
ต้องถามว่านี่คือ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ที่เราคาดหวังไว้หรือไม่
กรณีเหล่านี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ควรถอดบทเรียนว่า รัฐบาลสามารถบริหารจัดการวิกฤต จากที่เลวร้ายให้กลายเป็นหายนะต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นทั้งกับสาธารณชนชาวไทยและประชาคมระหว่างประเทศได้ยังไง เราจะพึ่งพาชาติใด
ต้องชั่งน้ำหนักว่าคุ้มค่าต่อศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นของเราที่มีอยู่แค่ไหน คิดทำอะไรแม้ต้องปกปิดแค่ไหน คนนอกก็เห็นเช่นกันกับคนในประเทศ อย่าลืมว่า เราเป็นประเทศสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง หลายชาติเฝ้ามองเรา เราก็ควรทำตัวให้น่ามองด้วย
หรือนี่เป็นอีกวิธีที่รัฐบาลบอกกับเราว่า จะพาประเทศไทยกลับสู่จอเรดาร์โลกก็เป็นได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022