‘เด็กดื้อ’ ปะทะ ‘ผู้ใหญ่ด้าน’

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

‘เด็กดื้อ’ ปะทะ ‘ผู้ใหญ่ด้าน’

 

วิวาทะในสภาเมื่อสัปดาห์ก่อนมีประเด็นเรื่องนักการเมืองรุ่นใหม่ “ดื้อ” ทำให้การเมืองเดินหน้าไม่ได้

ขณะที่มีเสียงโต้ว่า “เด็กดื้อ” ก็ยังดีกว่า “ผู้ใหญ่ด้าน”

ได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดแรงบันดาลใจอยากจะทำความเข้าใจกับพฤติกรรม “ดื้อ” กับ “ด้าน” ขึ้นมาโดยฉับพลัน

พอลงลึกลงไปก็จะเห็นว่าคำว่า “ดื้อ” กับ “ด้าน” อาจจะกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนต่างวัยก็ได้

ยิ่งหากเป็นประเด็นการเมืองด้วยแล้ว การตีความคำว่า “ดื้อ” กับ “ยืนหยัด” ก็อาจจะกลายเป็นสนามรบระหว่างวัยกับอำนาจ

เอ่ยเอื้อนถึงคำว่า “ดื้อ” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเด็กเล็กที่ไม่ยอมเชื่อฟังพ่อแม่

แต่ก็ใช่ว่าคนอายุน้อยจะผูกขาดคำนี้ไว้แต่เพียงรุ่นเดียว

เพราะอีกบริบทหนึ่งผู้สูงวัยที่ใครพูดอะไรก็ไม่ฟังแล้วเถียงข้างๆ คูๆ ไปเรื่อยๆ ก็เรียกขานว่าเป็นคน “ดื้อ” ได้เช่นกัน

แต่พอฟังการอภิปรายในสภาวันก่อน ทำให้ผมเริ่มจะเปลี่ยนความคิดเดิมๆ

เพราะฟังความรอบข้างแล้วก็ดูเหมือนว่าคำว่า “ดื้อ” ไม่ได้ใช้แบ่งโซนของเด็กหรือคนแก่เท่านั้น

ฟังจากเสียงตอบโต้อันดุเดือดของ “สมาชิกผู้ทรงเกียรติ” ในสภานิติบัญญัติวันนั้นแล้วผมก็สรุปว่า คำว่า “ดื้อ”ได้กลายเป็นอาวุธที่ใช้โจมตีนักการเมืองระหว่างรุ่น

หรือไม่ก็เป็นการปะทะแนวคิดที่แตกต่างกันขึ้นมาแล้ว

มองจากมุมหนึ่งเมื่อคนแก่ดื้อ เท่ากับหัวรั้น แต่เมื่อคนรุ่นใหม่ดื้อ เท่ากับมีอุดมการณ์ใช่หรือไม่?

หรือหากคนแก่กล่าวหาว่าคนรุ่นใหม่ดื้อ นั่นแปลว่าคนวัยสูงกว่ากำลังบอกคนรุ่นที่ตามมา “ไร้เดียงสา” หรือ “ขาดประสบการณ์บ่มเพาะเพียงพอ” ใช่หรือไม่?

เวลาคนสูงวัยปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ยอมเปิดรับความเปลี่ยนแปลง หรือยืนยันว่า “สมัยฉันมันดีกว่า” ก็อาจถูกตราหน้าว่า “หัวรั้น” หรือ “ไร้เหตุไร้ผล”

เหมือนเป็นการปิดกั้นความคิดใหม่ๆ ที่อาจช่วยให้ชีวิตดีขึ้น

แต่พอคนรุ่นใหม่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเชื่อมั่นว่าเป็นค่านิยมสากลที่ทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือการตั้งคำถามกับโครงสร้างอำนาจดั้งเดิม คนรุ่นก่อนกลับหันมาว่า “ทำไมดื้อจัง?”

ราวกับว่าคำว่า “ดื้อ” เป็นแค่ข้ออ้างของคนที่ไม่อยากยอมรับว่าตัวเองต้องปรับตัว

ทำให้ผมต้องมาปรับแก้คำถามใหม่ว่า “ดื้อ” กับ “ตั้งมั่น” เป็นคำที่สะท้อนช่องว่างระหว่างวัยหรือช่องว่างระหว่างหลักการกันแน่?

 

พอพิเคราะห์ให้รอบด้านก็พบว่าประเด็นนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับอายุเท่านั้น แต่อาจสะท้อนถึงช่องว่างระหว่างหลักการ มากกว่าช่องว่างระหว่างวัยด้วยซ้ำ

เพราะเมื่อคนรุ่นใหม่ยึดมั่นในหลักการ เช่น ความถูกต้อง ความเท่าเทียม การเปิดเผยข้อมูล คนที่ได้รับผลกระทบจากหลักการเหล่านั้น (ซึ่งมักเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่มีอำนาจ) ก็อาจหาทางบิดเบือนให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องของ “ความดื้อดึง” ไร้เหตุผล เพื่อหลีกเลี่ยงการรับผิดชอบ

ละม้ายกับที่เราได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับหลักการ vs. หลักกู

ถ้าอาการ “ดื้อ” ของคนรุ่นใหม่คือการไม่ยอมโอนอ่อนให้กับสิ่งที่ผิดหลักการ

พวกเขาและเธอจะยืนยันว่าเป็น “การยืนหยัดในหลักการ”

แต่ถ้าคนที่บอกว่าตัวเองมีประสบการณ์มากกว่าใช้ความเชื่อและมั่นใจส่วนตนเป็นข้ออ้างเพื่อปิดกั้นความคิดเห็นอื่นๆ นั่นอาจเป็นเพียง “หลักกู”

ที่ไม่ได้ยึดอะไรเลยนอกจากอัตตาและความยโสโอหังของตัวเอง

ดังนั้น คำว่า “ดื้อ” ในวันนี้ อาจไม่ใช่เพียงคำด่าหรือคำตำหนิ แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้โจมตีกันระหว่างผู้ที่อยากรักษาอำนาจกับผู้ที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น…หรือไม่?

มันก็หนีไม่พ้นคำถามที่ว่าแล้วสุดท้าย…คน “ดื้อ” เพราะมีหลักการ หรือแค่ “ดื้อ” เพราะมีหลักกู กันแน่?

 

แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่าเด็ก “ดื้อ” ที่เอาแต่ใจตัวเองกับคนแก่ “ดื้อตาใส” มีความหมายทางการเมืองอย่างไร

กลายเป็นประเด็นว่าด้วย “การเมืองของความดื้อ” ขึ้นมาทีเดียว

เพราะเอาเข้าจริงๆ คำว่า “ดื้อ” ไม่ได้มีแค่ในชีวิตประจำวันที่ใช้ตำหนิหรือเสียดสีกันเล่นๆ ระหว่างพ่อแม่ลูกหรือเพื่อนฝูงที่คบหากันอย่างสนิทสนมเท่านั้น

แต่ยังสะท้อนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองได้อย่างน่าแปลกใจไม่น้อย

เด็กดื้อที่เอาแต่ใจตัวเอง มักถูกมองว่าเป็นคนไม่มีเหตุผล เอาแต่โวยวายโดยไม่มีเป้าหมายชัดเจน

ในแง่การเมือง พวกเขาถูกมองว่าเป็นพวก “หัวรุนแรง ไร้เดียงสา” ที่ไม่เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริง

ส่วนคนแก่ดื้อตาใส กลับมีภาพลักษณ์ตรงกันข้ามอย่างน่าฉงนยิ่ง

แม้จะ “ดื้อ” เหมือนกัน แต่คนแก่ที่ดื้อมักได้รับการมองว่า มีประสบการณ์ และ รู้ว่าโลกทำงานอย่างไร

จึงสามารถใช้ความ “ดื้อตาใส” ของตนเองเพื่อรักษาอำนาจ หรือทำให้ตนเองดูน่าเชื่อถือ

ผลก็อาจจะออกมาในลักษณะที่ว่า

เด็กดื้อถูกทำให้เป็นตัวปัญหา

ส่วนคนแก่ดื้อกลับถูกทำให้เป็นผู้มีอำนาจ

เหล่านี้กลายเป็นเรื่องของ ความดื้อดึง ไร้เหตุผล เพื่อหลีกเลี่ยงการรับผิดชอบ

 

ต่อมาอีกไม่กี่วัน แวดวงการเมืองก็ร้อนรุ่มกับคำว่า “เล่นตามกติกา”

และอย่า “ทำตัวอย่างน่ารำคาญ”

ตอกย้ำว่าคนรุ่นใหม่ทวงถามคนรุ่นก่อนให้ “ทำตามกติกา” กลับถูกย้อนศรว่านักการเมืองรุ่นใหม่นี่แหละที่ “อย่าทำนอกกติกา”

เพียงเพราะนักการเมืองรุ่นใหม่ขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ที่ต้องโยงไปถึงพ่อที่ประกาศตนเป็น สทร.

อันหมายถึงการเข้าไปยุ่งได้กับทุกเรื่อง

เจ้าตัวยืนยันว่าการพูดอะไรทำอะไรทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามกติกา

คนรุ่นใหม่แย้งว่านั่นเป็นการล้ำเส้นออกนอกกฎเกณฑ์ภายใต้กรอบที่คนทั่วไปเข้าใจแล้ว

ผู้อาวุโสกลับโต้ว่านักการเมืองรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามทะลุทะลวงถึงเขาเป็นการทำ “ผิดกติกา”

พร้อมสำทับด้วยคำเตือนว่าหากยังขืนทำเช่นนั้นก็จะเป็นการทำให้การเมืองต้องมีอัน “เสียหาย” ไปได้

 

ผมจับบทแลกเปลี่ยนหลังนี้เข้าในกรอบเดียวกับวิวาทะ “ดื้อ” กับ “รั้น” อีกเช่นกัน

เพราะมันไม่เกี่ยวกับวัย…แต่เป็นเรื่องหลักการและวิธีคิดเช่นกัน

แต่ถ้ามาถึงเรื่อง “สร้างความรำคาญ”

ก็อาจจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยสิ้นเชิง

เพราะการที่ใครจะแสดงความรำคาญใครนั้นไม่ได้เกี่ยวกับวัยหรือหลักการหรือสถานภาพทางการเมืองหรือสังคมแต่ประการใดทั้งสิ้น

รำคาญย่อมหมายถึงการทำให้ระคายเคือง, เดือดร้อนหรือหงุดหงิด

ในชีวิตประจำวันคำนี้อาจจะไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรมากนักเพราะความรู้สึก “รำคาญ” มีความร้ายแรงในระดับต่ำกว่า “โกรธ” หรือ “ฉุนเฉียว” หรือ “เคียดแค้น” มากมายนัก

แต่อย่าได้ประมาทเป็นอันขาด

หากผู้อาวุโสที่กำลังร้อนรนเพราะนักการเมืองรุ่นใหม่รุกหนัก เกิดกระแสสังคมที่เริ่มเห็น “ความดื้อ” เป็น “ความมุ่งมั่น” และ “เจตจำนงแน่วแน่” ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอันพึงปรารถนาอย่างน่าชื่นชม

คำว่า “รำคาญ” ก็อาจจะเป็นเพียงคำที่ซ่อนไว้ซึ่งความหมายที่หนักหน่วงรุนแรงกว่าที่เราคาดคิด

เพราะถ้าแค่เป็นเพียง “ความรำคาญ” ปกติของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กก็จะไม่ถึงขั้นเตือนสติว่าการเลือกตั้งยังอีกนาน อย่าเพิ่งเริ่มกดดันคนแก่ด้วยความเคลื่อนไหวที่กระทบความมั่นใจของผู้มีอำนาจวันนี้

“ปฏิบัติการดื้อ” ของการเมืองใหม่ที่เป็นภัยคุกคามต่อ “ความรั้น” ของการเมืองแบบเก่าอย่างฉกาจฉกรรจ์ยิ่ง!