ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูตรัสเซีย | เยฟกินี โทมิคิน
การเมืองโลกมักจะจบลงที่ ‘ผลประโยชน์’ (จบ)
“รัสเซียมีบทบาทอย่างแข็งขันในเวทีโลกมาโดยตลอด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราให้ความสนใจเป็นพิเศษกับสถานการณ์ในซูดานใต้, ภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศที่เกิดจากการก่อการร้าย, สถานการณ์ในซีเรีย, เยเมน, ลิเบีย, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ซูดาน, การตั้งถิ่นฐานในตะวันออกกลาง, บทบาทของกองกำลังตำรวจในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 80 ปีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ
ข้อหลังนี้ มีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะการก่อตั้งสหประชาชาติเป็นผลจากชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประสบความสำเร็จได้ด้วยความกล้าหาญของทหารโซเวียตและชีวิตพลเมืองนับล้านของสหภาพโซเวียต รวมถึงรัฐอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมต่อต้านฮิตเลอร์ ซึ่งสหพันธรัฐรัสเซียสืบทอดตำแหน่งต่อจากสหภาพโซเวียตที่ร่วมก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ
ชุมชนโลกจึงมีเวทีในการเจรจาระดับโลกที่เป็นเอกลักษณ์ในด้านตัวแทนและความชอบธรรม ในขณะเดียวกัน ระบบที่เน้นสหประชาชาติกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต องค์กรนี้ถูกกล่าวหาว่าใช้ระบบราชการมากเกินไป เกิดความซ้ำซ้อน ใช้เงินทุนอย่างไม่สมเหตุสมผล ฯลฯ เราควรดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นี้”

ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายระดับโลกที่สำคัญ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันเพื่อทำความเข้าใจสาเหตุและหาทางแก้ไขเพื่อบรรเทาและปรับตัว ครอบคลุมถึงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนานโยบาย และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำหรับภูมิอากาศในเขตละติจูดสูง เป็นเรื่องสำคัญตามการประมาณการที่มีอยู่
ภูมิภาคอาร์กติก ในเวลานี้อุณหภูมิอุ่นขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียส – เร็วกว่าสองเท่า เมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของโลก สิ่งที่เกิดตามมาสร้างผลสะเทือนไปทั่วทุกที่ ธารน้ำแข็งที่ละลายส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้มีเทนและคาร์บอนที่ถูกสะสมในชั้นดินเยือกแข็งถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศกลายเป็นตัวเร่งกระบวนการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในขณะเดียวกัน ภาวะโลกร้อนยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินเรือตามเส้นทางแม่น้ำและมหาสมุทรทางตอนเหนือ ทำให้การส่งมอบสินค้าไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากในภาคเหนือสุดมีความเป็นไปได้มากขึ้น
รัสเซียจึงเรียกร้องให้ชุมชนโลกดำเนินการร่วมกันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเชื่อว่าโครงการพลังงานนิวเคลียร์และป่าไม้สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายนี้ได้”

การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
“ภัยคุกคามจากการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ยังคงเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ร้ายแรงที่สุดต่อความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ
ประเทศของเราเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการพัฒนาพื้นฐานของระบอบการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ นั่นคือ สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty หรือ NPT)
รัสเซียปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในด้านการปลดอาวุธอย่างเต็มที่
ผู้แทนรัสเซียสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าสงครามนิวเคลียร์ไม่มีผู้ชนะ และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นเด็ดขาดในทุกสถานที่ที่เกี่ยวข้อง”

อนาคตของระบบพหุภาคี
ในภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
“เกือบ 80 ปีที่ผ่านมา สหประชาชาติได้ดำเนินภารกิจที่สำคัญที่สุดที่ได้รับมอบหมายจากบรรพบุรุษผู้ก่อตั้ง เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ความเข้าใจร่วมกันของสมาชิกถาวรทั้งห้าของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับอำนาจสูงสุดของจุดประสงค์และหลักการของกฎบัตรได้ประกันความมั่นคงระดับโลก
และด้วยเหตุนี้ จึงได้สร้างเงื่อนไขสำหรับความร่วมมือพหุภาคีอย่างแท้จริง ซึ่งควบคุมตามบรรทัดฐานที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ
ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ระบบที่เน้นที่สหประชาชาติกำลังประสบกับวิกฤตการณ์ร้ายแรงในปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากความปรารถนาของสมาชิกแต่ละคนขององค์กรจะแทนที่กฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติด้วย ‘ระเบียบที่อิงตามกฎเกณฑ์’ โดยที่ ‘กฎเกณฑ์’ เหล่านี้ไม่ได้เป็นหัวข้อของการเจรจาระหว่างประเทศที่โปร่งใส ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน
เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อต่อต้านกระบวนการตามธรรมชาติของการก่อตั้งและการเสริมสร้างศูนย์พัฒนาอิสระแห่งใหม่ ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของความเป็นพหุภาคี”

บทบาทของรัสเซีย
ในการส่งเสริมสันติภาพ
และความมั่นคงของโลก
“เป็นไปไม่ได้เลยที่จะจินตนาการถึงโลกสมัยใหม่ที่ปราศจากรัสเซียในฐานะมหาอำนาจโลกที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อกระบวนการของโลก
ในศตวรรษที่ 21 รัสเซียจะเข้ามามีส่วนสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงยูเรเซีย (Eurasia) ให้เป็นพื้นที่แห่งสันติภาพและเสถียรภาพ ที่ซึ่งมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองจะมีบทบาทสำคัญ ในเรื่องนี้ สหพันธรัฐรัสเซียมีแผนที่จะร่วมมือกับรัฐอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ‘เส้นแบ่ง’ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
มอสโกเชื่อว่าจำเป็นต้องสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งจะช่วยให้รัฐต่างๆ สามารถมั่นใจในความปลอดภัยของตนเอง รักษาเอกลักษณ์ของตน และยังคงเปิดกว้างต่อการพัฒนาต่อไป”
รัสเซียเตรียมฉลองครบรอบ 80 ปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง หรือที่เรียกว่า มหาสงครามรักชาติ (Great Patriotic War)
“เรามีแผนที่จะจัดงานต่างๆ มากมาย เช่น นิทรรศการ การฉายภาพยนตร์ การเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เนื่องในโอกาสครบ 80 ปี มหาสงครามของผู้รักชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวรัสเซียทุกครอบครัวไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด และเราจะร่วมฉลองวันครบรอบที่สำคัญนี้ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน”
สำนักข่าวทาสส์ (TASS) ของรัสเซียรายงาน (10 กุมภาพันธ์ 2025) ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ตอบรับคำเชิญในการเข้าร่วมงานครบรอบ 80 ปี ที่สหภาพโซเวียตมีชัยชนะต่อนาซีของเยอรมนี ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดงานวันที่ 9 พฤษภาคม 2025 ที่กรุงมอสโกของรัสเซีย

ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียในปัจจุบัน
“ผมพูดด้วยความมั่นใจว่ารัสเซียและไทยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีในปีนี้ไม่เพียงแต่ภายใน BRICS แต่เราให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในสหประชาชาติเสมอมา ดังที่ไทยชนะการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nation Hurman Rights Council) วาระปี 2025 ถึง 2027 รัสเซียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่โหวตให้ประเทศไทย
ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัสเซียและไทย ดำเนินการในโครงสร้างระดับภูมิภาค เช่น ASEAN และเราสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อเป้าหมายของไทยในการพัฒนาความสัมพันธ์ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ซึ่งไทยรับมอบตำแหน่งประธานในปีนี้
เมื่อปีที่แล้ว เราได้เปิดตัวปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวข้ามชาติระหว่างรัสเซียและไทย ในโอกาสนี้ นางโอลก้า ลูย์บีโมวา (Mrs.Olga Lyubimova) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมสหพันธรัฐรัสเซียได้มาเยือนกรุงเทพฯ เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิด ได้มีการจัดนิทรรศการพระมหากษัตริย์แห่งสยามเยือนพระราชวังปีเตอร์ฮอฟ และงานเปิดโลกรัสเซียขึ้น
นอกจากนั้น ยังจัดการแสดงของคณะนักร้องประสานเสียงเพลงพื้นบ้าน Pyatnitsky, โรงละคร Bolshoi ของรัสเซียจัดแสดงบัลเล่ต์เรื่อง Swan Lake ซึ่งมาแสดงที่นี่เป็นครั้งแรกและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ชมชาวไทย รวมถึงนักบัลเล่ต์ชาวรัสเซียจากโรงละครโอเปร่าและบัลเล่ต์ Novosibirsk ซึ่งมาแสดงที่นี่เป็นครั้งที่สาม โดยครั้งนี้มีการแสดงเรื่อง Don Quixote, Spartacus และ Carmen Suite และพวกเขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชนชาวไทยเช่นกัน
ในบรรดากิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ การแสดงของคณะนาฏศิลป์พื้นบ้านของรัสเซียเรื่อง Liubo-Milo ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ รวมถึงการแสดงของวงดนตรีประสานเสียง Turetsky Choir ณ เมืองพัทยา เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมภาพยนตร์รัสเซียที่นี่อย่างแข็งขัน โดยเป็นปีที่สี่ติดต่อกันที่เราได้ฉายภาพยนตร์รัสเซียสมัยใหม่หลายเรื่อง ณ โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ
แม้จะมีความแตกต่างที่ชัดเจนบางประการ แต่ผมเชื่อมั่นว่าเรามีความคล้ายคลึงกันมากกว่าปกติ และในการทำงานของเรา เราพยายามเน้นที่สิ่งที่ทำให้เราชาวรัสเซียและชาวไทยเหมือนกันมากกว่าความแตกต่าง เราจะพยายามต่อไปเพื่อนำวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ตลอดประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานของเรา มีพื้นฐานอยู่บนความเคารพซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจ ความไว้วางใจ และความเปิดกว้าง รากฐานอันยอดเยี่ยมนี้ช่วยให้เราสามารถบรรลุศักยภาพร่วมกันในหลายด้าน เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับทุกแง่มุมของการปฏิสันถารระหว่างกัน
ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้นานถึง 60 วัน ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย 1.75 ล้านคนเดินทางมาประเทศไทย และที่ภูเก็ตนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียครองอันดับ 1 เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี”
เอกอัครราชทูตเยฟกินี โทมิคิน สรุปว่า
“เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานท้องถิ่น รู้สึกขอบคุณหน่วยงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้องของไทยสำหรับความพยายามในการมอบโอกาสให้นักท่องเที่ยวของเราได้ชื่นชมประเทศที่สวยงามแห่งนี้”
อย่างไรก็ตาม สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียและยูเครนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลกในหลายมิติรวมทั้งประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศอย่างเข้มแข็งต่อไป เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
คุยกับทูตรัสเซีย | เยฟกินี โทมิคิน การเมืองโลกมักจะจบลงที่ ‘ผลประโยชน์’ (1)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022