ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
เรื่องราวที่น่าติดตาม ความเป็นไปเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ในฐานะ “ผู้เล่น” สำคัญในสังคมไทย
เรื่องราวครอบครัวไทยผู้ร่ำรวยนั้นได้นำเสนอให้อ้างอิง โดยสื่ออเมริกันอีกราย-Blomberg ให้ภาพโฟกัสทั้งภูมิภาคเอเชีย ที่น่าทึ่งมีครอบครัวไทยอยู่ใน 20 อันดับ ถึง 3 ราย ใน “Asia’s 20 Richest Families-2025” (12 กุมภาพันธ์ 2568)
น่าเสียดายในนั้นไม่มีครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นที่คาดหมาย มีความเคลื่อนไหวคึกคักตั้งแต่ต้นปีมานี้ ในนามกลุ่มธุรกิจที่แตกต่างกันไป หากไม่รู้ดูไม่เชื่อมโยงกัน แต่สำหรับผู้คนสนใจใคร่ติดตาม พอจะทราบว่ามาจากครอบครัวธุรกิจเดียวกัน-ตระกูล สิริวัฒนภักดี
“สำหรับผู้ร่ำรวยไทยใน list เป็นรายชื่อที่รู้ๆ กัน ในฐานะธุรกิจซึ่งปักหลักในสังคมไทยมานาน ตระกูลเจียรวนนท์ แห่งซีพี มักอ้างอิงยุคก่อตั้งย้อนไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อศตวรรษที่แล้ว ส่วนอีก 2 ราย-ตระกูลอยู่วิทยา กับ ตระกูลจิราธิวัฒน์ ก่อตั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อีกมิติหนึ่ง ทั้งสามตระกูล ล้วนมีเครือข่ายในต่างประเทศ” (เรื่อง “ครอบครัวผู้ร่ำรวย” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568) ตอนที่ว่าไว้ ให้เทียบเคียงกับกรณีตระกูลสิริวัฒนภักดี
ดูแล้วพอเทียบเคียงได้กับตระกูลอยู่วิทยา ในประเด็นเกี่ยวกับรุ่น (generation) “อยู่วิทยา” ได้ผ่านรุ่นบุกเบิก สู่รุ่นที่ 2 อย่างเต็มตัว ขณะ “สิริวัฒนภักดี” ยังคาบเกี่ยวกันระหว่างรุ่นบุกเบิกกับรุ่นที่ 2 ส่วนมิติว่าด้วยบริบทและอิทธิพลทางสังคมนั้น เชื่อว่าผู้อ่านที่ติดตามต่อเนื่อง คงจะต่อภาพได้ไม่มากก็น้อย
เฉลียว อยู่วิทยา ผู้วายชนม์ (2466-2555) ผู้บุกเบิกธุรกิจครอบครัว เข้าสู่สังคมธุรกิจไทยครั้งแรกๆ ด้วยเชื่อมโยงกับบริษัทยาระดับภูมิภาค–Zuellig Group (ขณะนั้นชื่อ FE Zuellig) ซึ่งมาก่อตั้งกิจการในประเทศไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (2492)
จากนั้นไม่นาน เฉลียว อยู่วิทยา ได้ออกมาสร้างกิจการตนเองขึ้น-ทีซีมัยซิน (ก่อตั้งปี 2509) ซึ่งถือเป็นจุดตั้งต้นสำคัญ
ส่วน เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้เกิดและมาทีหลังเกือบ 2 ทศวรรษ (2487-ปัจจุบัน) ในฐานะผู้บุกเบิก “…เริ่มจากกิจการขนาดเล็กเมื่อปี 2503…” แม้ข้อมูลทางการ (ww.tcc.co.th) ว่าไว้อย่างนั้น
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า Website ทางการข้างต้นซึ่งให้ข้อมูลพื้นฐานไว้คร่าวๆ “กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ TCC Group เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งของคนไทย ซึ่งได้ก่อกำเนิดขึ้นจากพื้นฐานความตั้งใจของคุณเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี…” ไม่มีการปรับปรุงมานานพอสมควรทีเดียว
ผมเองเคยคาดไว้ว่า website นี้ (www.tcc.co.th) สร้างขึ้นในระยะเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงความพยายามปรับตัวครั้งสำคัญ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2544 ตั้งตัวขึ้นอย่างมั่นคง หลังจากวิกฤตการณ์ปี 2540 ด้วยความเคลื่อนไหวอันคึกคัก มีดีลใหญ่ๆ อย่างต่อเนื่อง
ปี 2544 เข้าซื้อกิจการ บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC (ชื่อย่อในตลาดหุ้น) เป็นผู้รุกเข้าธุรกิจอุตสาหกรรม และสินค้าคอนซูเมอร์ ถือเป็นแผนการของกลุ่มทีซีซีในการขยายเส้นทางธุรกิจใหม่ครั้งแรกๆ
ปี 2546 เริ่มต้นยุคใหม่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการร่วมทุนครั้งใหญ่ระหว่าง TCC Land จากประเทศไทย และ CapitaLand จากสิงคโปร์ โดยชื่อว่า TCC Capital land นับเป็นครั้งแรกที่มีผู้ร่วมทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย
ในปีนั้นเอง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้น (ตุลาคม 2546) โดยรวมกิจการผลิตเบียร์และสุรา ของกลุ่มทีซีซี รวมทั้งการซื้อกิจการเพิ่มเติมในช่วงนั้น เข้ามาเป็นกลุ่มบริษัท เป็นจุดเริ่มต้นความพยายามอย่างยิ่งในการเข้าตลาดหุ้นไทย แต่ด้วยการต่อต้านจากองค์กรเอกชน และองค์การศาสนาพุทธ
ในที่สุดจึงหันเหไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) (30 พฤษภาคม 2549)
จากนั้นนาม เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ถูกกล่าวถึงในระดับโลกมากขึ้น Forbes นิตยสารธุรกิจของสหรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าของการจัดอันดับความร่ำรวยของนักธุรกิจทั่วโลก โดยได้จัดอันดับ Southeast Asia’s 40 richest เป็นครั้งที่สองในปี 2548 ปรากฏ เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าอันดับมาใหม่เป็นครั้งแรก อยู่ในทำเนียบเดียวกันกับ ธนินท์ เจียรวนนท์ และ เฉลียว อยู่วิทยา
ทั้งนี้ Forbes ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า หลังจากพยายามนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนั้น กลุ่มทีซีซีจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลกิจการในเครือข่ายมากขึ้น
ถือเป็นปรากฏการณ์ย้อนแย้งกับบุคลิกของเจริญ สิริวัฒนภักดี อยู่บ้าง จากฐานะผู้มีโปรไฟล์เชื่อมโยงธุรกิจอิทธิพลในระบบอุปถัมภ์ ดูสัมพันธ์กับความเป็นคนเก็บตัวมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมธุรกิจไทย สู่ความพยายามสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่อย่างเป็นระบบ ชักนำมืออาชีพที่มีชื่อเสียงจำนวนมากมาแวดล้อม
รวมทั้งแรงบันดาลใจครั้งใหญ่ การเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยเชื่อมั่นในบรรดาทายาทอย่างมากๆ ขณะเดียวกันเชื่อมั่นบทเรียนจากโมเดลของตนเอง ที่ว่าด้วยสามี-ภรรยา บริหารกิจการด้วยกันอย่างใกล้ชิด สามารถนำพากิจการก้าวหน้าไปได้
ในเวลานั้นบุตรและบุตรีของ เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี เพิ่งก้าวสู่วัยเกิน 30 ปี เพิ่งผ่านการศึกษาจากต่างประเทศไม่นาน เฉพาะบุตรีทั้งสอง ล้วนแต่งงานแล้วกับบุคคลที่เชื่อว่ามีความสามารถในการบริหารธุรกิจ ทั้งนี้ ได้จัดแบ่งกิจการออกไปให้แต่ละครอบครัวใหม่ ดูคร่าวๆ เหมือนจะมีความชัดเจนพอสมควร
แผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ครั้งนั้น บรรดาบุตรและบุตรีได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งการบริหารระดับสูงโดยทันที แม้ว่าพวกเขาและเธอมีประสบการณ์ในการบริหารไม่มาก ทั้งนี้ กิจการนั้นๆ เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้กำกับอย่างใกล้ชิด ด้วยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการไว้
ผ่านมาราว 2 ทศวรรษแล้ว บรรดาทายาททั้ง 5 คน มีประสบการณ์มากขึ้น ท่ามกลางความเป็นไปที่ผันแปร กับสายสัมพันธ์ซึ่งพยายามสืบต่อให้มั่นคงขึ้น ไปจนถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจในเครือข่าย เป็นระลอก ให้ความซับซ้อน ดูลงตัวมากขึ้นๆ
ปัจจุบันบุตรีคนโต-อาทินันท์ พีชานนท์ (วัย 53 ปี) กับสามี ดูแลและบริหารกิจการการเงินและประกัน โดยมีบริษัทหลัก-บริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ปรับโครงสร้างครั้งสำคัญในปี 2561
บุตรีคนรองลงมา-วัลลภา ไตรโสรัส (วัย 51 ปี) กับสามี ดูแลและบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีกิจการหลัก-บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ) กิจการเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นไทย (ปี 2562)
บุตรชายคนแรกซึ่งอยู่ในลำดับที่ 3-ฐาปนา สิริวัฒนภักดี (วัย 50 ปี) ดูแลและบริการ ขยายจินตนาการกิจการดั้งเดิมให้กว้างขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์และพรมแดน มีบทบาทมาพักใหญ่ ตั้งแต่กิจการหลักในนาม-บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) หรือ THAIBEV เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์
ส่วนบุตรีอีกคนในลำดับที่ 4-ฐาปนี เตชะเจริญวิกุล (วัย 49 ปี) กับสามี ดูแลและบริหารกิจการค้าปลีกและสินค้าคอนซูเมอร์ โดยมีบริษัทหลัก-บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) กิจการซึ่งก่อตั้งในสังคมไทยมานานนับศตวรรษ
บุตรคนสุดท้าย มีบทบาทโลดโผนไม่แพ้พี่ชาย–ปณต สิริวัฒนภักดี (วัย 48 ปี) จากถูกวางตัวดูแลกิจการอุตสาหกรรมการเกษตร ผันมาสู่อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่ดูซ้อนทับกับพี่สาวคนรองอยู่บ้าง เมื่อเขาเข้าบริหารกิจการ Frasers Property Limited (FPL) ในสิงคโปร์ (ตั้งแต่ปี 2559) ฉากตอนอันตื่นเต้นเปิดฉากขึ้น ดังกรณีตัวอย่างที่เคยว่าไว้ (“ธุรกิจใหญ่ไทย : จังหวะและโอกาส” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568)
ท่ามกลางความเคลื่อนไหวระยะใกล้มานี้ คึกคักเป็นพิเศษ เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นไปอย่างแตกต่างจากโมเดลธุรกิจ เครือซีพี ของตระกูล เจียรวนนท์ และ กลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูล จิราธิวัฒน์ ด้วยไม่ได้อ้างถึงกลุ่มทีซีซีอย่างที่ควร
อาจจะความตั้งใจก็เป็นไปได้ ในโมเดลที่แตกต่าง กรุยทางสู่อนาคต เพื่อเข้าสู่รุ่นที่ 2 อย่างเต็มตัว •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022