ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โฟกัสพระเครื่อง |
เผยแพร่ |
“พระเทพวิทยาคม” หรือ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เป็นพระสงฆ์ที่ชาวไทยให้ความเลื่อมใสศรัทธามากที่สุดอีกรูป
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สนใจแก่ผู้พบเห็น คือ การนั่งยอง พูดกูมึง ดำรงตนแบบสันโดษ จนกลายเป็นภาพที่เห็นชินตา
วัตถุมงคลมีมากมายหลายประเภท ล้วนได้รับความนิยมและเป็นที่แสวงหาทั้งสิ้น
“พระกริ่งเทพวิทยาคม” เป็นวัตถุมงคลที่พิธีกรรมการสร้างดี และเป็นพระกริ่งรุ่นเดียวที่เทหล่อในวัดบ้านไร่ทุกองค์ ตั้งแต่เริ่มจนถึงองค์สุดท้าย รวมทั้งพุทธาภิเษกในพระอุโบสถวัดบ้านไร่
คณะกรรมการวัดบ้านไร่ โดยคณะศิษยานุศิษย์ นำโดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานอำนวยการกิตติมศักดิ์, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษา, ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ประธานอำนวยการ เป็นต้น มีดำริสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์เทพวิทยาคม เพื่อหาทุนเบื้องต้นในการก่อสร้างวิหารเทพวิทยาคม (วิหารวิสุทธปัญญา)
ดำเนินการตามฤกษ์เททองวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 15.09 น. ราชาแห่งฤกษ์ โดยที่หลวงพ่อคูณ เป็นประธานในพิธีและเททองเบ้าแรกด้วยตัวเอง พิธีมหาพุทธาภิเษก 9 วัน ในวันเสาร์ที่ 23 เมษายน ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 กรรมวิธีการหล่อทั้งหมดดำเนินการภายในวัดบ้านไร่โดยตลอด
การหล่อพระกริ่งและพระชัยวัฒน์เทพวิทยาคม นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสร้างพระของหลวงพ่อคูณ ซึ่งได้กระทำอย่างยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ โดยทุกขั้นตอนดำเนินการแบบโบราณตำรับการหล่อพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ และเน้นเรื่องพิธีกรรมในการลงเลขยันต์ในแผ่นโลหะตามตำราเก่าแก่ ซึ่งปรากฏขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคลในปัจจุบัน)
สำหรับการเททองหล่อพระกริ่ง ตลอดระยะเวลาเดือนเศษ จะมีพระสงฆ์สวดชยันโตระหว่างเททองทุกครั้ง และหลายครั้งที่หลวงพ่อคูณลงร่วมอธิษฐานจิตตอนเททองด้วย
พิธีมหาพุทธาภิเษกพระทั้งหมดได้ทำติดต่อกัน 9 วัน ภายในโบสถ์วัดบ้านไร่ หลวงพ่อคูณเป็นผู้จุดเทียนชัยในพิธีมหาพุทธาภิเษกวันแรก และได้ร่วมนั่งอธิษฐานจิตด้วย
พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์เทพวิทยาคม มีการสร้างแบบเนื้อทองคำเทหล่อเบ้าดินไทย เนื้อทองคำหล่อแบบเบ้าเหวี่ยง พระกริ่งพระชัยวัฒน์เนื้อนวโลหะหล่อแบบดินไทย และพระกริ่งพระชัยวัฒน์เนื้อนวโลหะหล่อเบ้าเหวี่ยง
ทุกองค์มีโค้ดและหมายเลขกำกับ และมีบัตรสมาร์ตการ์ดกำกับทุกองค์
จึงกล่าวได้ว่า พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์เทพวิทยาคม เป็นพระที่พิธีการสร้างทุกขั้นตอนอยู่ภายในวัดบ้านไร่ และถูกต้องตามตำรับโบราณทุกขั้นตอน
จึงเป็นพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ที่ควรบูชาเป็นอย่างยิ่ง

อัตโนประวัติ เกิดในสกุล ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม 2466 ที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา บิดา-มารดา ชื่อ นายบุญ และนางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ครอบครัวประกอบอาชีพชาวไร่ชาวนา ห่างไกลความเจริญ
ในวัยเยาว์ ต้องสูญเสียบิดามารดาในขณะที่ลูกทั้ง 3 คนยังเป็นเด็ก จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว
เมื่ออายุ 6-7 ขวบ เข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หล ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม นอกจากนี้ ยังได้รับเมตตาอบรมสั่งสอนวิทยาคมด้วย
กระทั่งอายุครบ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2487 ได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ
ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
สำหรับหลวงพ่อแดงนั้น เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระที่เคร่งครัด อีกทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
อยู่ปรนนิบัติรับใช้นานพอสมควร จึงพาไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งทั้งสองรูปนี้ เป็นสหธรรมิกกัน ต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิทยาคมเสมอ
เวลาล่วงเลยผ่านไป กระทั่งเห็นว่าลูกศิษย์มีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป
ครั้งแรก ท่องธุดงค์จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจาริกออกไปไกลถึงประเทศลาว และประเทศกัมพูชา

หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่กาลแล้ว จึงออกเดินทางจากประเทศเขมรเดินทางกลับสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิด
จากนั้น เริ่มดำเนินการก่อสร้างวัดบ้านไร่ เริ่มสร้างอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย
กล่าวได้ว่า เป็นพระนักพัฒนา ที่มีสาธุชนให้ความศรัทธายิ่ง บริจาคทานจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และล่วงเลยไกลไปถึงในต่างแดนเลยทีเดียว
ลำดับสมณศักดิ์ วันที่ 12 สิงหาคม 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระญาณวิทยาคมเถร
10 มิถุนายน 2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชวิทยาคม
12 สิงหาคม 2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิทยาคม
ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ บ่อยครั้งทำให้อ่อนแรง สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งล้มป่วยอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง
คณะแพทย์ขอให้ท่านพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชและได้ให้การรักษาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
กระทั่งเวลา 11.45 น. วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2558 จึงมรณภาพลงอย่างสงบ และบริจาคร่างกายให้เป็นอาจารย์ใหญ่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สิริอายุ 92 ปี พรรษา 71 •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ