ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
ทองอุไร เป็นพืชพื้นเมืองของชาวอเมริกาใต้ (โชคดีที่ไม่ใช่มาจากอเมริกาเหนือ เพราะเกรงว่าผู้นำท่านจะมาเก็บภาษีต้นไม้!) หากค้นในเว็บไซต์พบข้อมูลต่างๆ หลายแห่งที่กล่าวว่า ทองอุไรเป็นพืชในสกุล Tecoma ซึ่งมีทั้งหมด 14 ชนิด (species) แต่ในฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว ที่เป็นแหล่งอ้างอิงน่าเชื่อถือระดับโลกรายงานว่ามีเพียง 7 ชนิด ในจำนวนนี้มีเพียง 2 ชนิดที่นำเข้ามาปลูกในไทย คือ พวงแสดต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tecoma capensis (Thunb.) Lindl. ซึ่งต่อมาได้ย้ายสกุลไปเป็น Tecomaria capensis (Thunb.) Spach และทองอุไร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tecoma stans (L.) Juss. ex Kunth ซึ่งมีชื่อในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ดอกละคร (เชียงใหม่) พวงอุไร (กทม.) สร้อยทอง (กทม. กลาง) และมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษหลายชื่อ เช่น Yellow bell, Yellow elder, Yellow trumpet flower
แต่เดิมนักตกแต่งและจัดสวนได้นำมาปลูกเป็นไม้ประดับเพราะลักษณะของดอกที่สวยงามและมีสีเหลืองสดใส ต่อมานักค้าไม้ดอกไม้ประดับจึงตั้งชื่อไทยว่า ทองอุไร และได้ผูกเรื่อง หรือ สตอรี่เทลลิ่ง (Storytelling) ว่าเป็นไม้โบราณนำมาปลูกแล้วจะนำสิ่งมงคลมาให้ ทั้งช่วยให้ชีวิตรุ่งเรือง จึงทำให้ไม้ชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก
นักปรับปรุงพันธุ์ยังมีการผลิตลูกผสมขึ้นมาอีกหลายชนิด เช่น ทองอุไรสีส้ม (Tecoma ‘Orange Jubilee’) ทองอุไรสปาร์กกี้หรือทองอุไรมิกกี้เมาส์ สีส้มแดง (Tecoma ‘Sparky’) ทองอุไรเรดฮอต สีแดง (Tecoma ‘Red Hot’) ทองอุไรแฮปปี้เนส สีชมพู (Pink Trumpet Vine) เป็นต้น
ทองอุไรสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นไม้พุ่ม สูง 2-5 เมตร ไม่ผลัดใบ บางครั้งมีลักษณะเป็นพุ่มเรือนยอดทรงกลม หรือรูปไข่ เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน ประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงตรงข้ามกัน ใบย่อย 5-13 ใบ รูปใบหอกหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมโคนใบสอบ ใต้ใบมีขนละเอียด ขอบใบจักฟันเลื่อย สีเหลือง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะแยกแขนงที่ปลายกิ่ง กลีบดอกร่วงง่าย กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ คล้ายรูปแตร ฝักเกือบกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 12-14 ซ.ม. เมื่อแก่จะแตกออก เมล็ดแบน สีน้ำตาลอ่อน นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิด อเมริกา เม็กซิโก ทางเหนือของอาร์เจนตินา และแถบหมู่เกาะอินดีสตะวันตก
เมื่อทองอุไรมาจากดินแดนต่างถิ่น ก็พบการใช้ประโยชน์จากคนพื้นเมืองในอเมริกาใต้มากมายในหลายรูปแบบ เช่น ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และสร้างเรือแคนู ทำฟืนทำถ่านในชุมชน ทองอุไรยังเหมาะเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ พบได้ทั่วไปในทุ่งเลี้ยงสัตว์ ในเมืองกัวดาลาจารา (Guadalajara) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฮาลิสโก ประเทศเม็กซิโก
และด้วยเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนมีความแข็งและทนทานมาก จึงนำมาใช้ทำตู้ต่างๆ ทำเครื่องมือ ทำคันธนู และยังใช้ในงานก่อสร้างต่างๆ ด้วย
ในเม็กซิโกมีรายงานการใช้รากนำมาต้มดื่มเพื่อขับปัสสาวะ นำเอาดอกและเปลือกลำต้นมาต้มดื่มรักษาอาการปวดท้อง ในบางชุมชนของเม็กซิโกใช้เพื่อบรรเทาอาการเบาหวาน โรคดีซ่าน ปวดฟัน ปวดหัว หวัด ติดเชื้อผิวหนัง และถูกแมงป่อง งู และหนูกัด ชาวเม็กซิโกยังนำรากทองอุไรไปผลิตเป็นเบียร์ด้วย
ชนพื้นเมืองในเอกวาดอร์มีตำรับยาพื้นบ้านเป็นชาดื่ม เพื่อบำรุงโลหิต ช่วยให้ระบบเลือดหมุนเวียนดีและยังใช้ในการรักษาโรคไข้เหลือง (yellow fever) ตับอักเสบและลดอาการอักเสบในร่างกายด้วย ในผู้หญิงที่ให้กำเนิดบุตรใหม่ๆ นำทุกส่วนมาต้มดื่มเพื่อขับน้ำคาวปลา บำรุงมดลูก นอกจากนี้ ชนพื้นเมืองต่างๆ ในอเมริกาใต้ใช้ทองอุไรเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคเบาหวานและโรคของระบบย่อยอาหาร โดยนำใบมาชงเป็นชาดื่ม ตามหมู่เกาะต่างๆ ในอเมริกาใต้ก็ใช้รากและใบนำมาต้มดื่มเพื่อขับปัสสาวะและใช้ในการรักษาซิฟิลิสและขับพยาธิในลำไส้ ชนเผ่าอินเดียแดงใช้ส่วนของดอกเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน
ในประเทศปากีสถานก็มียาแผนโบราณจากทองอุไร นำมาใช้แก้พิษงูเห่าที่มีฤทธิ์แรงมาก และมีรายงานว่าได้มีการทดสอบผลว่าดี โดยนำใบทองอุไรมาขยี้ทาบริเวณที่ถูกงูเห่ากัด สารเคมีชีวภาพจากพืชจะจับกับเอนไซม์ของพิษงูเห่าช่วยยับยั้งพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าทองอุไรเพิ่งเข้ามาในประเทศไทยได้ไม่นาน คนไทยก็มีความสามารถนำมาใช้ประโยชน์ที่หลากหลายเช่นกัน เช่น นำใบและดอกมาประกอบเป็นอาหารต่างๆ นำมาชุบแป้งทอด หรือลวกจิ้มน้ำพริกก็ได้ หมอพื้นบ้านบางแห่งนำใบมาใช้เป็นชาชงลดน้ำตาลในเลือดก็มี แต่ถึงแม้ว่าทองอุไรจะมีประโยชน์หลายอย่าง ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และหลายประเทศในแอฟริกา กลับมีรายงานว่าทองอุไรเป็นพืชรุกราน ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการปราบปราม
ปัจจุบันยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทองอุไรไม่มากพอที่จะสรุปสรรพคุณในทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างชัดเจน ต้องมีการสนับสนุนงานวิจัยอีกพอสมควรเพื่อนำมาใช้เป็นยา แต่ในเวลานี้ตามเพจหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ มีการโฆษณากันอย่างน่ากังวล เช่น สามารถลดการปวดประจำเดือน ลดการปวดไมเกรน ป้องกันเบาหวานขึ้นตา บำรุงสายตา เป็นต้น
ที่กังวลมากขึ้นพบว่ามีการตั้งตำรับยาหรือสร้างสูตรยาทองอุไรให้เรียบร้อย ซึ่งไม่มีการอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ดูเหมือนว่าหลายเพจสร้างขึ้นเพื่อมุ่งขายต้นทองอุไรเท่านั้น
ทองอุไรให้ดอกสวยงาม แต่ต้องช่วยกันให้ข้อมูลถูกต้อง ไม่แชร์ข้อมูลเกินจริง และแม้ว่าทองอุไรไม่ใช่พืชพิษแต่พบรายงานจากต่างประเทศพบว่าน้ำผึ้งที่ได้จากดอกทองอุไรมีพิษบางอย่างปนอยู่ในน้ำผึ้ง ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะจะกระทบการเลี้ยงผึ้งในวงกว้างแน่นอน •
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022