
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
ผมนี้มีเอกลักษณ์ (2)
ช่วงระยะที่ยังไว้จุกอยู่ เด็กๆ ยังไม่ต้องทำอะไร ได้แต่เล่นสนุกซุกซนกันไปวันๆ หลังโกนจุกแล้วจะเริ่มแบ่งแยกหญิงชายออกจากกัน ตั้งแต่การแต่งเนื้อแต่งตัวแยกเพศทั้งเสื้อผ้าหน้าผม การอบรมสั่งสอน การศึกษาเล่าเรียน และการดำเนินชีวิต ฯลฯ
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงสรุปหัวใจของการโกนจุกไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าโกนจุก” ว่า
“การโกนจุกนั้น คือ เขาตัดเราออกจากการเป็นเด็กแล้ว และนับว่าเป็นผู้รู้ความรับผิดชอบด้วยตัวเองได้แล้วด้วย”
ไม่ต่างจากมุมมองของนายแพทย์แซมมวล อาร์. เฮาส์ ที่เล่าถึง ‘การโกนจุกของเด็กชาวสยาม’ ไว้ในหนังสือเรื่อง “สยามและลาวในสายตามิชชันนารีชาวอเมริกัน” (กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2557) ว่า
“หลังจากนี้ก็จะถือว่า บรรดาเด็กๆ เหล่านี้เป็นคนหนุ่มคนสาวแล้ว ‘การโกนจุก อันที่จริงแล้วคืองาน ‘เปิดตัวเข้าสังคม’ ของพวกเขา”
กาญจนาคพันธุ์ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาโกนจุกไว้ในหนังสือชุด 100 ปี ขุนวิจิตรมาตรา เรื่อง “เด็กคลองบางหลวง เล่ม 2” ว่า
“การโกนจุกมักนิยมทำเมื่ออายุจะเข้าวัยรุ่นหรือวัยรุ่นแล้ว พอโกนจุกแล้วก็ถือว่าเป็นหนุ่ม ตัดผมมหาดไทยเลย ส่วนผู้หญิงมักถือเช่นเดียวกัน พอโกนจุกแล้วก็ถือว่าเป็นสาว พอผมยาวลางทีก็แต่งงานเลย”
สอดคล้องกับที่กวีบรรยายไว้ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อง “นิราศเดือน” ว่า
“เขาแรกนาแล้วมานักขัตฤกษ์ เอิกเกริกโกนจุกทุกสถาน
ที่กำดัดจัดแจงกันแต่งงาน มงคลการตามเล่ห์ประเพณี”
บางคนเพิ่งพ้นวัยเด็กมาได้ไม่เท่าไหร่ ร้อนรนอยากเป็นสาว กวีก็แขวะเอาแรงๆ ว่า
“ที่โกนจุกได้ปีครึ่งพึ่งจะผลิ อุตริหนักหนาอยากหาผัว”
สาวน้อยแซบซ่าเช่นนี้มิได้มีแค่คนเดียว บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เล่าถึงนักมวยหญิงคนหนึ่งว่า เพิ่งโกนจุกแท้ๆ แต่มีผัวเป็นตัวเป็นตนแล้ว ผัวตามมาเป็นพี่เลี้ยงนักมวยช่วยแต่งตัวเตรียมพร้อมก่อนขึ้นชกเสียด้วย
“คู่แรกหัวไรจุกจับกระเหม่า หน้าเง้าเจ้าคารมผมประบ่า
แต่งตัวผัวเสกขมิ้นทา ห่มผ้าแพรแดงตะแบงมาน
คาดหมัดขัดเขมรมงคลใส่ แล้วไปยังสนามหน้าฉาน”
คนหัวไรจุก คือ โกนจุกแล้ว ยังเหลือไรผม หรือแนวเส้นผมที่ถูกถอนออก เป็นรอยผมที่เคยเกล้าจุกไว้เป็นวงโดยรอบ แสดงว่าเพิ่งพ้นวัยเด็ก โกนจุกได้ไม่เท่าไหร่ ผมยังไม่ยาวเลยก็มีผัว ส่วนคนผมยาวประบ่านั้นเป็นสาวนานแล้ว หลังโกนจุกก็ไว้ทรงผมที่หญิงสาวนิยมไว้กัน กว่าผมจะยาวประบ่าได้ ต้องใช้เวลานานพอสมควร
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงเกณฑ์อายุโกนจุกไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าโกนจุก” ว่า
“เด็กๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมากไว้ผมจุกกันแทบทุกคน จนเด็กชายอายุได้ 13 ปี เด็กหญิงอายุ 11 ปี จึงจะมีพิธีโกนจุก”
ไม่ต่างจากเด็กไทยสมัยรัชกาลที่ 2-3 ดังจะเห็นได้จากวรรณคดีสมัยนั้น เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนพลายงามอายุ 13 ปี ย่าทองประศรีก็จัดการโกนจุกให้โดยจัดสองวัน เป็นพิธีสงฆ์ล้วน วันแรกเป็นวันสุกดิบเริ่มพิธีตอนเย็น นิมนต์พระสงฆ์สิบรูปมาสวดมนต์ และซัดน้ำพระพุทธมนต์ให้พลายงามที่จะโกนจุก รวมไปถึงญาติผู้ใหญ่และแขกเหรื่อที่มาร่วมงานเย็นวันนั้น เสภาเรื่องนี้บรรยายถึงการตระเตรียมงานว่า
“ทองประศรีดีใจไล่ฤกษ์ยาม ได้สิบสามปีแล้วหลานแก้วกู
จะโกนจุกสุกดิบขึ้นสิบค่ำ แกทำน้ำยาจีนต้มตีนหมู
พวกเพื่อนบ้านวานมาผ่าหมากพลู บ้างปัดปูเสื่อสาดลาดพรมเจียม
ทั้งหม้อเงินหม้อทองสำรองตั้ง มีทั้งสังข์ใส่น้ำมนต์ไว้จนเปี่ยม
อัฒจันทร์ชั้นพระก็ตระเตรียม ตามธรรมเนียมฆ้องกลองฉลองทาน
ถึงวันดีนิมนต์ขรัวเกิดเฒ่า อยู่วัดเขาชนไก่ใกล้กับบ้าน
พอพิณพาทย์คาดตระสะธุการ ท่านสมภารพาพระสงฆ์สิบองค์มา
นั่งสวดมนต์จนจบพอพลบค่ำ ก็ซัดน้ำมนต์สาดเสียงฉาดฉ่า
ผู้ชายเบียดเสียดสาวชาวละว้า เสียงเฮฮาฮึดฮัดเมื่อซัดน้ำ”
ฯลฯ
หลังพิธีซัดน้ำ ย่าทองประศรีก็ให้พลายงาม หลานชายผลัดผ้าแล้วพาไปกราบสมภารเกิด วัดเขาชนไก่ ประธานในพิธี แนะนำว่าเป็นลูกชายขุนแผน ตั้งใจจะให้รับราชการรับใช้สมเด็จพระพันวษา
“เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าแผนยังติดคุก นี่โกนจุกแล้วจะได้ไปถวาย”
ท่านสมภารให้ศีลให้พรพลายงาม และทำนายโชคชะตาราศีให้ด้วยว่าจะได้ดีมียศถาบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่จะกลุ้มรุ่มร้อนเรื่องครอบครัว
ช่วงค่ำๆ ของวันที่พระมาสวดมนต์เย็น หลังจากพระกลับวัดแล้วก็เริ่มมหรสพ บรรเลงวงดนตรีปี่พาทย์ประกอบเสภาฉลองงานโกนจุก
“……………………………………… เสียงพิณพาทย์พวกพ้องทองประศรี
หาเสภามาทั่วที่ตัวดี ท่านตามีช่างประทัดถนัดรบ”
พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็โกนจุกพลายงาม เมื่อผมยาวแล้วตัดทรงมหาดไทย ต่อจากนั้นจะเข้าถวายตัวเป็นข้าราชการรับใช้สมเด็จพระพันวษา หากเป็นที่โปรดปราน สบโอกาสจะได้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้พ่อขุนแผน
“ครั้นรุ่งเช้าเจ้าพลายก็โกนจุก เป็นพ้นทุกข์พ้นร้อนนอนหลับใหล
จนผมยาวเจ้าได้ตัดมหัดไทย คิดจะใคร่ไปเป็นข้าฝ่าธุลี” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
ทำไมพลายงามตัดผมทรงมหาดไทย (มหัดไทย) คำตอบเป็นดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่า
“เพราะว่า ต้องการไปรับราชการ ‘ผมมหาดไทย’ นั้นเป็นผมที่อยู่ในความนิยมของข้าราชการ ข้าราชการตัดผมทรงนี้กันมาก…สำหรับผู้ชายนั้น เมื่อโกนจุกแล้ว ก็คงจะไว้ผมบนกระหม่อมต่อไป แต่มิได้เกล้าจุกและเมื่อผมนั้นยาวรุงรังก็ตัดให้สั้นเหลือประมาณ 1 องคุลี หรือยาวกว่านั้น เป็นผมตั้งอยู่บนกระหม่อม จะเรียกว่าสไตล์พั้งค์ก็ได้ กรมกองราชการสมัยนั้นมีแบบไว้ผม และเครื่องแต่งกายอันเป็นที่นิยมในกรมกองแตกต่างกันไป กรมมหาดไทยนั้นเมื่อไว้ผมกลางกระหม่อม ที่คนอื่นเขาตัดกันให้เป็นผมตั้ง ข้าราชการกรมมหาดไทย ก็ปล่อยให้ผมยาวสักนิดแล้วหวีแสกกลาง เรียกกันว่าผมทรงมหาดไทย และก็ปรากฏว่ามีคนนิยมตัดตามนั้นกันมากเหมือนกัน”
‘การไว้จุก’ ‘โกนจุก’ และ ‘การลงขัน’ สัมพันธ์กันอย่างไร กาญจนาคพันธุ์ เล่าไว้ในเรื่อง “เด็กคลองบางหลวง เล่ม 2 ” ว่า
“สมัยโบราณตลอดลงมาจนถึงสมัยข้าพเจ้าเป็นเด็ก เด็กชายเด็กหญิงไว้จุกกันแทบทั่วไปทุกหนทุกแห่ง…เมื่อไว้จุกจึงมีประเพณีโกนจุก ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นงานสำคัญงานหนึ่ง ทำเป็นงานใหญ่หรืองานน้อยตามฐานะ
งานโกนจุกนี้เท่าที่ทำกัน มีการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ‘ลงขัน’ การลงขันคือเอาขันเชิงมาตั้ง แล้วญาติผู้ใหญ่หรือแขกผู้ใหญ่ที่มาในงาน เอาของเครื่องรูปพรรณ เช่น สายสร้อย กำไล แหวน ตุ้มหู ฯลฯ ที่เป็นทองคำมาใส่ขันสำหรับให้แก่ผู้โกนจุก ถ้าจะเปรียบกับปัจจุบันก็คือให้ “ของขวัญ” กันนั่นเอง แต่การให้ของขวัญปัจจุบันเข้าหีบห่อ ไม่รู้ว่าของนั้นเป็นอะไร ส่วนการลงขันงานโกนจุกตามประเพณีโบราณไม่ใช้หีบห่อ ให้กันเป็นสิ่งของนั้นๆ เห็นได้เลยทีเดียว
การลงขันงานโกนจุกเป็นเหมือนการช่วยเหลือระหว่างกันในโอกาสที่มีงาน คือฝ่ายเขาโกนจุก ฝ่ายเราก็ไปช่วยเขา ถึงทีเราโกนจุก เขาก็มาช่วยเราตอบแทนกัน เท่ากับเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่ง”
ใกล้เคียงกับที่ปฏิบัติกันสมัยก่อนหน้านี้ สังฆราชปาลเลกัวซ์ได้บันทึกเรื่องการลงขันในงานโกนจุกสมัยรัชกาลที่ 4 ไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” (ฉบับ สันต์ ท.โกมลบุตร แปล) ว่า
“พวกที่ได้รับเชิญจะเวียนกันเข้ามาให้ศีลให้พรเด็กที่โกนจุกใหม่ และแต่ละคนก็ทำขวัญด้วยเงินตราวางลงในพานทองเหลือง การลงขันทำนองนี้ลางทีได้เงินตั้งหลายพันฟรังก์ เป็นผลได้ของบิดามารดาทึ่จะนำไปจับจ่ายใช้สอยได้”
ยังมีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘การโกนจุก’ ติดตามฉบับหน้า •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร