ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ
‘เพลิน’ ศึกษา
นี่ก็ใกล้จะถึงวันครบรอบวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการในวันที่ 1 เมษายน อีกครั้งหนึ่งแล้ว
เรามาพูดคุยถึงเรื่องการศึกษาดูบ้างดีไหมครับ
คำถามที่พูดกันได้ไม่รู้จบเรื่องหนึ่ง ได้แก่ คำถามว่า “การศึกษาคืออะไร”
แน่นอนว่าในทัศนะของแต่ละคน ย่อมมีคำอธิบายว่าการศึกษาคืออะไรแตกต่างกันไป และผมคิดว่าจะไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ถ้าเราจะบอกว่าความเห็นเหล่านั้น ผิดทั้งหมด หรือถูกทั้งหมด โดยวินิจฉัยจากทัศนะของเรา
ผู้ที่เรียนหรือศึกษาวิจัยในด้านการศึกษามาโดยตรง อาจอยู่ในฐานะผู้ที่มีความเข้าใจในเรื่องของการศึกษามากกว่าคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ที่ศึกษามาในศาสตร์ด้านนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่มิได้เรียนในด้านครุศาสตร์หรือด้านการศึกษามาโดยตรง จะถูกปิดปากมีให้พูดอะไรในเรื่องเช่นนี้
เพราะไม่อาจมีใครปฏิเสธได้ว่า การศึกษาเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงต้องเกี่ยวข้องกับการศึกษาอยู่ตลอดชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดมาจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
ในสังคมโลกยุคปัจจุบันเป็นที่ตกลงกันแล้วว่า คำว่า “การศึกษา” ไม่ควรมีความหมายที่จำกัดจำเขี่ยอยู่เพียงแค่การศึกษาตามหลักสูตรที่เราคุ้นเคยอยู่ในสถาบันการศึกษาหรือตามโรงเรียนต่างๆ เท่านั้น
หากแต่สมควรเป็นการศึกษาในความหมายอย่างกว้าง ไม่ว่าจะเป็นวันเวลาใด สถานที่ใด หรือด้วยวิธีการอย่างใด ถ้ากระบวนการเรียนรู้ใดสามารถทำให้เกิดสติปัญญางอกเงยเพิ่มพูนขึ้นได้
กิจกรรมเช่นว่านั้นก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาได้ทั้งสิ้น
ในฐานะนักกฎหมายและเกี่ยวข้องกับการเขียนบทนิยามศัพท์ในตัวบทกฎหมายมาหลายฉบับมาแล้ว ผมอยากให้นิยามว่า “การศึกษาคือกระบวนการการเรียนรู้ เพื่อให้มนุษย์แต่ละคนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ”
คำถามอีกเรื่องหนึ่งที่ผมมักจะถามตัวเองอยู่เสมอว่า ในกระแสโลกที่มีการแบ่งศาสตร์สาขาต่างๆ ออกเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ผมจัดเรื่องของการศึกษาไว้ในสาขาใด
เพื่อให้ไม่ต้องโต้เถียงกันมาก ผมจะไม่ตอบคำถามในข้อนี้และปล่อยให้เป็นความลับดำมืดต่อไป
แต่อยากจะพูดอะไรเก๋ๆ สักประโยคหนึ่งว่า การศึกษา (ของผม) เป็นทั้งศาสตร์และเป็นทั้งศิลปะผสมร่วมกันอยู่
ย้อนกลับไปสู่ประเด็นเรื่องการศึกษาสมควรมีจุดมุ่งหมายให้มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้เต็มกำลังศักยภาพ เพื่อความเข้าใจที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจร่วมกันนะครับ
เรื่องแรกที่อยากพูดถึง คือ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ถึงแม้ประเทศไทยของเราจะมีความพยายามมานานปีแล้วและด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้ลูกหลานของเราไม่ตกหล่นสูญหายไปจากระบบการศึกษา เรามีกองทุนสารพัดกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออุดช่องว่างในเรื่องนี้
แต่ถ้าเราไม่ปฏิเสธความจริง เราก็ต้องพบกับความจริงอันน่าเจ็บปวดว่า ยังมีเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาไปเป็นจำนวนไม่น้อย
ผมทั้งในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าคือคนที่เคยทำงานอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ และขณะนี้ก็ยังได้รับความกรุณาให้เป็นกรรมการอยู่หลายคณะในกระทรวงที่มีความสำคัญยิ่งกระทรวงนี้
และอาจจะการกล่าวในฐานะประชาชนเต็มขั้นคนหนึ่งก็ว่าได้ ผมมีความเห็นว่าเราต้องใช้ความพยายามอีกมากเพื่ออุดช่องโหว่นี้
ในทางการรักษาพยาบาลยุคปัจจุบัน ผมเห็นคุณหมอหลายท่านบอกว่า โรคนั้นโรคนี้ต้องรักษาแบบ “มุ่งเป้า” ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นหมอ หากแต่เป็นคนไข้มืออาชีพอย่างผม
ผมเข้าใจว่าหมายถึงการรักษาที่ใส่ใจหรือมุ่งเน้นไปสู่เป้าหมายที่ต้องการโดยไม่มัวพะวักพะวงในเรื่องเบ็ดเตล็ดรายทางอื่นๆ
เด็กจำนวนนี้ ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดก็ว่าได้มาจากครอบครัวที่มีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มีถิ่นฐานที่อยู่ที่เร่ร่อน เช่น เป็นเด็กในครอบครัวผู้ใช้แรงงานก่อสร้าง สร้างตึกตรงนี้สองปี เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ต้องย้ายไปอยู่ที่จังหวัดอื่นอำเภออื่น ไปอยู่ได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปทำงานก่อสร้างที่อื่นอีก วนเวียนไปอย่างนี้ไม่รู้จบ
หรือมิเช่นนั้นก็เป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายจนถึงที่สุด และอยากให้เด็กออกจากระบบโรงเรียนเพื่อมาเป็นกำลังช่วยหาเงินทองมาเลี้ยงครอบครัว จนชั้นแต่ให้ไปวิ่งขายของ เช่น ขายพวงมาลัยอยู่ตามสี่แยกก็เอา
นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาด้านอื่นอีก เช่น ปัญหาหลักฐานในทางทะเบียน ปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัยของเด็ก และอื่นๆ อีกมากมาย
การรักษาแบบมุ่งเป้าในเรื่องนี้ตามทัศนะของผม ไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการจะสามารถทำได้ผลเต็มร้อยด้วยตัวเอง หากแต่ต้องทำงานร่วมกันกับหน่วยงานทางภาครัฐและภาคเอกชนอีกมาก
เฉพาะแต่ในภาครัฐ ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอาจยังตกหล่นอีกหลายกระทรวงที่สติปัญญาของผมรู้ไปไม่ถึง
ในภาคปฏิบัติ โรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการก็ดี เขตพื้นที่การศึกษาก็ดี ไม่ได้ยืนอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางความเวิ้งว้างทั้งปวง ถ้าเรามีการประสานข้อมูลสถิติกับหน่วยงานอื่นอย่างเอาจริงเอาจัง ผมนึกว่าเราพอจะเดินหน้าในเรื่องนี้ได้อีกพอสมควร
นี่ก็พูดอย่างคนตาบอดคลำช้างนะครับ ถ้าเพื่อนข้าราชการหลายกระทรวงช่วยกันทำงานแนวทางนี้อยู่แล้ว ก็ขอชื่นชมและขออภัยด้วยที่ทำให้ท่านต้องเสียเวลาอ่านข้อความสี่ห้าบรรทัดที่เพิ่งผ่านสายตาของท่านมา
เรื่องที่สองที่เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ทุกคนให้สามารถเติบโตได้เต็มที่
ผมคิดว่าเราขาดไม่ได้เลยสำหรับระบบการเรียนที่เปิดกว้าง
เป็นที่น่ายินดีที่ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราพูดกันถึงเรื่องธนาคารเครดิต เราทำงานกันอย่างจริงจังเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต เรามีเป้าหมายที่จะผลิตกำลังคนในด้านอาชีวะให้มากขึ้นกว่ากำลังคนในด้านวิชาสามัญ เพราะเป็นเรื่องที่ตรงกันกับความต้องการของประเทศและตลาดแรงงาน
แต่ก็ต้องวิ่งสวนทางกันกับกระแสค่านิยมที่ยังติดยึดอยู่กับภาพจำแบบเดิมที่เห็นเรื่องของวิชาสามัญเป็นเรื่องเหนือชั้นกว่าวิชาอาชีวะ
ถ้ามีประเด็นปลีกย่อยที่ผมจะสามารถเสริมความในที่นี้ได้อีกบ้าง ผมนึกอยากจะชวนท่านทั้งหลายคิดว่า การศึกษาไม่ใช่ภารกิจผูกขาดของกระทรวงศึกษาธิการแต่โดยลำพัง
การศึกษาในความหมายอย่างกว้างที่เราพูดมาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องช่วยเหลือกันคนละไม้คนละละมือ ลำพังงบประมาณแผ่นดินก็ไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้เพื่อให้การศึกษาเกิดขึ้นเต็มรูปอย่างที่เราตั้งใจหวัง
หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องงบประมาณแผ่นดิน เราต้องไม่ลืมว่างบประมาณจำนวนไม่น้อยลงอยู่ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
ถ้าเปิดตาเปิดใจให้กว้าง การศึกษาตลอดชีวิตในความหมายนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โรงเรียนเทศบาล หรือศูนย์เด็กปฐมวัยอย่างที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังสามารถทำอะไรที่เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในท้องถิ่นได้อีกมาก
แม้แต่เรื่องที่เราไม่นึกว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษาหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถ้าเราใส่ใจและใส่ความคิดลงไปอีกนิดหน่อย ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นการศึกษาตลอดชีวิตได้ทั้งนั้น
เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสเดินทางไปที่จังหวัดนครราชสีมา ได้มีโอกาสไปดูแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณประตูพลล้าน ในตัวเมืองนครราชสีมานั้นเลยทีเดียว ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรทำงานขุดค้นไป มีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนหลายแห่งทั้งใกล้และไกลหมุนเวียนเข้ามาดูการทำงาน
ความรู้ที่ได้จากการมาดูของจริงเช่นนี้ เป็นพยานทำให้เด็กทุกคนได้รู้ว่าหลุมขุดค้นในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางวาไม่ได้มีแต่เพียงความรู้ในเรื่องวิชาประวัติศาสตร์โบราณคดีเท่านั้น หากแต่ยังมีวิชาการอีกหลายศาสตร์ที่สามารถบูรณาการและเข้ามาทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
ก่อนหน้าผมไปที่หลุมขุดค้นเพียงไม่กี่นาที มีคุณหมอฟันอาวุโสท่านหนึ่งแวะไปเยี่ยมหลุมขุดค้น และท่านได้นำฟันที่ได้จากโครงกระดูกมาทดลองเรียงเป็นแถวให้นักโบราณคดีได้พิจารณา
นักโบราณคดีมาเล่าให้ผมฟังอีกทอดหนึ่งว่า คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านฟันดูฟันปราดเดียวก็รู้แล้วว่าโครงกระดูกนี้มีทั้งฟันน้ำนมและฟันจริงอยู่ด้วยกัน ตีความได้ว่าโครงกระดูกนี้เป็นโครงกระดูกของคนในวัยเด็กตอนปลาย ใกล้จะเป็นวัยรุ่นหรือเป็นผู้ใหญ่เต็มทีแล้ว
ขณะเดียวกันวันนั้นผมก็ได้พบกันกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมามาเก็บตัวอย่างดินจากชั้นดินหลายระดับในหลุมขุดค้น เพื่อไปแสวงหาความรู้ว่า ในยุคสมัยต่างๆ ตามระดับชั้นดินนั้น มีพืชท้องถิ่นอะไรที่เกิดเติบโตขึ้นบ้าง
การหาความรู้นี้ไม่ใช่การหาด้วยตาเปล่ามือเปล่าเท่านั้น แต่ต้องใช้วิทยาการเทคโนโลยีชั้นสูง มีเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการทดลอง กว่าจะได้คำตอบว่าในยุคสมัยเมื่อ 2,000 ปีก่อน บริเวณนั้นมีต้นไม้อะไรขึ้นอยู่บ้าง และอาจจะได้ความรู้ต่อไปด้วยว่าคนสมัยนั้นกินอะไร ปลูกอะไร
ผมนึกว่าความรู้อย่างนี้ ลูกหลานที่เป็นนักเรียนและไปชมหลุมขุดค้นที่ประตูพลล้าน น่าจะได้รับประเด็นข้อมูลต่างๆ แล้วนำไปจุดเป็นประกายความคิดเพื่อหาความรู้ต่อไป ลำพังความรู้ที่ได้จากการไปเดินชมและพูดคุยกับนักวิชาการ นักโบราณคดีด้วยเวลาจำกัดเพียงแค่หนึ่งหรือสองชั่วโมง
ถ้าเราทำให้สนุก ยั่วให้คิด ได้เห็นแบบอย่างการทำงานร่วมมือกันของคนที่มีความรู้ต่างวิชา แต่สามารถใช้พื้นที่หลุมขุดค้นเพื่อนำความรู้มาประสานต่อยอดกันได้
เวลาหนึ่งหรือสองชั่วโมงนั้นก็ไม่สูญเปล่าเลย
ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่หลายท่านนำภาษาอังกฤษสองคำ คือคำว่า play คำหนึ่ง และคำว่า learn อีกคำหนึ่ง มาประสมกันเข้าแล้วเกิดเป็นคำว่า “เพลิน” ขึ้น คำว่าเพลินนี้เป็นคำในภาษาไทยนะครับ
หมายความว่า การเรียนรู้ การศึกษาหาความรู้ ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียด เรียนกันจนหัวบวม เรียนกันจนไม่มีเวลาเหลือให้สำหรับความเป็นมนุษย์ แต่ต้องเป็นการศึกษาที่ลูกหลานของเรามีความสุขไปพร้อมกับการเรียน มีวิธีการ กระบวนการ ให้ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนได้ลงมือทำ ได้เห็นของจริง ได้มีโอกาสคิด ความสนุกควบคู่กันไปด้วย เป็นการเรียนที่ไม่เบื่อหน่าย เรียนไปก็เพลิดเพลินไป
ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ และสามารถฝึกนิสัยและทัศนะให้เด็กผู้เป็นลูกหลานของเรา เป็นผู้ที่ใส่ใจกับการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ สร้างบทเรียนให้กับตัวเองได้ แม้จบการศึกษาจากสถานศึกษาออกไปใช้ชีวิตที่ใดก็ตาม ในช่วงวัยใดก็ตาม การหาความรู้จะไม่ใช่ยาขมหม้อใหญ่ แต่เป็นอาหารจานอร่อยที่ทำให้เกิดความอยากอาหาร อยากกินจานโน้นจานนี้อยู่เสมอ
ในชีวิตจริงถ้าใครกินอาหารจานแล้วจานเล่าไม่รู้จักอิ่มเสียที เป็นเรื่องอันตรายมาก สุดท้ายก็ต้องท้องแตกตายแบบชูชก
แต่ในเรื่องของความรู้นั้นกลับตรงกันข้าม ถ้ายังกระหายอยากรู้เรื่องที่เป็นประโยชน์กับชีวิต ความอยากรู้แบบนี้ก็มีแต่คุณประโยชน์เกิดขึ้นฝ่ายเดียว โลกใบนี้มีความรู้เกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ การอยู่ในโลกปัจจุบันให้รอดและอยู่อย่างมีความสุข เราจำเป็นต้องมีความรู้เป็นเหมือนพลังงานของชีวิตอยู่เสมอ
แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องระวังนะครับ ถ้าเป็นความอยากรู้ในเรื่องเลอะเทอะ เช่น อยากรู้เรื่องชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวกับเราเลย เช่น ใครเป็นชู้กับใคร ใครไปทำหน้าใหม่มาจากเกาหลีบ้าง แบบนี้ก็ลำบากไปอีกแบบ
ถ้าเป็นอย่างนั้น ตัวใครตัวท่านก็แล้วกันนะครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022