ผมรักพวกขาดการศึกษา : ประชานิยมกับความตายของความเชี่ยวชาญ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ผมรักพวกขาดการศึกษา

: ประชานิยมกับความตายของความเชี่ยวชาญ

 

ท่ามกลางกระแสความสัมพันธ์เกี่ยวโยงใกล้ชิดแนบเนื่องขึ้นทุกทีระหว่างความรู้เชิงเทคนิค-วิทยาศาสตร์กับการเมืองการบริหารในโลกร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังยุคสงครามเย็น (สิ้นสุดลงเมื่อปี 1991 พร้อมกับการสลายตัวของสหภาพโซเวียต) จนถึงตอนเกิดวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี 2008

แนวนโยบายเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ที่ขึ้นครองอำนาจนำในระดับโลก ได้ชักนำไปสู่แนวโน้มการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน (democracy without a demos) ในนานาประเทศประชาธิปไตย-ตะวันตก (Peter Mair, Ruling the Void: The Hollowing of Western Democracy, 2013) อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองการบริหารในความเป็นจริงถูกทยอยยักย้ายถ่ายเทจาก [พรรคกับประชาชนผู้เลือกตั้ง] ไปสู่ -> [องค์กรพัฒนาเอกชน+ศาลตุลาการ+ผู้เชี่ยวชาญไม่สังกัดพรรค] แทน

จนกลายเป็นว่าจะเลือกตั้งพรรคไหนไปกุมเสียงข้างมากเป็นรัฐบาลก็ตามที : ขวาหรือซ้าย, คอนเซอร์เวทีฟ หรือเลเบอร์, รีพับลิกันหรือเดโมแครต, คริสเตียนเดโมแครตหรือโซเชียลเดโมแครต ฯลฯ มันก็อีหรอบเดียวกัน แนวนโยบายล้วนออกมาเป็นโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่เหมือนๆ กันหมด เปลี่ยนแค่ตัว/คณะผู้เอานโยบายพิมพ์เดียวกันไปดำเนินการเท่านั้น

จะเรียกว่าเกิดการถ่ายโอนอำนาจจากประชาธิปไตย –> อำนาจอธิปไตยของช่างเทคนิค (technocracy) โดยเฉพาะช่างเทคนิคทางเศรษฐกิจสำนักโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่สำนักเดียวก็ได้

ในสภาพการณ์ตกต่ำทุกข์ยากเดือดร้อนที่ถูกชนชั้นนำทางการเมืองการบริหารมองข้ามไม่เห็นหัวนี่เองที่ชนชั้นกลางตกกระป๋องเสียงข้างมากในโลกตะวันตกพากันแสดงปฏิกิริยาโต้กลับทางการเมือง หันไปโหวตให้พรรค/ผู้นำประชานิยม-ชาตินิยมฝ่ายขวากันเป็นขบวน

ที่โดดเด่นเป็นเฉพาะก็ได้แก่กรณีประชามติเบร็กซิท/ให้ออกจากสหภาพยุโรปในอังกฤษเมื่อปี 2016, การชนะเลือกตั้งขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2017 & 2025 และคะแนนเสียงของฝ่ายขวาจัดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในสหภาพยุโรปเมื่อปีที่แล้ว

(ดูรายละเอียดใน https://www.matichonweekly.com/column/article_794917)

คำปราศรัยหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์จากข่าวใน น.ส.พ. The Independent, 24 กุมภาพันธ์ 2016

กระแสสะวิงกลับของการเมืองไปทางขวาประชานิยม-ชาตินิยมนี้ นอกจากนำมาซึ่งแนวโน้มระบอบประชาธิปไตยไม่เสรี/อำนาจนิยม (illiberal/authoritarian democracy) แล้ว (ดูอาทิ Fareed Zakaria, The Future of Freedom : Illiberal Democracy at Home and Abroad, 2003; และรายงาน Freedom in the World 2022 : The Global Expansion of Authoritarian Rule ขององค์การเอกชน Freedom House)

ก็ยังนำมาซึ่งกระแสปัดปฏิเสธความรู้เชิงเทคนิค-วิทยาศาสตร์ หรือ “ความตายของความเชี่ยวชาญ” ด้วย ดังที่ Tom Nichols ศาสตราจารย์เกษียณอายุแห่งวิทยาลัยยุทธนาวีสหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการระหว่างประเทศ วิเคราะห์วิจารณ์ไว้ในงานเรื่อง The Death of Expertise : The Campaign against Established Knowledge and Why It Matters, Oxford University Press, 2017)

นิโคลส์เถียงว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ความเชี่ยวชาญกับความรู้ที่ตั้งมั่นเป็นระบบแล้วกำลังถูกลดค่าลงทุกที การปัดปฏิเสธความเชี่ยวชาญที่ว่านี้ถูกขับดันจากเหล่าปัจจัยต่างๆ ทางวัฒนธรรม เทคโนโลยีและการศึกษาผสมกัน

เขาเตือนว่าแนวโน้มดังกล่าวเซาะกร่อนบ่อนทำลายทั้งการถกเถียงกันด้วยเหตุผล การตัดสินใจที่กอปรด้วยข่าวสาร ข้อมูลและการดำเนินงานของสังคมประชาธิปไตยด้วย

นิโคลส์จำแนกวิเคราะห์เหล่าประเด็นปัญหาที่นำมาสู่สภาพ “ความตายของความเชี่ยวชาญ” ไว้ดังนี้ :

1) ผลด้านกลับของการกระจายความรู้แบบประชาธิปไตย

อินเตอร์เน็ตได้ช่วยกระจายการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลให้แผ่กว้างเป็นแบบประชาธิปไตยก็จริง แต่การเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้ง่ายก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการเข้าใจมัน

เดี๋ยวนี้ผู้คนมากหลายเชื่อว่าแค่เคาะถามอากู๋เกิลเองก็ทำให้ตัวรอบรู้เท่าผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะทางอย่างหมอ นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิเคราะห์นโยบายสาธารณะแล้ว ความเชื่อมั่นถือมั่นเกินตัวนี้บ่อนเบียนการสดับตรับฟังความเชี่ยวชาญที่แท้จริงลงไป

2) ความเชี่ยวชาญต้องใช้เวลาอุตสาหะพยายามฝึกฝนเรียนรู้สั่งสมจึงจะได้มา

ความเชี่ยวชาญได้มาโดยผ่านการศึกษา การฝึกอบรมและประสบการณ์นานปี แน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญใช่ว่าจะมิอาจผิดพลาดล้มเหลว ทว่า ความรู้ความชำนาญของพวกเขาก็สร้างสมขึ้นผ่านการศึกษาอย่างเคี่ยวข้นจริงจังและผ่านกระบวนการตรวจตราทดสอบโดยเพื่อนร่วมวิชาชีพ เมื่อใดก็ตามที่เราปัดปฏิเสธผู้เชี่ยวชาญอย่างมักง่ายฐานที่เห็นพวกเขาเป็น “ไอ้พวกชนชั้นนำหรือเทคโนแครต” หรืออ้างทึกทักเอาเองว่าความเห็นของใครหน้าไหนก็ถูกต้องเท่าเทียมกันทั้งนั้นแล้ว เราก็กำลังมองข้ามความอุตสาหะพยายามและระเบียบวินัยที่ทุ่มเทลงไปในการพัฒนาความเชี่ยวชาญที่แท้จริงขึ้นมา

3) ปรากฏการณ์ดันนิง-ครูเกอร์ทำให้หลงทะนงตนเกินไป

David Dunning กับ Justin Kruger เป็นนักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันที่ร่วมกันค้นพบปรากฏการณ์นี้เมื่อปี 1999 กล่าวคือ คนด้อยทักษะเอาเข้าจริงก็ขาดความรู้ที่จะตระหนักรู้เท่าทันความไม่เก่งของตัวเอง จึงทำให้อวดเก่งเพราะหลงประเมินความสามารถของตนสูงเกินจริงไป ทว่าต่อมาเมื่อทักษะค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้น คนผู้นั้นค่อยตระหนักรู้เท่าทันขีดจำกัดของตัวบ้างแล้ว ก็อาจเสแสร้งแกล้งวางมาดเก่งต่อไป (imposter syndrome) ทั้งที่เอาเข้าจริงหวั่นไหวไม่มั่นใจความรู้ความเชี่ยวชาญของตัวอยู่ลึกๆ ในใจ (https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/the-dunning-kruger-effect-the-psychological-theory-that-explains-why-incompetence-begets-confidence)

นิโคลส์ชี้ว่าอาการดันนิง-ครูเกอร์นี่แหละเป็นปัจจัยหลักอันหนึ่งที่ทำให้ผู้คนพากันปัดปฏิเสธความเชี่ยวชาญ เราจึงมักเห็นคนที่รู้เรื่องหนึ่งๆ น้อยที่สุดคุยโวโอ้อวดแสดงความมั่นอกมั่นใจความเห็นของตนมากที่สุด ขณะที่ในทางกลับกันพวกผู้เชี่ยวชาญตัวจริงกลับมีแนวโน้มตระหนักรับความซับซ้อนของปัญหาและขีดจำกัดแห่งความรู้ของตน

4) โซเชียลมีเดียยิ่งขยายข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อนให้แพร่หลายออกไป

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียวมีบทบาทสำคัญในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายความเชี่ยวชาญลง โดยขยายข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อนให้แพร่หลายออกไป ด้วยการให้น้ำหนักเสมอหน้าเท่าเทียมกันแก่เสียงทุกเสียง มิไยว่าจะน่าเชื่อถือมากน้อยต่างกันปานใด การนี้ช่วยสร้างภาวะแวดล้อมที่ทฤษฎีสมคบคิด ศาสตร์ปลอมและคำกล่าวอ้างเลื่อนลอยกลับแพร่กระจายลุกลามไปราวไฟไหม้ลามทุ่งยิ่งกว่าข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรงกับความเป็นจริง

5) ปัญหาวัฒนธรรมต่อต้านปัญญาชน

กระแสการเมืองประชานิยมมักมาควบคู่กับท่าทีต่อต้านปัญญาชน มันสมทบส่วนให้เกิดความโน้มเอียงที่จะปัดปฏิเสธความเชี่ยวชาญทิ้ง ผู้คนมากหลายมักมองผู้เชี่ยวชาญด้วยอคติว่าเป็นพวกชนชั้นนำหอคอยงาช้าง ตีนไม่ติดดิน ไม่เข้าอกเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านร้านตลาด ท่าทีวัฒนธรรมเช่นนี้ขับดันความอุกอั่งคับแค้นอย่างไม่มีเหตุผลให้ด้อยค่าปัญญาชน นักวิชาการและนักวิชาชีพ นำไปสู่การอวดอ้างว่านิยมชมชอบ “สามัญสำนึก” มากกว่าความรู้ความชำนัญเฉพาะทาง

6) การอุดมศึกษาก็มีส่วนก่อปัญหาด้วย

การศึกษาสำคัญและจำเป็นในการยกระดับคุณภาพพลเมืองประชาธิปไตยให้รู้เท่าทันปัญหาและนักการเมือง นักบริหาร แต่กระนั้นการอุดมศึกษาเชิงพาณิชย์อย่างที่สอนกันอยู่กลับส่งผลด้อยค่าความเชี่ยวชาญลง แนวโน้มที่การศึกษาหันไปตามกระแสตลาดผู้บริโภคยิ่งขึ้น ปฏิบัติต่อนักศึกษาแบบลูกค้าผู้มารับบริการ ฯลฯ นำไปสู่การเพ่งเล็งให้ค่ากับคะแนน เกรดและใบปริญญายิ่งกว่าการรู้จักคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์และความเคี่ยวข้นทางสติปัญญา การขยับย้ายการอุดมศึกษาไปเป็นการค้าขายใบปริญญาเช่นนี้เซาะกร่อนบ่อนทำลายพัฒนาการของประชาชนผู้รอบรู้และกอปรด้วยวิจารณญาณในระบอบประชาธิปไตย

7) ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ถูกต้องเสมอไปหรอก แต่จำเป็นต้องมีพวกเขา

ผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่สัพพัญญูพหูสูตผู้ไม่มีวันผิดพลาด แต่กระนั้นความรู้ความเชี่ยวชาญของพวกเขาก็ทรงคุณค่า

การปัดปฏิเสธความเชี่ยวชาญมักมาจากความหลงผิดหรือความคาดหวังให้ผู้เชี่ยวชาญต้องสมบูรณ์แบบอย่างเหนือจริง แทนที่จะปัดปฏิเสธผู้เชี่ยวชาญอย่างมักง่ายเมื่อพวกเขาผิดพลาด เราควรให้ค่าความสามารถของพวกเขาในการปรับตัว เรียนรู้และปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นบนพื้นฐานหลักฐานข้อเท็จจริง

8) อคติชอบได้ยินสิ่งที่อยากฟังเป็นตัวขับดันให้ปัดปฏิเสธความเชี่ยวชาญ

อคติชอบได้ยินสิ่งที่อยากฟังเพราะมันสนับสนุนความเชื่อแต่เก่าก่อนของเราเอง (confirmation bias) เป็นตัวขับดันให้หวาดระแวงผู้เชี่ยวชาญ ผู้คนมักปฏิเสธความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ท้าทายโลกทัศน์ของตัวเอง นิยมชมชอบคำอธิบายง่ายๆ หรือ “ข้อเท็จจริงเผื่อเลือก” ซึ่งสอดรับคล้องจองกับอคติของตัวยิ่งกว่า ทีทรรศน์ เช่นนี้นำไปสู่การแบ่งข้างแยกขั้วสุดโต่งและต่อต้านคัดค้านคำตอบที่ตั้งอยู่บนหลักฐานข้อเท็จจริง

9) ประชาธิปไตยต้องพึ่งพาอาศัยพลเมืองผู้รอบรู้

ระบอบประชาธิปไตยทำงานของมันไม่ได้หากปราศจากพลเมืองผู้รอบรู้และมีการศึกษา การปัดปฏิเสธ ความเชี่ยวชาญเอาเข้าจริงบ่อนทำลายเหล่าสถาบันประชาธิปไตยลงไปด้วยการเซาะกร่อนความเชื่อถือไว้วางใจในวิทยาศาสตร์ นิเทศศาสตร์และหลักวิชาความรู้อื่นๆ การที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะตัดสินใจได้ดี พวกเขาจำต้องเอาธุระวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวสารข้อมูลและสดับตรับฟังข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญมาประกอบการวินิจฉัยด้วย

10) การฟื้นฟูความเชื่อถือไว้วางใจในความเชี่ยวชาญต้องใช้ความมานะพยายาม

นิโคลส์เรียกร้องให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเพียรพยายามสื่อสารเสวนากับสาธารณชนอย่างได้ผลและถ่อมตนยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงศัพท์แสงเฉพาะและยอมรับขีดจำกัดของตัวเอง ในทางกลับกัน เขาก็เรียกร้องให้ประชาชนพลเมืองเผชิญประเด็นปัญหาต่างๆ ด้วยความใฝ่ใจใคร่รู้ ตั้งข้อสงสัยและยินดีที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ระบบการศึกษาเองก็ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกแก่วิจารณญาณและการรู้เท่าทันสื่อด้วยเพื่อรับมือกับข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อน

ไม่ใช่เพียงแค่กดไลก์ กดแชร์ กดติดตามหรือพิมพ์ด่าส่งด้อยค่าเพื่อความสะสาแก่ใจเท่านั้น