จับเชลยศึกชาวตะวันตก และค่ายเชลยศึกที่ มธก. (1)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

จับเชลยศึกชาวตะวันตก

และค่ายเชลยศึกที่ มธก. (1)

 

พลันที่ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่าน (8 ธันวาคม 2484)ไปยังอินเดีย พม่าและมาลายูของอังกฤษ ส่งผลให้เหล่าพ่อค้า มิชชันนารี และครอบครัวทั้งชาวอังกฤษและสหรัฐในเชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง และกรุงเทพฯ ต่างรีบอพยพออกนอกประเทศไปยังเขตอังกฤษเพื่อความปลอดภัย

ช่วงเวลานั้น เหล่าชาวตะวันตกต้องเผชิญหน้าจับความยากลำบากและการถูกเคมเปไทติดตามจับกุมอย่างรวดเร็ว

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เคยเป็นค่ายกักขังเชลยศึกชาวตะวันตก

จับกุมเชลยศึกชาวตะวันตก

เมื่อญี่ปุ่นขึ้นเมืองแล้ว ทหารญี่ปุ่นเข้าจับกุมชาวต่างชาติที่เป็นปรปักษ์ เคมเปไทบุกจับกุมชาวตะวันตกและบุกเข้าค้นสถานทูตเพื่อค้นสิ่งต้องสงสัยว่าจะมีการครอบครองหรือไม่ เช่น เครื่องรหัสส่งโทรเลขเพื่อป้องกันการรายงานและติดต่อสื่อสารกลับไปยังเมืองแม่ (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 63) ในช่วงแรกยังไม่มีการแบ่งอำนาจหน้าที่กันอย่างชัดเจน ต่อเมื่อมีการทำข้อตกลงแล้วอำนาจการจับกุมให้อยู่ภายใต้คณะกรรมการผสมสารวัตรทหาร แต่ฝ่ายไทยไม่สู้จะมีอำนาจเท่าใด (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 63)

พลันที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยแล้ว ชะตากรรมของชาวตะวันตกที่พำนักในไทยมี 2 ทางคือหลบหนีไปให้เร็วที่สุด หรืออยู่รอเผชิญชะตากรรมที่กำลังมาถึง

ภายหลังกองทัพญี่ปุ่นขึ้นไทยแล้ว เมื่อ 9 ธันวาคม มีชาวอังกฤษจำนวน 7 คนหลบหนีออกจากพระนครไปยังชายแดนไทยที่จังหวัดกาญจนบุรี พวกเขาต้องการจะข้ามแดนไปยังฝั่งพม่าของอังกฤษแต่ถูกฝ่ายไทยจับกุมได้ นำมาคุมตัวไว้ที่ศาลากลางจังหวัด ในวันรุ่งขึ้น ข้าหลวงจังหวัดประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความเห็นว่า จะให้ทางจังหวัดจัดการอย่างไรกับชาวอังกฤษเหล่านี้ และในวันเดียวกันนั้น มีชาวอังกฤษอีกกลุ่ม แบ่งเป็นชาย 13 คนและสตรี 3 คนพยายามจะข้ามไปยังพม่าอีก

ต่อมา ทางกระทรวงมหาดไทย สมัยหลวงเชวงศักดิ์สงคราม (สิงหาคม 2484-มีนาคม 2485) เป็นรัฐมนตรีสั่งการให้ปล่อยชาวอังกฤษเหล่านี้ให้ข้ามแดนไปยังพม่าได้ ด้วยขณะนั้น ไทยยังไม่ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ ต่อมา ในวันที่ 11 ธันวาคม ทหารญี่ปุ่นจับกุมชาวอังกฤษจำนวน 23 คนที่ต้องการจะข้ามแดนไปยังพม่าได้อีกกลุ่มหนึ่ง (โยชิกาว่า โทชิฮารุ, 2538, 56)

เคมเปไทหรือสารวัตรทหารญี่ปุ่น

ไม่กี่วันภายหลังญี่ปุ่นบุก ชาวตะวันตกที่ทำป่าไม้ทางเหนือของไทย พวกคนหนุ่มสาวจะหนีข้ามแดนไปยังพม่า พวกเขาเช่ารถขนข้าวของให้ไปส่งพวกเขาที่ชายแดนไทยที่แม่สาย รถขนผู้หลบภัยวิ่งผ่านหลายด่านตรวจหลายแห่ง เมื่อเจ้าหน้าที่ชาวไทยเห็นเป็นชาวตะวันตกก็โบกมือให้รีบแล่นผ่านไป ด้วยขณะนั้นยังไม่มีคำสั่งให้กักตัวชาวตะวันตก พวกเขาข้ามสะพานผ่านเข้าท่าขี้เหล็ก เดินเท้าสลับกับโบกรถทหารอังกฤษไปยังเชียงตุงเพื่อเข้าไปยังอินเดียต่อไป

สำหรับกลุ่มที่หนีข้ามไปพม่านั้นมีหลายระลอก ช่วงแรกสุดมีราว 10 กว่าคน ระลอกที่ใหญ่ที่สุดมีราว 50 คน มีทั้งชาย หญิงและเด็ก ทั้งคนที่แข็งแรงและคนป่วย มีหลากหลายอาชีพ ทั้งทำป่าไม้ นักหนังสือพิมพ์ มิชชันนารี เป็นต้น (กิตติชัย วัฒนานิกร, 2559, 110-112, 116-119)

หมอเสม พริ้งพวงแก้ว นายแพทย์ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เล่าว่า ในช่วงแรกของสงคราม เขาและข้าหลวงประจำจังหวัดต่างช่วยกันพาเหล่าหมอและมิชชันนารีข้ามแม่น้ำแม่สายเข้าเขตพม่า ไปเชียงตุง และไปอินเดียต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ทราบต่อมาว่า มีกลุ่มหมอและมิชชันนารีที่หลบหนีออกไปไม่พ้น บ้างถูกปล้น บ้างถูกฆ่าตายจนหมด (สันติสุข โสภณสิริ, 2537, 96) สอดคล้องกับ กนต์ธีร์ ศุภมงคล นักการทูตไทยบันทึกว่า ช่วงเวลานั้นมีชาวต่างชาติที่หลบหนีออกจากประเทศไทยไปยังเขตอังกฤษทางพม่าและมลายูสำเร็จได้เพียงไม่กี่คน (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 60-61)

ส่วนพวกคนสูงอายุและพวกมีครอบครัวมักไม่หนีไปไหน รอคอยโชคชะตาอยู่ที่บ้าน คนเหล่านี้จะถูกทหารญี่ปุ่นจับและส่งมากักกันที่ค่ายเชลยศึกที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่พระนคร (กิตติชัย, 141)

การประชุมทูตอังกฤษ ประจำออสเตรเลีย จีน มาเลเซีย ไทย และคณะกรรมการการค้าตะวันออกไกล ที่สิงคโปร์ เมื่อ 2 ธันวาคม 2484 ทูตอังกฤษประจำไทยขวาสุด

แทบจะทันที เมื่อไทยยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านแล้ว เซอร์ โจซาย ครอสบี้ (Sir Josiah Crosby) ทูตอังกฤษประจำไทย (ระหว่าง 1934-1941) วางแผนอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตและคนอังกฤษทั้งหมดออกจากไทยโดยขอรถไฟเที่ยวพิเศษไปลำปางวันที่ 10 ธันวาคม 2484 และโดยสารรถยนต์ต่อไปยังชายแดนไทยที่เชียงรายเพื่อข้ามพรมแดนไปยังเขตอังกฤษในพม่า แต่ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดคุมการรถไฟของไทยทั้งหมดเสียแล้ว ตัวทูตเองถูกกักบริเวณในสถานทูต นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม ทหารญี่ปุ่นเริ่มจับกุมชาวอังกฤษและสหรัฐในไทย นำมากักขังไว้ที่โรงแรมโรกาเดโรที่ถนนสุรวงศ์ (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 60-61)

ทูตและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรถูกคุมตัวกักไว้ในบริเวณสถานทูตและบ้านพักของทูต โดยมีทหารญี่ปุ่นควบคุมนอกรั้ว เช่น เซอร์ โจซาย ครอสบี้ ทูตอังกฤษ และวิลลิส อาร์. เป็ก (Willys R. Peck) ทูตสหรัฐประจำไทย (ระหว่างสิงหาคม 2484-25 มกราคม 2485) ต่อมา ไทยแลกเปลี่ยนทูตและพลเรือนที่ตกเป็นเชลยศึกในไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงกลางและปลายปี 2485 (พีระ เจริญวัฒนนุกุล และพชร ล้วนวิจิตร, 2566, 145-237)

หลวงเชวงศักดิ์สงคราม รมต.มหาดไทย และหมอเสม พริ้งพวงแก้ว

ค่ายคุมขังเชลยศึกที่ มธก.

หลังจากไทยลงนามในกติกาสัญญาร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่นแล้ว (11 ธันวาคม 2484) และประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐ (25 มกราคม 2485) แล้ว รัฐบาลไทยได้เตรียมจับกุมคนสัญชาติอังกฤษและอเมริกันในฐานะชนชาติศัตรู หลวงอดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจได้ขอใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) จากนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ เขาให้ความช่วยเหลือการตั้งค่ายเชลยศึกที่ มธก.อย่างเต็มที่ เขามองว่าหากไม่ทำเช่นนี้ ญี่ปุ่นจะดำเนินการเอง และชีวิตเชลยอาจเลวร้ายกว่าเก่า และหากฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามจะผ่อนหนักเป็นเบาให้ไทยมากขึ้น เขาเห็นว่า การใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นค่ายคุมขังจะเป็นประโยชน์มากกว่าการนำเชลยไปอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น ต่อมา 17 ธันวาคม กระทรวงกลาโหมมีหนังสือมาขอใช้สถานที่ มธก.

รัฐบาลได้ตั้งค่ายกักกันชนชาติศัตรูที่ มธก.(18 ธันวาคม 2484-10 เมษายน 2488) ขึ้นเพื่อคุมขังเชลยศึกในช่วงแรกมีราว 700-1,000 คน แต่ต่อมาเหลือคุมไว้ประมาณ 300 คน ผู้อำนวยการค่ายคนแรก คือ พ.ท.เพิ่ม มหานนท์ (2434-2519) คนต่อมาคือ ร.ท.ม.ร.ว.พงศ์พรหม จักรพันธุ์ โดยมีนายวิจิตร ลุลิตานน์ เลขาธิการมหาวิทยาลัย เป็นผู้ดูและประสานงาน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, 2535, 116-117)

ภายหลังที่ไทยแลกเปลี่ยนทูตและพลเรือนชาติอังกฤษและอเมริกันที่ตกเป็นเชลยศึกในไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงกลางและปลายปี 2485 แล้ว ในการแลกเปลี่ยนเชลยศึกครั้งหนึ่งด้วยเรือกริปโฮลม์นำเชลยศึกชาวไทยจากดินแดนสัมพันธมิตรกลับมาไทยแล้ว จากนั้นเรือลำดังกล่าวก็นำเชลยศึกสัมพันธมิตรจากไทยเดินทางมาถึงริโอ เดจาเนโร อันปรากฏเป็นภาพข่าว ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ เช่น วิลลิส อาร์. เป็ก (Willys R. Peck) ทูตสหรัฐประจำไทยและภริยา โจเซฟ กริล (Joseph Grew) ทูตสหรัฐประจำโตเกียวและภริยา เฟดเดอริโก คาสเตลโล บรังโก คลาก (Frederico Castelo Branco Clark) อดีตทูตบราซิลประจำโตเกียว เรนาโต ลาเซอดา ลาโก (Renato Lacerda Lago) อดีตทูตบราซิลประจำจีน

และ ออตโต ดี. โทลิสชูส (Otto D. Tolischus) นักหนังสือพิมพ์สหรัฐ เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาในช่วงต้นสงคราม

ทหารสัมพันธมิตรที่ยอมจำนนถูกส่งมาใช้แรงงานในไทยที่ค่ายเชลยศึกภายใต้การควบคุมของทหารญี่ปุ่น
เซอร์ โจซาย ครอสบี้ ทูตอังกฤษ และวิลลิส อาร์. เป็ก ทูตสหรัฐประจำไทยช่วงก่อนสงคราม
นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีคลังและผู้ประศาสน์การ มธก. และหลวงอดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ
เรือกริปโฮลม์นำเชลยศึกมาถึงริโอ เดจาเนโร บราซิล เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2485
หลวงเชวงศักดิ์สงคราม รมต.มหาดไทย และหมอเสม พริ้งพวงแก้ว
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เคยเป็นค่ายกักขังเชลยศึกชาวตะวันตก
เคมเปไทหรือสารวัตรทหารญี่ปุ่น
การประชุมทูตอังกฤษ ประจำออสเตรเลีย จีน มาเลเซีย ไทย และคณะกรรมการการค้าตะวันออกไกล ที่สิงคโปร์ เมื่อ 2 ธันวาคม 2484 ทูตอังกฤษประจำไทยขวาสุด