เมษา พฤษภา 2553 โยง ‘เสธ.แดง’ สู่ ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ ปูทาง สร้าง ‘เงื่อนไข’ ปมการเมือง

ยุทธการ แดงเดือด

 

เมษา พฤษภา 2553

โยง ‘เสธ.แดง’ สู่ ‘แดงทั้งแผ่นดิน’

ปูทาง สร้าง ‘เงื่อนไข’ ปมการเมือง

 

ไม่ว่าจะมองผ่านบทบาทของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ไม่ว่าจะมองผ่านการโต้กลับจากกองทัพและจากรัฐบาล ต้องยอมรับในความสลับซับซ้อนอย่างเป็นพิเศษของแต่ละจังหวะก้าว แต่ละสถานการณ์

บทบาทของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล แตกต่างไปจากบทบาทของแกนนำ “นปช. แดงทั้งแผ่นดิน” อย่างแน่นอน

เพราะเป็นบทบาทอันมาพร้อมกับ “คำถาม”

เป็นคำถามและความสงสัยว่า กัมปนาทแห่งเอ็ม 79 ที่กึกก้องขึ้น หรือแม้กระทั่งการวางระเบิดซีโฟร์สามารถโยงไปยัง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ได้ในทางเป็นจริงหรือไม่

หรือเสมอเป็นเพียง “คำถาม” และ “ความสงสัย”

ยิ่งเมื่อ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ดึงเอา พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เข้ามาในฐานะเป็น “ที่ปรึกษา” ยิ่งก่อให้เกิด “คำถาม”

กระทั่งมีการโยงไปยัง “ทฤษฎี” อย่างที่เรียกว่า “แก้ว 3 ประการ”

การเคลื่อนไหวของ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน” ในเดือนมีนาคม 2553 จึงได้รับการจับตาอย่างเป็นพิเศษ

ไม่ว่าจะมองจากด้านของ “รัฐบาล” ไม่ว่าจะมองจากด้านของ “กองทัพ”

 

หากอ่าน “สู่สงครามกองโจร ล้มรัฐ ล้มปืน ล้มเจ้า ฉบับสมบูรณ์” ของกองบรรณาธิการ “ที-นิวส์” ประสานกับ “ลับ ลวง เลือด” ประวัติศาสตร์สีเลือดเชือด “แดง” ปฏิบัติการกระชับอำนาจด้วย “กระสุนจริง” ของ วาสนา นาน่วม

ก็จะสัมผัสได้ในความวิตก กังวล ไม่ว่าจะมองผ่าน “รัฐบาล” ไม่ว่าจะมองผ่าน “กองทัพ”

คำว่า “เชือดแดง” ของ วาสนา นาน่วม มากด้วยนัยยะ

นัยยะ 1 คือ แดงในนาม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน”

นัยยะ 1 คือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อันมีชื่อเรียกว่า “เสธ.แดง”

เห็นได้จาก “ที-นิวส์” ปูพื้นตั้งแต่ “ชำแหละวาทกรรม ‘อำมาตย์ vs ไพร่’ จุดชนวน สงครามชนชั้น” ตามด้วย “แก้วสามประการก่อสงครามปฏิวัติ” มารู้จักทฤษฎีสงครามปฏิวัติของเหมาเจ๋อตง

จากนั้นจึงอธิบายขยายความตามลำดับ

นั่นก็คือ แก้วประการแรก = พรรค : เพื่อไทยหรือเพื่อใคร” นั่นก็คือ แก้วประการที่สอง = มวลชน : ย้อนกำเนิด นปช. จำนวนผู้ชุมนุมเสื้อแดงระหว่างวันที่ 13 มีนาคม ถึง 1 เมษายน 2553

นั่นก็คือ แก้วประสามที่สาม = กองกำลังติดอาวุธ มารู้จักกับกองทัพประชาชนตัวจริง

ยิ่งเมื่อพลิกแต่ละหน้าของ วาสนา นาน่วม ยิ่งต้องตื่น ต้องตระหนก

 

แค่เริ่มต้นการชุมนุมได้ไม่กี่วันเสียงระเบิดก็ดังตูมตามขึ้นพร้อมเลือดสาด แถมก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มีเหตุขว้างระเบิดธนาคารกรุงเทพ 4 จุดเกิดขึ้นก่อน ถูกมองว่าอาจเชื่อมโยงกับการตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท

เพราะธนาคารกรุงเทพถือเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มทุนของอำมาตย์ เพราะมีความสนิทสนมกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เหตุปาระเบิดธนาคารและสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ประกอบกับการประเมินสถานการณ์ของหน่วยข่าวทหารและของรัฐบาลที่ตรงกันว่าการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในวันที่ 12 มีนาคมนั้นจะยาวนานและรุนแรง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายทหาร

จนในที่สุดก็เสนอให้คณะรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ “พ.ร.บ.ความมั่นคง” เพื่อรับมือการชุมนุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม

โดยในระยะแรกวันที่ 11-23 มีนาคม

มีการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)” ขึ้น โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งมีความสนิทสนมกับผู้นำกองทัพเป็นผู้อำนวยการ (ผอ.ศอ.รส.)

ให้ “บิ๊กแผ้ว” พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสนาธิการทหารบกในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. เป็นเลขาธิการ ศอ.รส.

อนุมัติโครงสร้างและอัตรากำลังพลมากถึง 34,517 คน

แต่แยกเป็นในส่วนของกองกำลังทหารที่ออกปฏิบัติการจำนวน 164 กองร้อย หรือ 32,859 คน

ซึ่งอัตราการจัดกำลัง 1 กองร้อยเท่ากับ 150 คน แต่หากหน่วยมีการส่งทหารมาจำนวนมาก ทุก 2 กองร้อยจะต้องมีนายทหารในชุดควบคุมประสานงานเพิ่มอีก 20 คน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดกำลังของ ศอ.รส.ในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อเดือนเมษายน 2552 ที่มีการจัดกำลังเป็นแต่ละกองพัน

แต่ครั้งนี้ใช้เป็นกองร้อยซึ่งจะส่งผลง่ายต่อเรื่องการเบิกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์และงบประมาณ

 

ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี

อำเภอธัญบุรี อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอเมือง ปทุมธานี

อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ อำเภอพระประแดง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ

อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

แผนของ ศอ.รส.คือ การส่งทหารกระจายตั้งด่านตรวจเพื่อสกัดการแห่เข้ากรุงมาร่วมชุมนุมของคนเสื้อแดงจากจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจากภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย

เพราะ ศอ.รส.ประกาศเด็ดขาดที่จะไม่ให้นำรถอีแต๋นเข้ากรุง ถึงขั้นจะยึดและยกรถ

แต่ที่สุดก็ไม่มีให้เห็นสักคัน ทั้งทหารยังถูกโจมตีว่าทำให้รถติด

 

ไม่ว่าจะมองจากทางด้านของ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน” ไม่ว่าจะมองจากทางด้านของรัฐบาล ของกองทัพ ถือได้ว่าล้วนมี “บทเรียน”

ไม่เพียงบทเรียนจาก “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

หากยังเป็นบทเรียนจากเมื่อเดือนเมษายน 2552

การระเบิดขึ้นของเอ็ม 79 ย่อมเป็น “สัญญาณ” การฟื้นและจัดโครงสร้างใหม่ของ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) โดยเพิ่มคำว่า “แดงทั้งแผ่นดิน” เข้าไปย่อมเป็นสัญญาณ

สัญญาณแห่งการจัดขบวน สัญญาณแห่งการสะสมกำลังในแต่ละจุด ในแต่ละพื้นที่

ขณะเดียวกัน ทางด้านรัฐบาลและกองทัพก็ไม่ยอมเป็น “เป้านิ่ง” เช่นเดียวกัน